สภาอนุมัติครม. เตะถ่วง #สมรสเท่าเทียม 60 วัน ด้านส.ส.ประชาชาติ ห่วงกฎหมายขัดหลักศาสนาอิสลาม

9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ) #สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอส.ส. พรรคก้าวไกล เพื่อให้ปลดล็อกข้อจำกัดในประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ ที่กำหนดให้การสมรสทำให้เฉพาะชาย-หญิง (ตามเพศในทะเบียนราษฎร) เป็นการสมรสระหว่างบุคคลสองคน โดยไม่โฟกัสที่เรื่องเพศ 

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. จะขอนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน โดยจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าครม. ใช้วิธีทั้งที่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม ก็เสนอมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ท้ายที่สุดแล้ว สภาผู้แทนราษฎร มีมติอนุมัติให้ครม. นำ #สมรสเท่าเทียม ไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ประสงค์จะลงคะแนน 1 เสียง

อ่านสรุปเนื้อหา ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5711

ในกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ ไม่สอดคล้องกับความหลากหลายทางเพศ จึงต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรับรองการสมรส การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินและมรดก 

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ระบุว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าใจได้อย่างดีว่าชาย-หญิง มีสิทธิสมรสกันได้ ทว่าแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิก่อตั้งครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสวัสดิการ ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่อรับรองสิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศพึงมี และการแก้ไขกฎหมาย ก็จะเป็นไปตามหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ 

ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน อาทิ

กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า มนุษย์คนหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตของเขา ตนจำได้ว่าครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยพยายามเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนรัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกลับไปทบทวน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งนี้ ตนอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดี ซึ่งเสนอมานานและอยู่ในระเบียบวาระการประชุมมานานแล้ว รัฐบาลจึงควรจะไปศึกษาทำการบ้านมาก่อน อย่างไรก็ดี ตนจะโหวตอนุมัติให้ครม. นำไปทบทวนศึกษาก่อนให้รอบคอบ และหากร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ตนก็จะลงมติรับหลักการ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุว่าตนสนับสนุนร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม และเชื่อว่าน่าจะมีส.ส.จากฝั่งรัฐบาลที่เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายยังคงล้าหลัง เปลี่ยนไม่ทันโลก ทำให้บุคคลบางกลุ่มเขารู้สึกถูกกดขี่ ถูกกดทับ ซึ่งสภาฯ แห่งนี้จะเป็นผู้ที่ปลดปล่อยพันธนาการของพวกเขา

กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม ระบุว่าปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การที่กฎหมายยังไม่รับรองสิทธิบุคคลเพศหลากหลาย ส่งผลให้เกิดความอยุติธรรม ตัวอย่างเช่น ข้าราชการที่เป็นคู่รักเพศหลากหลาย ไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนคู่สมรสชาย-หญิง

ด้านส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ยกเว้นเพียงแต่ส.ส.จากพรรคประชาชาติซึ่งมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักศาสนา โดยสรุปส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายไว้ ดังนี้

วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ว่า ความพยายามบ่งชี้เพศของมนุษย์โดยยึดโยงกับลักษณะภายนอก อาจจะไม่สามารถชี้ได้ชัดเหมือนสีขาว-ดำ หรือซ้าย-ขวา หากพิจารณาหลักทางวิทยาศาสตร์ จะเห็นได้ว่าบางกรณีลักษณะภายนอกอาจไม่สามารถบ่งชี้ถึงเพศหรือความสามารถในการสืบพันธ์ได้ เช่น กรณีลักษณะภายนอกดูเป็นหญิง แต่โครโมโซมที่ปรากฏเป็นเพศชาย 

ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม กฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ทำให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพเท่ากับคนอื่นได้รับสิทธิเสรีภาพเท่ากับคนอื่น ศรัณย์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ครม. จะต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาถึง 60 วัน วันนี้ก็สามารถลงมติรับหลักการได้เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลายครั้งหลายหนที่สภาเป็นเหมือนสถานที่ที่ผู้แทนราษฎรมาปรึกษาหารือกัน แต่ก็มีหลายครั้งที่สภาทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม ว่าเราอยู่ในประเทศแบบไหน มีวิถีคิดแบบไหน การที่ตนได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายในนาทีประวัติศาสตร์ เป็นการส่งสัญญาณว่าความหลากหลายคือจุดแข็งของประเทศไทย และในความหลากหลายนั้นยังมีความเอกภาพ 

สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในฐานะผู้แทน เราขอโทษคนหลายกลุ่มที่ไม่มีสิทธิให้ความยินยอมรักษาพยาบาลคู่ชีวิต ขอโทษครูที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถเป็นครูได้เพราะวิทยาลัยบางแห่งไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เรากำลังสื่อสารไปยังคนวัยสี่สิบกว่าๆ ที่กำลังจะสร้างชีวิต ว่าเขาจะสามารถสมรสได้ กู้ซื้อบ้านร่วมได้ สำคัญมากที่สุด คือ เยาวชนรุ่นลูกหลาน เรากำลังบอกเขาว่าสังคมนี้ยอมรับในความหลากหลาย เยาวชนคนรุ่นลูกหลานเราไม่ได้ผิดปกติ เขาสามารถมีชีวิตได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม  

ด้านซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ยืนยันว่าหลักการทำงานของพรรคประชาชาติ ยึดมั่นคัมภีร์อัลกุรอ่าน หากกฎหมายใดขัดต่อหลักการดังกล่าว จะไม่สามารถรับหลักการกฎหมายนั้นได้ ในฐานะที่เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่นับถือในศาสนาอิสลาม จะยึดมั่นต่อหลักการของอัลเลาะห์ จะไม่ยอมให้กฎหมายใดออกมาแล้วขัดต่อพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ครม. จะนำร่าง #สมรสเท่าเทียม ไปพิจารณาก่อนรับหลักการ 60 วัน เพราะร่างกฎหมายนี้ก็เสนอมานานแล้ว สุดท้ายพอหลังพ้น 60 วัน กว่ากฎหมายจะได้เข้าสู่การพิจารณาจริงๆ ก็จะผ่านไปนาน ต้องไปต่อคิวอีก หากทางครม. จริงใจจริงๆ ก็ไม่ต้องเอาไป 60 วัน ลงมติกันไปเลย หากปัดตกก็จะได้เสนอใหม่ในสมัยประชุมหน้า ทั้งนี้ จุลพันธ์ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการยื้อเวลาเท่านั้น แต่พรรคเพื่อไทยเห็นด้วย และจะรับหลักการสมรสเท่าเทียม

ท้ายที่สุด สภาผู้แทนราษฎร มีมติอนุมัติให้ครม. นำ #สมรสเท่าเทียม ไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ประสงค์จะลงคะแนน 1 เสียง

อย่างไรก็ดี นอกจากร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ยังมีร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม อีกหนึ่งฉบับ ที่ต้องการแรงผลักดันจากภาคประชาชน โดยขณะนี้ทางองค์กรภาคประชาชน ในนาม “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” กำลังเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเสนอ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม อีกหนึ่งฉบับ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน ได้ที่ https://www.support1448.org/