2 วีรกรรม กกต. สร้างความสับสนในการเลือกตั้งกรุงเทพฯ เมืองพัทยา

แม้ว่าการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาครั้งแรกตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 จะจบลงไปแล้ว แต่การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้เป็นหัวเรือในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ยังคงสร้างคำถามให้กับประชาชนไม่ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่ง กกต. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง โดยในครั้งนี้ กกต. ดูจะผิดพลาดในเรื่องเล็กน้อยที่กลายเป็นเรื่องใหญ่และสร้างความสับสนให้กับสังคม

ย้อนดูวีรกรรมของ กกต. ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

1. ตัวอย่างสีบัตรเลือกตั้งล่าช้า (และผิด) แม้ กกต. ประกาศนานแล้ว

แม้ว่า กกต. จะประกาศสีบัตรเลือกตั้งกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 แต่ในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของ กกต. หลังจากนั้น ก็ยังปรากฏว่ามีการแสดงรูปบัตรที่มีสีไม่ตรงกับที่ กกต. เคยประกาศออกมา ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ถูกกำหนดให้เป็นสีน้ำตาล และสมาชิกสภากรุงเทพฯ เป็นสีชมพู ในขณะที่นายกเมืองพัทยาเป็นสีฟ้าและสมาชิกสภาเมืองพัทยาเป็นสีส้ม

ในคู่มือเลือกตั้งสำหรับประชาชน ทั้งของกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาที่เผยแพร่โดย กกต. เอง พบว่ามีการใช้สีบัตรเลือกตั้งที่ผิดไปจากที่ กกต. ประกาศออกมา และยังมีการสร้างความสับสนเพิ่มเติมด้วยการไฮไลท์สีที่ผิดนั้นไปที่คำว่า “บัตรเลือกตั้ง” เช่น แทนที่บัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะเป็นสีน้ำตาลตามที่ กกต. เคาะมาก ในคู่มือเลือกตั้งกลับใช้บัตรสีเหลือง และมีการเน้นที่คำว่า “บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ด้วยการคาดสีเหลืองทับ ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ก. แทนที่จะเป็นสีชมพูตามการประกาศของ กกต. คู่มือเลือกตั้งกลับใช้สีฟ้า และมีการไฮไลท์คำว่า “บัตรเลือกตั้ง ส.ก.” ด้วยสีฟ้าเช่นเดียวกัน การใช้สีไม่ตรงกับที่ กกต. ประกาศเช่นนี้ได้สร้างความสับสนให้กับผู้อ่าน

หากดูวีดีโอที่เผยแพร่โดย กกต. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้ง ก็ยังพบว่ายังมีการแสดงสีบัตรเลือกตั้งทั้งกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาที่ไม่ตรงกับที่ กตต. เคยประกาศมาก่อนเมื่อเดือนเมษายนอยู่ โดยในครั้งนี้ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กลับกลายเป็นสีฟ้า และ ส.ก. กลายเป็นสีน้ำเงิน กว่าที่ กกต. จะเผยแพร่ภาพตัวอย่างของสีบัตรเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ต้องรอถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 หรือ 5 วันก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของ กกต. ก็ยังไม่พบตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่ปกติมักจะมีให้ผู้ที่สนใจเข้าไปบันทึกไว้ดูหรือใช้อ้างอิงได้

2. กลับไปกลับมาเรื่องสีปากกาจนประชาชนงง

ความสับสนใหญ่ในวันเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565 ก็คือเรื่องของสีปากกา เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะนำปากกาของตนเองไปแทนที่จะใช้ปากกาที่หน่วยเลือกตั้งจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นก็มีความเข้าใจจากประชาชนบางส่วนว่าต้องนำปากกาสีน้ำเงินไปกาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น หากเป็นปากกาสีอื่นจะถูกนับเป็นบัตรเสีย

หลังจากที่เริ่มมีข่าวสีปากกาจะทำให้บัตรเสีย ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 กกต. จึงออกข่าวชี้แจงว่าเป็นความเข้าใจผิด การใช้ปากกาสีอื่นนอกจากสีน้ำเงินกาบัตรเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เป็นบัตรเสีย “เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบฯ ห้ามไว้” ดังนั้นการพกปากกาไปเอง ตราบใดที่ทำเครื่องหมายกากบาทถูกต้อง และไม่มีลักษณะของบัตรเสียตามมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อ 175

เรื่องราวว่าด้วยสีปากกาดูเหมือนจะจบลงแค่นั้นถ้า กกต. ไม่สร้างความสับสนขึ้นเองอีกครั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์กลับคำจากที่ข่าวของ กกต. เมื่อวันก่อนว่าประชาชนสามารถนำปากกามาเองได้ “แต่ขอให้นำปากกาน้ำเงินมาเท่านั้น ถ้านำปากกาสีอื่นมากาจะถือว่าเป็นบัตรเสีย” ข่าวนี้ได้สร้างความสับสนให้กับสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับประชาชนที่กำลังเดินทางใช้สิทธิ์ในวันนั้นแล้ว ทั้งที่ทั้งกฎหมายและระเบียบ กกต. ไม่เคยระบุเรื่องสีของปากกาไว้เลย ต่อมา ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงข้อสงสัยยืนยันว่าใช้ปากกาสีอะไรก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย “กกต.ขอความร่วมมือ แต่ไม่ได้ลงในระเบียบว่าสีอะไร เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นกังวล อย่าเอามาเป็นสาระ”

ทั้งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สลักสำคัญอะไร แต่สีของปากกาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้จากปากของ กกต. เอง ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความรู้ความสามารถของ กกต.ชุดปัจจุบันได้เป็นอย่างดี