เปิดคำชี้แจงตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมาย #ปลดอาวุธคสช

8 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หรือเรียกสั้นๆ ว่า ร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ซึ่งเสนอโดยประชาชนเข้าชื่อกัน 13,409 คน เพื่อให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยมีสุภาภรณ์ มาลัยลอย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และอานนท์ ชวาลาวัณย์ เป็นตัวแทนผู้เสนอร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ในการชี้แจงร่างกฎหมายดังกล่าว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างกฎหมายกล่าวต่อที่ประชุมส.ส. ดังนี้
ภายใต้ระยะเวลากว่าห้าปี ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าทำรัฐประหาร ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้ระบบกฎหมายแบบพิเศษ คือ ระบบที่มีประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นใหญ่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง
ในระยะเวลาอันสั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามออกประกาศและคำสั่ง นับได้ 556 ฉบับ แบ่งเป็น คำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามมาตรา 44 211 ฉบับ ประกาศ คสช. นับตามราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ได้ 129 ฉบับ และคำสั่ง คสช. 163 ฉบับ ทั้งหมดออกมาโดยอำนาจเบ็ดเสร็จที่ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตรวจสอบ เมื่อประกาศใช้ก็มีผลบังคับทันที
ขณะที่เรามีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ใช้งานอยู่แปดร้อยกว่าฉบับ แต่กลับมีประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร มาบังคับใช้พร้อม ๆ กันกว่าห้าร้อยฉบับ เราไม่ได้อยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติแน่นอนครับ
เป็นเวลาเกือบห้าปีครับ ที่เราอยู่ภายใต้ข้อห้าม “ชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน” ทั้งโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไม่เพียงแค่การชุมนุมบนถนนที่หายไป การรวมตัวประชุมในห้องปิด การจัดเสวนาวิชาการ การนัดพบปะพูดคุยประชุมกันก็ต้องห้ามไปด้วย มีคนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองไปอย่างน้อย 421 คน
เป็นเวลาเกือบห้าปีครับ ที่ คสช. มีอำนาจเรียกใครก็ได้ไปรายงานตัว ถ้าไม่ไปตามที่เรียกก็มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ถ้าใครไปรายงานตัวแล้วก็ต้องเซ็น MOU ว่าจะไม่เคลื่อนไหว ถ้ายังเคลื่อนไหวต่อก็มีโทษเช่นเดียวกัน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มีคนถูกดำเนินคดีสองข้อห้านี้อย่างน้อย 15 คน 
เป็นเวลาเกือบห้าปีครับ ที่สื่อมวลชนไม่ได้มีเสรีภาพ แต่เนื้อหาถูกจำกัดภายใต้ประกาศ คสช. 97-103/2557 ที่ห้ามวิจารณ์ คสช. ห้ามนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่กลับบังคับให้ทุกสื่อต้องถ่ายทอดรายการที่ คสช. ประสานงานไป ก็ออกมาเป็นคนนั่งพูดคนเดียวอยู่ทุกวันตอนเย็น ยังไม่พอ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ให้กสทช. เข้ามาลงโทษสื่อ โดยคุ้มครองให้ กสทช. ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องถูกฟ้อง ซึ่งมีสื่อถูกสั่งลงโทษไปแล้วอย่างน้อย 59 ครั้ง 
เป็นเวลาเกือบห้าปีครับ ที่พรรคการเมืองทุกพรรคถูกสั่งห้ามทำกิจกรรม ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 แต่พอมีกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งออกมา และก็เป็นหัวหน้า คสช. ที่จะลงสมัครแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ก็ยังต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกสองฉบับ ค่อยๆ ให้พรรคอื่นทำกิจกรรมได้ที่ละนิดตามที่ คสช. อนุญาต
เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุม เสรีภาพสื่อ ในยุคของ คสช. จึงไม่มีอยู่เลย หรือมีอยู่บ้างก็เพียงเท่าที่ คสช. อนุญาตให้มีได้เท่านั้น
ส่วนประกาศและคำสั่ง ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนในประเด็นอื่นๆ จะขอให้ผู้ชี้แจงท่านถัดๆ ไปกล่าวถึงคนละประเด็นต่อจากนี้นะครับ
ทุกท่านครับ หลังการรัฐประหาร สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนก็ไม่มีอยู่ แต่ได้กลับมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เราเริ่มทำกิจกรรมเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชน ให้ครบ 10,000 ตั้งแต่ปี 2561 ใช้เวลาไปถึงปีครึ่งถูกทหารเข้าขัดขวาง ห้ามทำกิจกรรม ห้ามรวบรวมรายชื่ออยู่ก็หลายครั้ง จนนำรายชื่อประชาชน 13,409 รายชื่อมายื่นต่อรัฐสภาได้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 และรออยู่อีกถึงสองปีครึ่งกว่าที่ร่างนี้จะได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้
ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ปีเต็มของการเรียกร้อง และรอคอยให้สภาจากการเลือกตั้งมาทบทวนประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร บางฉบับก็สิ้นผลไปด้วยตัวของมันเอง บางฉบับก็ถูกแปลงร่างไปอยู่ในกฎหมายอื่น และบางฉบับ คสช. ก็ยกเลิกเองไปแล้ว แต่หลายฉบับก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และอีกหลายฉบับที่เป็นมรดกของกฎหมายยุคการรัฐประหารที่เราไม่ได้ยื่นขอยกเลิกมาในครั้งแรกด้วยก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อเราเริ่มทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อและยื่นมานั้นเราไม่มีอำนาจแก้ไขร่างได้อีก ถ้าหากประกาศคำสั่งที่ยังคงตกค้างอยู่ ไม่มีการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติมายกเลิก ก็จะยังคงอยู่ในระบบกฎหมายและบังคับใช้ได้จนกระทั่งรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป
ดังนั้น หากท่าน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเห็นสมควรว่า ถึงเวลาที่มรดกของ คสช. จะต้องถูกนำมาศึกษา ทบทวน และรื้อถอนสิ่งที่ตกยุคหมดสมัยออกเสีย ก็ขอให้วันนี้ลงมติรับร่างฉบับนี้ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกันมา หากตัวร่างที่เสนอในวันนี้ยังไม่ได้อัพเดทถึงที่สุด หรือมีความไม่สมบูรณ์ทางเทคนิคบ้างเพราะต้องรอเวลาจนผ่านมาเนิ่นนาน เราก็หวังว่าจะได้ไปช่วยกันแก้ไขตกเติมให้สมบูรณ์ขึ้นในวาระที่สองต่อไป 
ไม่ว่า คสช. จะอ้างเหตุผลอะไรในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 หรืออ้างเหตุผลอะไรที่ออกประกาศคำสั่งมาเพิ่มอำนาจให้ทหารและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วงห้าปีนั้น บัดนี้เหตุผลทั้งหมดผ่านไปแล้ว เหลือเพียงคำถามที่ตั้งอยู่ตรงหน้าของทุกท่านว่าสังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะอยู่กันโดยใช้ประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นหลักในการปกครองต่อไป หรือจะกลับคืนสู่ระบบกฎหมายที่ออกโดยตัวแทนของประชาชน ผ่านการคิดและถกเถียงอย่างรอบคอบ ผ่านการมีส่วนร่วม และอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล
เพื่อให้กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์และกลไกที่สัมพันธ์กับประชาชน ออกโดยองค์กรที่มีความชอบธรรมจากประชาชน เพื่อที่จะใช้บังคับกับประชาชน ไม่ใช่เป็นแต่ข้อห้ามและบทลงโทษที่สั่งออกมาโดยคนถืออำนาจเท่านั้น
หยุดวัฒนธรรมรวบอำนาจ-หยุดนำทรัพยากรธรรมชาติมากระจายให้กลุ่มทุน
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างกฎหมายกล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
คำสั่งหลายคำสั่งที่จะเสนอดังต่อไปนี้เป็นคำสั่งที่เปลี่ยนพื้นที่อาหารเป็นฐานอุตสาหกรรมหลายคำสั่ง แม้ประชาชนและชุมชนได้ผลักดันกระบวนการการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยาการธรรมชาติผ่านรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 แต่กลับถูกทำลายโดยคำสั่งคสช. ในหลายฉบับ 
ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งคสช. ที่ 72/2557 และ คำสั่งคสช. ที่ 109/2557 ที่รวบอำนาจการจัดการทรัพยาการเข้าสู่ศูนย์กลาง ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา และมีหัวหน้าคสช. เป็นประธาน และรองหัวหน้าคสช. เป็นรองประธาน อีกทั้งยังมี ข้าราชการมาเป็นคณะกรรมการซึ่งมีอำนาจในการกำหนดพื้นที่ในการพัฒนา โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ คำสั่งคสช. ที่ 46/2560 ที่ให้จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการฝ่ายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อันนี้ก็สะท้อนถึงการรวบอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน
หลังจากที่มีการกำหนดพื้นที่จะที่มุ่งสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจแล้ว ยังมีคำสั่งในการจัดหาที่ดินเพื่อรองรับกับกลุ่มธุรกิจ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 17/2558 ที่ให้จัดหาที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 74/2559 ที่ขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 2 จังหวัด ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ที่เป็นป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร เขตห่วงห้ามตามพระราชกฤษฎีกามาจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้
นอกจากนี้ ยังหาที่ดินเพื่อรองรับให้กับกลุ่มธุรกิจในการพัฒนา โดยใช้ที่ดินที่เป็นเขต สปก. ที่มีเจตนารมณ์ที่จะให้การกระจายการเข้าถึงที่ดินแก่เกษตกรรม แต่กลับออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 33/2560 เพื่อให้มีการจัดที่ดิน สปก. เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ทั้งๆ ที่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 มีคำพิพากษาศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกระเบียบที่จะนำที่ดินในที่ สปก. ไปทำประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้น การออกคำสั่งคสช. นี้จึงสะท้อนถึงการไม่ได้คำนึงถึงหลักการการใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก. และอยู่เหนือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดด้วย
ถัดมาคือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 ที่ไปยกเว้นกฎหมายผังเมืองและควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเปิดทางให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องดูผังเมือง โดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 มุ่งหมายที่จะยกเว้นผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเปลี่ยนพื้นที่ที่ชุมชนร่วมกันกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาชนบทและเกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และหลังจากนั้น ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชนทั้งประเทศ เพราะเป็นคำสั่งที่ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองทั้งประเทศ เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวะมวล โรงงานกำจัดขยะ ซึ่งกระทบต่อสิทธิขุมชนและมาตรการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ ยังออกคำสั่งที่ 9/2559 เพื่อลัดคิวให้เอกชนประมูลงานก่อนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทีหลัง หรือ ให้เปิดประมูลงานได้ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่าน ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคือมุ่งหมายที่จะพิจารณาว่า พื้นที่นั้นเหมาะกับการพัฒนาโครงการหรือไม่ และหน่วยงานรัฐต้องพิจารณาเป็นสำคัญในการพิจารณางบประมาณที่จะให้ดำเนินกิจการนั้น แต่ปัจจุบัน คำสั่งนี้ได้ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันแล้วด้วย
หลังจากนั้น ยังมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 47/2560 ที่ยกเว้นกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้เพื่อให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษหรือ อีอีซี โดยผลพวงจากคำสั่งนี้ คือ เปลี่ยนพื้นที่อาหารเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใช้ระยะเวลารวบรัดเพียง 1 ปี 11 เดือน และเมื่อประชาชนมาทวงถามความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม หรือ ร่วมกันฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ 4/2559 ปรากฎว่า ศาลปกครองไม่รับฟ้องเพราะว่า เป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 
ผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของประชาชนจากคำสั่งที่ 4/2559 คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด หรือ เจ็ดจังหวัดภาคตะวันออก มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรม 925 โรงงาน ล่าสุด ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรีที่มาร้องเรียนที่กรรมาธิการของรัฐสภาด้วย ว่าคำสั่งนี้มีผลทำให้พื้นที่กลางชุมชนของพี่น้องที่ผังเมืองห้ามตั้งโรงงานไฟฟ้าขยะแต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอ้างว่า มีคำสั่งที่ 4/2559 จึงสามารถพิจารณาออกใบอนุญาตได้
วัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบรวมอำนาจของคสช. วัฒนธรรมการยึดครองพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมากระจายให้กับกลุ่มทุน และยังมุ่งหมายในการที่จะละเว้นกฎหมายปกติ เป็นผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน จึงอยากฝากท่านผู้แทนราษฎรทุกท่านพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาทบทวนกฎหมายเหล่านี้เพื่อนำมาสู่การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแบบปกติที่คุ้มครองทั้งสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป
เปิดปัญหากระบวนการยุติธรรม ในยุคคสช.
อานนท์ ชวาลาวัณย์ หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. ไว้ดังนี้
กระผม นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ร่วมนำเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จะขอนำเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศคำสั่ง นำทหารเข้ามาเป็นส่วนของของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผ่านไปถึงท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 สามวันหลังการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางประเภท ของบุคคลพลเรือน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 – 118 และความผิดตามประกาศคำสั่งคสช.
จากนั้นในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้คดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงคราม ไปอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำที่เกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นเวลาที่คสช.ยึดอำนาจ
ตามสถิติของกรมพระธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ระบุว่ามีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารกรุงเทพทั้งหมด 238 คดี เป็นจำเลยพลเรือน 367 คน ส่วนที่ศาลมณฑลทหารบก หรือศาลทหารในต่างจังหวัด ทั่วประเทศ มีจำนวนคดีของพลเรือนทั้งสิ้น 1485 คดี และจำเลย 1844 คน
การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารมีตัวอย่างปัญหาและข้อห่วงกังวล ทั้งในเชิงการปฏิบัติ และเชิงอุดมการณ์ดังนี้
1. ความไม่พร้อม ศาลทหารไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการพิจารณาคดีของพลเรือนที่เข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก ทั้งในแง่บุคลากร การทำงานด้านธุรการ รวมถึงความเชี่ยวชาญของผู้พิพากษาที่ต้องมาตัดสินคดีที่มีความซับซ้อนกว่าคดีของทหารตามปกติ ขอยกตัวอย่างระบบวันนัดความที่ไม่มีความต่อเนื่อง จนทำให้คดีบางส่วนที่แม้มีข้อเท็จจริงไม่ซับซ้อน แต่ก็ใช้เวลาพิจารณายืดเยื้อยาวนาน จนจำเลยบางคนตัดสินใจรับสารภาพเพียงเพื่อให้คดียุติโดยไว นอกจากนี้การที่ศาลทหารไม่ได้มีครอบคลุมทุกจังหวัด ก็ทำให้จำเลยบางส่วนต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปเข้าสู่ขั้นตอนทางคดี เป็นการสร้างความเดือดร้อนเกินความจำเป็น 
2. ความเคลือบแคลงต่อตัวศาลทหาร การประกาศให้ความผิดตามประกาศคำสั่งคสช.เป็นความผิดภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งมีความผิดฐานห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนรวมอยู่ด้วย ย่อมทำให้สาธารณชนอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ถูกดำเนินคดีจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ และศาลทหารจะมีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะเท่ากับว่าในบางคดี จำเลยจะถูกทหารทำการจับกุม ถูกพิจารณาและตัดสินคดีโดยตุลาการศาลทหาร จากการออกมาชุมนุมประท้วงคสช.ซึ่งเป็นทหาร และ
3. ความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจตุลาการ การประกาศให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน ย่อมทำให้สาธารณชนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมตามปกติมีปัญหา หรือไร้ความสามารถประการใด จนต้องให้ทหารเข้ามาพิจารณาคดีของพลเรือน และสุ่มเสี่ยงที่จะทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่ออำนาจตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของรัฐ
นอกจากการนำศาลทหารเข้ามาพิจารณาคดีพลเรือนแล้ว หัวหน้าคสช. ยังออกคำสั่ง ให้ทหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาด้วย โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารชั้นยศร้อยตรีขึ้นไป ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการเรียกบุคคลที่กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงละความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่น ค้ายาเสพติด หรือเป็นเจ้ามือการพนัน เข้ารายงานตัวเพื่อให้ข้อมูลหรือส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมถึงสามารถควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำหรือสถานีตำรวจได้ไม่เกินเจ็ดวัน
เคยมีกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษนี้ ออกมาเปิดเผยภายหลังว่าเขาถูกทำร้ายร่างกายระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ หรือถูกเคลื่อนย้ายตัวในลักษณะที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว เช่น การเอาถุง หรือสิ่งของอื่นปิดบังดวงตา การช็อตไฟฟ้า และการกระทำรูปแบบอื่น
คำสั่งหัวหน้าคสช.ทั้งฉบับที่ 3/2558 ยกเว้น ข้อ 12 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2559 ยังคงไม่ถูกยกเลิก แม้คสช.จะสิ้นสภาพตามกฎหมายไปแล้ว และแม้ที่ผ่านมา จะไม่มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจดังกล่าวอยู่หรือไม่  แต่เมื่อไม่มีคำสั่งยกเลิก ก็ยังต้องถือว่าคำสั่งทั้งสองฉบับมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่  และที่สำคัญ การไปติดตามคุกคามบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังไม่ถูกหมายเรียกคดีอาญาถึงที่บ้าน ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ยังดำรงอยู่และถูกรายงานผ่านสือมวลชน หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ถูกคุกคามอยู่เป็นระยะ
อาจจะมีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่าน ให้ความเห็นกับท่านประธานในโอกาสต่อไปว่า ประกาศและคำสั่งคสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและในส่วนที่ผู้นำเสนอร่างท่านอื่นๆนำเรียนต่อท่านประธานก่อนหน้านี้ ได้ถูกยกเลิก หรือสิ้นสภาพในทางปฏิบัติไปแล้ว กระผมขอใช้โอกาสนี้ ชี้แจงว่า
เหตุผลสำคัญที่ภาคประชาชน ได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเพราะต้องการยืนยันหลักการว่า กฎหมายต้องออกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นตัวแทนของปวงชนเท่านั้น มิใช่ออกโดยคณะบุคคลที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ที่มีความยึดโยงกับประชาชนโดยตรง จะได้รับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปก่อน เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ว่า สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนปวงชวน จะไม่ยอมรับว่าประกาศหรือคำสั่งของผู้ที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เป็นกฎหมายที่ชอบธรรม อันจะเป็นก้าวแรกที่จะพาประเทศออกจากวังวนแห่งการรัฐประหาร ส่วนการปรับแก้ร่างกฎหมายในรายละเอียดย่อมสามารถดำเนินการได้ในชั้นต่อไป ขอบคุณครับ