เลือกตั้ง66: “บรรหารโมเดล” รัฐธรรมนูญ 40 และการลงมติรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของชาติไทยพัฒนา

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคชาติไทยพัฒนาภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ วราวุธ ศิลปอาชา รีแบรด์ภาพลักษณ์ของของพรรคด้วยการปรับโลโกใหม่ รวมถึงนำเสนอนโยบายด้วยข้อความที่ทำให้ดูทันสมัยและไม่เป็นทางการหรือเคร่งเครียดจนเกินไป เช่น “ว้าว ไทยแลนด์” “เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน” และ “สุขภาพดี มีเงินคืน 3,000 บาท สวัสดิการ อัปเกรดได้” เป็นต้น 
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่พรรคชาติไทยพัฒนานำมาสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านป้ายหาเสียงที่ใช้ข้อความว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (บรรหารโมเดล ปี 40) เราทำสำเร็จมาแล้ว” รวมทั้งวราวุธเองก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ด้วยเช่นกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่ทางพรรคของเขาจะผลักดัน 
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาเกือบสี่ปีของสภาชุดหลังการเลือกตั้ง 2562 เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าจากจำนวนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอทั้งสี่ร่างตลอดอายุสภาชุดที่ที่มาจากการเลือกตั้งปี 62 ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาดูจะไม่พร้อมขานรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับห้าแก้ไข ห้ายกเลิกและฉบับที่เสนอโดยกลุ่ม Resolution ที่มีข้อเสนอส่วนหนึ่งเข้าไปจัดการกับโครงสร้างทางการเมือง ส่วนอีกสองฉบับที่ว่าด้วยการปิดสวิทช์ส.ว.กับการกระจายอำนาจ แม้ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาส่วนหนึ่งจะออกเสียงรับหลักการให้ แต่ก็จะมีส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งรวมถึงตัวหัวหน้าพรรคที่ไม่อยู่ร่วมประชุมในวันที่มีการลงมติ

บรรหารกับคำมั่นว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นฉบับที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการจัดทำและการแสดงออกด้วยการติดธงเขียวเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 
แม้ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชนและพล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องเดินทางออกนอกประเทศไป ทว่ากระบวนการ “ปฏิรูปการเมือง” ที่มีการเรียกร้องกันตั้งแต่หลังเหตุการณ์กลับยังไม่ได้รับการตอบสนอง และแม้ในเดือนกันยายน 2535 จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดและสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล “ชวน 1” ได้  แต่การปฏิรูปการเมืองและการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2537 มารุต บุญนาค ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) มีนพ.ประเวศน์ วะสี เป็นประธาน คพป. ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยหนึ่งในนั้นได้แก่การเสนอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยประเวศระบุในภายหลังว่าคพป. ถูกตั้งขึ้นในบริบททางการเมืองที่มีความกังวลกันว่าการคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 จะเป็นฉนวนเหตุแห่งความรุนแรง 
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2537 ครบรอบสองปีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนทางการเมืองอดอาหารเป็นเวลา 49 วัน พร้อมยื่นสี่ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้แก่ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาผู้แทนราษฎร ให้มีคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ ให้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีจากประชาชนทุกตำบล  แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบสนอง 
ชวน หลีกภัยประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538  และมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ครั้งนั้นพรรคชาติไทยที่นำโดยบรรหาร ศิลปอาชาหาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
“หากเลือกพรรคชาติไทยเป็นรัฐบาล ผมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมือง” เป็นสัญญาประชาคมที่ ‘บรรหาร’ ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 
 
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง พรรคชาติไทยของบรรหารชนะการเลือกตั้ง โดยได้ ส.ส.ทั้งหมด 92 ที่นั่ง เฉือนชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ ส.ส.86 ที่นั่ง พรรคชาติไทยจึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 บรรหารได้แถลงตอนหนึ่งว่าจะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคพป. หลังรับตำแหน่งบรรหารยังออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 118/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้คือการพิจารณาแนวแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา  
รัฐบาลของบรรหารสิ้นสุดลงในวันที่ 27 กันยายน 2539 ด้วยการประกาศยุบสภาหลังเผชิญทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลให้ลาออก  แต่ก่อนหน้านั้นในวันที่ 14 กันยายน 2539 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (สมัยวิสามัญ) ก็มีมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ในวาระที่สาม จากนั้นในวันที่ 27 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่บรรหารประกาศยุบสภารัชกาลที่เก้าทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่หก) พ.ศ. 2539 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตัวของบรรหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย  

สสร. 40 แม้เลือกตั้งทางอ้อมแต่เปิดกว้างการมีส่วนร่วม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 กำหนดให้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม ได้แก่
หนึ่ง สสร. จากตัวแทนแต่ละจังหวัด ที่มาจากการประกาศรับสมัครในแต่ละจังหวัด โดยหากมีผู้สมัครในจังหวัดนั้นๆ ไม่เกิน 10 คน ให้นำรายชื่อทั้งหมดส่งไปให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติคัดเลือก แต่หากมีผู้รับสมัครเกินกว่า 10 คน ให้ลงคะแนนโดยคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครให้เหลือไม่เกิน 10 คน แล้วจึงส่งไปให้รัฐสภาคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละหนึ่งคน รวม 76 คน
สอง สสร. จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จะแบ่งสัดส่วนเป็น ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวนแปดคน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวนแปดคน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนเจ็ดคน โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวให้มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการมอบปริญญาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ แล้วจึงส่งให้รัฐสภาเลือกคัดเลือกให้เหลือ 23 คน
โดยตัวแทนทั้งสองแบบจะมีรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในด่านสุดท้าย หรือที่เรียกกันว่า การเลือกตั้งทางอ้อมจนได้ สสร. จำนวน 99 คน รายชื่อสมาชิก สสร. 2540 ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมืองมาจนปัจจุบัน เช่น คณิต ณ นคร, คณิน บุญสุวรรณ, แก้วสรร อติโพธิ์, ทองใบ ทองเปาด์, ธงทอง จันทรางศุ, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, พนัส ทัศนียานนท์, ลิขิต ธีรเวคิน, สมคิด เลิศไพฑูรย์, สุนี ไชยรส, เสรี สุวรรณภานนท์, อานันท์ ปันยารชุน, ประสงค์ สุ่นศิริ โดยมีอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน สสร.
แม้สสร.ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2540 จะไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเนื่องจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผ่านตัวแทนแต่ละจังหวัดซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยที่มีกระบวนการดังกล่าว และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 วรรคสาม ยังระบุไว้อย่างชัดเจนตอนหนึ่งว่า “ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ” 
 
นอกจากนี้ หากดูในเชิงโครงสร้างการทำงานของ สสร.ปี 2540 จะพบว่า มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาสองชุดที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ได้แก่ คณะกรรมาธิการรับฟังควาคิดเห็นและประชาพิจารณ์ และคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์
โดยทั้งสองกรรมาธิการมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ขององค์การเอกชน สมัชชา กลุ่ม ชมรม สหภาพ สหกรณ์ และประชาชนทั่วไป รวมถึงประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยวิธีต่างๆ
ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท ระบุว่า รายงานการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดในชั้นเบื้องต้นมีถึง 629,232 คน ขั้นประชาพิจารณ์ในระดับจังหวัด 70 จังหวัด 122,584 คน เวทีระดับภาค 3,828 คน มีผู้กรอกแบบสอบถาม 87,912 คน รวมผู้มีส่วนร่วมทั้งสิ้น 843,556 คน รวมถึงการมีส่วนร่วมระดับองค์กรกลุ่มธุรกิจ กลุ่มภาคประชาชน กลุ่มองค์กรประชาธิปไตย พรรคการเมืองจำนวนกว่า 300 กลุ่ม 

ชะตากรรมพรรคชาติไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2540

สิบปีเศษหลังพรรคชาติไทยภายใต้การนำของบรรหาร ศิลปอาชา ผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคชาติไทยก็มีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง บรรหารซึ่งเป็นหัวหน้าพรรครวมถึงกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ของพรรคชาติไทยถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี

สมาชิกพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคชาติไทยต่างย้ายไปสังกัด “พรรคชาติไทยพัฒนา” พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2551 หรือประมาณแปดเดือนก่อนการยุบพรรคชาติไทย ระหว่างที่บรรหารถูกตัดสิทธิทางการเมือง หลังครบกำหนดถูกตัดสิทธิทางการเมืองในเดือนธันวาคม 2556 บรรหารก็พาอดีตสมาชิกพรรคชาติไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปสมัครเข้าพรรคชาติไทยพัฒนา โดยเวลานั้นเป็นช่วงที่การชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยกลุ่มกปปส.กำลังเข้มข้น แม้จะกลับมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอีกครั้งแต่บรรหารก็ไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรคอีกเลย โดยขณะที่บรรหารเสียชีวิตในวันที่ 23 เมษายน 2559 เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งขณะนั้นมีธีระ วงศ์สมุทร เป็นหัวหน้าพรรค

ทายาทของบรรหารได้แก่ กาญจนา ศิลปอาชา และวราวุธ ศิลปอาชา มาขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาในช่วงหลังปี 2560 กาญจนาซึ่งเป็นบุตรีของบรรหารเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี 2561 และเป็นผู้นำทัพสู้ศึกการเลือกตั้งในปี 2562 ขณะที่วราวุธ บุตรชายของบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเดือนตุลาคม 2565 เพื่อเป็นผู้นำทัพในการสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566 พร้อมกับการรีแบรนด์พรรคใหม่ด้วยการปรับโลโกพรรค 
ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคชาติไทยพัฒนาได้ส.ส.แบบแบ่งเขตรวมหกที่นั่ง  และส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีกสี่คนรวมเป็นสิบคน หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2562 พรรคชาติไทยพัฒนามาได้ส.ส.เพิ่มอีกหนึ่งคนในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครปฐม จากนั้นในปี 2563 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จุลพันธ์  โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อของอดีตพรรคอนาคตใหม่ก็ย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาทำให้พรรคชาติไทยพัฒนามีส.ส.รวมเป็น 12 คน  

จุดยืนชาติไทยพัฒนาต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้ง 4 ฉบับ

สำหรับบทบาทของพรรคชาติไทยพัฒนาต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่ผ่านมา ตลอดช่วงเวลาเกือบสี่ปีของสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 มีภาคประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133(3) เข้าชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมสี่ฉบับที่ได้รับการบรรจุเข้าวาระแรก (รับหลักการ) ของการประชุมร่วมสองสภา 
ร่างแรกคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับห้าแก้ไข ห้ายกเลิก” ที่เสนอที่มีสาระสำคัญ เช่น ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกช่องทางการเลือกนายกคนนอก และยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคสช. และเสนอให้กำหนดว่านายกต้องเป็น ส.ส. รวมทั้งให้มีการเลือกตั้ง สสร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้แก้ไขได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ซึ่งญัตตินี้ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา 11 คน ลงคะแนนงดออกเสียง และมีหนึ่งคนคือ นพดล มาตรศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่ลงมติไม่รับหลักการ 
ร่างที่สองคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกส.ว. ปรับรูปแบบสภาเป็นสภาเดี่ยว ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติของคสช. กำหนดว่านายกต้องมาจากส.ส. และให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีที่มาจากคสช.ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ชาติไทยพัฒนาที่อยู่ในที่ประชุมทั้ง 11 คน ลงมติไม่รับหลักการร่างนี้ และมีหนึ่งคนคือพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐมที่ไม่อยู่ในที่ประชุม 
 
ร่างที่สามคือร่างที่ภาคประชาชนนำโดยสมชัย ศรีสุทธิยากร เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ส.ว.เลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส. ในช่วงห้าปีนับจากมีสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างฉบับนี้ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาที่อยู่ในที่ประชุมเจ็ดคน ลงคะแนนรับหลักการ และมีห้าคนรวมทั้งวราวุธ ศิลปอาชาที่ไม่อยู่ในที่ประชุม  
ส่วนร่างสุดท้าย คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นที่เสนอโดยคณะก้าวหน้า ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจทำบริการสาธารณะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องความมั่นคง ให้ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 50 จากรายได้ทั้งหมดของรัฐ ให้สภา/ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้สิทธิประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ ร่างฉบับนี้ ส.ส.ของชาติไทยพัฒนาลงคะแนนไปอย่างหลากหลาย โดยมีผู้รับหลักการสี่คน งดออกเสียงสามคนและมีสี่คนที่ไม่อยู่ในที่ประชุมรวมถึงวราวุธ ศิลปอาชา  
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าพรรคชาติไทยพัฒนายอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาชนเฉพาะในประเด็นที่เป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2540 เช่น ร่างที่ตัดอำนาจส.ว.ในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความพยายามจะรื้อหรือเสนอโครงสร้างการเมืองใหม่ เช่น การยกเลิกส.ว. การล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร พรรคชาติไทยพัฒนาก็ยังไม่ได้สนับสนุนประเด็นดังกล่าวแม้แต่ในขั้นตอนรับหลักการ ส่วนร่างที่เสนอเรื่องการกระจายอำนาจ ก็มีส.ส.ของพรรคที่ให้ความเห็นชอบเพียงสี่จาก 12 คน 
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าหากในสภาชุดถัดไปจะมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อเสนอที่มาจากภาคประชาชน แม้พรรคชาติไทยพัฒนาจะหาเสียงว่าพร้อมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเคยทำสำเร็จมาแล้วในสมัยเป็นพรรคชาติไทย แต่ประเด็นที่พรรคพร้อมจะสนับสนุนให้มีการแก้ไขก็อาจจะไม่ได้กว้างขวางมากนัก นอกจากนั้นสถานะของพรรคชาติไทยพัฒนาก็ต่างจากพรรคชาติไทย เพราะพรรคชาติไทยเป็นขนาดใหญ่ที่เคยได้ส.ส. 92 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2538 ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มี ส.ส. 12 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2562 บทบาทของพรรคชาติไทยพัฒนาจึงอาจยากที่จะอยู่ในสถานะที่จะถือธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉกเช่นเดียวกับพรรคชาติไทยในอดีต 
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย