เลือกตั้ง 66: ย้อนดูผลเลือกตั้งเขตสูสีปี 62 สะท้อนทุกเสียงมีความหมาย

การเลือกตั้งทั่วไป 2562 แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังการรัฐประหาร ผู้สมัครตัวเต็งหรือผู้สมัครสาย “บ้านใหญ่” จำนวนมากพลิกล็อคพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่เคยชนะในพื้นที่มาก่อน การเลือกตั้งครั้งนี้ยังทำลายคู่ตรงข้ามเดิมระหว่างพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ หลายเขตเลือกตั้งอันดับหนึ่งและสองมีคะแนนสูสี ห่างกันไม่มากชนิดหายใจรดต้นคอ เขตเหล่านี้จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในการเลือกตั้ง 2566 หนึ่งเสียงของทุกคนล้วนมีความหมายเมื่อมันสามารถพลิกผลล้มผู้สมัครที่ครองพื้นที่มาอย่างยาวนานได้

ชวนดู 5 เขตเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ซึ่งหลายหน่วยคะแนนห่างกันเพียงหลักหน่วยถึงร้อยกว่า ๆ เท่านั้น ถ้าคนออกไปเลือกตั้งมากขึ้นหรือเปลี่ยนใจเพียงหยิบมือ ก็อาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ทันที

นครปฐม เขต 1: นับใหม่ 2 รอบห่าง 4 คะแนน มีไฟดับ-กกต.รวมคะแนนผิด

ผู้ชนะ พันโท สินธพ แก้วพิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ (ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ) 35,711

อันดับสอง สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ พรรคอนาคตใหม่ 35,707

ส่วนต่าง 4 คะแนน หรือ 0.01%

เขตเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในประเทศในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ได้แก่จังหวัดนครปฐม เขต 1 ซึ่งผลต่างระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้อันดับสองห่างกันเพียง 4 คะแนนเท่านั้น นครปฐม เขต 1 ประกอบไปด้วยอำเภอเมืองนครปฐม ยกเว้นตำบลบ้านยาง ตำบลหนองงูเหลือม ตำบลทัพหลวง ตำบลตาก้อง ตำบลมาบแค และตำบลทุ่งน้อย ผู้เข้าป้ายได้เป็น ส.ส. ในท้ายที่สุดคือพันโท สินธพ แก้วพิจิตร จากพรรคประชาธิปัตย์และบ้านใหญ่ “แก้วพิจิตร” ในขณะที่อันดับสองที่ตามมาติด ๆ คือสาวิกา ลิมปะสุวัณณะ จากพรรคอนาคตใหม่

นครปฐม เขต 1 เป็นหนึ่งในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหามาก เนื่องจากในการนับคะแนนครั้งแรกผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายชนะไป 147 คะแนน ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นเรื่องกับ กกต. ขอให้มีการนับคะแนนใหม่เพราะคะแนนที่ประกาศนั้นไม่ตรงกับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งทั้ง 245 หน่วย อย่างไรก็ดีปัญหาก็ยังไม่จบ นอกจากการรายงานว่ามีไฟดับแล้วเมื่อมีการนับคะแนนใหม่ตามมติ กกต. ผลกลับออกมาตรงกันข้ามให้สาวิกาชนะสินธพไป 62 คะแนน แต่ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ท้วงอีกเช่นกันจน กกต. ต้องยอมรับว่ามีกรรมการคนหนึ่งสรุปข้อมูลผิด และสรุปคะแนนใหม่อีกครั้ง ผลการเลือกตั้งเป็นทางการออกมาว่า พันโทสินธพจากพรรคประชาธิปัตย์เฉือนสาวิกาไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้น

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 สินธพและบ้านใหญ่แก้วพิจิตรจะย้ายตามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยสมรภูมินครปฐมจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างสองบ้านใหญ่แก้วพิจิตรและสะสมทรัพย์จากพรรคชาติไทยพัฒนาและมีฐานเสียงอยู่นอกอำเภอเมือง ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ที่บัดนี้อยู่ในนามพรรคก้าวไกลก็พร้อมจะสู้เพื่อรักษาพื้นที่ของตนเอง 2 ที่นั่งในจังหวัดนครปฐม

ประจวบฯ เขต 2: พลิกโผล้ม ส.ส. 4 สมัยด้วยคะแนนหลักร้อย

ผู้ชนะ พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ พรรคเพื่อไทย 32,507

อันดับสอง เฉลิมชัย ศรีอ่อน พรรคประชาธิปัตย์ 32,401

ส่วนต่าง 106 คะแนน หรือ 0.10%

ผลการเลือกตั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอปราณบุรีและอำเภอหัวหิน เป็นการ “ล้มช้าง” หักปากกาเซียนครั้งใหญ่ของการเลือกตั้ง เมื่อผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ สามารถเอาชนะเจ้าของพื้นที่เดิม เฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ ไปได้อย่างเฉียดฉิวเพียง 106 คะแนนหรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของผู้มาใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเท่านั้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เหลือที่นั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แค่สองที่นั่งจากที่ในการเลือกตั้ง 2554 สามารถกวาดได้ทั้งสามที่นั่งของจังหวัด

ผลการเลือกตั้งในเขต 2 สร้างความประหลาดใจอย่างมากเนื่องจากเฉลิมชัยเป็นขุนพลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มีดีกรีเป็นถึงอดีต ส.ส. สี่สมัย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะที่พรเทพเป็นอดีตนายกเทศมนตรีตำบลปราณบุรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเฉลิมชัยจะชวดเก้าอี้ ส.ส. แต่หลังการเลือกตั้งเมื่ออภิสิทธิ์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้รับการเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ รวมถึงได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 เฉลิมชัยกล่าวว่า จะส่งหลานชาย จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ลงเขต 2 ชิงชัยกับเจ้าของเก้าอี้จากพรรคเพื่อไทยแทนตนเอง อีกทั้งยังประกาศว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งน้อยกว่าเดิมที่ 51 ที่นั่ง ตนจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

กรุงเทพฯ เขต 28: คะแนนหลักร้อยพลิกชนะ ส.ส. เจ้าของพื้นที่ และพรรค คสช.

ผู้ชนะ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคอนาคตใหม่ 29,590

อันดับสอง กฤชนนท์ อัยยปัญญา พรรคพลังประชารัฐ 29,413

ส่วนต่าง 177 คะแนน หรือ 0.16%

กรุงเทพฯ เขต 28 หรือเขตบางแค เป็นหนึ่งในเขตเลือกตั้งในเมืองหลวงที่พรรคใหม่อย่างอนาคตใหม่สามารถช่วงชิงที่นั่งจากเจ้าของพื้นที่เดิมซึ่งคือพรรคประชาธิปัตย์ไปได้ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ กฤชนนท์ อัยยปัญญา ไป 177 คะแนน ทิ้งห่างอันดับสาม วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทยกว่า 6,000 คะแนน และอันดับสี่ อรอนงค์ คล้ายนก เจ้าของเก้าอี้คนเดิมจากพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า 12,000 คะแนน

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ผู้สมัครพรรคก้าวไกลก็ยังสามารถชิงเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางแคมาจากพรรคประชาธิปัตย์มาได้อีกครั้ง โดยอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ที่หล่นไปอยู่อันดับที่สี่แบบห่าง ๆ เช่นเดิม

กรุงเทพฯ เขต 5: ห่างสองร้อย อนค. ร้องนับคะแนนใหม่

ผู้ชนะ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ พรรคเพื่อไทย (ย้ายไปพรรคภูมิไจไทย) 27,897

อันดับสอง อรพินทร์ เพชรทัต พรรคพลังประชารัฐ 27,667

ส่วนต่าง 230 คะแนน หรือ 0.21%

กรุงเทพฯ เขต 5 ประกอบไปด้วยเขตห้วยขวางและเขตดินแดง โดยผู้ชนะในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 คือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่เฉือน อรพินทร์ เพชรทัต จากพรรคพลังประชารัฐไปเพียง 230 คะแนน ในขณะที่เจ้าของเก้าอี้คนเดิมอย่าง ธนา ชีรวินิจ จากพรรคประชาธิปัตย์คะแนนร่วงตามกระแสพรรคไปอยู่อันดับสี่

เขตนี้เป็นอีกหนึ่งในเขตที่การนับคะแนนมีปัญหาจนต้องนับคะแนนใหม่อีกครั้ง อดิศร โพธิ์อ่าน ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการระหว่างการนับคะแนน เช่น พบว่าในหน่วยเลือกตั้ง 2 บัตรที่เลือกอนาคตใหม่ถูกขานให้เป็นบัตรเสียหรือให้กลายเป็นคะแนนของพลังประชารัฐ และยังพบอีกว่าในหน่วยเลือกตั้ง 40 มีการบันทึกคะแนนผิดให้พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมากกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ถูกลด อีกทั้งในการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกประเทศ เจ้าหน้าที่ยังใส่ซองผิดไม่ใช้ของ กกต. ทำให้ถูกขานเป็นบัตรเสียทั้งหมด จึงได้มีการขอให้ กกต. นับคะแนนใหม่

เมื่อถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขตดินแดงก็ยังพบปัญหาอีก กันตภณ ดวงอัมพร ผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล ร้องเรียนว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ บัตรดี และบัตรเสีย ที่ กกต. ประกาศนั้นไม่ตรงกับผลการเลือกตั้งที่ติดประกาศที่สำนักงานเขตดินแดง และยังไม่ตรงกับรูปภาพของผลคะแนนที่ผู้สมัครรวบรวมมาอีกด้วย

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ประเดิมชัยจะย้ายไปลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคภูมิใจไทย ส่วนอรพินทร์ออกตัวสวมเสื้อรวมไทยสร้างชาติ ด้านพรรคเพื่อไทยวาง ขจรศักดิ์ ประดิษฐาน เป็นผู้สมัครเขตห้วยขวางเละเขตวังทองหลาง และ ภัทร ภมรมนตรีเป็นผู้สมัครเขตดินแดง

พิษณุโลก เขต 3: พปชร. ดับฝันแชมป์เก่าเข้าสภาด้วยคะแนนหลักร้อย

ผู้ชนะ อนุชา น้อยวงศ์ พรรคพลังประชารัฐ (ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย) 25,207

อันดับสอง พงษ์มนู ทองหนัก พรรคประชาธิปัตย์ 25,003

ส่วนต่าง 204 คะแนน หรือ 0.24%

พิษณุโลก เขต 3 ประกอบไปด้วยอำเภอวังทองและอำเภอเนินมะปราง การเลือกตั้งปี 2562 อนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.หน้าใหม่จากพลังประชารัฐคว้าชัยเหนือพงษ์มนู ทองหนัก จากพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งห่างเพียง 204 คะแนน

ก่อนหน้านี้ปี 2557 พงษ์มนู ทองหนัก ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคชาติพัฒนา จากผลคะแนนอย่างเป็นทางการพงษ์มนูสามารถคว้าชัยไปได้ แต่ยังไม่ได้เข้าสภาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะและเกิดการรัฐประหาร 2557 เสียก่อน การเลือกตั้ง 2562 พงษ์มนูลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์หวังใช้ฐานเสียงเดิมของจุติ ไกรฤกษ์ส่งเข้าสภา แต่พลาดฝันพ่ายอนุชาไป หลังจากนั้นพงษ์มนูเข้ารับตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกภายใต้ร่มนายกฯสองสมัยอย่างมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์  

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 อนุชาเป็นหนึ่งใน ส.ส. จำนวนมากของพลังประชารัฐที่ย้ายไปอยู่กับภูมิใจไทย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาภูมิใจไทยทำคะแนนในเขต 3 ได้เพียง 505 จากจำนวนบัตรดี 86,672 คะแนนเท่านั้น ขณะที่พงษ์มนูจะกลับมาล้างตาในเขต 3 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง