ประชาชนไม่ทน รวมเหตุผลฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ตลอดเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกตามความมาตรา 9 โดยอ้างว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 รวม 42 ฉบับ แต่กลับกลายเป็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อรักษาฐานอำนาจให้กับรัฐบาลนี้ โดยการใช้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาด ดำเนินคดีผู้ชุมนุมฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วอย่างน้อย 1,445 คน จาก 623 คดี

จากสถิติการถูกดำเนินคดีของผู้ที่แสดงออกทางการเมืองดังกล่าว ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมทางการเมืองมากกว่าเพื่อการควบคุมโรคโควิด19 มาตรการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุม การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ตลอดจนการควบคุมการนำเสนอข่าวสาร  ล้วนเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ที่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นไปตามหลักการได้สัดส่วน ซึ่งภาคประชาชนส่วนหนึ่งได้พยายามโต้แย้งกาารใช้อำนาจเหล่านี้ โดยอาศัยการฟ้องคดีเพื่อขอให้อำนาจตุลาการช่วยถ่วงดุล ยกเลิกข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น 

ในช่วงระยะเวลาประมาณสองปี ประชาชนเคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วรวมอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่ ฟ้องศาลแพ่งให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 เรื่องห้ามชุมนุม 3 คดี เรื่องตัดอินเทอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดหลัว 1 คดี และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 1 คดี 

ประชาชนฟ้อง : 4 คดีที่ศาลแพ่ง 1 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ชวนดูเหตุผลในคำฟ้องที่ประชาชนเป็นโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

๐ ฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด ‘ห้ามชุมนุม’ สามคดี จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ ใช่คุมม็อบไม่ใช่คุมโรค

คดีแรก เครือข่าย People Go ฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” อ้างจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ  

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เครือข่าย People Go Network โดยนิมิตร์ เทียนอุดม, แสงศิริ ตรีมรรคา, ณัฐวุฒิ อุปปะ ,วศิน พงษ์เก่า และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 เรื่องห้ามชุมนุม โดยในคำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อีกทั้งในขณะที่มีการฟ้องคดี ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ เป็นเวลามากกว่า 43 วัน จึงแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์คลี่คลายเบาบางลงจนไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อหรือกฎหมายอื่นสามารถดำเนินการป้องกันโรคระบาดแทนได้ ข้อกำหนด “การห้ามชุมนุม” ดังกล่าว จึงถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ 

คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า ได้มีการออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้โจทก์ทั้งห้ากลับมามีเสรีภาพในการชุมนุม จึงไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ภายหลังจากศาลจำหน่ายคดีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงออกข้อกำหนดมาจำกัดการชุมนุมเพิ่มเติม และมีเนื้อหากว้างขวางกว่าเดิมอีกหลายฉบับ

คดีที่สอง ยิ่งชีพ ครูใหญ่ วาดดาว ไม่เคยมีคนติดโควิดจากที่ชุมนุม และการมีอยู่ของคำสั่งเป็นการละเมิดสิทธิอยู่ตลอด 

คดีนี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามการรวมตัวที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศผบ.สส.) ฉบับที่ 3, 5 และ 11โดยในคำฟ้องระบุว่า การออกข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เป็นการจงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นไม่ให้โจทก์ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การควบคุมโรคระบาดนั้นสามารถใช้กฎหมายระดับปกติแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  

นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์ได้เบิกความประกอบการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองโดยระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว มีใจความโดยสรุปว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีไว้เพื่อควบคุมม็อบไม่ใช่เพื่อควบคุมโรคระบาด ยืนยันจากตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 1,171 คน ทั้งสิ้น 483 คดี (นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564) ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดีกับผู้แสดงออกทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการระบาดในพื้นที่ชุมนุมมาก่อน สถานที่ชุมนุมจัดขึ้นในบริเวณที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท และผู้เข้าร่วมชุมนุมปฏิบัติตามขั้นตอนการเว้นระยะห่างและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์เห็นว่าการมีอยู่ของคำสั่งนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอยู่ตลอดตราบที่คำสั่งยังดำรงอยู่ เพราะโจทก์รวมถึงประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ 

คดีนี้ศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว ให้ยกคำร้อง โดยจะมีการสืบพยานในเดือนมีนาคม 2566 

คดีที่สาม รุ้ง เบนจา เอ้ เสกสิทธิ์ ชี้รัฐบาลอ้างโรคเพื่อคุมม็อบ ตำรวจปิดถนนสกัดม็อบโดยไม่มีอำนาจ 

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, กุลจิรา ทองคง และ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และประกาศผบ.สส. ฉบับที่ 12 เรื่องการห้ามชุมนุม โดยปนัสยา เบนจา และกุลจิรา เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะถูกดำเนินคดีจากข้อกำหนดและประกาศเนื่องจากใช้เสรีภาพในการชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพการชุมนุม โดยในคำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวอาศัยข้ออ้างที่มีโรคระบาดเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งขัดกับเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้ง การออกข้อกำหนดและประกาศหลายฉบับต่อเนื่องกันมีความซ้ำซ้อนในทางเนื้อหา และออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ถูกบังคับใช้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีข้อกำหนดและประกาศฉบับใดที่บังคับใช้อยู่บ้าง การบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินจำเป็น 

ยิ่งไปกว่านั้น ในการชุมนุมแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เพื่อปิดกั้นเส้นทางมิให้โจทก์ทั้งสี่และประชาชนสัญจรไปมาได้อย่างเป็นปกติโดยที่ยังไม่ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นและไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ให้อำนาจ จึงเป็นการจัดเตรียมกำลังที่เกินสมควรกว่าเหตุ เกินความจำเป็นแก่กรณี และไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ ทั้งนี้ คดีนี้จะมีการสืบพยานในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

๐ สื่อมวลชนรวมตัวฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด ‘ตัดเน็ต’ อ้างการเผยแพร่ข่าวสารสำคัญมากท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ตัวแทนสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหมด 12 คน ได้แก่ The Reporters, VoiceTV, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่มีใจความสำคัญห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และให้อำนาจ กสทช. สั่งระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านการสั่งให้ผู้บริการ (ISP) หรือ “ตัดเน็ต” ตามหมายเลข IP Address ที่โพสต์ข้อความ โดยในคำฟ้องระบุว่า ข้อความในข้อกำหนดดังกล่าวที่ว่าห้ามการเผยแพร่ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้นกว้างขวางเกินไป และจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในภาวะสำคัญที่กำลังมีโรคระบาด จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36  

ส่วนในข้อ 2 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. สั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการออกโดยที่มาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจไว้ อีกทั้งในการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งทางโจทก์ที่เป็นสื่อมวลชนและพยานผู้เชี่ยวชาญได้เบิกความไปในทางเดียวกันว่าข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งที่บทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวสารมีความสำคัญเป็นอย่างมากท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสของโควิด  

ซึ่งในท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ยกเลิกข้อกำหนดฉบับดังกล่าวไปด้วยตัวเอง

๐ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน หยุดการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้กฎหมายปกติคุมโรคได้

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคนำโดย ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึง ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยในคำร้องระบุเหตุผลว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีกแล้ว และรัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ได้ โดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคติดต่อโดยตรง อีกทั้งเห็นว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังอ้างการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปในทางจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด19 

ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยระบุว่า การกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยให้เหตุผลว่า การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรี เป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม และอยู่ภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ มิได้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ

๐ เครือข่ายภาคประชาชน ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 27 มกราคม 2565 ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากรัฐบาลได้อ้างสถานการณ์โรคระบาดเพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเวลาสองปี ในเอกสารคำร้องระบุเหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นแล้วมีผลเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินสมควร ดังนี้ 

มาตรา 9 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนดต่างๆ โดยในคำร้องระบุเรื่องห้ามนำเสนอข่าวเป็นหลัก 

มาตรา 11 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำการที่ไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงไม่เป็นไปตามหลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องสงสัยเป็นบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา 

มาตรา 16 ตัดการตรวจสอบจากอำนาจฝ่ายตุลาการ เนื่องจากผู้เสียหายไม่สามารถร้องเรียนการละเมิดสิทธิกับศาลปกครองได้ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีในเวลาปกติ 

มาตรา 5 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ  เป็นผลให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นรวมศูนย์อยู่เพียงบุคคลเดียว 

โดยในคำร้องได้ระบุว่า ตัวผู้ร้องและประชาชนทั่วไปที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  จึงได้มีคำขอให้ศาลวินิจฉัยว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ