สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างพ.ร.บ. #งบประมาณปี66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท

3 มิถุนายน 2565 เวลา 01.09 น. สภาผู้แทนราษฎรลงมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566) ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 278 เสียง ไม่เห็นด้วย 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณฉบับสุดท้ายภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาถึงสามวันเต็ม ลากยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 แต่ไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 การอภิปรายจึงทอดยาวต่อเนื่องข้ามวันมาจนถึงช่วงต้นวันใหม่

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท (สามล้านหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันล้านล้านบาท) เพิ่มจากปีงบประมาณ 2565 มา 85,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐประมาณการรายได้ที่รัฐจะจัดเก็บได้สูงกว่าปีงบประมาณ 2565 โดยงบประมาณส่วนใหญ่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 จำนวน 1,285,474 ล้านบาท หรือ 40% เป็นงบสำหรับบุคลากรภาครัฐ แม้งบประมาณส่วนนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่งบประมาณปี 2565 ซึ่งในพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ก็กำหนดงบประมาณบุคลากรภาครัฐอยู่ที่ 40% เช่นกัน แต่ภายใต้ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำโดยหัวหน้าคสช. ก็ยังไม่เกิดการ “ปฏิรูป” งบประมาณบุคลากรภาครัฐถึงระดับที่จะสั่นสะเทือนระบบราชการแต่อย่างใด

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ในวาระหนึ่งแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (กมธ.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566) จำนวน 72 คน เป็นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 18 คน เป็นสัดส่วนของพรรคการเมือง 54 คน แบ่งเป็น

  • พรรคเพื่อไทย 15 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ 11 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 7 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน
  • พรรคก้าวไกล 6 คน
  • พรรคเศรษฐกิจไทย 2 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย 1 คน
  • พรรคประชาชาติ 1 คน
  • พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน
  • พรรคเพื่อชาติ 1 คน
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน
  • พรรคพลังท้องถิ่นไทย 1 คน

กมธ. จะทำหน้าที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ในรายละเอียด และเสนอปรับลดหรือเพิ่มงบแต่ละรายการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกรอบวงเงินรวมที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นจึงพิจารณาลงมติรายมาตราวาระสองและลงมติรับร่างทั้งฉบับในวาระสาม จากนั้นจึงส่งให้วุฒิสภาพิจารณา

โดยการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นวุฒิสภา วุฒิสภาแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายงบประมาณประจำปีไม่ได้ จะเพิ่มหรือตัดลดเหมือนชั้นสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ วุฒิสภามีอำนาจพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 143 วรรคสาม กำหนด

อย่างไรก็ดี การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 วาระหนึ่งตลอดสามวันนั้น เป็นเพียงแค่ “ด่านแรก” เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญว่าแต่ละหน่วยงานจะได้รับงบประมาณเท่าไหร่ จะอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และการลงมติรายมาตราในวาระสอง ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป