‘บ้านใครบ้านมัน’ ช่วยกันดูและบอกกกต. ว่าจังหวัดของฉัน แบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดี?



เมื่อวันที่ 28 มกราคม กฎหมายเลือกตั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมถูกประกาศใช้ รองรับการ #เลือกตั้ง66  โดยกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party List) 100 คน โดยแต่ละจังหวัดจะมีส.ส. กี่คน ก็จะคิดจากจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรจังหวัดนั้นๆ แล้วเฉลี่ยด้วยจำนวนส.ส. 400 คน ซึ่งบางจังหวัดที่มีจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้มีจำนวนส.ส. มาก และจำเป็นต้องทำการแบ่งเขตตามจำนวนส.ส. ขณะที่บางจังหวัด อาจมีส.ส. แค่คนเดียวเลยก็ได้ ตามจำนวนประชากร

ต่อมา เมื่อ 31 มกราคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ออกประกาศมาสองฉบับ ฉบับแรก เป็นเรื่องจำนวนส.ส. แบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด ระบุว่าแต่ละจังหวัดจะมีเขตเลือกตั้งจำนวนเท่าใด และประกาศฉบับที่สอง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีโมเดลให้พิจารณาหลายแบบ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 นี้เท่านั้น ยกเว้นสี่จังหวัดที่มีจำนวนส.ส. เพียงหนึ่งคน ก็จะมีจังหวัดเขตเดียว คือ 1) สมุทรสงคราม 2) ตราด 3) สิงห์บุรี 4) ระนอง ก็ไม่ต้องแบ่งเขต แต่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเลย

การแบ่งเขตเลือกตั้ง มีความสำคัญต่อการกำหนดหน้าตาผู้ที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎร แล้วถ้าอยากมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโมเดลการแบ่งเขตเรื่องตั้งต้องทำยังไงบ้าง? และการวิเคราะห์ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนที่เหมาะกับจังหวัดที่เรามีสิทธิเลือกตั้งต้องดูจากเหตุผลใดบ้าง? มาดูกันได้เลย

แบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดี? ต้องดูจากอะไรบ้าง

การพิจารณาว่า วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด หรือทำให้ได้คนที่เป็นตัวแทนของพื้นที่นั้นๆ อย่างเหมาะสมที่สุด คนที่จะตอบได้ก็คงเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ เอง ไม่ใช่นักวิชาการจากส่วนกลาง หรือนักวิเคราะห์ที่อยู่หน้าจอ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงต้องช่วยกันศึกษาโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กกต. ร่างขึ้นมาในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ช่วยกันวิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นว่า วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด หรือแบบไหนที่ไม่ดี

โดยอาจวิเคราะห์จากเกณฑ์สามประเภท ดังนี้

1. เขตพื้นที่อำเภอ-ตำบล 

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดีของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายว่าตัวเองอยู่ในเขตเลือกตั้งใดควรใช้การแบ่งอำเภอเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ในหนึ่งเขตเลือกตั้งอาจประกอบด้วยหนึ่งหรือหลายอำเภอ แต่สำหรับประชากรที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอเดียวกันควรจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันทั้งอำเภอ  แต่หากใช้หลักเกณฑ์อำเภอเพียงอย่างเดียวอาจทำให้บางเขตเลือกตั้งมีจำนวนประชากรมากกว่าอีกเขตหนึ่งจนเกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัด  พื้นที่ของบางอำเภออาจถูกจัดแบ่งเป็นสองเขตเลือกตั้งก็ได้เท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยใช้การแบ่งตำบลเป็นเกณฑ์ ให้ตำบลที่อยู่ติดกันรวมเข้าเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งตามมาตรา 27 ของพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า ในหนึ่งตำบลจะต้องจัดเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน จะแยกพื้นที่ออกเป็นหลายเขตเลือกตั้งไม่ได้

หากพบว่า มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้หนึ่งตำบลเป็นหลายเขตเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะเป็นการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนหากเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้หนึ่งอำเภอเป็นหลายเขตเลือกตั้ง คนในพื้นที่ต้องช่วยกันคิดว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องแยกอำเภอเดียวออกเป็นหลายส่วน

2. สภาพสังคมและวิถีชีวิต

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดีควรจัดให้กลุ่มประชากรที่มีสภาพและวิถีชีวิตเป็นชุมชนเดียวกันอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แม้ว่าตามหลักเกณฑ์ทะเบียนบ้านอาจจะอยู่ต่างตำบล หรือต่างอำเภอ เช่น บางชุมชนมีรากฐานเป็นครอบครัวเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาถิ่นเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน ประกอบอาชีพเหมือนกัน ฐานะทางสังคมใกล้เคียงกัน มีการเดินทางไปมาหาสู่ ค้าขายและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกัน ก็ควรจะถูกจัดให้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน หรือชุมชนบางแห่งในแผนที่อาจจะมีภาพเสมือนว่าเป็นอาณาเขตติดต่อใกล้ชิดกัน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้วการเดินทางอาจไม่สะดวก เช่น มีภูเขาขวางกั้น หรือผู้คนมีวิถีชีวิตที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ก็อาจถูกจัดแยกเป็นเขตเลือกตั้งที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งตัวแทนของเขตเลือกตั้งนั้น เป็นตัวแทนของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

คนในพื้นที่ย่อมยากให้เพื่อนๆ สมาชิกในชุมชนเดียวกันได้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันและเลือกตัวแทนคนเดียวกันเข้าไปออกเสียงแทนในสภา จึงต้องช่วยกันตรวจสอบ และส่งเสียงถึงกกต. ให้เข้าใจสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งได้สอดคล้องกับความเป็นจริง

3. ประสบการณ์ทางการเมือง

แม้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะสอดคล้องกับพื้นที่อำเภอ-ตำบล และสอดคล้องกับสภาพชุมชุนแล้ว แต่คนในพื้นที่ก็อาจจะมีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ดี อาจทำให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางคนได้เปรียบในการเลือกตั้งเสมอ หรืออาจทำให้ประชากรบางกลุ่มที่ถูกจัดเป็นคนกลุ่มน้อยในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ไม่เคยถูกเหลียวแล ตัวอย่างเช่น หากในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีฐานเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งอยู่อย่างเหนียวแน่น ทำให้การเลือกตั้งหลายครั้งก่อนหน้านี้ผู้สมัครคนเดิมชนะตลอดและไม่มีคนอื่นอยากลงสมัครแข่งขัน จนนักการเมืองหน้าเดิมไม่ใส่ใจปัญหาของประชาชนหรือต้องรับฟังเสียงของประชาชนอีกต่อไป ขณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ผู้สมัครคนนี้ไม่ได้รับความนิยมเลย ก็อาจมีการเสนอให้ลองแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอื่นตามหลักเกณฑ์ข้อ 1. และข้อ 2. เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ กับประชาชนในพื้นที่นั้นได้ หรือหากในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีประชากรที่พูดภาษาอีสานเป็นคนส่วนน้อย 10% ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พูดภาษาอีสานได้ไม่เคยถูกรับเลือกเป็นตัวแทน และปัญหาของประชากรกลุ่มนี้ก็ไม่เคยถูกรับฟังหรือแก้ไข ก็อาจเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาและควรลองออกแบบวิธีการให้คนที่พูดภาษาอีสานเข้ารวมกลุ่มในเขตเลือกตั้งข้างเคียงที่อาจมีคนพูดภาษาอีสานเป็นส่วนใหญ่

ประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพื้นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่คนในพื้นที่เดียวกันอาจมีความรับรู้หรือความทรงจำแตกต่างกันก็ได้ แต่คนนอกพื้นที่ไม่มีทางรู้และไม่มีทางเข้าใจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามเพราะจะทำให้ประชากรบางกลุ่มถูกละเลยในระบบการเมืองภาพใหญ่ หากเจ้าของพื้นที่มีประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดี จากการแบ่งเขตเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ ก็สามารถช่วยสะท้อนและนำเสนอการแบ่งเขตเลือกตั้งที่อาจจะดีกว่าได้

ช็ค 3 ขั้นตอน ดูโมเดลแบ่งเขต ก่อนส่งเสียงบอกกกต.

3-13 กุมภาพันธ์ 2566 กกต. แต่ละจังหวัด เปิดให้ประชาชนดูข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้งและร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ยกเว้นห้าจังหวัด คือ 1) กรุงเทพมหานคร 2) ชลบุรี 3) เชียงใหม่ 4) ปัตตานี 5) สมุทรปราการ ที่เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566 กกต. มีคำสั่งให้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ระหว่างวันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ 2566 ห้าจังหวัดดังกล่าวก็จะมีกำหนดเวลาที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้แตกต่างกับจังหวัดอื่น

อยากร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำตามสามขั้นตอนได้ ดังนี้

1) ดูจังหวัดที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเราจะต้องสังกัดทะเบียนบ้านอยู่ในเขตจังหวัดนั้นมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง แต่ถ้ากรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ก็จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือเขตเดิมก่อนย้ายทะเบียนบ้านนั้นเอง

2) เข้าไปอ่านหรือดูแผนที่แสดงรายละเอียดการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามเอกสารที่กกต. แต่ละจังหวัดเผยแพร่

3) หลังจากอ่านหรือดูเข้าใจแล้ว และอยากแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถกรอกแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นตามที่กกต. แต่ละจังหวัดกำหนด และส่งแบบฟอร์มเป็นหนังสือไปยังที่อยู่ของสำนักงาน กกต. แต่ละจังหวัด หรือส่งทางอีเมล โดยรายละเอียดที่อยู่และอีเมลของแต่ละจังหวัด จะอยู่ในเอกสารประกาศของกกต. จังหวัด

คลิกที่ชื่อจังหวัด เพื่อดูข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ภาคเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคกลาง

ภาคตะวันออก

ภาคตะวันตก

ภาคใต้

ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย