เลือกตั้ง 66: รัฐบาลรักษาการคืออะไร? ทำอะไรได้บ้าง?

การยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ทำให้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตามแม้จะยุบสภาแล้ว แต่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงทำหน้าอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งไม่ได้มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งรัฐบาลรักษาการมีหน้าที่อย่างไร และอะไรที่ห้ามทำระหว่างรักษาการ 

หน้าที่รัฐบาลรักษาการในกรณียุบสภาหรือสภาครบวาระ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนฯ ครบวาระ มาตรา 168 (1) กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่พ้นจากตำแหน่งด้วยการยุบสภาหรือครบวาระ ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งเรียกกันว่า “รัฐบาลรักษาการ”

คำว่า ‘รัฐบาลรักษาการ’ เป็นคำที่ใช้เรียกรัฐบาลที่ยังอยู่ในตำแหน่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ในกรณีที่ฝ่ายบริหารของรัฐมีเหตุให้ต้องยุติบทบาทลง จึงต้องยังมี “ฝ่ายบริหารชั่วคราว” นั่งทำงานอยู่จนกว่าจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่มารับไม้ต่อ เพื่อดูแลงานเฉพาะหน้าให้ยังเดินหน้าไปได้ไม่ให้การทำงานของระบบกลไกต่างๆ ต้องหยุดชะงัก

ข้อห้ามรัฐบาลรักษาการทำอะไรไม่ได้

เนื่องจากรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่รัฐบาลชั่วคราว รัฐธรรมนูญจึง ‘จำกัดอำนาจ’ ของรัฐบาลรักษาการไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วยเหตุอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือในกรณีที่จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่

โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่

  1. ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ ที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว
  2. ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนบุคลากรของรัฐ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
  3. ห้ามอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
  4. ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐที่อาจมีผลในการเลือกตั้ง

กกต. กำหนดห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ รวมกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่

นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลรักษาการยังถูกจำกัดอำนาจโดย ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 (ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยการของรัฐฯ) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การจำกัดการใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นมากที่สุดในบรรดาผู้ถือหุ้นและมีหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หน่วยงานตามกฎหมายของรัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง กรม ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน รวมถึงบุคลากรที่สังกัดอยู่ในองค์กรเหล่านั้นด้วย

ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยการของรัฐฯ คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการหลังการหมดอายุของสภาหรือยุบสภา ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐในกรณีดังต่อไปนี้

  1. กำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน ที่มีผลบังคับใช้ทันที และทำให้เกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง
  2. การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่
  3. การประชุม อบรม หรือสัมมนา โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่
  4. โอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้แจกจ่ายทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดกับประชาชน
  5. แจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  6. ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่
  7. ใช้ทรัพยากรสื่อของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ วิทยุโทรทัศน์ ในการประชาสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง

ทั้งนี้ ในการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณสามารถทำได้หากเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน หรือกรณีใดก็ตามที่ กกต. เห็นว่ามีเหตุจำเป็นก็สามารถยกเว้นได้