8 ปี คสช. สภาแต่งตั้งเลือกสรรคนไปเป็น “องค์กรตรวจสอบ”

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างมีความสัมพันธ์ในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน การกำหนดให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรบริหารหรือองค์กรตุลาการต้องผ่านความเห็นชอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติมีความยึดโยงกับประชาชนเป็นหนึ่งในกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนปวงชนได้ตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ตำแหน่งที่ต้องผ่านความเห็นชอบโดยอำนาจที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

แต่ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หน้าตาของฝ่ายนิติบัญญัติก็เปลี่ยนแปลงไป จากสภาที่มาจากประชาชนก็กลายเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง แม้ภายหลังปี 2562 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่วุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ก็ยังมีที่มาแบบ “พิเศษ” ไม่ยึดโยงกับประชาชน 

โครงสร้างเช่นนี้ที่เป็นมานานกว่าแปดปี ทำให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรสำคัญล้วนแต่ต้องผ่านตะแกรงคัดกรองจาก “สภาแต่งตั้ง” มาแล้วทั้งสิ้น

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนได้ต่ออายุ 2 คนมาจากสนช. 5 คนมาจากส.ว.

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในองค์กรที่คสช. เข้ามามีบทบาทในการจัดสรรกับตำแหน่งแห่งที่ของตุลาการ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการห้าคน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระเก้าปีแล้ว ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 ก็เขียนไว้คล้ายกับขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 2550  

แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้ เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการทั้งห้าคนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ

เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) บังคับใช้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 ก็กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยืดอายุด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช. ทำงานต่อไปได้จนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ด้วยบทเฉพาะกาลดังกล่าวทำให้อายุการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งห้าคน ลากยาวมาจนถึง 31 มีนาคม 2563 

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2556 และวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 ยังเป็นตุลาการสองคนที่มาจากระบบคัดเลือกของรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของวรวิทย์ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีวาระเก้าปี แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีวาระเจ็ดปี ต่อมาคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยโดยอ้างบทเฉพาะกาลให้วรวิทย์ อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบเก้าปี เท่ากับว่า ทวีเกียรติ จะอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระเก้าปีในเดือนตุลาคม 2565 ขณะที่วรวิทย์ จะครบวาระเก้าปีในเดือนกันยายน 2566

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกสองคนมาจากความเห็นชอบของสนช. ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน โดยสนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสนช. เมื่อ 9 ตุลาคม 2558 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 158 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง และถัดจากนั้น 20 วัน ในวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุมสนช. ก็เห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 28 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ซึ่งใน มาตรา 24 กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ผู้พิพากษาและตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย การเข้ามาดำรงตำแหน่งของทั้งสองคน จึงถือได้ว่าเป็นตุลาการที่ดำรงตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550

ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 273 กำหนดว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (ก่อน 6 เมษายน 2560) ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว 

และเมื่อไปดู พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน จึงมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2567

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดอีกห้าคนที่เหลือ ล้วนแต่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาชุดพิเศษทั้งสิ้น โดยในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสี่คน ได้แก่  

  1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
  2. วิรุฬห์  เสียงเทียน ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
  3. จิรนิติ หะวานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
  4. นภดล เทพพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 203 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง 

ต่อมาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 11 เสียง ตุลาการทั้งห้าคนได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้าคนที่ได้รับการยืดอายุด้วยมาตรา 44 พ้นจากตำแหน่ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 คนมาจาก สนช. ทั้งหมด

สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดก่อนยุค คสช. มีจำนวนห้าคน ได้แก่ ศุภชัย สมเจริญ, บุญส่ง น้อยโสภณ, ว่าที่ร้อยตรี ดร.ประวิช รัตนเพียร, ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และรศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2556 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี แม้ไม่มีกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งจึงไม่ต้องเริ่มกระบวนการหาคนใหม่ แต่ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ห้าเดือนต่อมา เดือนกันยายน 2560 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 (พ.ร.ป.กกต.) ก็ถูกประกาศใช้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 70 กำหนด “เซ็ตซีโร่” กกต. ชุดเก่า ให้พ้นจากตำแหน่งทันที แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่ากกต. ชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง 

จากนั้นกระบวนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านด้วย แต่ขณะนั้นสองตำแหน่งนี้ยังไม่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ซึ่งต่อมาก็เป็นประธานวุฒิสภา จึงเป็นกรรมการสรรหากกต. ด้วย ซึ่งมีรายชื่อเสนอให้เป็น กกต. ชุดแรกเจ็ดคน ในการประชุมสนช. วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ได้ให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกกต. ห้าคน ดังนี้

  1. ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 178 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 20 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
  2. อิทธิพร บุญประคอง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 10 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง
  3. ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง
  4. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง6 เสียง
  5. ปกรณ์ มหรรณพ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 185 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 10 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง

กกต. ห้าคน ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 สิงหาคม 2561 ต่อมา ในการประชุมสนช. เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2561 สนช. ให้ความเห็นชอบให้เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ดำรงตำแหน่งกกต. ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 148 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 28 เสียง ไม่ออกเสียงลงคะแนน 8 เสียง และให้ความเห็นชอบฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ดำรงตำแหน่งกกต. ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 149 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 27 เสียง ไม่ออกคะแนนเสียง 8 เสียง ทั้งสองเข้าดำรงตำแหน่งกกต. เมื่อ 4 ธันวาคม 2561

โดยรวมกกต. ชุดปัจจุบันเจ็ดคน จึงผ่านความเห็นชอบมาจากสนช. ทุกคน ทำให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 การเลือกตั้งเทศบาล เมื่อ 28 มีนาคม 2564 การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 รวมถึงการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 อยู่ภายใต้การทำงานของกกต. ชุดนี้ทั้งสิ้น 

กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ห้าคนแรกเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2561 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2568 จึงหมดวาระ ส่วนสองคนหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2561 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 จึงหมดวาระ เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า กกต. ชุดนี้ก็จะยังหน้าที่จัดการเลือกตั้งอยู่ เมื่อทั้งสองชุดหมดวาระแล้วจะคัดเลือกใหม่โดย ส.ว. ชุดใหม่ที่มาจากการแบ่งกลุ่มอาชีพ ไม่ได้มาจากคสช. โดยตรง

ป.ป.ช. มาจากสนช. 5 คน ส.ว. 2 คน และนั่งยาวมาก่อน 2 คน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. มีจำนวนเก้าคน ในวันครบรอบแปดปี คสช. มีสองคนมาจากระบบของรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ณรงค์ รัฐอมฤต เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556  และสุภา ปิยะจิตติ เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2557 ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 185 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) กำหนดให้กรรมการป.ป.ช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน ยังคงอยู่ตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระเก้าปีตามพ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับปี 2542 หมายความว่าในปี 2565 และ 2566 จะมีกระบวนการคัดเลือกกรรมการป.ป.ช. ใหม่ที่พิจารณาโดยส.ว.ชุดพิเศษ

ขณะที่กรรมการอีกจำนวนสี่คน เข้าดำรงตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2558 ผ่านความเห็นชอบโดยสนช. ในการประชุมสนช. เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2558 ด้วยคะแนนเสียง  ดังนี้

  1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 154 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 24 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  2. วิทยา อาคมพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 164 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 12เสียง
  3. สุวณา สุวรรณจูฑะ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 163 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 12 เสียง
  4. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 165 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 11 เสียง

นอกจากสี่คนข้างต้น ที่ประชุมสนช. ยังให้ความเห็นชอบสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ดำรงตำแหน่งป.ป.ช. ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 173 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียงลงคะแนน 12 เสียง อย่างไรก็ดี สุรศักดิ์มีอายุครบ 70 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2562 จึงพ้นจากตำแหน่งไป

ด้านกรรมการป.ป.ช. ที่เหลืออีกสองคน ณัฐฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.จากวุฒิสภาชุดพิเศษในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 26 พฤษภาคม 2563 วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบณัฐจักรและสุชาติ ด้วยคะแนนเสียง ดังนี้

  1. ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 224 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง
  2. สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี สี่คนที่คัดเลือกโดย สนช. เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2558 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2565 จึงหมดวาระ และจะคัดเลือกใหม่โดย ส.ว. ชุดพิเศษ ส่วนอีกสองคนที่มาจากการคัดเลือกโดย ส.ว. ชุดพิเศษ เข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2563 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2570

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เลือกสามรอบ โดย สนช. 1 คน ส.ว. 2 คน

ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน หนึ่งคนที่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ในการประชุมสนช. เมื่อ 23 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมเห็นชอบให้สมศักดิ์ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 171 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง 

ขณะที่อีกสองคน ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาชุดปัจจุบัน โดยในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 181 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 18 เสียง ไม่ออกเสียง 13 เสียง ขณะที่ผู้ถูกเสนอชื่ออีกคนหนึ่ง คือ กุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา ไม่ผ่านความเห็นชอบ

และในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 13 กันยายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ทรงศัก สายเชื้อ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 196 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี สมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงหมดวาระ อิสสรีย์ เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2564 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2571 จึงหมดวาระ ส่วนทรงศักเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2571 จึงหมดวาระ

กรรมการสิทธิ ลงมติไป 5 รอบ สนช.เลือก 2 คน ส.ว. เลือก 5 คน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประกอบไปด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ชุดเดิมถูก “เซ็ตซีโร่” ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ จากนั้นรายชื่อชุดใหม่ทั้งเจ็ดคนถูกเสนอเข้าสู่มือของ สนช. กรรมการสองคนผ่านความเห็นชอบมาโดยสนช. ได้แก่ 

  1. พรประไพ กาญจนรินทร์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 152 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 14 เสียง ไม่ออกเสียง 10 เสียง
  2. ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 146 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 20 เสียง ไม่ออกเสียง 10 เสียง

ขณะที่เอ็นจีโอด้านสิทธิอีกห้าคนที่ได้รับการเสนอชื่อ ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ, สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สนช. ส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่เห็นชอบ

หลังจากนั้นมีการเสนอรายชื่อกรรมการกสม. ที่ยังว่างอยู่อีกห้าตำแหน่งอีกสี่รอบ ได้รับความเห็นชอบมาจากส.ว.ชุดพิเศษ ในการลงมติรอบแรก สองคน รอบที่สอง หนึ่งคน รอบที่สามหนึ่งคน และรอบที่สี่อีกหนึ่งคน ได้แก่

  1. ปรีดา คงแป้น ในการประชุมวุฒิสภา 27 มกราคม 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกสม. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 161 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง
  2. สุชาติ เศรษฐมาลินี ในการประชุมวุฒิสภา 27 มกราคม 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกสม. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 171 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง
  3. ศยามล ไกยูรวงศ์ ในการประชุมวุฒิสภา 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกสม. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 201 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง 
  4. วสันต์ ภัยหลีกลี้ ในการประชุมวุฒิสภา 26 มกราคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกสม. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 7 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
  5. สุภัทรา นาคะผิว ในการประชุมวุฒิสภา 23 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกสม. ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 181 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 20 เสียง ไม่ออกเสียง 17 เสียง

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี คณะกรรมการสิทธิหกคนแรก เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2571 จึงหมดวาระ

คตง. 7 คน ผ่านความเห็นชอบจากสนช.

สำหรับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กรรมการทั้งเจ็ดคนผ่านความเห็นชอบจากสนช. มาพร้อมกันทั้งหมด โดยในการประชุมสนช. วันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมสนช. ได้ให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งคตง. ทั้งเจ็ดคนในการพิจารณารอบเดียว ดังนี้

  1. พลเอกชนะ อินทามระ คะแนนเสียงเห็นชอบ 201 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 5 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  2. ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ คะแนนเสียงเห็นชอบ 188 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 21 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง
  3. พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ คะแนนเสียงเห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง
  4. จินดา มหัทธนวัฒน์ คะแนนเสียงเห็นชอบ 205 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
  5. วีระยุทธ ปั้นน่วม คะแนนเสียงเห็นชอบ 195 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 15 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง
  6. สรรเสริญ พลเจียก คะแนนเสียงเห็นชอบ 166 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 36 เสียง ไม่ออกเสียง 12 เสียง
  7. อรพิน ผลสุวรณ์ สบายรูป คะแนนเสียงเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 8 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง

กรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ทั้งเจ็ดคนเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2560 และจะทำงานต่อไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2567 จึงหมดวาระ และจะคัดเลือกใหม่โดย ส.ว. ชุดใหม่ที่มาจากการแบ่งกลุ่มอาชีพ ไม่ได้มาจากคสช. โดยตรง

ยังมีตำแหน่งที่สำคัญอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ คตง. เป็นผู้คัดเลือกบุคคลมาเสนอให้ สนช. และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 สนช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ประจักษ์ บุญยัง” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

ปปง. มาง่ายๆ ตามม.44 ส่วนเลขาฯ ปปง. มาจากส.ว.

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 กำหนดให้ปปง. ประกอบไปด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหกคนที่ ครม. คัดเลือก โดยผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา 

วันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปปง. จำนวนหกคน ประกอบด้วย สุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตข้าราชการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), พล.ต.ต.จักรพงษ์ วิวัฒน์วานิช อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, เฉลิมศักดิ์ จันทรทิม อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ต่อมากรรมการปปง. ชุดนี้ก็ถูกโละทั้งหมด เมื่อหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งที่ 38/2560 ด้วยอำนาจมาตรา 44 โดยในข้อ 5 ของคำสั่ง กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง และคำสั่งนี้ยังกำหนดแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีสี่คน แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และไม่ได้ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแต่อย่างใด

วันที่ 26 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เเต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จำนวนสี่คน ได้แก่ พลตำรวจเอก ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง

ถึงแม้ว่าตัวคณะกรรมการปปง. ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว แต่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ หรือ เลขาฯปปง. ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานปปง.และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ยังต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาอยู่ 

โดยเลขาธิการปปง. คนก่อน พลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร ผ่านความเห็นชอบของสนช. ในการประชุมเมื่อ 19 เมษายน 2561 ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 182 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง ต่อมารมย์สิทธิ์ก็ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการปปง. ด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 12/2561

ขณะที่เลขาธิการปปง. คนต่อมา คือ พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 197 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 7 เสียง ไม่ออกเสียง 12 เสียง

ป.ป.ท.มาจาก สนช. เลขาฯ ป.ป.ท. จะมาจาก ส.ว.

ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เดิมกำหนดให้ป.ป.ท. ประกอบด้วยประธานและกรรมการไม่เกินห้าคน ซึ่งครม. แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งในการประชุมสนช. เมื่อ 21 มกราคม 2559 สนช. ได้ให้ความเห็นชอบให้กิตติ ลิ้มชัยกิจ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานป.ป.ท. และให้ความเห็นชอบจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา สบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ชัยรัตน์ ชีระพันธุ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และอนุสิษฐ คุณากร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ท. 

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2559 โดยกำหนดที่มาของป.ป.ท. ให้มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งป.ป.ท. ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติอีก

แต่เลขาธิการป.ป.ท. ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ตามมาตรา 51/1 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ ได้รับความเห็นชอบจากสนช. ในการประชุมเมื่อ 25 ธันวาคม 2560 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ท. ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 133 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง ต่อมาพ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล  เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ท. ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2562 และ พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 และนับถึงเมื่อ คสช. ครบแปดปี ตำแหน่งนี้ยังคงว่างอยู่ รอกระบวนการสรรหาผ่านวุฒิสภาชุดพิเศษ

กสทช. แช่แข็งนาน ก่อนผ่าน ส.ว. 5 คน

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดให้มีกรรมการกสชท. มีทั้งสิ้นเจ็ดคน เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านละหนึ่งคน กสทช. มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกสทช. ต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย

คณะกรรมการกสทช. ชุดแรก ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 หลังคสช. รัฐประหารเมื่อปี 2557 กสทช. กลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับความสนใจและถูกแทรกแซงกระบวนการสรรหาเป็นพิเศษ แม้ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งจะมีกรรมการลาออกไปหนึ่งคน และอายุเกินจนขาดคุณสมบัติไปหนึ่งคน คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 7/2561 ยกเลิกการสรรหากรรมการ กสทช. จนกว่า คสช. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้องค์กรนี้ถูกแช่แข็งโดยกรรมการซึ่งหมดวาระแล้ว “เท่าที่มีอยู่” มาอีกกว่าสี่ปี

ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 20 ธันวาคม 2564 วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบบุคคลดังต่อไปนี้ให้ดำรงตำแหน่งกสทช.

  1. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ คะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 210 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง
  2. พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 212 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 5 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง
  3. ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต คะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 213 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง
  4. ต่อพงศ์ เสลานนท์ คะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 196 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 19 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  5. รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย คะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 205 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง

ที่ประชุมวุฒิสภา “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสทช. อีกสองคน คือ ร้อยโทธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 60 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 142 เสียง ไม่ออกเสียง 21 เสียง และกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ด้วยคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ 63 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 145 เสียง ไม่ออกเสียง 15 เสียง ส่งผลให้เกือบสี่เดือนต่อมา 14 เมษายน 2565  ประกาศแต่งตั้งกสทช. จึงมีเพียงแค่ห้าคนที่ได้รับความเห็นชอบเท่านั้น ซึ่งยังไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด

ต่อมา ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสทช. จำนวน 15 คน โดยบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสทช. คือ ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร (กรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม) และพลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร (กรรมการด้านกฎหมาย)

เลขากฤษฎีกาฯ มาจากส.ว.

พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 63 กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามลำดับ แต่ถ้าหากรัฐสภามีแค่สภาเดียว ก็ให้ได้รับความเห็นชอบของสภานั้น

สำหรับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาสามคนล่าสุด ล้วนแต่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. และวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ดังนี้

1. ดิสทัต โหตระกิตย์ ในการประชุมสนช. เมื่อ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบให้ดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและสมาชิก สนช. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 170 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง

โดยการประชุมครั้งนี้ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอว่าไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ เนื่องจากเห็นว่า ดิสทัต เป็น สนช. เห็นผลงานกันอยู่แล้ว ที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน ขณะที่ดิสทัตเอง ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ สนช. อยู่แล้วด้วย

2. จารุวรรณ เฮงตระกูล ในการประชุมสนช. เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ จารุวรรณ เฮงตระกูล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยคะแนนเห็นชอบ 157 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง

3. ปกรณ์ นิลประพันธ์ ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 23 ธันวาคม 2562  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ปกรณ์ นิลประพัทธ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยคะแนนเห็นชอบ 189 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง

อัยการสูงสุด สนช. รับรองมา 2 คน ส.ว. รับรองต่อ 2 คน

มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553  กำหนดให้ตำแหน่งอัยการสูงสุด ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยอัยการสูงสุดคนที่ 13 และ 14 ผ่านความเห็นชอบจากสนช. คนที่ 15 และ 16 (ปัจจุบัน) ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา รายละเอียด ดังนี้

อัยการสูงสุดคนที่ 13 ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร การประชุมสนช.วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 181 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง

อัยการสูงสุดคนที่ 14 ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ การประชุมสนช.วันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 198 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

อัยการสูงสุดคนที่ 15 วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ การประชุมวุฒิสภาวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 215 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง 

อัยการสูงสุดคนที่ 16 สิงห์ชัย ทนินซ้อน การประชุมวุฒิสภาวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 209 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง

ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สนช.ให้ผ่าน 28 คน ไม่ผ่าน 1 ส.ว.ให้ผ่าน 48 คน ไม่ผ่าน 2

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคสาม กำหนดให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เสนอชื่อบุคคลที่จะให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ

โดยสนช. ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดไป 28 ราย และวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด 48 ราย แม้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อส่วนใหญ่ จะได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่ก็มีผู้ได้รับการเสนอชื่อบางรายที่สนช.และวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ดังนี้

๐ ในการประชุมสนช. เมื่อ 3 มีนาคม 2559 ที่ประชุมสนช. ให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด 14 รายจากการเสนอรายชื่อทั้งหมด 15 รายดังนี้

  1. บุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  2. ประสาท พงษ์สุวรรณ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 170 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  3. สิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  4. ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 164 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  5. อนุวัฒน์ ธาราแสวง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  6. ชูชาติ อัศวโรจน์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
  7. มานิตย์ วงศ์เสรี ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 170 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  8. ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  9. รดาวรรณ วานิช ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 167 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
  10. อนุพงศ์ สุขเกษม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  11. กมล สกลเดชา ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 169 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
  12. ประนัย วณิชชานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 170 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  13. รัฐกิจ มานะทัต ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  14. กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 172 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง

ที่ประชุมสนช. ไม่ให้ความเห็นชอบสุชาติ ศรีวรกร ด้วยคะแนนเห็นชอบ 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 166 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และในการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปรากฏชื่อตุลาการเพียง 13 ราย เท่านั้น โดยไม่ปรากฏชื่อของกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ทั้งนี้ ในระหว่างสนช. ลงมติให้ความเห็นชอบกาญจนารัตน์ กาญจนารัตน์เองก็เป็นหนึ่งในสนช. เช่นกัน นอกจากนี้ กาญจนารัตน์ยังเป็นส.ว.ชุดปัจจุบันด้วย

๐ ในการประชุมสนช. เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมสนช. ให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด 14 ราย ดังนี้

  1. วุฒิ มีช่วย ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 120 เสียง ไม่เห็นชอบ 39 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  2. ฤทัย หงส์สิริ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 155 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  3. สุกัญญา นาชัยเวียง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 157 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  4. กิตดนัย ธรมธัช ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 157 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  5. อําพน เจริญชีวินทร์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 132 เสียง ไม่เห็นชอบ 26 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
  6. ไชยวัฒน์ ธํารงศรีสุข ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 156 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  7. ประสาน บางประสิทธิ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 159 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  8. โสภณ บุญกูล ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 157 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
  9. จักริน วงศ์กุลฤดี ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 136 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  10. ศิริวรรณ จุลโพธิ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 156 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  11. ประวิทย์ เอื้อนิรันดร์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 156 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  12. จิรศักดิ์ จิรวดี ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 135 เสียง ไม่เห็นชอบ 25 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  13. ธีรรัฐ อร่ามทวีทอง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 158 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  14. สายสุดา เศรษฐบุตร ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 133 เสียง ไม่เห็นชอบ 29 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง

อย่างไรก็ดี สายสุดา เศรษฐบุตรได้ลาออกจากราชการ ทำให้มีตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งจริงคงเหลือ 13 ราย

๐ ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 17 กันยายน 2562 มีการเสนอชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด 13 คน โดยวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบ 12 คน ดังนี้ 

  1. เสถียร ทิวทอง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 187 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  2. พงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 192 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
  3. ณัฐ รัฐอมฤต ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
  4. ไชยเดช ตันติเวสส ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 189 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  5. ภานุพันธ์ ชัยรัต ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  6. สุจินต์ จุฑาธิปไตย ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 167 เสียง ไม่เห็นชอบ 27 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
  7. ธีระเดช เดชะชาติ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
  8. พยุง พันสุทธิรางกูร ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
  9. ไพโรจน์ มินเด็น ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  10. สุรัตน์ พุ่มพวง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
  11. ศรศักดิ์ นิยมธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
  12. สมยศ วัฒนภิรมย์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 174 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง

ส.ว. ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบหนึ่งคน คือ กุศล รักษา ด้วยคะแนนเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนน 75 เสียง ไม่เห็นชอบ 97 เสียง และงดออกเสียง 29 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง

๐ ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563  มีการเสนอชื่อ รัชนันท์ ธนานันท์ เพื่อให้ที่ประชุมลงมติ ผลการลงคะแนนปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนเห็นชอบ 36 เสียง ไม่เห็นชอบ 149 เสียง งดออกเสียง 33 เสียง

๐ ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 14 กันยายน 2563 วุฒิสภาให้ความเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 15 คนตามที่ก.ศป.เสนอมาทั้งหมด  ได้แก่ 

  1. ชัยโรจน์ เกตุกำเนิด ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง 
  2. สุรเดช พหลภาคย์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  3. วีระ แสงสมบูรณ์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 10 เสียง
  4. เสน่ห์ บุญทมานพ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  5. สมิง พรทวีศักดิ์อุดม ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  6. อนุสรณ์ ธีระภัทรานันท์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 10 เสียง 
  7. สมภพ ผ่องสว่าง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  8. อนนท์ อดิเรกสมบัติ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
  9. สัมฤทธิ์ อ่อนคำ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 10 เสียง
  10. กนิษฐา เชี่ยววิทย์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  11. สุมาลี ลิมปโอวาท ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  12. เสริมดรุณี ตันติเวสส ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  13. วิบูลย์ กัมมาระบุตร ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 8 เสียง
  14. ดุษณีย์ ตยางคานนท์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 11 เสียง
  15. สถาพร สถิตย์ปิยะรัตน์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง

๐ ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 19 มกราคม 2564  ที่ประชุมยังคงมีมติไม่เห็นชอบให้ รัชนันท์ ธนานันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นครั้งที่สอง ด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 122 เสียง เห็นชอบ 89 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง

๐ ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ็ดคน ดังนี้

  1. สะเทื้อน ชูสกุล ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 202 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 8 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง
  2. ฉัตรชัย นิติภักดิ์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 189 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 23 เสียง
  3. รังสิกร อุปพงศ์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 0 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง
  4. ไพศาล บุญเกิด ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 0 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง
  5. สมศักดิ์ ตัณฑเลขา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
  6. วชิระ ชอบแต่ง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 0 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง

7. ภิรัตน์ เจียรนัย ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 213 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง

ทั้งนี้ ในขั้นตอนนำรายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ แต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีการแต่งตั้งตุลาการเพียงหกคนเท่านั้น เนื่องจากอีกหนึ่งคน คือ ภิรัตน์ เจียรนัย ถูกชะลอการนำความทูลเกล้าฯ ออกไปก่อน