บทเรียนVote62 สังเกตการณ์การนับคะแนนและรายงานผล เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในรอบ 9 ปี แล้วเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ครั้งแรกในรอบ 13 ปี เว็บไซต์ Vote62.com เปิดให้ประชาชนช่วยกันไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง การนับคะแนน และช่วยกันรายงานผลคะแนนเอง โดยการถ่ายภาพป้ายหน่วยเลือกตั้งและกระดานนับคะแนนส่งมาที่เว็บไซต์ Vote62.com ทันทีที่แต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่มีคนจำนวนมากช่วยกันไปสังเกตการณ์การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งและรายงานผลเข้ามา

การที่ประชาชนช่วยกันจับตาและตรวจสอบกระบวนการนับคะแนนเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวัง และละเอียดรอบคอบมากขึ้น รวมทั้งการที่ประชาชนช่วยกันถ่ายภาพและรายงานผลคะแนนเองได้ ก็ช่วยให้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตรวจสอบ หากการรวมคะแนนของกกต. ปรากฏออกมาไม่ตรงกับที่ประชาชนนับคะแนนได้

จากประสบการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้พบปัญหาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยซึ่งเป็นระดับปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้สังเกตการณ์ทำงานยาก และยังพบปัญหาระดับนโยบายซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเที่ยงตรงในการนับคะแนนที่ กกต. ควรพัฒนาให้ดีขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไป

ลงทะเบียนล่วงหน้า 50% แต่รายงานผลจริง 1 ใน 3

ก่อนถึงวันเลือกตั้ง เว็บไซต์ Vote62.com ใช้เวลาประชาสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์ เปิดให้อาสาสมัครทั่วไปลงทะเบียนแจ้งก่อนล่วงหน้าได้ว่า แต่ละคนตั้งใจจะไปสังเกตการณ์ และรายงานผลจากหน่วยเลือกตั้งใด เพื่อจะได้ไปไม่ซ้ำกัน โดยคนที่สมัครเข้าร่วมทำภารกิจนี้ อาจมีทั้งคนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อายุไม่ถึง 18 ปี หรือคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานครครบ 1 ปี และมีคนที่สมัครเข้าร่วมสังเกตการณ์มากกว่า 3,306 หน่วย จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดที่มี 6,817 หน่วย คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

ในวันเลือกตั้งจริง มีอาสาสมัครจำนวนหนึ่งที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ได้ส่งรูปและรายงานผลคะแนนกลับมา ขณะเดียวกันก็มีอาสาสมัครอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า แต่ก็ออกไปถ่ายภาพและรายงานผลการนับคะแนนได้ และหน้างานจริงหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยจะตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้อาสาสมัครหนึ่งคนสามารถสังเกตการณ์และถ่ายภาพกระดานนับคะแนนได้มากกว่าที่ลงทะเบียนไว้คนละหนึ่งหน่วย เว็บไซต์ Vote62.com ได้รับภาพถ่ายกระดานนับคะแนนผู้ว่าฯ กทม. 2,008 หน่วย และกระดานนับคะแนน ส.ก. 1,769 หน่วย น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด

นอกจากนี้ ภาพถ่ายหลายภาพที่ส่งเข้ามา เป็นเพียงไฟล์ภาพ ซึ่งยังมีอาสาสามัคอีกจำนวนมากที่ทำหน้าที่ดูภาพอยู่หน้าจอ และช่วยกันกรอคะแนนเข้าสู่ระบบ สามารถกรอกคะแนนผู้ว่าฯ กทม. ในคืนวันเลือกตั้งได้ถึง 1,922 หน่วย และ ส.ก. 1,704 หน่วย 

จากข้อทูลพบว่า เขตที่มีการส่งรูปกระดานคะแนนมามากที่สุด คือดอนเมือง 152 หน่วย จากทั้งหมด 169 หน่วย รองลงมา คือ เขตหลักสี่ บางซื่อ ลาดกระบัง และห้วยขวาง

เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดเป็นมิตร ปฏิบัติถูกต้อง และรับฟังคำทักท้วง

ในระหว่างที่อาสาสมัครทั่วไปจากเว็บไซต์ Vote62.com ลงพื้นที่ไปตามหน่วยเลือกตั้งกว่า 2,000 แห่ง เพื่อติดตามการนับคะแนนและถ่ายภาพบอร์ดนับคะแนน เจ้าหน้าที่ไอลอว์ก็ได้แบ่งงานกันไปสังเกตการณ์การนับคะแนนและถ่ายภาพบอร์ดนับคะแนนทั้งหมด 14 เขต ทั้งกรุงเทพชั้นใน ย่านธุรกิจ และเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตพระนคร เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตพญาไท เขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว เขตจตุจักร เขตดินแดง เขตบางเขน เขตสะพานสูง เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตทุ่งครุ และเขตหนองจอก 

จากประสบการณ์สังเกตการณ์การนับคะแนนในครั้งนี้ พบว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานประจำหน่วยเกือบทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องและเป็นมิตรกับผู้สังเกตการณ์ มีการอำนวยความสะดวก และสื่อสารทำงานร่วมกันกับผู้สังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งนั้นๆ เช่น ที่หน่วยเลือกตั้งบริเวณสนามกีฬาบ้านเอื้ออาทรรามอินทรา เขตบางเขน เมื่อเจ้าหน้าที่ขานบัตรเสียผิดประชาชนที่ยืนดูก็ได้ทักท้วงโดยเปิดคู่มือของ กกต. ขึ้นมาเทียบ เจ้าหน้าที่รับฟังและขานคะแนนใหม่โดยไม่มีความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจกัน หรือที่หน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนฤทธิไกร เขตลาดพร้าว เมื่อเจ้าหน้าที่ติดกระดานนับคะแนนไว้ไกล ทำให้ผู้สังเกตการณ์มองเห็นไม่ชัด เจ้าหน้าที่ก็ช่วยเหลือถ่ายรูปกระดานนับคะแนนให้กับผู้สังเกตการณ์ หรือที่หน่วยเลือกตั้งบริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร เจ้าหน้าที่พูดจาเป็นมิตร มีการหันมาอธิบายกับผู้สังเกตการณ์ถึงขั้นตอน ตั้งแต่วิธีการนับคะแนบ เมื่อมีคนทักว่าเหตุใดจำนวนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีมากกว่าบัตรส.ก. เจ้าหน้าที่ก็อธิบายว่า กรรมการประจำหน่วยมีสิทธิเลือกแค่ผู้ว่าฯ จึงมีบัตรมากกว่า เป็นต้น

ในขั้นตอนการปฏิบัติ ผู้สังเกตการณ์ไม่ใช่คู่ตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเสมอไป เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบางครั้งอาจผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ เมื่อมีคนช่วยกันดูและช่วยกันทบทวนความถูกต้องมากขึ้น ก็จะช่วยให้การนับคะแนนมีโอกาสผิดพลาดน้อยลง และเมื่อเจ้าหน้าที่กับผู้สังเกตการณ์ช่วยกันทำงานเสร็จแล้ว ก็มีเอกสารสำหรับให้ผู้สังเกตการณ์ลงชื่อรับรองด้วยซึ่งจะช่วยยืนยันว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นถูกต้องแล้วอีกชั้นหนึ่ง เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้สังเกตการณ์ เจ้าหน้าที่ และความถูกต้องของผลคะแนน

ตัวอย่างเช่น ที่เขตห้วยขวาง เจ้าหน้าที่รวมคะแนนของผู้สมัครรายหนึ่งได้ 76 คะแนน แต่ผู้สังเกตการณ์เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขียนเลขตกไป จริงๆ แล้วคือ 176 คะแนน เมื่อทักท้วงเจ้าหน้าที่ก็แก้ไขโดยเติมเลข 1 เข้าไปข้างหน้าให้ครบถ้วน หรือที่เขตหนองจอก เจ้าหน้าที่รวมคะแนนเขียนเลข 0 ให้กับผู้สมัครหมายเลขท้ายๆ หลายคน จนเผลอเขียนเลข 0 ในช่องคะแนนของบางคนที่มีคะแนนเล็กน้อยไปด้วย เมื่อผู้สังเกตการณ์ทักท้วง เจ้าหน้าที่ก็กล่าวขอโทษ กล่าวขอบคุณและแก้ไขพร้อมลงชื่อกำกับให้ถูกต้อง เป็นต้น

รวมปัญหาทางปฏิบัติ ที่ทำให้ผู้สังเกตการณ์ทำงานยาก

สำหรับการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้สังเกตการณ์ทั้ง 14 เขต สะท้อนปัญหาในทางปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อการสังเกตการณ์และการถ่ายภาพกระดานขีดคะแนนทำนองเดียวกันหลายประเด็น ดังนี้

1. การห้ามถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทุกฉบับ ไม่ได้ห้ามการถ่ายภาพระหว่างที่เจ้าหน้าที่นับคะแนน ไม่ห้ามการถ่ายภาพบัตรลงคะแนน และไม่ห้ามถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนน ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเกือบทั้งหมดก็เปิดกว้างให้ประชาชนที่สังเกตการณ์ถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่ บางหน่วยช่วยอำนวยความสะดวก เช่น จัดเก้าอี้ให้นั่งดูอย่างใกล้ชิด หรือเรียกให้ผู้สังเกตการณ์มาถ่ายภาพได้เลย แต่ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยมากที่เข้าใจผิด และไม่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 บางหน่วยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ไม่ให้ถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนน แต่เมื่อประชาชนทักท้วงและยืนยันว่าต้องถ่ายภาพได้ เจ้าหน้าที่ก็ยินยอม

ตัวอย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งบริเวณร้านแซ่บสเตชั่น เขตห้วยขวาง เจ้าหน้าที่แจ้งก่อนว่าให้ถ่ายภาพใบสรุปผลคะแนนเท่านั้นแต่เมื่อประชาชนยืนยันจะถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนทุกใบเจ้าหน้าที่ก็เปิดให้ถ่ายทีละใบจนครบ หรือหน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนศิริเพ็ญ เขตสะพานสูง เมื่อผู้สังเกตการณ์ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพ ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยตะโกนถามขึ้นมาว่า “ถ่ายได้หรอๆ” แต่ประชาชนก็ยังยืนยันที่จะถ่ายภาพต่อไป เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามปรามต่อ หรือหน่วยเลือกตั้งที่ 12 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแจ้งว่า “เดี๋ยวค่อยถ่าย” แต่ก็เก็บกระดาษขีดคะแนนไป ทำให้หน่วยนี้ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถถ่ายภาพมาได้

ประเด็นเรื่องการถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนน เป็นที่ข้อถกเถียงกันมานาน เจ้าหน้าที่จำนวนมากไม่ได้มีเจตนาที่จะ “ห้าม” หรือจะ “ปกปิด” การทำงาน แต่เนื่องจากเมื่อขีดคะแนนเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้เรียบร้อยก่อนว่า ยอดรวมคะแนนกับยอดผู้มาใช้สิทธิตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกันอาจจะต้องเริ่มนับคะแนนใหม่อีกครั้ง หากคะแนนตรงกันก็จะทำใบสรุปผลคะแนน ผ.ถ. 5/7 ส.ถ.5/7 ไปติดหน้าหน่วยอยู่แล้ว ดังนั้น ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ยังรวมคะแนนไม่เสร็จจึงอาจมีความกังวลและอาจไม่ต้องการให้ถ่ายภาพจนกว่าจะมั่นใจว่าตรวจสอบกระบวนการทุกอย่างเสร็จแล้ว จึงอาจแจ้งประชาชนว่า “ไม่ให้ถ่าย” ไว้ก่อน และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องแล้วก็จะต้องเก็บกระดาษขีดคะแนนทันทีเพื่อปิดงานให้เรียบร้อย

2. การรีบเก็บกระดาษขีดคะแนน

หลังการนับคะแนนเสร็จในแต่ละหน่วย เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที เพื่อรวมคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน คะแนนผู้ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด และบัตรเสีย ตรวจสอบความถูกต้องอีกชั้นหนึ่งว่า ยอดรวมทั้งหมดตรงกับยอดผู้มาใช้สิทธิหรือไม่ และจำนวนบัตรลงคะแนนที่เหลืออยู่นั้นตรงกับยอดบัตรลงคะแนนที่ได้รับมาลบกับยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ แต่ละหน่วยจะใช้เวลาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความชำนาญของเจ้าหน้าที่ และช่วงเวลาสั้นๆ นี้ประชาชนจะสามารถถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนที่ยังติดอยู่พร้อมกับยอดรวมคะแนนได้ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสร็จแล้วก็จะกรอกข้อมูลลงในใบสรุปผลคะแนน ผ.ถ. 5/7 ส.ถ.5/7 เพื่อเอาไปติดไว้หน้าหน่วย เก็บกระดาษขีดคะแนนทั้งหมด และเก็บของกลับเลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเจ้าหน้าที่ทำงานมาทั้งวันและเหนื่อยล้าจากการทำงานมากแล้ว

การรีบเก็บกระดาษขีดคะแนนเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้สังเกตการณ์ที่ต้องการถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนเก็บไว้เป็นหลักฐานมีความเครียดที่จะต้องอยู่ประจำจุดเพื่อถ่ายภาพให้ทัน และต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากในการถ่ายภาพให้ทันในเวลาอันสั้น เพราะหากผ่านช่วงเวลาดังกล่าวนี้ไปแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเก็บกระดาษขีดคะแนนออกทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพได้อีก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกหน่วย ที่ได้รับรายงานมาว่า เจ้าหน้าที่รีบเก็บกระดาษขีดคะแนนอย่างชัดเจน เช่น หน่วยเลือกตั้งบริเวณสำนักงานกสทช. เขตพญาไท, หน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนฤทธิไกร เขตลาดพร้าว, หน่วยเลือกตั้งบริเวณวัดปรก เขตสาทร เป็นต้น

3. การติดกระดาษขีดคะแนนซ้อนกัน

เนื่องจากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ถึง 31 หมายเลข ทำให้กกต. ออกแบบกระดาษสำหรับขีดคะแนนแยกออกเป็น 6 แผ่น แผ่นละ 5 หมายเลข และแผ่นสุดท้ายมี 6 หมายเลข ดังนั้นจึงต้องอาศัยพื้นที่บนกระดานสำหรับติดกระดาษขนาดใหญ่จำนวนมาก หน่วยเลือกตั้งหลายแห่งที่มีพื้นที่กว้างขวาง และมีกระดานมากเพียงพอเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยก็สามารถกางกระดาษสำหรับขีดคะแนนทั้ง 6 แผ่นออกมาพร้อมกันในระหว่างการนับคะแนนได้ แต่หน่วยเลือกตั้งอีกหลายแห่งมีพื้นที่จำกัด และมีกระดานไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีติดกระดาษซ้อนกัน โดยเฉพาะสำหรับผู้สมัครหมายเลขท้ายๆ ที่มีคะแนนไม่มาก และเมื่อมีการขานคะแนนก็เปิดกระดาษที่ซ้อนกันเพื่อขีดคะแนนให้ 

ตัวอย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งบริเวณวัดมกุฎกษัตริยาราม เขตพระนคร, หน่วยเลือกตั้งบริเวณศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ, หน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนปัญจทรัพย์ เขตดินแดง, หน่วยเลือกตั้งบริเวณสำนักงานกสทช. เขตพญาไท การติดกระดาษขีดคะแนนซ้อนกันทำให้การขีดคะแนนดำเนินไปอย่างล่าช้า ทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่เห็นคะแนนของผู้สมัครทุกคนระหว่างนับคะแนนไปพร้อมกัน และทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพกระดาษทุกใบได้โดยง่าย แต่เจ้าหน้าที่หลายหน่วยก็แก้ปัญหาโดยการค่อยๆ เปิดกระดาษให้ถ่ายภาพทีละใบจนครบ

4. การตั้งกระดานในระยะไกล

การจัดพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าท่ีในหน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่ จะใช้เทปสีเหลืองดำหรือใช้เชือกหรือแผงเหล็กคาดกั้นไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่ทำงานได้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และของบัตรเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันการจัดพื้นที่นี้ก็ทำให้ประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ถูกกั้นห่างจากกระดาษขีดคะแนน ทำให้ระหว่างการนับคะแนนก็ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ขีดคะแนนถูกต้องตามที่ขานหรือไม่ และเมื่อนับคะแนนเสร็จแล้วก็ไม่สามารถถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนให้เห็นตัวเลขและขีดทั้งหมดอย่างชัดเจนได้ บางหน่วยผู้สังเกตการณ์กับเจ้าหน้าที่ได้สื่อสารกันและแก้ไขโดยการขยับเข้ามาให้ใกล้ขึ้น บางหน่วยก็ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ หรือบางหน่วยเมื่อไม่สามารถขยับได้เจ้าหน้าที่ก็เอาโทรศัพท์ของผู้สังเกตการณ์เข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ ให้แทน

ตัวอย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งบริวเวณอาคารจอดรถศูนย์กีฬาประชานิเวศ เขตจตุจักรตั้งกระดานไว้ไกล ทำให้ผู้สังเกตการณ์มองไม่เห็นระหว่างการขีดคะแนน เมื่อผู้สังเกตการณ์ขอให้ขยับเข้ามาเพื่อถ่ายภาพ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องเก็บเข้ากล่องแล้วและไม่ได้อำนวยความสะดวก ขณะที่หน่วยข้างกันขยับมาหน้าเชือกกั้นและเปิดให้ถ่ายภาพจนครบทุกคน, หน่วยเลือกตั้งบริเวณวัดปรก เขตสาทร และหน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนสุเหร่าใหม่ เขตหนองจอก แม้กระดานจะตั้งอยู่ไกลแต่เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ประชาชนเดินเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ ได้ เป็นต้น

5. แสงสว่างไม่เพียงพอ

เนื่องจากการนับคะแนนจะเริ่มขึ้นหลังเวลาปิดหีบ 17.00 แต่ละหน่วยจึงต้องใช้เวลานับคะแนนและเข้าสู่กระบวนการรวมคะแนนในเวลาประมาณ 18.30-19.30 ซึ่งช่วงเวลาสำคัญสำหรับการบันทึกผลคะแนนเป็นเวลาที่แสงอาทิตย์หมดแล้ว หากหน่วยใดพบความผิดพลาดก็จะต้องนับคะแนนใหม่และอาจเสร็จในเวลาประมาณ 20.30-21.00 แสงส่องสว่างจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานให้ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ และการติดตามตรวจสอบโดยผู้สังเกตการณ์ ซึ่งพบว่า หน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่ติดตั้งแสงส่องสว่างไว้เรียบร้อยทำให้ไม่มีปัญหาในการทำงาน บางหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนและรายงานผลเสร็จก่อนที่ฟ้าจะมืด ขณะเดียวกันก็มีหน่วยเลือกตั้งอีกหลายแห่งที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมจัดแสงส่องสว่างไว้ให้เพียงพอ โดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง

ตัวอย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งบริเวณโรงเรียนสุเหร่าใหม่ เขตหนองจอก ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียน เมื่อฟ้ามืดได้เปิดไฟของโรงเรียนแล้วแต่จะส่องเข้ามาถึงบางมุมเท่านั้น ไม่อาจทำให้ทุกหน่วยสว่างเพียงพอได้, หน่วยเลือกตั้งบริเวณสนามกีฬาบ้านเอื้ออาทร เขตบางเขน ซึ่งหน่วยที่ 108 นับคะแนนถึงเวลา 19.00 ในเต็นท์มีไฟสีเหลืองดวงเล็กสองดวง ผู้สังเกตการณ์ที่ยืนอยู่ห่างกระดานนับคะแนนหลายเมตรมองเห็นกระดานได้ไม่ชัด เป็นต้น

ปัญหาที่ กกต. ต้องแก้ไขเชิงระบบอย่างจริงจัง

นอกจากปัญหาในทางปฏิบัติที่กระทบต่อการทำงานของผู้สังเกตการณ์ที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดเล็กน้อยในระดับปฏิบัติ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการออกแบบระบบการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ในระดับนโยบายที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงหน้างาน และเป็นต้นเหตุให้เกิดความผิดพลาดอื่นๆ ได้ เช่น การออกแบบกระดาษขีดคะแนนเป็น 6 ใบ ทำให้หลายหน่วยไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะติดทั้ง 6 ใบพร้อมกันและต้องติดซ้อนกัน หรือการตั้งหน่วยใกล้กันและทุกหน่วยต้องนับคะแนนทั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก. ไปพร้อมกันทำให้เกิดความสับสนเมื่อเสียงขานคะแนนดังพร้อมกัน 

โดยปรากฏปัญหาที่เด่นชัด ซึ่งกกต. ควรเรียนรู้สำหรับการปรับปรุงการออกแบบระบบการจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ ขาดการอบรม

ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ สะท้อนออกมาชัดเจนเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการห้ามผู้สังเกตการณ์ถ่ายภาพ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้และเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยมีความเข้าใจเรื่องนี้ไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้อง คือ เปิดให้ถ่ายภาพได้ตามปกติ แต่ยังมีบางส่วนที่เกิดความสงสัย ห้ามก่อนแล้วเปลี่ยนทีหลัง หรือบางหน่วยที่ห้ามเด็ดขาดจนจบกระบวนการก็ยังมี อีกประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน คือ การติดและเก็บป้ายไวนิลแสดงชื่อและหมายเลขหน่วย ส่วนใหญ่ปฏิบัติได้ถูกต้อง คือ ติดในจุดด้านหน้าที่เห็นเด่นชัดและเก็บเมื่อทุกกระบวนการเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ขณะที่บางหน่วยติดไว้ด้านใน ทำให้มองไม่เห็น และบางหน่วยเก็บทันทีหลังเวลา 17.00 ทั้งที่ยังไม่เริ่มนับคะแนน แสดงให้เห็นว่า กกต. ส่วนกลางไม่ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้กับเจ้าหน้าที่อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเพียงพอ

ปัญหาการขาดความรู้ของเจ้าหน้าที่ ปรากฏให้เหตุเด่นชัดบริเวณหน่วยวัดภคินีนาถวรวิหาร เขตบางพลัด เจ้าหน้าที่เริ่มกระบวนการนับคะแนนไม่ได้ เพราะหาที่เหมาะสมในการตั้งกระดานนับคะแนนไม่ได้ เมื่อประชาชนทักท้วงก็เปลี่ยนกลับไปกลับมา และเมื่อเริ่มนับคะแนนก็มีปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ไม่เจาะบัตรที่ขานคะแนนไปแล้ว จนมีผู้สังเกตการณ์ทักท้วงเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยข้างเคียงมาช่วยแก้ปัญหาให้ โดยการเริ่มนับคะแนนใหม่ทั้งหมด และมีการกล่าวขอโทษกันโดยอธิบายว่า เจ้าหน้าที่หน่วยดังกล่าวมาปฏิบัติหน้าที่ใหม่และยังอบรมมาไม่เพียงพอ หน่วยดังกล่าวนับคะแนนและตรวจสอบความถูกต้องจนเลยเวลา 21.00 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

2. เจ้าหน้าที่ทำงานจนเหนื่อยล้า

เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย จะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 โดยการไปรับบัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการจัดการเลือกตั้ง และต้องทำงานในพื้นที่กลางแจ้งติดต่อกันโดยไม่ได้หยุดพักตั้งแต่เปิดคูหาเวลา 08.00-17.00 และเมื่อปิดคูหาก็เป็นช่วงเวลาของการทำงานเข้าชั่วโมงที่ 12 แล้ว กระบวนการนับคะแนนจึงเริ่มต้นขึ้น ทั้งที่กระบวนการนับคะแนนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้สมาธิและความระมัดระวังสูงมากเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่เจ้าหน้าที่แทบทุกคนต้องนับคะแนนในภาวะที่ร่างกายอ่อนล้า และแสงสว่างเริ่มหมด 

หากหน่วยเลือกตั้งใดนับคะแนนเสร็จตามปกติในเวลาประมาณ 19.00 เท่ากับเจ้าหน้าที่ในหน่วยนั้นๆ ทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 14 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก แต่หากหน่วยเลือกตั้งใดพบความผิดพลาดหรือผิดปกติ ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มในการตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดพลาด หรือต้องนับคะแนนใหม่เป็นรอบที่สอง เจ้าหน้าที่ในหน่วยนั้นๆ ก็จะต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 15-16 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ซึ่งความเหนื่อยล้าส่งผลให้เจ้าหน้าที่อาจรู้สึกเครียดในภาวะท่ีต้องทำงานที่อาศัยสมาธิมาก หรืออาจมีอารมณ์ระหว่างการนับคะแนนและการถูกตรวจสอบโดยผู้สังเกตการณ์

การทำงานติดต่อกันนานๆ ของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย อาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในระดับบุคคล หรือ Human Eror ได้ และเป็นประเด็นปัญหาระดับนโยบายที่ กกต. ส่วนกลางต้องออกแบบระบบการทำงานใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนี้ให้ได้มากที่สุด

3. ระบบไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ทำงานไม่เหมือนกัน

ปัญหาหลักสองประเด็นที่เกิดจากการออกแบบระบบของ กกต. ส่วนกลางที่ไม่เข้าใจทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน และไม่มีการสื่อสารวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานออกมาไม่เหมือนกัน คือ 

หนึ่ง การตัดกระดาษขีดคะแนนที่มีถึง 6 แผ่น บางหน่วยเลือกตั้งสามารถติดทั้ง 6 แผ่นพร้อมกันได้ ขณะที่บางหน่วยเลือกตั้งติดแบบซ้อนกันทั้ง 6 แผ่น และบางหน่วยเลือกตั้งติดซ้อนกันบางแผ่นสำหรับผู้สมัครที่ได้รับหมายเลขท้ายๆ ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการขีดคะแนนให้ผู้สมัคร และตรวจสอบความถูกต้องของผู้สังเกตการณ์ ประเด็นนี้เป็นผลโดยตรงจากการออกแบบกระดาษโดยมีเจตนาเพื่อจะให้เห็นได้อย่างเด่นชัด แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่หน้างาน และไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนที่จะทำงานได้เหมือนกันทุกหน่อย

สอง การเขียนคะแนนบัตรเสียและบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด เนื่องจากกระดาษขีดคะแนนมีถึง 6 แผ่น และทุกแผ่นมีช่องด้านล่างสำหรับกรอกจำนวนบัตรเสียและบัตรดีที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด เจ้าหน้าที่บางหน่วยก็ขีดลงในกระดาษแผ่นแรก บางหน่วยก็ขัดลงในกระดาษแผ่นสุดท้าย ซึ่งบางหน่วยแผ่นสุดท้ายจะถูกติดซ้อนทับไว้ทำให้ไม่เห็นจำนวน ประเด็นนี้ก็เป็นผลโดยตรงจากการออกแบบกระดาษ และไม่มีการสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เหมือนกันทุกหน่วย

4. บัตรเสีย เพราะประชาชนไม่เข้าใจ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565 คือ การให้ข่าวของประธาน กกต. ว่า ต้องใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น หากใช้ปากกาสีอื่นจะเป็นบัตรเสีย ก่อนที่ปลัดกรุงเทพมหานครจะชี้แจงภายหลังว่า ใช้ปากกาสีอะไรก็ได้ ความสับสนนี้อาจส่งผลกระทบไม่มาก เพราะผู้สังเกตการณ์ไม่ได้รายงานถึงการพบบัตรเลือกตั้งที่กากบาทด้วยปากกาสีอื่นและถูกขานเป็นบัตรเสียเลย แต่ปัญหาความเข้าใจเรื่องวิธีการกากบาทให้ไม่เป็น “บัตรเสีย” ยังคงเป็นปัญหาอยู่มาก เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจว่า กากบาทอย่างไรบ้างที่จะถูกขานเป็นบัตรเสีย

บัตรเสียจำนวนมากที่พบ ยังเป็นเพราะการ “กาย้ำ” คือ การใช้ปากกาขีดทับเส้นเพื่อให้ชัดเจน แต่อาจกลายเป็นว่าเป็นการทำเครื่องหมายให้มี “จุดตัดมากกว่าหนึ่งจุด” และกลายเป็นบัตรเสียได้ หรือการกากบาททับช่องหมายเลข ไม่ได้กาลงในช่องที่ให้กากบาท หรือการกากบาทที่มีบางส่วนของเส้นเลยออกนอกช่อง แม้จะเห็นเจตนาของคนที่ออกเสียงได้ชัดเจนแต่ก็ผิดจากกติกาที่กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานของกกต. ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนที่ กกต. ใช้ตัดสินว่า กากบาทแบบใดจะถูกนับว่าเป็นบัตรเสีย

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 พบปัญหาบัตรเสียจำนวนมากที่เกิดจากการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทในช่องหมายเลข 8 ของบัตรที่ใช้เลือก ส.ก. ในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัคร ส.ก. มีไม่ถึง 8 หมายเลข เป็นปัญหามาจากการที่บัตรเลือกตั้งไม่เขียนชื่อผู้สมัครให้ชัดเจน และการใช้บัตรเลือกตั้งที่เหมือนกันสำหรับทุกเขตแม้ว่าผู้สมัครจะมีจำนวนไม่เท่ากันก็ตาม