เลือกตั้งท้องถิ่น : รู้จักเมืองพัทยา องค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งที่สอง

เมืองพัทยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ด้วยธรรมชาติและหาดทรายที่สวยงาม ประกอบกับระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก ทำให้เมืองพัทยามีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล จนได้ยกระดับเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งที่สอง ในอีกด้านหนึ่ง เมืองพัทยาก็เคยเป็นฉากหลังของความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2552 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงประท้วงรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน สำหรับในปัจจุบัน เมืองพัทยายังมีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

หลังการรัฐประหารในปี 2557 เมืองพัทยาก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแทรกแซงอย่างหนักไม่ต่างกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะการแต่งตั้งสนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคพลังชลซึ่งต่อมาจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกเมืองพัทยาผ่านการใช้อำนาจตามมาตรา 44

ชวนทำความรู้จักกับเมืองพัทยาก่อนหย่อนบัตรเลือกผู้แทนเมืองในวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2565 นี้

กว่าจะมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองพัทยา

เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งที่สองของไทยต่อจากกรุงเทพมหานครผ่านการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยให้เหตุผลด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาในหลากหลายด้าน รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทำให้จำเป็นต้องมีการปกครองในรูปแบบพิเศษ

การยกระดับเมืองพัทยานี้เป็นความพยายามในการนำระบบผู้จัดการเมือง (City Manager) ซึ่งถูกใช้ในหลายเขตการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกามาปรับใช้กับประเทศไทย กล่าวคือ สภาท้องถิ่นจะทำหน้าที่ “ว่าจ้าง” ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจหรือเชี่ยวชาญในการบริหารมาเป็นผู้จัดการเมืองโดยมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งจำกัด อย่างไรก็ตาม ระบบผู้จัดการเมืองเมื่อนำมาใช้จริงกับเกิดปัญหาหลายประการ ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองซึ่งประกอบไปด้วยสภาเมืองพัทยาและผู้บริหารที่ได้รับการว่าจ้าง กับฝ่ายบริหารที่นำโดยปลัดเมืองพัทยาที่ควบคุมหน่วยราชการ ปัญหาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ซึ่งใหญ่เกินไป และปัญหาการครอบงำสภาเมืองพัทยาโดยส่วนกลางซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองกึ่งหนึ่ง

เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเมืองพัทยาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมืองพัทยาให้ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแทนการแต่งตั้งหรือว่าจ้างตามโครงสร้างแบบเดิม

สิ่งที่ทำให้เมืองพัทยาแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ก็คือการมีอำนาจพิเศษใน “การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว” ซึ่งไม่ปรากฏในอำนาจของ อบจ. หรือกรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุผลสืบเนื่องมาจากความนิยมของเมืองพัทยาในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกจัดให้เป็น “องค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร แต่เมืองพัทยาก็มีความแตกต่างจากเมืองหลวงของประเทศไทยในหลายด้าน เมืองพัทยาไม่มีเขตความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัดเหมือนกับกรุงเทพมหานคร แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ทำให้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีด้วย ดังนั้น เมืองพัทยาจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทศบาลมากกว่า อีกทั้งในขณะที่กรุงเทพมหานครมีประชากรกว่า 5 ล้านคน และมีพื้นที่ถึง 1,568.74 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) เมืองพัทยากลับมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยมีประชากร 111,213 คน และมีพื้นที่รับผิดชอบเพียง 53.44 ตร.กม. เท่านั้น

ในด้านงบประมาณ เมืองพัทยามีรายได้จากภาษีที่จัดเก็บเองเช่นภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ และรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายได้ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ในปี 2564 เมืองพัทยามีรายได้อยู่ที่ 1,534 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 (ปี 2562 เมืองพัทยามีรายได้ 3,468 ล้านบาท) โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของภาษีโรงเรือนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากการท่องเที่ยวที่ซบเซา นอกจากนี้ ในปี 2564 เมืองพัทยาได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐอีก 1,613 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะน้อยเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครที่ได้รับเงินอุดหนุนถึง 22,089 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอปท. อื่น ๆ โดยปกติ อบจ. ได้รับเงินอุดหนุนในระดับร้อยล้านเท่านั้น และเมื่อพิจารณาถึงงบประมาณอุดหนุนที่อปท. ทั้งจังหวัดได้รับ ก็ยังอาจจะไม่เท่ากับเมืองพัทยา เช่น จังหวัดสมุทรปราการที่มีอปท. ทั้งหมด 9 แห่ง ได้รับเงินอุดหนุนรวมกันเพียงแค่ 1,268 ล้านบาท

โครงสร้างการปกครองเมืองพัทยา

โครงสร้างการบริหารเมืองพัทยาในปัจจุบันประกอบไปด้วยฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีนายกเมืองพัทยาซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการวางนโยบาย และสั่งการหน่วยงานราชการเมืองพัทยา ส่วนฝ่ายนิติบัญญัตินั้นมีสภาเมืองพัทยา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาเมืองพัทยาจำนวน 24 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน สภาเมืองพัทยาทำหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติเมืองพัทยา ให้ความเห็นชอบร่างงบประมาณของเมือง รวมไปถึงการตั้งกระทู้ถามหรืออภิปรายการทำหน้าที่ของนายกเมืองพัทยา

วาระของนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยาอยู่ที่คราวละสี่ปีเท่ากัน แต่นายกเมืองพัทยาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินครั้งละสองวาระไม่ได้

นอกจากนี้ เมืองพัทยายังมีสำนักปลัดเมืองพัทยาเป็นส่วนราชการ โดยมีปลัดเมืองพัทยาเป็นหัวหน้า สำนักปลัดนี้ประกอบไปด้วยสำนักย่อยต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบายที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย

ผู้ว่าฯ ชลบุรี & รมต. มหาดไทย อำนาจเต็มมือ สั่งปลดนายกเมืองพัทยาได้

การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในปัจจุบันยังต้องให้ส่วนกลางเข้ามาควบคุมผู้บริหารหรือนักการเมืองท้องถิ่น ไม่เว้นแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษที่มีอิสระมากกว่าอปท. แบบอื่น ๆ ทั้งนี้ เมืองพัทยาจะถูกกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นอำนาจส่วนการปกครองส่วนภูมิภาค ในขณะที่กรุงเทพมหานครจะขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ผู้ว่าฯ ชลบุรีมีบทบาทอย่างมากในการควบคุมการทำงานของเมืองพัทยา มาตรา 96 ของพ.ร.บ. เมืองพัทยาซึ่งเพิ่มขึ้นมาใหม่หลังการแก้ไขกฎหมายของสนช. ในปี 2562 ให้อำนาจผู้ว่าฯ ชลบุรีในสั่งให้ชี้แจง ตักเตือน หรือสั่งห้ามการกระทำใดที่เห็นว่าอาจจะส่งผลเสียต่อเมืองพัทยา และหากผู้ว่าฯ ชลบุรีเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกเมืองพัทยา “จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด” ก็สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้นั้นได้

หากผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิด ผู้ว่าฯ ชลบุรีก็สามารถรายงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเองพิจารณาและสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ชลบุรียังมีอำนาจในการวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเมืองพัทยาและนายกเมือพัทยาหากมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวมถึงมีอำนาจอื่น ๆ เช่น สั่งระงับกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน (มาตรา 97) เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณายุบสภาเมืองพัทยา “เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือประโยชน์ของประเทศ” (มาตรา 98)

ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 38 ระบุผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงไว้ว่า

  1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ทั้งนี้ ประชาชนจะต้องตรวจสอบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปีหรือตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 หรือไม่ หากยังไม่ครบปีเต็มก็จะไม่สามารถเลือกตั้งเมืองพัทยาที่จะถึงนี้ได้ หลักเกณฑ์การให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านถือว่าเป็นสิ่งใหม่ใน พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ โดยกฎหมายก่อนหน้านี้รวมถึงกฎหมายที่ใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นกำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์นี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากถูกตัดสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. จนมีการร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

การเตรียมความพร้อมก่อนมีการเลือกตั้ง

1. ตรวจสอบรายชื่อตนเอง ก่อนวันเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ก่อนวันเลือกตั้ง 25 วันโดยสามารถดูชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานเขต เขตชุมชนหรือที่เลือกตั้ง หรือหากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมาให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลและที่เลือกตั้ง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบทางออนไลน์ได้ ที่นี่

2. การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ หากภายใน 10 วันก่อนเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อ-นามสกุลตนอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงสามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

ไปเลือกตั้งต้องเอาอะไรไปบ้าง

  • บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ
  • บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วต้องทำอะไร

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. 

ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน 

  1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
  3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกนายกเมืองพัทยา และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือกสมาชิกสภาเมืองพัทยา
  4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมายลงในบัตรทั้งสองใบ
  5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกตั้งเมืองพัทยาครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือการใช้สิทธิล่วงหน้าเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น

ไปเลือกตั้งไม่ได้ต้องทำอย่างไร

หากปรากฎว่าไม่สะดวกที่จะไปเลือกตั้งในวันที่กำหนด ก็สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิของตนเอง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยสามารถทำได้ด้วยด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ทั้งนี้การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิต้องเป็นเหตุตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ ดังนี้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตามหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ได้แจ้งหรือไม่มีเหตุอันควร จะทำให้เสียสิทธิสำคัญทางการเมือง แต่ไม่ได้เสียสิทธิเลือกตั้ง โดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ที่ครั้งละสองปี โดยสิทธิที่ถูกตัดไปมีดังนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น