เลือกตั้ง 66: ย้อนดูที่มาเบอร์-บัตรเลือกตั้งสับสน สูตรแบบทหารสร้างภาระให้ประชาชน

จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่มีเพียงเบอร์ ไม่มีชื่อและนามสกุลของผู้สมัครในแต่ละเขตที่หลายฝ่ายกังวลว่า ประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิออกเสียงจะไม่สามารถออกเสียงตามเจตจำนงได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการเลือกตั้ง 2566 เบอร์ของผู้สมัครจะจัดลำดับตามการมาสมัครรับเลือกตั้งหรือหากมาพร้อมกันจะต้องจับสลาก ทำให้ผู้สมัครทั้ง 400 เขตเลือกตั้งที่แม้มาจากพรรคเดียวกันก็จะได้เบอร์ต่างกัน รวมทั้งต่างกับเบอร์บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ๆ ด้วย ด้านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า บัตรเลือกตั้ง 2566 เป็นบัตรมาตรฐานหรือเรียกว่า “บัตรโหล” ที่ใช้มานานแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งก่อนปี 2540 ยกเว้นปี 2562 ที่ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนต้องใช้บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม “บัตรโหล” ที่ไม่มีรายละเอียดเอื้ออำนวยช่วยผู้ออกเสียงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ว่าด้วยเบอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งส่วนที่ว่าด้วยระบบการจัดเบอร์ของผู้สมัครทั้งสองแบบนี้ไม่เอื้อต่อการรณรงค์สร้างความจดจำตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง เมื่อมารวมกับจุดอ่อนของ “บัตรโหล” ในวันออกเสียงเลือกตั้งจึงกลายเป็นการสร้างภาระให้ผู้ออกเสียงมากขึ้นไปอีก รวมถึงพรรคการเมือง นักการเมืองทั้ง 400 เขตที่ต้องหากลยุทธ์ในการรณรงค์ให้ประชาชนจดจำเบอร์ให้ได้ ทั้งนี้หากย้อนดูกฎหมายเลือกตั้งในช่วงปี 2541 เป็นต้นมาพบว่า ตัวการสำคัญที่สร้างความยุ่งเหยิงในระบบเบอร์เลือกตั้งคือ คณะรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทั้งยังเป็นปัญหาที่คลี่ไม่ออกจนถึงปัจจุบัน

รัฐประหาร 49 ล้มระบบเบอร์เดียวทั้งคนและพรรค

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 (กฎหมายเลือกตั้ง 2541 ) มาตรา 38 กำหนดหมายเลขหรือเบอร์ที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยยึดตามเบอร์ที่พรรคการเมืองได้จากการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เรียงตามลำดับก่อนหลังที่มายื่นใบสมัคร หากพรรคการเมืองมาพร้อมกันและตกลงกันไม่ได้ให้จับสลาก ซึ่งเบอร์ดังกล่าวจะใช้กับผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคการเมืองนั้นในทุกเขตเลือกตั้งด้วย กรณีที่พรรคการเมืองใดส่งเพียงผู้สมัครแบบแบ่งเขต ให้ได้รับเบอร์ต่อท้ายจากผู้สมัครแบบแบ่งเขตจากพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ นำไปสู่การณรงค์แบบเบอร์เดียวกันทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองหาเสียงง่าย ส่งเสริมความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนผู้ออกเสียงจำง่าย ไม่สับสน

เมื่อกฎหมายวางเกณฑ์เอื้อต่อการจดจำของประชาชน ช่วยผู้ออกเสียงเลือกได้อย่างถูกต้องตามเจตจำนงของตนเอง ในแง่นี้แม้บัตรเลือกตั้งจะเป็นแบบ “บัตรโหล” ที่ไม่มีชื่อและนามสกุลผู้สมัครจึงไม่เป็นปัญหานัก การเลือกตั้งที่รณรงค์เบอร์เดียวกันทั้งคนและพรรคการเมืองเกิดขึ้นในปี 2544 ครั้งนั้นพรรคไทยรักไทยนำโดยทักษิณ ชินวัตรชนะการเลือกตั้งได้ทั้งหมด 248 ที่นั่ง และอีกครั้งในปี 2548 ที่เป็นชัยชนะแบบถล่มทลาย 377 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แม้จะมีแรงหนุนจากปลายปากกาของประชาชน แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันของของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและตามมาด้วยการรัฐประหารในปี 2549

ต่อมารัฐบาลทหารเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง และตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 (กฎหมายเลือกตั้ง 2550) ออกมารองรับการเลือกตั้งในปี 2551 ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนระบบบัญชีรายชื่อเป็นระบบสัดส่วนแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ขณะที่ส.ส.แบบแบ่งเขตเปลี่ยนเป็นเขตจังหวัดที่เขตหนึ่ง ๆ จะมีผู้ชนะได้ 1-3 คน ทำให้ในการกำหนดหมายเลขผู้สมัครเขตจึงเกิดสภาวะที่ในหนึ่งเขตมีผู้สมัครจากพรรคเดียวกันมากกว่าหนึ่งคนซึ่งได้เบอร์ต่างกัน และทำให้เบอร์ของผู้สมัครเหล่านั้นแตกต่างจากเบอร์ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย

ต่อมารัฐบาลทหารเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งและตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 (กฎหมายเลือกตั้ง 2550) ออกมารองรับการเลือกตั้งในปี 2551 ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนระบบบัญชีรายชื่อเป็นระบบสัดส่วนแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ขณะที่ส.ส.แบบแบ่งเขตเปลี่ยนเป็นเขตจังหวัดที่เขตหนึ่งๆ จะมีผู้ชนะได้ 1-3 คน ในการกำหนดเบอร์ผู้สมัครแบบสัดส่วนตามบัญชีของพรรคการเมือง มาตรา 46 ของกฎหมายเลือกตั้ง 2550 บัญญัติว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในแบบสัดส่วนจะได้รับเบอร์ตามลำดับการยื่นบัญชีแบบสัดส่วนและให้เป็นเบอร์เดียวกันในทุกเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน และส่วนผู้สมัครแบบแบ่งเขต ขณะที่มาตรา 47 บัญญัติว่า ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้ผู้สมัครได้รับเบอร์เรียงตามลำดับก่อนหลังการยื่นใบสมัคร ทำให้เกิดการแยกระบบเบอร์ของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตออกจากกัน จากเดิมที่จะให้ยึดยึดตามเบอร์ที่พรรคการเมืองได้จากการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ 

ระบบเลือกตั้งจากคณะรัฐประหารจึงถือเป็นการ “ล้ม” ระบบเบอร์เดียวทั้งคนทั้งพรรคที่เคยใช้ในการเลือกตั้งสองครั้งก่อนหน้าและถือเป็นเทคนิคที่สร้างอุปสรรคให้พรรคการเมืองในการหาเสียง หากการเลือกตั้งหลังจากนั้นพรรคพลังประชาชน ร่างทรงของไทยรักไทยยังคงครองเสียงที่นั่งมากที่สุดในสภา แต่ยังคงเผชิญแรงเสียดทานทางการเมืองจากท้องถนน จนกระทั่งการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล ระหว่างนี้สภาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 สร้างระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่และแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง 2550 โดยแก้ไขระบบเบอร์ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อกลับไปเป็นระบบเบอร์เดียวกันทั้งคนและพรรคที่เคยบัญญัติไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง 2540 การเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทย หรือพลังประชาชนเดิมกลับมาครองที่นั่งในสภา 265 ที่นั่ง เป็นรัฐบาลอีกครั้ง หากต้องเผชิญพิษการเมืองผลพวง “นิรโทษกรรมสุดซอย” และรัฐประหารโดยทหารการเมืองอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตชนิด “บัตรโหล”

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อชนิด “บัตรโหล”

รัฐประหาร 57 ระบบเลือกตั้งพิสดารกับบัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ

การรัฐประหาร 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ดำเนินตามสูตรที่ต้องคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและออกแบบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อ้างว่า คะแนนทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำ หากส่งผลในทางอ้อมคือ การลดพลังความสำคัญของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ระบบเลือกตั้งแบบใหม่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสมและมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คือให้กาเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่คะแนนจะถูกนำไปคิดเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยผ่านการชดเชยในกรณีที่พรรคการเมืองได้ที่นั่งน้อยกว่า “ส.ส. ที่พึงมี” การมีใบบัตรเดียวเท่ากับว่าประชาชนมีทางเลือกในการกาน้อยลงเพราะเลือกคนก็ได้ทั้งพรรค เป็นการเน้นที่ตัวบุคคลหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ อีกทั้งยังเกิดการคำนวณที่นั่งแบบพิสดารที่ทำให้พรรคขนาดจิ๋วซึ่งมีเสียงหลักสามหมื่นสามารถเข้าสภาได้

หลักคิดคนนำพรรคการเมืองปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง 2561) รูปแบบการเขียนกฎหมายเลือกตั้งในรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนหน้าเป็นการเขียนโดยยกการสมัครแบบบัญชีรายชื่อขึ้นนำและผูกพันเบอร์บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองกับผู้สมัครแบบแบ่งเขต หากกฎหมายเลือกตั้ง 2561 หรือฉบับคสช. นี้จัดการความระบบความสัมพันธ์แบบใหม่คือ ต้องมีสมัครส.ส. แบบแบ่งเขตก่อนจึงจะสามารถส่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ ทำให้กกต .ต้องเปิดรับสมัครส.ส. แบบแบ่งเขตก่อนและจัดเบอร์ตามลำดับการสมัครหรือการจับสลากในกรณีที่ผู้สมัครมาพร้อมกัน จากนั้นเว้นระยะให้ตรวจสอบผู้สมัครแบบแบ่งเขตจึงจะเปิดให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งทำให้เบอร์ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตทั้ง 350 เขตและแบบบัญชีรายชื่อไม่ตรงกัน

ความพยายามลดความสำคัญของพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งและระบบเลือกตั้งยังสะท้อนผ่านข้อเสนอของพลเอกประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ในเวลานั้นที่เสนอให้บัตรเลือกตั้งเหลือเพียงเบอร์ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตและช่องกาบัตร โดยไม่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมือง อ้างเหตุผลเรื่องปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้งในกรณีหน่วยเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะบัตรเลือกตั้งมีจำนวนถึง 350 รูปแบบ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดความสำคัญของพรรคการเมืองในใจคน แต่ท้ายที่สุดด้วยแรงประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ กกต. ออกแบบบัตรเลือกตั้งที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองถือเป็น “บัตรเฉพาะ” ที่ออกแบบมารองรับระบบเลือกตั้งของคสช. 

ผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายเลือกตั้ง 2561 ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการหาเสียงในระดับประเทศ เพราะแต่ละเขตเลือกตั้งพรรคการเมืองจะได้เบอร์ที่กระจัดกระจาย และยังส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำเบอร์ผู้สมัครของแต่ละพรรคสับสน เพราะหากในชีวิตประจำวันประชาชนเดินทางข้ามเขตเลือกตั้งเป็นประจำก็จะพบกับเบอร์ของผู้สมัครพรรคเดียวกันที่แตกต่างกันซึ่งอาจนำไปสู่การลงคะแนนที่ผิดพลาดได้ หลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐที่นำโดยพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2562

ที่มา: ประชาไท

สู้คืนระบบเบอร์เดียวในรัฐบาลนั่งร้านคสช. แต่แพ้

ปี 2565 ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) กรรมาธิการได้เสนอให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองมีเบอร์เดียวกัน เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. แปรญัตติของเพิ่มมาตรา 6/3 แทนมาตรา 46 ในกฎหมายเลือกตั้ง 2561 โดยมีเหตุผลว่า หลักการสำคัญของบัตรลงคะแนนของผู้สมัครส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อควรเป็นบัตรที่มีเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ ในการกำหนดเบอร์ผู้สมัครทั้งสองระบบเพื่อความสะดวกของประชาชนที่จะไม่สับสน หากใช้หลักการที่บัญญัติไว้ในร่างที่กรรมาธิการเสนอมาส.ส. ทั้งสองระบบจะได้เบอร์ไม่ตรงกันในทุก ๆ เขต ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีความสัมพันธ์กัน สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เขามองว่า ตัวเลขมีความสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง  

เขาระบุว่า มาตรา 6/3 ที่เสนอเพิ่มมานี้เป็นกระบวนที่จะให้ผู้สมัครได้เบอร์เดียวกันทั้งคนและพรรค แก้เกมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังไม่ได้แก้ไขโดยหน่วงเวลาการให้เบอร์ผู้สมัครแบบแบ่งเขตด้วยการตรวจสอบคุณสมบัติ และระหว่างนี้ให้ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสมัครสอดเข้ามาและได้เบอร์ก่อน จากนั้นจึงนำเบอร์นี้ไปใช้กับส.ส. แบบแบ่งเขตที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ด้านสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.และกรรมาธิการสงวนความเห็นเช่นเดียวกับเสรี เนื่องจากเห็นว่า เบอร์เดียวกันทั้งคนทั้งพรรคจะทำให้ประชาชนจดจำง่าย กกต.จัดการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงได้ง่าย “ไม่ต้องมีหมายเลขที่สับสน พอข้ามเขตไปก็คนละเบอร์และคนละเบอร์กับพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคจะไปช่วยสนับสนุนในการหาเสียงก็ติดขัดไปหมด” หากยังมีความติดขัดในข้อกฎหมายมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังไม่ได้แก้ไข แต่มองว่า ทางออกของเสรีเป็นแนวทางที่แยบยลที่แก้ไขปัญหาได้

ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติในประเด็นที่เสรีแปรญัตติเพิ่มมาตรา 6/3 มีผู้ลงมติ 499 คน เห็นด้วย 150 คน ไม่เห็นด้วย 341 คน งดออกเสียง 5 คนและไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน โดยผู้ไม่เห็นด้วยคือพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมไปถึง ส.ว. ส่วนมาก ทำให้ประเด็นเบอร์เดียวกันทั้งคนและพรรคตกไป

เลือกตั้ง 66 เมื่อความประหยัดและสะดวกของกกต. มาก่อนประชาชน

ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กกต.จะกลับมาใช้บัตรมาตรฐาน หรือ “บัตรโหล” ไม่มีรายละเอียดของผู้สมัครแบบแบ่งเขตอีกครั้งในขณะที่ยังเป็น “หลายเบอร์” คนที่รับภาระคือ ประชาชนผู้ออกเสียงที่ต้องจำเบอร์ของผู้สมัครให้ได้ แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากประชาชนในโลกออนไลน์เรื่องเบอร์ผู้สมัครของพรรคเดียวกันอย่างแพร่หลาย แต่กกต.ยังคงยืนยันว่า การจัดทำบัตรเลือกตั้งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ 2 แสวง บุญมี เลขาธิการกกต. โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายข้อดีของ “บัตรโหล” ไว้ว่ามีความแตกต่างชัดเจนกับบัตรบัญชีรายชื่อ ประหยัดงบประมาณเพราะพิมพ์แค่ครั้งเดียว และบริหารจัดการง่าย ไม่เกิดกรณีส่งบัตรผิดเขตดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้ง 2562

เหตุผลเหล่านี้สะท้อนสภาวะความไม่ต้องการผิดพลาดในการจัดการการเลือกตั้งอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตเฉกเช่นเดียวกันกับการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และมุ่งเน้นการบริหารภายในมากกว่าเห็นประชาชนเป็นสำคัญในหลักการเบอร์เดียวทั้งคนและพรรค อันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจดจำง่าย พรรคการเมืองรณรงค์ง่ายและมีความสำคัญขึ้นในใจประชาชน

หากวันนี้กกต. เห็นประชาชนสำคัญ ยังพอมีเวลาทวงคืนความเชื่อมั่นจากประชาชนด้วยการเพิ่มรายละเอียดในบัตรเลือกตั้งเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2562 หรือบรรเทาปัญหาอีกทางโดยการออกเป็น “ระเบียบ” อย่างชัดเจนให้จัดคูหาเลือกตั้งโดยให้หันกระดานที่บอกเบอร์ของผู้สมัครเข้าคูหาให้เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่เข้าไปในคูหาแล้วแต่จำเบอร์ไม่ได้ สามารถหันไปมองที่กระดานเพื่อดูเบอร์อีกครั้งก่อนกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งได้