เลือกตั้ง66: ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โทษหนักถึงจำคุก

การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยิ่งประชาชนตื่นตัวออกไปใช้สิทธิกันมากเท่าไร ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกคนในสังคม อีกทั้งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ว่าได้รับฉันทามติของสังคมอย่างแท้จริง ช่วงใกล้เลือกตั้งจึงมีการรณรงค์ให้ออกไปใช้สิทธิอยู่สม่ำเสมอผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนี้ในกฎหมายยังมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อคุ้มครองให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี

ขัดขวางประชาชนใช้สิทธิ/ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง โทษปรับ-จำคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ (มาตรา50 (7)) ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้น และสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้แก่ประชาชนได้ออกไปเลือกผู้แทนเข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนไม่ออกไปลงคะแนนเสียงก็ไม่ได้ต้องรับโทษรุนแรง นอกจากเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ แต่บทลงโทษจะมุ่งดำเนินการต่อคนที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียความสุจริตโปร่งใส หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางไม่ให้บุคคลออกไปใช้สิทธิ
โดยกฎหมายเลือกตั้ง ปัจจุบันได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ใดที่ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวจนทำให้ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปถึงหน่วยเลือกตั้งได้ หรือทำให้ไปใช้สิทธิไม่ทันเวลา (มาตรา100)  ซึ่งระวางโทษที่ลงแก่ผู้ที่ขัดขวางนี้ มีโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี  (มาตรา164) 
ดังเช่นในกรณีตัวอย่างในช่วงเลือกตั้งปี 2557 กลุ่มกปปส. ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันเลือกตั้งล่วงหน้าต่อเนื่องไปถึงวันเลือกตั้งจริงซึ่งภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมถูกฟ้องเป็นคดีขัดขวางการเลือกตั้งจำนวนมาก โดยเฉพาะแกนนำบางส่วนก็ได้รับโทษกันไปบ้างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงบางกรณีที่แม้ไม่ใช่แกนนำก็ต้องรับโทษถึงจำคุก แต่ก็มีบางกรณีอีกที่ยกฟ้องเช่นกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงประกอบดุลพินิจของศาล เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้การเลือกตั้งในปี 2557 ถูกตัดสินว่าเป็นโมฆะนำไปสู่การเปิดช่องให้มีการทำรัฐประหารในที่สุด

นายจ้างห้ามขัดขวางลูกจ้างออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษปรับ-จำคุก

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างอาจพบอุปสรรคจากการใช้อำนาจบังคับบัญชาที่มิชอบจากนายจ้างที่มีอำนาจต่อรองที่มากกว่า ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างใช้อำนาจบังคับบัญชาสกัดกั้นสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้างที่กระทำการขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรแก่ลูกจ้างในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีโทษถึงจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา142) 
โดยกรณีของนายจ้าง และลูกจ้างได้ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่แรกเริ่มในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงที่สภายังอยู่ในสมัยที่ 2 และได้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นครั้งแรกสำหรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายประเภท รวมถึงกรณีของนายจ้างที่จะเป็นความผิดหากไม่อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
“นายจ้างต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้างที่ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง  มิฉะนั้น ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50 บาท” (อ้างอิง : ภูริ ฟูวงศ์เจริญ,การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม หน้า41-43. )
แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปมักจะเกิดขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้ออกไปใช้สิทธิกันให้มากที่สุด แต่ในสังคมที่มีอาชีพแตกต่างหลากหลาย ทำให้มีอีกหลายคนที่ยังคงต้องทำงานในวันหยุด อีกทั้ง การเลือกตั้งในบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้จากการพ้นตำแหน่งของส.ส.เขตคนเดิม จึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่สำหรับผู้มีสิทธิในเขตนั้น หรือที่เรียกกันว่า “เลือกตั้งซ่อม” ซึ่งก็เคยเกิดปัญหาอันเป็นการสร้างความลำบากให้แก่กลุ่มลูกจ้าง ดังเช่นกรณีการเลือกตั้งซ่อมเขตเลือกตั้งที่ 5 ของจังหวัดนครปฐม ปี 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปลี่ยนวันเลือกตั้งจากวันอาทิตย์ เป็นวันพุธ ซึ่งแม้จะเป็นวันหยุดราชการแต่ก็สร้างความลำบากให้แก่บางกลุ่มอาชีพที่อยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ลูกจ้างในภาคเอกชนและแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้หยุดด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ แม้ไม่ได้บังคับหรือไม่ได้ห้ามลางานไปเลือกตั้งในวันนั้น แต่ กกต.เองก็ไม่ได้ชัดเจนว่า ลูกจ้างมีสิทธิที่จะออกมาเพื่อใช้สิทธิวันเลือกตั้งดังกล่าวโดยไม่ถือเป็นวันลางานหรือไม่ เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติรองรับไว้ชัดเจน กกต.จึงแก้ปัญหาด้วยการมีหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังนายจ้างของสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 5 ให้ความสะดวก และอนุญาตให้ผู้ใช้แรงงาน หรือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย