APEC 2022: ภาคประชาชนชวนจับตา รัฐเอื้อทุน “ฟอกเขียว-แย่งยึดที่ดิน”

18 และ 19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ที่จะมีผู้นำประเทศหรือบุคคลสำคัญจากนานาประเทศมาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

แม้ทางการไทยจะนำเสนอว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้จะเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของประเทศไทยต่อนานาชาติ แต่ภาคประชาชนก็แสดงความห่วงกังวลว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการปูพรมไปสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “BCG” (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เอื้อให้กับนายทุนขนาดใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล รวมถึงสร้างผลกระทบต่อประชาชนในหลายมิติ อาทิ เศรษฐกิจผูกขาด การเอาพื้นที่ป่ามาแลกกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงวิกฤติยาแพงที่อาจจะทำลายระบบสาธารณสุข

แผนเศรษฐกิจผูกขาดภายใต้เงาคณะกรรมการประชารัฐ

กรรณิการ์ กิตติเวชกุล จาก FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน) กล่าวในงานเสวนา “APEC2022 ฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อรัฐแย่งยึดทรัพยากรประชาชน” ว่า เมื่อเดือนมีนาคมปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเอเปคด้วยการร่างแผนยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า BCG ขึ้นมา ภายใต้กรอบวงเงินประมาณ 40,000 ล้าน เพื่อพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจภายใต้เป้าหมายเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยเนื้อหาของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีการใช้คำว่า “เศรษฐกิจชีวภาพ” “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และ “เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งสามคำนี้เป็นคำที่ให้ภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ในเนื้อในมีการสอดไส้เรื่องการผลักดันพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) มีการเสนอแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะทำให้เกษตรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปและอาจนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีการเร่งขึ้นทะเบียนปุ๋ยยาและสารเคมีต่างๆ

ตัวแทนจาก FTA Watch ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ BCG ประกอบไปด้วยคณะกรรมการสองชุด โดยชุดแรกเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนจากอดีตข้าราชการและกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อคุ้นตา เช่น ซีพี เอสซีจี ไทยเบฟฯ มิตรผล และ ปตท. ส่วนคณะกรรมการชุดเล็กจะนำโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้งสองชุดมีสมาชิกที่ใกล้เคียงกัน และเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับคณะกรรมการประชารัฐซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ดังนั้น จึงอาจมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง

กรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า ในอดีต กลุ่มทุนเคยผลักดันให้ยกเลิกชี้แจงสารเคมีหรือสารเจือปนที่อาจทำให้เกิดการแพ้ในฉลากอาหารต่างๆ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภาคประชาชนเคยออกมาแถลงข่าวและต่อต้านจนพวกเขาต้องยอมถอยไป แต่นี่เป็นแค่เรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ดังนั้น การประชุมเอเปคครั้งนี้ เราจำเป็นต้องจับตาดูให้ดี

ยุทธศาสตร์ BCG เศรษฐกิจสีเขียว หรือ เศรษฐกิจฟอกเขียว?

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ BCG ว่า มันเป็นทิศทางสำคัญของรัฐบาล เพราะสอดแทรกอยู่ในนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่น ในเอกสารแผนการพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่รัฐบาลไทยส่งให้เลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 ก็มีการระบุถึง BCG เอาไว้

ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า BCG จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าการ “ฟอกเขียว” (การสร้างภาพให้ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) เพราะในขณะที่แผนเศรษฐกิจฉบับนี้พูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว แต่ในบอร์ดของ BCG กลับมีหลายบริษัทที่มีประวัติโยงใยกับการทำลายสิ่งแวดล้อมจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่น ซีพี ซึ่งมีประวัติเคยรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มประมงที่มีการใช้แรงงานทาส การเป็นผู้ผลิตขยะที่เยอะที่สุดในรอบ 5 ปีหลัง และการทำไร่ข้าวโพดที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดน

หรืออย่าง กลุ่มทุน ปตท. ที่เคยทำแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดในแปซิฟิกและเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง อีกทั้ง ปตท. ยังมีแผนจะขยายคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากตะวันออกกลางมาแทนที่อ่าวไทยที่กำลังจะหมด ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกับที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา หรือ ไทยยูเนียน เป็นบริษัทอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นของคนไทยแต่ไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ ไทยยูเนียนก็มีประวัติเข้าไปเกี่ยวข้องการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทำลายล้างธรรมชาติและค้าแรงงานทาส

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุน บ้านปู ที่แม้จะได้ไม่ได้นั่งอยู่ในบอร์ด BCG โดยตรง แต่มีอดีตซีอีโอนั่งอยู่ในนั้น ในฐานะตัวแทนจากมิตรผล ซึ่งบ้านปูลงทุนในธุรกิจถ่านหิน เข้าไปยึดครองเหมือนถ่านหินในเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย บ้านปูเป็น 1 ใน 100 อันดับอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย 100 อันดับอุตสาหกรรมฟอสซิลนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 70% ที่ทั้งโลกปล่อยอยู่

ประชุม APEC จะเป็นตลาดค้าขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กฤษฏา บุญชัย จากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มทุนถูกแรงกดดันมหาศาล จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในเชิงรื้อถอนและควบคุมระบบทุนนิยมของโลกที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิล ด้วยเหตุนี้ กลุ่มทุนจึงต้องปรับตัว และนี่จึงเป็นสาเหตุให้การฟอกเขียวบานสะพรั่ง เพราะกลุ่มทุนต่างๆ พยายามนำนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น ทุนนิยมสีเขียว การเติบโตสีเขียว และ BCG เองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตอบสนองการปรับตัวของทุน และคาดว่าเวทีเอเปคจะเป็นเวทีที่กลุ่มทุนได้คุยกันเรื่องนี้

ตัวแทนจากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมเอเปคไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดได้จากข้อตกลง การเจรจา เพราะรายละเอียเหล่านี้ไม่เคยเปิดเผยอย่างชัดเจนว่ามีการพูดคุยหรือตกลงอะไรกัน ดังนั้น วิธีการดูการประชุมเอเปคจึงต้องดูผ่านตัวแสดงหรือ อย่างเวทีเอเปคประกอบไปด้วย 21 เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ของโลก ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เกิดภัยธรรมชาติ 70% ของโลก เท่ากับว่า กลุ่มผู้นำเอเปคเป็นผู้สร้างปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน

กฤษฎา แสดงความกังวลว่า เมื่อประเทศไทยกำลังวางแผนจะเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค สิ่งที่น่ากลัวกว่ากลุ่มทุนในไทย คือกลุ่มทุนและรัฐบาลจากต่างประเทศที่เป็นตัวผู้เล่นในการประชุมเอเปคที่ต่างต้องการหาผลประโยชน์จากโอกาสในครั้งนี้ และในแผนยุทธศาสตร์ BCG ก็มีการระบุถึงการทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกป่า กล่าวคือ เมื่อเราไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจพลังงานได้ เราก็จำเป็นต้องนำภาคป่าไม้มารับรองทดแทน หรือปลูกป่าให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น

เมื่อแนวทางเป็นเช่นนี้ รัฐบาลไทยก็ต้องหาพื้นที่ปลูกป่า แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ปลูกมันไม่มี เราจึงเห็นกรณีอย่างการตัดป่าชายเลนเพื่อปลูกป่าใหม่ซ้ำอีกครั้งเพื่อเอาไปใช้เป็นคาร์บอนเครดิต หรือ การมีสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในแผน BCG มีกำหนดให้การปลูกป่าไว้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ นำร่องโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ยาแพง-ขาดแคลนแพทย์” ปัญหาที่อาจจะมาพร้อมเอเปค

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เอเปคเปรียบเสมือนเครื่องมือทางการค้าที่ประเทศร่ำรวยและกลุ่มทุนบรรษัทข้ามชาติใช้ในการล่าอาณานิคม เดิมทีประเทศร่ำรวยหรือกลุ่มทุนจะใช้เวทีอื่น เช่น เวทีขององค์กรการค้าโลก แต่ในช่วงหลังไม่ค่อยมีความคืบหน้า เหตุเพราะคุยกันวงใหญ่ ประเทศที่ยากจนหรือกำลังพัฒนาก็เริ่มจะรู้ทัน จึงไม่ยอมที่จะจบการประชุมและมีข้อตกลงที่เป็นข้อผูกมัด ทำให้ประเทศร่ำรวยและกลุ่มทุนต้องเสาะแสวงหาเวทีหรือวิธีการอื่นทดแทน และเอเปคก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้เอเปคจะไม่มีข้อผูกมัดในเชิงกฎหมาย แต่การประชุมในแต่ละครั้งล้วนสร้างอิทธิพลและผลกระทบต่อการชี้นำยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของประเทศว่าควรเดินไปในทิศทางใด

ตัวแทนจากจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสดงความกังวลว่า การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตร ที่จะส่งผลต่อการผูกขาดตลาดสำหรับผู้คิดค้นนวัตกรรมและยาขึ้นมาในระยะเวลากว่า 20 ปี โดยอ้างว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนผลิตคิดค้น แต่ความจริงแล้วระบบเหล่านี้ถูกบิดเบือนเพื่อให้กลุ่มทุนนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์

ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึง 75% ของประชาขน รัฐบาลจัดสรรเงินให้ประมาณหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นค่ายาเกินกว่าครึ่ง ถ้าเราปล่อยให้มีข้อผูกมัดทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากจนเกินไป อาจส่งผลให้ราคายาแพงขึ้น เมื่อราคายาแพงขึ้น คำถามคือระบบประกันสุขภาพจะอยู่ได้ไหม จะมีเงินพอจัดซื้อยาให้กับประชาชนหรือเปล่า หรือจะลงเอยด้วยการจ่ายร่วมของประชาชน ซึ่งถ้าบางคนไม่มีจ่าย ก็อาจต้องทนเจ็บทนป่วยจนตายไป

เฉลิมศักดิ์ ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง คือ วัคซีนโควิด-19 เรื่องนี้ถูกนำขึ้นมาพูดคุยเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมย่อยเอเปคเมื่อสิงหาคมที่ผ่าน มีการพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนและควรส่งเสริมการแก้ไขปัญหา ซึ่งย้อนแย้งกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดว่าประเทศร่ำรวยมีการแก่งแย่งกว้านซื้อวัคซีนตุนไว้มากกว่าจำนวนประชากรของตัวเองสองถึงสามเท่า

ขณะที่ประเทศยากจนไม่มีกำลังพอในการซื้อ ทำให้ประชากรของคนไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนยารักษาโควิด-19 ก็ไม่ใช่ยาใหม่ แต่เป็นยาที่เคยคิดค้นเพื่อรักษาโรคอื่นมาก่อน แต่นำมาปรับใช้กับการรักษาโควิด-19  สิ่งที่บริษัทยาทำคือ จดสิทธิบัตรเพิ่มกับยาตัวนั้น ซึ่งเมื่อก่อนอาจใช้รักษากับโรคไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส แต่พอมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะรักษาโควิด-19 ได้ก็ไปจดสิทธิบัตรเพิ่มให้คุ้มครองถึงการรักษาโควิด-19 ด้วย

นอกจากนี้ เคยมีประเทศในแอฟริกาและอินเดียเสนอให้มีการระงับการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรชั่วคราวในช่วงการระบาด เพื่อให้ประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้ แต่การเจรจาไม่เป็นผล เพราะเจอการคัดค้านจากประเทศร่ำรวยในกลุ่มเอเปก รวมถึงท่าทีนิ่งเฉยที่ไม่เดือดไม่ร้อนของประเทศกำลังพัฒนาบางส่วน เช่น ไทย 

เฉลิมศักดิ์ แสงความกังวลต่อยุทธศาสตร์ BCG ด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์นี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับยา วัคซีน สมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไว้ ในส่วนของสมุนไพรมีการกำหนดผลักดันให้มีการพัฒนาการใช้สมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงการวิจัยพัฒนาเป็นยา แต่ในขณะเดียวกัน ในแผนยุทธศาสตร์นี้ก็เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งจะเป็นตัวการปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์พืช นี่จึงเป็นความย้อนแย้งในยุทธศาสตร์ BCG

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในแผนยุทธศาสตร์อธิบายไว้ว่าเป็นการนวดแผนไทย การทำโยคะ แต่รัฐมนตรีกลับใช้คำว่า Medical Health Hub หรือศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค ซึ่งนัยยะความหมายรวมไปถึงการรักษาพยาบาล ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาด้านแพทย์ขาดแคลน ชั่วโมงการทำงานยาวนาน BCG นำเสนอนโยบายแบบนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสมองไหลสู่ภาคเอกชนได้

พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เอเปคเป็นพิธีกรรมสืบทอดอำนาจ

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เวทีเอเปคเป็นหนึ่งในกระบวนการฟอกขาวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ประยุทธ์อยู่ต่อทางการเมืองได้ ส่วนหนึ่งมาจากการประชุมเอเปค เขายืนยันว่าประยุทธ์กำลังจะใช้เวทีเอเปคในการสืบทอดอำนาจแบบแนบเนียน เพราะแท้จริงแล้ว มีการไปทำข้อตกลงตามเวทีย่อยไว้หมดแล้ว และวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นเพียงการลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือเป็นเรื่องของพิธีกรรมเท่านั้น

ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า จากเอกสาร การจัดสรรพื้นที่ป่าไม้ให้กับกลุ่มทุนของรัฐบาล พบว่า มีการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนในปี 2565 จำนวนกว่า 40,000 ไร่ ให้กับกลุ่มทุนเอกชน ทั้งที่ประเทศไทยมีพื้นที่เคยเป็นป่าชายเลนมาก่อน 2.8 ล้านไร่ เป็นป่าจริงๆ 1.5 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมประมาณ 1.3 ล้านไร่ ซึ่งการจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้กลุ่มทุนสามารถใช้พื้นที่ปลูกป่าเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตให้แก่ตนได้ และสาเหตุที่ต้องเป็นป่าชายเลน เพราะป่าชายเลนเป็นป่าที่มีอัตราการดูดซับคาร์บอนมากกว่าป่าทั่วไปถึง 60-70% ราคาคาร์บอนเครดิตจึงสูงกว่าและทำให้เป็นที่สนใจสำหรับกลุ่มทุน เช่น ปตท. เชลล์ ไทยออยฯ เป็นต้น

สมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า การที่รัฐบาลผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าของแท้หรือของเทียม เพราะจริงๆ ชาวบ้านก็ทำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า รักษาป่า บำรุงป่า แต่เรื่องนี้กลับไม่ได้มีการพูดถึง แล้วในเวทีเอเปกนั้นไม่มีพื้นที่ของภาคประชาสังคมหรือประชาชน แตกต่างกับเวทีอาเซียนหรือเวทีอื่นๆ เราจึงควรตั้งคำถามต่อไปว่าเราจะเอาอย่างไรกับรัฐบาลชุดนี้ เราจะปล่อยให้เขาใช้โอกาสนี้ในการสืบทอดอำนาจหรือไม่ และเราจะปล่อยให้พื้นที่สื่อสารสาธารณะทั่วไปถูกกำกับและหลอกลวงโดยรัฐบาลชุดนี้เพื่อให้เราร่วมมือร่วมใจต้อนรับผู้นำโลกและร่วมยินดีกับบันทึกข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 นี้หรือไม่