ภาคประชาสังคมเปิดเวที ดันพรรคการเมืองผลักนโยบายสิทธิมนุษยชน

4 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 16 องค์กรนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมจัดเวที “เลือกตั้ง: ฟังเสียงนโยบายจากภาคประชาสังคม (Civil Society’s Agenda for the 2023 Thailand Election)” เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จากผู้ที่ทำงานและมีประสบการณ์โดยตรง
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ตัวแทนจากแอมเนสตี้ กล่าวเปิดว่างานในวันนี้จัดขึ้นภายใต้วาระสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Agenda เพื่อให้พรรคการเมืองคำนึงถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ รวมถึงประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ โดยข้อเสนอแนะรวบรวมจากการทำฐานข้อมูลและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นประเด็นกรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล เเละมาตรการป้องกันการทุจริต และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม

ภาคประชาสังคมรอบด้านร่วมเสนอนโยบายย้ำประเด็นสิทธิมนุษยชน

เวทีเสวนาในช่วงที่สองเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทั้งผู้ที่ทำงานในด้านสิ่งแวดล้อม เสรีภาพในการแสดงออก รัฐสวัสดิการ และสิทธิเด็กและผู้พิการ ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องและผลักดันให้พรรคการเมืองสนับสนุนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
วิทยากรคนแรก สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เริ่มด้วยการนำเสนอประเด็นข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เป็นปัจจัยสำคัญขององค์กรธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อเสนอแนะข้อปฏิบัติต่อพรรคการเมือง เช่น ให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ทำการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนแบบรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และให้นำกลไก Net Zero และตลาดคาร์บอนมาลดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการยกเลิกกฎหมายฟ้องกั่นแกล้งทั้งต่อประชาชนโดยทั่วไปและผู้บริโภค
ขณะที่ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมว่ารัฐที่เป็นประชาธิปไตยควรจะส่งเสริมความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Justice และการเปลี่ยนแปลงผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรมและประชาธิปไตยทางพลังงาน อีกทั้งควรจะผ่านกฎหมายการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษหรือ Pollutant Release and Trasfer Register (PRTR) และสนับสนุนระบบการจัดการขยะในท้องถิ่นชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำเสนอประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม โดยเน้นไปที่สถานการณ์ด้านการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการลิดรอนการใช้สิทธิ โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังเป็นเยาวชน และการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ต้องหา ปิยนุชยังเรียกร้องให้มีการทบทวนประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและให้ถอนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ รวมถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวโดยพลการ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ปิดท้ายด้วยการย้ำให้รัฐลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการยกเลิกโทษประหาร
วิทยากรคนต่อมา นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) นำเสนอประเด็นด้านรัฐสวัสดิการ โดยเน้นที่ระบบถ้วนหน้า นิติรัตน์ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็ก หรือแม้กระทั่งแรงงานยังเข้าไปถึงสวัสดิการ ในขณะเดียวกัน งบประมาณด้านสวัสดิการสำหรับประชาชนยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับงบสวัสดิการของข้าราชการ รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนให้สิทธิเป็นหน้าที่ที่ระบุไว้อย่างคลุมเคลือ และมีการใช้คำว่าผู้ยากไร้เข้าไปผูกกับสวัสดิการ
อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงโครงการ “กาลพลิก” เพื่อพัฒนาสิทธิของผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ อธิพันธ์เสนอประเด็นการพัฒนาระบบการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับทุกกลุ่ม กล่าวคือพัฒนาสะพานลอย ทางเดินเท้า และ ป้ายรถประจำทางให้ตอบโจทย์ทั้งผู้สัญจรทางเท้าและผู้พิการได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งต้องพัฒนากลไกสนับสนุนผู้ช่วยผู้พิการ ให้สนับสนุนกองทุนผู้พิการและเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้ช่วยผู้พิการ
วิทยากรคนสุดท้าย นัสรี พุ่มเกื้อ หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเยาวชนที่โดนกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงปัญหาด้านทรงผม ที่สะท้อนสภาพสังคมอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ในตอนนี้ ปัญหาที่เด็กและเยาวชนเจอและต้องการให้เกิดการแก้ไขคือกฎระเบียบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เยาวชนไทยยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ถูกละเลย กลไกของสภาเด็กไม่มีประสิทธิภาพและไม่สะท้อนเสียงของเยาวชน นัสรีเรียกร้องให้ฟังเสียงของเยาวชน ไม่ใช้ความรุนแรง และรับรู้ความเป็นอยู่และความเป็นตัวตนของเด็กและเยาวชน

ยิงคำถามสู่แคนดิเดตนายก ถามหาจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน

ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้ ทางผู้แทนแห่งภาคประชาสังคมได้มีการตั้งคำถามต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้
สฤณีฝากถึงพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ จะยกเลิกปฏิบัติการข่าวสารสนเทศหรือ Information Operation (IO) เป็นไปได้อย่างไรอย่างไร และสามารถรับประกันอย่างไรว่าจะไม่มีการใช้เครื่องมือสอดแนมต่าง ๆ  เช่น สปายแวร์เพกาซัส เพื่อสอดแนมหรือโจมตีประชาชน และการปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในอนาคตเป็นอย่างไร
ด้านธาราถามพรรคชาติไทยพัฒนาว่าจะรับประกันอย่างไรว่าประชาชนต่าง ๆ อาทิ ประชาชนชายขอบ ชาวเล และกลุ่มคนอื่น ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ รวมไปถึงมีวิธีการถ่วงดุลและการตรวจสอบหรือไม่ ส่วนนิติรัตน์ฝากถามถึงแคตดิเดตพรรคเพื่อไทย โดยถามแพทองธาร ชินวัตรว่าในเมื่อสตรีมีสิทธิลาคลอด 180 วัน ทางพรรคมีนโยบายด้านสิทธิสวัสดิการอะไรบ้างสำหรับสตรีตั้งครรภ์ และถามเศรษฐา ทวีสินว่ามีแนวนโยบายด้านการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของผู้มีรายได้สูงภายใต้นโยบายของธนาคารโลกอย่างไรบ้าง