ทำความรู้จักกับ ส.ก. สภานิติบัญญัติของ กทม. ที่ คสช. ครองมาเกือบ 8 ปี

แม้ว่าสปอตไลต์ในพื้นที่ข่าวจะสาดส่องไปที่เหล่าผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากหน้าหลายตา แต่เมื่อคูหาเปิดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ อีกหนึ่งตำแหน่งที่ชาวกทม. จะได้เลือกก็คือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ และมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหารกรุงเทพมหานครด้วย

การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 12 ปีที่จะได้เลือกตั้ง ส.ก. โดยครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปถึงปี 2553 และตั้งแต่รัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกประกาศตั้งคณะกรรมการมาสรรหาส.ก. ทำให้สภาท้องถิ่นกลายร่างเป็นสภาที่มีแต่ข้าราชการระดับสูงมาดำรงตำแหน่งกันเอง การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้อำนาจในสภากรุงเทพมหานครกลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้ง

ชวนทำความรู้จักกับ ส.ก. ให้ดียิ่งขึ้นก่อนไปเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ส.ก. คืออะไร

สภากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรนิติบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในเขต โดยใช้ “เขต” เป็นหน่วยเลือกตั้ง ถ้าเขตใดมีประชากร 150,000 คนหรือน้อยกว่า ให้มี ส.ก. หนึ่งคน ถ้าเขตใดมีประชากรมากกว่า 150,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มขึ้นหนึ่งคน ต่อประชากร 150,000 คน ถ้ามีเศษเกิน 75,000 คน ให้เพิ่ม ส.ก. ในเขตนั้นอีกหนึ่งคน

ในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 50 เขต (ส.ก. ทั้งหมด 50 คน) โดยไม่มีเขตใดที่มี ส.ก. มากกว่าคนเดียวเลย

รูปแบบของการแบ่งแยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ เช่น องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีนายก อบจ. และ ส.อบจ. เพียงแต่กรุงเทพมหานคร ต่างจากอีกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใน 76 จังหวัดในแง่ว่า กรุงเทพมหานครเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ จึงไม่ได้มีโครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในร่างของผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยส่วนกลางมาทับซ้อนอีกที แต่ประชาชนสามารถเลือกผู้ว่าฯ ได้ด้วยตนเอง

หน้าที่ของ ส.ก. มีดังนี้

1) เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และตราข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ส.ก. รวมไปถึงผู้ว่าฯ และคณะกรรมการ

2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผู้ว่าราชการฯ ฝ่ายบริหารตั้งมาว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร และจะเพิ่มหรือลดให้เป็นไปตามกระบวนการของการออกข้อบัญญัติ

3) ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปราย การรักษาระเบียบ และความเรียบร้อย ของกรุงเทพมหานคร

รมต. มหาดไทย คุมเข้ม ครม. ถือดาบฟันได้ทั้ง ผู้ว่าฯ และ ส.ก.

นอกจากบทบาทในฐานะสภานิติบัญญัติท้องถิ่นแล้ว บทบาทของ ส.ก. ในการถ่วงดุลและตรวจสอบผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้นจึงมีความสำคัญด้วยเช่นกัน ส.ก. มีอำนาจพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เสนอโดยผู้ว่าฯ และสามารถเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้

อย่างไรก็ตาม แม้ส.ก. จะสามารถอภิปรายหรือตั้งกระทู้ถามผู้ว่าฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่มีอำนาจ “ถอดถอน” เหมือนที่ ส.ส. สามารถอภิปรายและลงสมติไม่ได้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ หากแต่อำนาจนั้นอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาตรา 52 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ. กรุงเทพฯ) ระบุว่าหากผู้ว่าฯ “กระทำการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควรปฏิบัติในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวมหรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน” ส.ก. ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม สามารถยื่นเรื่องให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดถอนผู้ว่าฯ ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าฯ และ ส.ก. มีที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ได้ยึดโยงกัน ทำให้มีโอกาสที่ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ จะมาจากการกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่เป็นคนละก้อนกับผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ก. เสียงข้างมาก และอาจจะขัดแย้งกันได้ ซึ่งกรณีนี้จะต่างจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนจะเลือก ส.ส. ก่อน และให้ ส.ส. ไปเลือกนายกรัฐมนตรีกันต่อไป ทำให้อย่างน้อยก็การันตีว่านายกรัฐมนตรีจะมีเสียงข้างมากในสภา

กรณีที่ผู้ว่าฯ และ ส.ก. มีความขัดแย้งกันจนหาทางออกไม่ได้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับ “ส่วนกลาง” เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของกรุงเทพมหานครอีกครั้ง มาตรา 19 ของพ.ร.บ. กรุงเทพฯ ระบุไว้ว่า ถ้าความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าฯ และ ส.ก. ทำให้การดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง “จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม และการแก้ไขสภาพเช่นนั้นไม่อาจกระทำได้โดยเหมาะสมด้วยวิธีการอื่นนอกจากการยุบสภากรุงเทพมหานคร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจสั่งให้ยุบสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ก. ใหม่ได้

30 ส.ก. แต่งตั้ง ข้าราชการอรหันต์รับเงินสองต่อ เว้นความผิดขัดผลประโยชน์

สิ่งแรก ๆ ที่ คสช. ทำหลังจากยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็คือทำลายหลักการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นผ่านการแช่แข็งการเลือกตั้ง และแต่งตั้งคนของตัวเองมาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานบริหารท้องถิ่น ในกรุงเทพมหานคร การสั่งปลดผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบฟ้าผ่าและแต่งตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนอาจจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนการหลุดออกจากตำแหน่งของ “ชายหมู” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในปี 2559 ส.ก. กลับเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งแรก ๆ ของกรุงเทพมหานครที่ตกเป็นเครื่องสังเวยของรัฐบาลทหาร

การขึ้นมามีอำนาจของ คสช. ประจวบเหมาะกับที่อายุของ ส.ก. กำลังหมดลง โดย ส.ก. ชุดสุดท้ายที่มาจากการเลือกตั้งมีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงมาถึงกลางปี 2557 เมื่อเกิดรัฐประหาร วาระสี่ปีของ ส.ก. จึงใกล้จะจบลง แทนที่ คสช. จะทำการแช่แข็งให้ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปเหมือนผู้บริหารและสภาท้องอื่น ๆ รวมถึงผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร รัฐบาลทหารกลับออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 86/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เพื่อเริ่มกระบวนการสรรหา ส.ก. ใหม่แทนที่ชุดเดิมที่กำลังจะหมดวาระ

ส.ก. จากการสรรหานี้จะมีทั้งหมด 30 คน คณะกรรมการสรรหามีปลัดกระทรวงมหาดไทยนั่งหัวโต๊ะ มีเลขาธิการก.ก.ต. เลขาธิการป.ป.ช. ข้าราชการอื่น ๆ และองค์กรภาคเอกชนบางส่วนเป็นกรรมการ โดยบังคับว่าในจำนวน 30 คนนี้ สองในสามจะต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับสูง ทั้งที่โดยปกติแล้วสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะมีคุณสมบัติต้องห้ามหากเป็นข้าราชการจะดำรงตำแหน่งไม่ได้ แต่ประกาศ คสช. ฉบับนี้กลับให้ “ไฟเขียว” กับเหล่าข้าราชการ โดยเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าให้ข้าราชการจากการสรรหาเป็น ส.ก. ได้ รวมถึงหากมีเหตุให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งต้องเสียสิทธิก็ยกเว้นให้ทั้งหมด รวมถึงการยกเว้นไม่ให้ถือว่าผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ก. และข้าราชการในเวลาเดียวกัน “เป็นการดำเนินกิจการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมหรือเป็นการกระทําอันอาจถูกกล่าวหาได้ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

30 ส.ก. ที่ได้จากการสรรหานั้นประกอบไปด้วยบุคคลที่หลากหลาย มีข้าราขการประจำ (ในขณะนั้น) 11 คน อดีตข้าราชการ 17 คน และผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนสองคน โดยบุคคลที่น่าสนใจเช่น ฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือ “ปลัดฉิ่ง” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในขณะนั้น ซึ่งต่อมาจะได้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ที่มีข่าวลือว่าจะเป็นหัวเรือในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่จะกลายเป็นบ้านของประยุทธ์ จันทร์โอชาในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

สำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ก. จะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบเงินเดือนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขตของกรุงเทพมหานครและกรรมการของสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2529 ดังเช่น ส.ก. ที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ สำหรับ ส.ก. ที่รับการแต่งตั้งในขณะที่เป็นข้าราชการอยู่นั้นก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากที่รับจากตำแหน่งข้าราชการอยู่แล้วด้วย รัฐบาล คสช. ได้ออกพระราชกฤษฎีกาขึ้นมาฉบับหนึ่งในปี 2560  ระบุให้ ส.ก. ที่เป็นข้าราชการจะได้รับค่าตอบแทนจากตำแหน่ง ส.ก. อีก “กึ่งหนึ่ง” ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นข้าราชการ นอกจากเงินเดือนที่ได้จากตำแหน่งข้าราชการแล้ว ก็จะได้เงินค่าตอบแทนจากตำแหน่งส.ก. เพิ่มอีก 24,225 บาทต่อเดือน (ค่าตอบแทนรายเดือน ส.ก. 48,450 บาท ยังไม่รวมเบี้ยประชุม) 

นัยยะทางการเมืองของ ส.ก.

นอกจากหน้าที่ในการบริหารกรุงเทพมหานครตามกฎหมายแล้ว ตำแหน่ง ส.ก. ยังมีความสำคัญและนัยยะในทางการเมืองอย่างน้อยสองประการด้วย

ประการแรก ผู้สมัคร ส.ก. ช่วยเป็นฐานให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ เนื่องจาก ส.ก. และผู้ว่าฯ จะต้องทำงานร่วมกันในการบริหารกรุงเทพมหานคร เมื่อกลุ่มหรือพรรคการเมืองเริ่มเปิดตัวผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็มักจะมีผู้สมัคร ส.ก. พ่วงเข้าไปด้วย โดยผู้สมัคร ส.ก. ก็จะทำหน้าที่เดินหาเสียงในเขตต่าง ๆ ให้กับทั้งตนเองและผู้สมัครผู้ว่าฯ ของกลุ่มที่ตนเองสังกัดอยู่ และหากได้รับเลือกเข้าไปเป็น ส.ก. ก็จะเป็นฐานในสภาให้กับผู้ว่าฯ ของกลุ่มตนเองทำนองเดียวกันกับส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ในทางกลับกัน หากผู้ว่าฯ และ ส.ก. มาจากการคนละกลุ่ม ก็อาจจะเกิดความขัดแย้ง ส่งผลลบต่อการบริหารงานกรุงเทพมหานครและอาจจะเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ามาแทรกแซงได้

ประการที่สอง ส.ก. เป็นฐานเสียงให้กับการเลือกตั้ง ส.ส. ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง ส.ก. ที่ผ่านมา แต่ละเขตก็มักจะมี “นามสกุล” จับจองกันเป็นของตัวเองตลอด และมักจะชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องหลายสมัย และเมื่อถึงการเลือกตั้ง ส.ส. พื้นที่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นฐานเสียงสำคัญให้กับผู้สมัคร ในหลายครั้ง ผู้ลงสมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ก็มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับตระกูลที่ครองเก้าอี้ ส.ก.ในเขตนั้นด้วย

ด้วยความสำคัญเช่นนี้ เราจึงเห็นพรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐหรือพรรคกล้าที่แม้จะไม่ส่งผู้สมัครในตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ก็ยังส่งผู้สมัคร ส.ก. ของตนเองอยู่ เพื่อหวังว่าถ้าผู้สมัครเหล่านี้ชนะการเลือกตั้ง ก็จะกลายเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง