เลือกตั้ง 66: ส่องโปรไฟล์พรรคการเมือง พรรคไหนเคยหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

การเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเหมือนปกติทั่วไป แต่เป็นการเลือกตั้งที่จะกำหนดอนาคตว่า ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเครือข่าย ต่อไปหรือไม่
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนตรงที่ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้งสองใบ หรือใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้ง ‘คนที่รัก’ หรือ ส.ส.เขต และ ‘พรรคที่ชอบ’ เพื่อนำคะแนนไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้พรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. สามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้
เพียงแต่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2566 ยังต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. อยู่ ดังนั้น พรรคการเมืองที่จะได้เป็นพรรครัฐบาลต้องมีเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง
ที่ผ่านมาภายใต้เงื่อนการมี ส.ว. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับที่สองรองจากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล แต่การมี ส.ว.แต่งตั้ง ก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลได้อย่างยาวนานจวบจนจะครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นเพราะมีพรรคการเมืองที่ยอมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล 
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 จะเป็นโอกาสอีกครั้งที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจว่าอยากเห็นพรรคการเมืองไหนเป็นพรรครัฐบาล และเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าเข้าคูหา เราจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลจุดยืนพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อนไว้ว่าพรรคการเมืองไหนที่เคยสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรี 

พรรคการเมืองที่มีจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภา ซึ่งประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็มีพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้น ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย โดยข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละพรรค มีดังนี้

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสานต่อการทำงานจากพรรคไทยรักไทยที่นำโดย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชน หลังจากทั้งสองพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไป มิหนำซ้ำ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่กลับมาถูกทำการรัฐประหารจากคสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 
ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พร้อมนำกลยุทธ์ “แตกแบงค์พัน” หรือ การแตกพรรคเพื่อไทยออกเป็นสองพรรคมาใช้ เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เป็นระบบเลือกตั้งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่เสียเปรียบ แต่ทว่า พรรคไทยรักษาชาติ พรรคที่แตกตัวออกมาจากเพื่อไทยกลับมาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบก่อนเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เพียง 200 เขต จาก 350 เขต ยังชนะการเลือกตั้ง จนมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในสภา เพียงแต่ว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากกกต. เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้พรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. มีที่นั่งน้อยลง จนไม่สามารถเอาชนะเสียง ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. ได้
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งคู่ขนานมีบัตรสองใบ พรรคเพื่อไทยหวังครองเสียงข้างมากพร้อมประกาศขอประชาชนเลือกเพื่อไทยแบบ “แลนด์สไลด์” ให้ได้ ส.ส. เกิน 310 ที่นั่ง เพื่อต่อกรกับ ส.ว.แต่งตั้ง ทั้ง 250 คน โดยมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส. จังหวัดน่าน 
พรรคเพื่อไทยมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จำนวนสามชื่อ ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ  โดยมุ่งเน้นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เพิ่มการจ้างงานผ่านการสร้าง Soft Power และยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ทุกคนเข้าถึงง่าย

พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งในปี 2562 เพื่อสานต่อการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มไทยซัมมิท เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 
หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งจนมีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับที่สามของสภา ภายใต้จุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยมุ่งเน้นไปที่นโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การทลายทุนผูกขาด รัฐราชการรวมศูนย์ 
แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แกนนำพรรคได้ตั้งพรรคใหม่ในชื่อพรรคก้าวไกล โดยมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค และผลักดันนโยบายสำคัญ อย่างเช่น การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ “ยกเลิก ส.ว.-ปลดล็อกท้องถิ่น” หรือ การผลักดันกฎหมาย เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม พร้อมกับการเปิดอภิปรายในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 
ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวของพรรค โดยมีจุดยืน “ปิดสวิตซ์ 3 ป.” หรือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พร้อมผลักดันนโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เงินบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน นโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ปฏิรูประบบราชการ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม 

พรรคเสรีรวมไทย

พรรคเสรีรวมไทยเป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคเสรีรวมไทยประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 
หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคเสรีรวมไทยมีบทบาทชัดเจนในการตรวจสอบ ส.ส.พรรครัฐบาล และนำไปสู่การถอดถอน ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ อย่างน้อย 2 คน ได้แก่ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพ และ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ส่วนในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคเสรีรวมไทยได้เสนอ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปตำรวจ ปราบปรามการทุจริตและปราบปรามยาเสพติด

พรรคเพื่อชาติ

พรรคเพื่อชาติเป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมี สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าพรรค และมี จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้ช่วยปราศรัยหาเสียง โดยพรรคเพื่อชาติก็เป็นอีกหนึ่งพรรคที่เคยประกาศจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 
สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อชาติมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยที่ประชุมพรรคมีมติเลือก ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช อดีตผู้บริหารสโมสรฟุตบอลลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด และลูกสาวของยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยชูนโยบายสำคัญสามด้าน คือ การศึกษา สาธารณสุข ให้คนเข้าถึงง่ายและทั่วถึง และด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม

พรรคประชาชาติ

พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 
พรรคประชาชาติมีแนวนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ที่ถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสนอกฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารเพื่อให้ทหารที่กระทำความผิดกับพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคประชาชาติ เสนอ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค พร้อมกับเสนอ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามของพรรค

พรรคเศรษฐกิจใหม่

พรรคเศรษฐกิจใหม่เป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมี สุภดิช อากาศฤกษ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ก่อนที่ประชุมของพรรคจะมีมติเลือก ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ในนามของพรรค
ก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทว่า มีกระแสข่าวว่า มิ่งขวัญถูกทาบทามให้ไปรวมรัฐบาลหลายครั้ง แต่มิ่งขวัญก็มาแถลงข่าวปฏิเสธและเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคอีกครั้ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ถอนตัวจากพรรคฝ่ายค้าน และมิ่งขวัญได้ขอลาออกจากการเป็น ส.ส. ในท้ายที่สุด
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคเศรษฐกิจใหม่ กลายเป็นพรรคที่ไม่ถูกพูดถึงในขณะที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ย้ายไปเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พรรคพลังปวงชนไทย

พรรคพลังปวงชนไทยเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมีหัวหน้าพรรค คือ นิคม บุญวิเศษ พรรคพลังปวงชนไทยถูกจัดเป็นพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียงหนึ่งที่นั่ง และเป็นพรรคขนาดเล็กเพียงพรรคเดียวที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ปี 2566 นิคม บุญวิเศษ ได้ย้ายไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย

พรรคไทยสร้างไทย

พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ซึ่งตั้งโดยกลุ่มอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยที่แยกตัวออกมา โดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และอดีตแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค และมีอดีตขุนพลและ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยมาร่วมด้วย อย่างเช่น โภคิน พลกุล อดีตกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคไทยสร้างไทยมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จำนวนสามรายชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย สุพันธ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคนสุดท้าย น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย 
โดยพรรคไทยสร้างไทยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่จับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยนโยบายหาเสียงสำคัญ คือ การผลักดันนโยบายบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน

พรรคที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคที่มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแค่สามพรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 มีหลายพรรคการเมืองที่เปลี่ยนใจกลับมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยพรรคที่มีจุดยืนดังกล่าว ประกอบไปด้วย

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคสช. กับกลุ่มสาม ส. หรือ ‘สามมิตร’ ได้แก่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. 
โดยเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐคือ การสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. และคนใกล้ชิดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นแกนนำพรรค แต่หลังจากพรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล กลับเกิดความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรง ทำให้แกนนำพรรคหลายคนลาออก เช่น อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งออกไปพร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนสุดท้าย พรรคต้องเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ความขัดแย้งภายในพรรคก็ยังไม่สิ้นสุด หลังเกิดกรณี ‘กบฎพลังประชารัฐ’ ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ไม่พอใจการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมีการไล่ออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ภายใต้ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ และความไม่เชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมดึงแกนนำบางส่วนออกไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน บรรดาขุนศึกขุนพลเก่าอย่าง อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ย้ายกลับมาอยู่กับพลังประชารัฐอีกครั้ง พร้อมดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ

พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของไทย ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่หลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล พร้อมเปลี่ยนตัวหัวหน้าเป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศดัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในขณะที่พรรคสูญเสียแกนนำคนสำคัญของพรรคไปหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ หรือ กรณ์ จาติกวณิช อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ย้ายไปตั้งพรรคของตัวเองชื่อพรรคกล้าก่อนจะย้ายไปพรรคชาติพัฒนา

พรรคภูมิใจไทย

พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นหลังการยุบพรรคพลังประชาชน โดยมีฐานมาจากบรรดา ส.ส. ที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม “เพื่อนเนวิน(ชิดชอบ)” ซึ่งไม่ย้ายไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย แต่หันไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเลือก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ในปี 2552 ก่อนจะมาจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในปี 2562
ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล คว้าเก้าอี้ ส.ส. ไปเป็นอันดับที่ห้าของสภา แต่หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทยได้ดูดดึงตัว ส.ส. มาเพิ่มจนมีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับที่สามของสภา ทำให้ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจบรรดา รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เช่น ปัญหาการจัดซื้อวัคซีน หรือนโยบายเสรีกัญชา แต่รัฐมนตรีของพรรคก็ยังได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจจาก ส.ส. มากเป็นลำดับต้นๆ เสมอ
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคภูมิใจไทยเสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกฯ ภายใต้จุดยืนที่สามารถจับมือกับทุกพรรคการเมืองได้ 

พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคการเมืองภายใต้การนำของ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีฐานมาจากท้องถิ่นอย่างจังหวัดสุพรรณบุรี โดยในการเลือกตั้ง ปี 2562 กัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาวของบรรหาร ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค และคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้เพียง 10 ที่นั่ง ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอชื่อ วราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ 

พรรคชาติพัฒนากล้า

พรรคชาติพัฒนากล้ามีชื่อเดิมว่าพรรคชาติพัฒนาที่นำโดย เทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายของ สุวัจน์ ลิปพัลลภ ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคชาติพัฒนาไม่แสดงจุดยืนว่าจะเข้ากับฝ่ายไหน แต่หลังการเลือกตั้งก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ
ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคชาติพัฒนาได้จับมือกับพรรคกล้าของกรณ์ จาติกวาณิช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า โดยมี กรณ์ จาติกวาณิช เป็นหัวหน้าพรรค และได้เสนอชื่อ กรณ์ จาติกวาณิช หัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมกับ เทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค และ สุวัจน์ ลิปตภพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า

พรรครวมพลัง(ประชาชาติไทย)

พรรครวมพลัง มีชื่อเดิมว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยมีแกนนำพรรคเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. โดยมี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่า มาเป็นหัวหน้าพรรค และมีจุดยืนสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรครวมพลังมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พร้อมรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จนกระทั่ง ปี 2566 เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ลูกชายของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และอดีต ส.ส.พรรครวมพลังได้ย้ายไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พรรครวมพลังเตรียมควบรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

พรรคพลังท้องถิ่นไท

พรรคพลังท้องถิ่นไทเป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 มีหัวหน้าพรรคคือ ชัชวาลล์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน นักธุรกิจอดีตผู้บริหารหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา และมีลูกชาย ชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคพลังท้องถิ่นไทได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ชัช เตาปูน ก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกเช่นเดียวกัน

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (พรรคโอกาสไทย)

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มีชื่อเดิมว่า พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง จนกระทั่งปี 2562 ที่ได้ ส.ส.เข้าสภา และไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกระทั่งปี 2565 พรรคได้ไปจับมือกับ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นโอกาสไทย แต่สุดท้าย มิ่งขวัญ ย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ จึงเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย อีกครั้ง

พรรคเล็ก 12 พรรค

ในการเลือกตั้ง ปี 2562 ภายใต้การใช้สูตรคำนวณแบบปัดเศษของ กกต. ทำให้เกิดพรรคที่ได้ที่นั่งเพียง 1 ที่นั่งจำนวน 12 พรรค ได้แก่ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทรักธรรม และพรรคประชาชนปฏิรูป โดยตอนแรกมีแค่ พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ชัดเจนเรื่องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ต่อมา พรรคเล็กทั้ง 11 พรรค ก็ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในท้ายที่สุด
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย