10 เรื่องที่ต้องช็อกเมื่อได้รู้ เบื้องหลังการรายงานคะแนนเลือกตั้ง’62

1. แม้แต่ประธาน กกต. ยังผิดเอง

เวลาสามทุ่มกว่าๆ ของคืนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. แถลงข่าวว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 65.96% แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่! ผลรวมอย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งในปี 2562 มีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74.69%

ทำไมประธาน กกต. ถึงผิด ?? ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ จนถึงวันนี้

2. ชั่วโมงแรกหลังปิดหีบเลือกตั้ง มีคะแนนรายงานเร็วกว่า 700,000!!

หีบเลือกตั้งปิดในเวลา 17.00 และหลังจากนั้นกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ก็เริ่มนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งเลย ส่วนใหญ่กว่าจะนับและรวมคะแนนเสร็จและตรวจสอบความถูกต้องก็ประมาณ 2 ชั่วโมง และเริ่มรายงานคะแนนช่วง 19.00-20.00

ซึ่งเป็นไปได้นะครับที่จะมีบางหน่วยนับเร็วพิเศษ ถ้ามีคนมาใช้สิทธิน้อย แต่ในปี 2562 มีการรายงานคะแนนตั้งแต่ช่วงก่อน 18.00 ในบางจังหวัดรวมแล้วมากกว่า 700,000 คะแนน หลังมีคะแนนชุดแรกแล้ว อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาไม่มีคะแนนรายงานอีกเลย แล้วค่อยมีคะแนนรายงานต่อหลัง 19.00 น.

3. คะแนนไม่ได้รายงาน Real Time จริง แต่มาเป็นช่วงๆ

ถ้าคะแนนรายงานสดๆ ตรงจากหน้าหน่วยไปยังหน้าจอโทรทัศน์หลังนับคะแนนเสร็จ ในช่วง 2-3 ทุ่มน่าจะรายงานคะแนนได้เกือบทั้งหมด หากมีหน่วยไหนต้องนับคะแนนใหม่ก็จบไม่ช้ากว่านั้น และก็ไม่มีการรายงานคะแนนเพิ่มแล้วในช่วงดึกๆ 

แต่คืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผลการรายงานคะแนนไม่ได้เป็นไปตามเวลาที่คาดหมาย ในเวลาสามทุ่ม รายงานคะแนนได้ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ จนถึงเที่ยงคืน ยังรายงานได้แค่ 89% ทั้งที่นับเสร็จหมดแล้ว และช่วงสายของวันใหม่รายงานอีกล้านกว่าคะแนน!

4. คะแนนถูกไม่ได้รายงาน “ตรง” และ “สด”

คะแนนที่เห็นผ่านสื่อมวลชนถูกคัดเลือกให้รายงานเฉพาะอันดับ 1-3 ของทุกเขตก่อน

จนหลัง 21.30 ค่อยรายงานของทุกคน นี่เป็นสาเหตุให้การรายงานผลผันผวน มีจำนวนที่นั่งที่ขึ้นๆ ลงๆ ถึงในช่วงกลางดึกเพราะมีการ “กัน” คะแนนบางส่วนเอาไว้ก่อน

ถ้าหากคะแนนรายงาน “ตรง” และ “สด” คะแนนของทุกคนจากหน่วยที่นับเสร็จต้องรายงานพร้อมกัน

5. มีปรากฏการณ์ “คะแนนหาย”!!

ระหว่างการรายงานผล พบว่ามีพรรคการเมือง และผู้สมัครที่ถูกปรับลดคะแนนเรื่อยๆ ตลอดทั้งคืน ซึ่งกกต. อธิบายเพียงแค่ว่า เกิดจาก Human Error ซึ่งพอเข้าใจได้ว่า เมื่อทำงานโดยคนเยอะๆ กรอกตัวเลขเยอะๆ อาจพลาดได้บ้าง แต่ต้องเป็นส่วนน้อยมากๆ

แต่จากข้อมูลที่ส่งให้สื่อมวลชนในคืนวันเลือกตั้ง พบว่า ผู้สมัครที่ถูก “ลด” คะแนนระหว่างการรายงานผลมีถึง 3,906 คน หรือประมาณ 34.9% ของผู้สมัครทั้งหมด หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดเคยถูกปรับลดคะแนน

บางเขตเลือกตั้งมีการปรับลดเกือบทุกคน!

6. มิติลี้ลับ ของคะแนน 94%

เนื่องจาก กกต. เขียนระเบียบของตัวเองไว้ว่า ให้ประกาศคะแนนไม่เกิน 94% ก่อน ทำให้คะแนนกว่าสองล้าน ถูกเก็บไว้ประกาศช้าไป 4 วัน โดยไม่มีคำอธิบาย

แล้วเมื่อประกาศคะแนนครบ 100% ปรากฏว่ามีผู้สมัคร 320 คน ที่คะแนนลดลงเฉยเลย!

บางคนคะแนนลดเป็นหลักพัน แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่คะแนนยังไม่ถูกประกาศให้หมดมีกระบวนการที่เข้าไปแก้ไขปรับเปลี่ยนคะแนนได้ก่อนที่จะประกาศจนครบ

7. คะแนนรวม 100% น้อยกว่า 94% ก็ได้??

เมื่อประกาศคะแนนรวม 100% แล้วพบว่า ผลคะนนรวมในเขตเลือกตั้ง 4 เขต ลดลงได้อีกจากคะแนนรวม 94% ยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดถึงลดลงได้เยอะขนาดนั้น

4 เขตนั้นได้แก่ ลพบุรี เขต 2 นครราชสีมา เขต 4 อุบลราชธานี เขต 5 และเพชรบูรณ์ เขต 2 

8. การปรับลดคะแนนส่งผลให้เกิดการ “พลิก” แพ้ชนะกันได้หลายเขต

เช่น หรรษธร กำปั่นทอง ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดปราจีนบุรี เขต 2 จากการรายงานผลในช่วงต้นมีคะแนนมาเป็นอันดับสาม เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. มีคะแนนเพิ่มขึ้นและพลิกขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่งที่ 24,962 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ มากกว่าอันดับสอง ชยุต ภุมมะกาญจนะ ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยอยู่เพียง 130 คะแนน แต่เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. คะแนนของหรรษธร ก็ถูกปรับลดลง 10,264 คะแนน เหลือเพียง 14,698 คะแนน อยู่ลำดับที่สาม และสุดท้ายหรรษธรได้คะแนนรวมไป 16,575 คะแนน ได้เป็นอันดับที่สาม ส่วนผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง

พิเชษฏฐ์ ชัยศรี ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย จ.นครราชสีมา เขต 5 จากการรายงานผลคะแนนในเวลาประมาณ 21.00 น. ได้คะแนนอยู่ที่ 26,298 คะแนน นำเป็นอันดับหนึ่งอยู่ในเขตนี้ แต่ในเวลาประมาณ 21.30 น. คะแนนลดลง 11,861 คะแนน เหลือ 14,437 คะแนน ตกไปอยู่เป็นอันดับสาม แต่คะแนนก็กลับขึ้นมาเป็น 27,942 ในอีกประมาณครึ่งชั่วโมงถัดมา ทำให้พิเชษฏฐ์กลับมาเป็นอันดับสอง แต่ในเวลาประมาณ 00.30 น. คะแนนของพิเชษฏฐ์ก็ถูกปรับลดอีก 13,177คะแนน จนเหลือ 14,765 คะแนน และไม่เพิ่มหรือลดอีกจนถึงช่วงเช้า พิเชษฏฐ์ ได้คะแนนสุดท้าย อยู่ที่ 15,185 คะแนน เป็นอันดับสาม

9. หกจังหวัดภาคใต้ คะแนนหาย!! 

คะแนนเลือกตั้งของปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล พัทลุง ตรัง รวม 19 เขต รวมเกือบสองล้านคะแนน ไม่มีการรายงานสดแบบ Realtime เลย จนกระทั่ง 9.30 ของวันถัดไป ถึงทราบคะแนนพร้อมกันทีเดียว 94%

10. สามเดือนหลังเลือกตั้ง กกต. ยอมรับมีคะแนนลืมเอามารวม!

เรื่องนี้เกิดจากกรณีที่มี ส.ส. ปัดเศษ คนหนึ่งคำนวนที่นั่งแล้วคิดว่าตัวเองต้องได้เป็น ส.ส. แต่ กกต. กลับคำนวนแล้วบอกว่า ให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้เพิ่ม จึงส่งหนังสือสอบถามไปว่าทำไมคะแนนที่ใช้ในการคิดไม่ตรงกัน

ซึ่ง กกต. ตอบเป็นหนังสือกลับมาว่า มีบางเขตเลือกตั้งที่ กกต. ลืมเอาคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามารวมด้วยตั้งแต่แรก ทำให้ผลคะแนนรวมที่ประกาศออกไปสู่สาธารณะแล้วไม่ได้ครบถ้วน

ข้อมูลชุดนี้สกัดมาจาก รายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ดูเต็มๆ ได้ทาง https://ilaw.or.th/node/5504