ประกาศกระทรวงดีอี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องลบเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 24 ชั่วโมง ตัดขั้นตอนการโต้แย้ง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ออกประกาศฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 เกี่ยวกับการนำข้อมูล “ออก” จากระบบคอมพิวเตอร์ คุมโลกออนไลน์เข้มงวดกว่าฉบับเก่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรวมถึงโซเชียลมีเดีย ต้องลบข้อมูลที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ออกจากระบบ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังบุคคลทั่วไปร้องเรียน

นอกจากนี้ ประกาศฉบับใหม่ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอีออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ลบข้อมูลออก โดยแบ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ต้องลบออกภายใน 7 วัน ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนความผิดตามมาตรา 14 (4) ต้องลบออกภายใน 3 วัน แต่หากเป็นภาพลามกเด็ก ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง

26 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงดีอี เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 (ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ) โดยประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ฉบับนี้ออกมาใช้แทนประกาศฉบับปี 2560 ประกาศฉบับใหม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนการแจ้งเตือนโดยบุคคลทั่วไป การนำข้อมูลออกจากระบบโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ดีอี และแนวทางการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ดีอี ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการแจ้งเตือน (notice and take down)

ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ กำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนคล้ายกับประกาศปี 2560 คือ เจ้าของเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต้องจัดทำแบบฟอร์มสำหรับการแจ้งเตือน โดยต้องจัดทำนโยบายการระงับการทำให้แพร่หลายและนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ (notice & take down policy) หรือหนังสือแจ้งเตือน (take down notice) เป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะทำในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

          1) ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรือตัวแทน

          2) แบบฟอร์มร้องเรียน (complaint form) เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบุคคลทั่วไปใช้แบบฟอร์มดังกล่าวในการร้องเรียน ซึ่งแบบฟอร์มจะต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • รายละเอียด ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้ร้องเรียน และลายมือชื่อของผู้ร้องเรียนหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ
  • รายละเอียดการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • ที่อยู่ในการติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออื่นๆ
  • รายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่น
  • คำรับรองว่าข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง

วิธีการแจ้งให้ลบข้อมูลโดยบุคคลทั่วไป

ประกาศฉบับนี้แตกต่างจากประกาศปี 2560 เนื่องจากเพิ่มเงื่อนไขให้บุคคลทั่วไปสามารถดำเนินการแจ้งให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มนั้นๆ เช่น หาก “ใครก็ตาม” พบเห็นข้อมูลที่เข้าใจว่าผิดมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในทวิตเตอร์ (Twitter) คนทั่วไปก็สามารถแจ้งให้ทวิตเตอร์ลบข้อมูลนั้นได้ แม้จะไม่มีบัญชี (account) กับทวิตเตอร์ก็ตาม

ทั้งนี้ ถ้าผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือบุคคลทั่วไปพบเห็นว่าผู้ให้บริการหรือโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อความที่ผิดมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือบุคคลทั่วไปดำเนินการดังนี้

  • ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือบุคคลอื่น พร้อมกับยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำผิดตามมาตรา 14 และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • กรอกแบบฟอร์มร้องเรียน พร้อมแนบสำเนาใบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ส่งให้ผู้ให้บริการ

วิธีการระงับหรือลบข้อมูลตามที่บุคคลทั่วไปร้องเรียน

หลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับแบบฟอร์มร้องเรียน และเอกสารที่เกี่ยวข้องจากผู้ใช้บริการหรือบุคคลทั่วไป ให้ดำเนินการดังนี้

  • ลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที
  • จัดทำสำเนาข้อร้องเรียน และรายละเอียดข้อร้องเรียนส่งให้กับผู้ใช้บริการหรือคนที่เกี่ยวข้อง
  • ให้ระงับการแพร่หลายของข้อมูลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่น และเมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นสิ้นสุดลง ให้ลบข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยทันที ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน

ไม่เปิดช่องให้โต้แย้งการลบข้อมูล

ตามประกาศปี 2560 เจ้าของข้อมูลที่ถูกลบออกจากระบบคอมพิวเตอร์สามารถโต้แย้งข้อร้องเรียนได้ โดยการแจ้งความต่อตำรวจและแจ้งรายละเอียดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ให้บริการใช้ดุลพินิจยกเลิกการระงับข้อมูลที่ได้รับแจ้ง อย่างไรก็ตาม ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ฉบับใหม่ ไม่เปิดช่องให้มีการโต้แย้งดังกล่าวได้อีก ดังนั้น เมื่อบุคคลทั่วไปแจ้งข้อร้องเรียนให้ลบข้อมูล ผู้ให้บริการต้องลบข้อมูลเท่านั้น แม้ว่าเจ้าของข้อมูลจะไม่เห็นด้วยการลบข้อมูลออกจากระบบ ก็ไม่มีช่องทางตามประกาศฉบับนี้ให้โต้แย้ง เพื่อขอให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้อีก

การระงับหรือลบข้อมูลโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ดีอี

อีกหนึ่งจุดสำคัญของประกาศฉบับใหม่ คือ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดีอีออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อระงับการทำให้แพร่หลายและนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกจากระบบได้

หลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งของเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

  • ลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที
  • จัดทำสำเนาข้อร้องเรียน และรายละเอียดข้อร้องเรียนส่งให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือคนที่เกี่ยวข้อง

ให้ระงับการแพร่หลายของข้อมูลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุดังต่อไปนี้

  1. ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน ตามมาตรา 14 (1) ต้องระงับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน 
  2. ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง
  3. ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามก ตามมาตรา 14 (4) ต้องดำเนินการภายใน 3 วัน แต่หากเป็นการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็กซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง

ข้อ 9 ของประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ระบุว่า หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด ซึ่งผู้ให้บริการจะมีความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 

ซึ่งการที่ประกาศกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดอาญาเช่นนี้ กลายเป็นการเขียนกฎหมายโดยให้ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ทำให้เกิดประเด็นว่า ประกาศนี้อาจจะขัดกับ “หลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” (presumption of innocence) ซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ เนื่องจากการเขียนกฎหมายในลักษณะนี้อาจทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียที่ “ลบ” เนื้อหาไม่ทันภายในกำหนดเวลาจะกลายเป็นคนมีความผิดทันที และเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกับหลักทั่วไปในคดีอาญาที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์และนำสืบความรับผิดทางอาญาของจำเลยให้ศาลเห็น

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง โดยให้ยื่นต่อปลัดกระทรวงดีอีหรือผู้ที่ปลัดกระทรวงดีอีมอบหมาย ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หรือนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงคำสั่ง แล้วแต่กรณี ซึ่งจะต้องพิจารณาอุทธรณ์และแจ้งผลให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์  

แนวทางการดำเนินคดี

ตามประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งของเจ้าหน้าที่แล้วเพิกเฉยไม่ลบข้อมูลออกจากระบบภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ได้ดำเนินการอุทธรณ์คำสั่ง เจ้าหน้าที่ดีอีจะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับให้บริการอินเทอร์เน็ตในฐานร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 และมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากนั้นจะสรุปความเห็นทางกฎหมายส่งให้พนักงานสอบสวน รวมถึงประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เพื่อให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ถ้าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ดีอีอาจประสานกับ กสทช. หรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการระงับใบอนุญาต หรือดำเนินการอื่นใดตามสมควร

ทั้งนี้ ประกาศนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

ไฟล์แนบ