รวมคำอภิปรายตัวแทนผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ​ #ตัดอำนาจสว ยกเลิก272

6-7 กันยายน 2565 รัฐสภาพิจารณาร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ในวาระหนึ่ง ร่างแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ เสนอโดยส.ส. พรรคเพื่อไทย และอีก 1 ฉบับ เสนอโดยภาคประชาชนหกหมื่นกว่าชื่อ ร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถมาเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ได้ 

ทั้งนี้ผู้เสนอได้อภิปรายให้สมาชิกรัฐสภาเห็นความสำคัญของการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนี้

สมชัยแจง #แก้รัฐธรรมนูญ #ตัดอำนาจสว เลือกนายกฯ เปิดทางสู่ประชาธิปไตยสากล

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในนามของ “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 272” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนร่วมเข้าชื่อกันเสนอ เป็นผู้ชี้แจงร่างกฎหมาย สมชัยเล่าถึงแคมเปญเข้าชื่อยกเลิกมาตรา 272 ว่าริเริ่มในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ได้เข้าพบประธานรัฐสภาเพื่อเริ่มต้นขอแก้ไขตั้งแต่เดือนธันวาคม หลังจากนั้นก็มีเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถร่วมเข้าลงชื่อ ทั้งหมดเป็นไปตามกฎกติกา แคมเปญนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมาก เปิดเว็บวันเดียวมีประชาชนมาร่วมลงชื่อด้วยถึงหมื่นชื่อ

สมชัยกล่าวต่อว่า คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 272 เดินสายพบพรรคการเมืองต่าง ๆ ทุกพรรคให้ความเห็นในการสนับสนุน และเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมีความจำเป็นต้องแก้ไข ถึงเวลาที่ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน คืนอำนาจในการตัดสินใจเลือกนายกฯ ให้กับสภาผู้แทนราษฎร โดยหลังเปิดเว็บสามวันเศษก็มีรายชื่อครบห้าหมื่นแล้ว แต่ก็ยังเปิดรับรายชื่อต่อไป หลังจากรณรงค์แคมเปญนี้ไม่ถึงหนึ่งเดือน 22 กุมภาพันธ์ 2565 จึงนำรายชื่อประชาชน 70,500 รายชื่อ มาเสนอกับประธานรัฐสภา หลังจากนั้นสภาก็ใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ เป็นรายชื่อที่ถูกต้องทั้งหมด 64,151 รายชื่อ

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ไขเพียงมาตราเดียว คือ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 โดยแก้ไขสองประเด็นในสองวรรค ดังนี้

ตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกฯ : มาตรา 272 วรรคแรก คือ ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ในห้าปีแรก จึงเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตัดทั้งวรรคแรกออกไปตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ

คงกระบวนการเลือกนายกฯ คนนอก แต่ท้ายสุดให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ : มาตรา 272 วรรคสอง มีใจความว่า กรณีที่ ซึ่งเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกในกรณีที่ที่ประชุมไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ ก็มีช่องให้เลือกนายกฯ คนนอก โดยใช้เสียงของที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) เพื่อยกเว้นบัญชีรายชื่อ ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แก้ไขในการเปิดช่องเลือกนายกฯ คนนอก ยังคงไว้ โดยใช้กติกาเดิม เลือกนายกฯ ได้ถ้ามีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่หลังผ่านการยกเว้นโดยมติที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ต้องกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ

สมชัยชี้แจงเหตุผลว่าทำไมการตัดอำนาจส.ว. ในเลือกนายกฯ ถึงเป็นทางออกของประเทศ

1. ส.ว. ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่หากส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้ ประชาชนจะครหาว่าส.ว. มีแนวโน้มสนับสนุนไปทางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

2. การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะได้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีปัจจัยต้องพิจารณาว่า ส.ว. มีแนวโน้มเลือกใครและไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่ส.ว.เลือกนายกฯ

3. เป็นการนำประเทศไทยไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสากล และสร้างเกียรติภูมิแก่วุฒิสภา

สมชัย ชี้แจงต่อไปว่า กรณีมีข้อโต้แย้งเรื่องการตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกฯ ขอชี้แจงหลายประเด็น เช่น

กรณีมีข้อโต้แย้งว่าส.ว. เลือกนายกฯ เป็นผลมาจากการทำประชามติ ถ้าจะแก้ก็ต้องกลับไปทำประชามติอีกรอบ ต้องขอเรียนว่า เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดว่าการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องใดบ้างที่ต้องทำประชามติ ซึ่งไม่มีการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเลือกอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกฯ ดังนั้นจึงไม่ต้องทำประชามติ อีกทั้งที่ผ่านมายังมีการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีการทำประชามติแต่อย่างใด

กรณีมีข้อโต้แย้งว่า การให้ส.ว. เลือกนายกฯ เป็นไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ และการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติจบแล้ว ดังนั้นการเลือกนายกฯ ครั้งต่อไป ไม่จำเป็นยึดโยงยุทธศาสตร์ชาติ

ผู้เสนอ #ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ​ หวังรัฐสภาโหวตรับเพื่อลดความขัดแย้งและความวุ่นวายในอนาคต

7 กันยายน 2565 ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีจุดสนใจสำคัญคือร่างแก้ไขมาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 #ตัดอำนาจสว แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ในตอนสุดท้าย ตัวแทนผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน​ ได้ลุกขึ้นอภิปรายสรุปให้เหตุผลของการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ดังนี้

แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม กล่าวว่าผลสืบเนื่องจากการทำประชามติคำถามพ่วง ซึ่งคำถามพ่วงมีการยึดโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จนนำไปสู่การให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีนั้นหมายความว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว.เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่อย่างที่มีการอภิปรายกันว่า ภารกิจการปฏิรูปได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ซึ่งเป็นการย้ำชัดว่า อำนาจตามคำถามพ่วงที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้วตั้งแต่ต่อไปนี้

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านการออกเสียงประชามติรวมถึงคำถามพ่วง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการประชามติมีการเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีสมาชิกบางท่านอภิปรายว่าเป็นบทเฉพาะกาลเป็นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เราก็อยากจะย้ำว่าแม้กระทั่งบทเฉพาะกาลก็มีสิทธิที่จะแก้ไขได้หากเราเห็นว่า สิ่งที่สมควรแก้ไขนี่มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและอาจจะเกิดปัญหาความวุ่นวายในอนาคต

แสนยากรณ์ กล่าวต่อว่า มีสมาชิกบางท่านอภิปรายว่า ไม่ว่าอย่างไรวุฒิสภาอาจจะต้องเลือกฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้มองในทางกลับกันถ้าวุฒิสภาตั้งใจที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากอยู่แล้ว “ผมมองว่าจริงๆ เราอาจจะปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไม่ต้องใช้เสียงในส่วนนั้นก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง”

สุดท้าย แสนยากรณ์ หวังว่าสมาชิกวุฒิสภาจะยอมถอดอำนาจเลือกนายกฯ ยกเลิกการใช้เสียง ส.ว.เพื่อสร้างความปรองดอง “เพราะว่ามีคนจำนวนไม่น้อยพอท่านเข้าไปร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว มองว่าท่านสืบทอดอำนาจ มองว่าเป็นนั่งร้านเผด็จการ บางคนก็มีการอภิปรายถึงว่าสมควรที่จะเป็นสภาเดียวด้วยซ้ำ แต่ผมยังยึดมั่นและคาดหวังในระบบสองสภาอยู่ยังเชื่อมั่นในการทำงานของวุฒิสภา เพียงแต่อำนาจบางอย่างถ้าท่านตัดออกไปได้ถ้าท่านยอมสละในส่วนนี้ ผมเชื่อว่าจะสร้างความปรองดองแล้วก็จะสามารถทำให้ความเห็นต่างทางการเมืองลดน้อยลง อุณหภูมิทางการเมืองความกดดันทางการเมืองจะน้อยลงได้ในอนาคต”

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า การจะลงมติเป็นไปในทางใดอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือเลิกที่จะมองอดีตแต่มองไปอนาคตแล้วก็มองถึงความเป็นห่วงที่มีต่อประเทศชาติบ้านเมืองในเรื่องราวต่างๆ ความเป็นห่วงว่าประเทศนั้นต้องเดินต่อไปไม่มีความขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องห่วงคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศในอนาคต ว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องเข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีมีเกียรติภูมิสามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง

ณัฏฐา มหัทธนา สรุปปิดท้ายว่า ความไม่ยุติธรรมในกติกาสร้างบาดแผลให้สังคม ประชาชนรังเกียจอภิสิทธิ์และโหยหาความเท่าเทียม ในโลกนี้จะมีอะไรที่มีอภิสิทธิ์มากไปกว่าการที่คนคนเดียวสามารถเลือกคนมานั่งได้ 250 ที่นั่ง หากประชาชนเลือกต้องใช้เกิน 20 ล้านเสียง ดังนั้นการตัดสินใจของท่านในวันนี้จะเป็นการบอกอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะหากว่าร่างการยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกไม่ผ่านจะมีผลกระทบทางการเมืองแน่นอนในสนามเลือกตั้ง ขอให้ท่านคืนความปกติให้บ้านเมืองคืนความปกติให้การเมือง เอาความยุติธรรมกลับมาเอาคำว่าคณาธิปไตยออกไป กลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์