ส่องประเทศเคยเคอร์ฟิว : ฝรั่งเศส ยกเลิกเคอร์ฟิว เดินหน้าฉีดวัคซีนเด็ก 12 ปีขึ้นไป

ฝรั่งเศส เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า นับตั้งแต่ 3 มกราคม 2563 จนถึง 29 ตุลาคม 2564 ฝรั่งเศสมีเคสผู้ติดเชื้อจำนวน 6,923,896  เคส และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 115,220 ราย หากดูจากข้อมูลหน้าเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก พบว่า จำนวนเคสผู้ติดเชื้อของประเทศฝรั่งเศสนั้นสูงเป็นอันดับที่เจ็ดของโลก รองจาก 1) สหรัฐอเมริกา 2) อินเดีย 3) บราซิล 4) สหราชอาณาจักร 5) รัสเซีย และ 6) ตุรกี เท่านั้น 
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงลิ่ว ทำให้ฝรั่งเศส ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยล็อคดาวน์ถึงสามครั้ง รวมไปถึงใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักในยามวิกาล หรือ “เคอร์ฟิว” เป็นระยะๆ อย่างไรก็ดี เมื่อ 9 มิถุนายน 2564 ฝรั่งเศสเริ่มคลายมาตรการล็อคดาวน์ และ 20 มิถุนายน 2564 ก็ไม่มีการเคอร์ฟิวอีกต่อไป หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสผ่อนคลายมาตรการแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง คือ “วัคซีน” ที่ใช้ในประเทศถึงสี่ตัว อีกทั้งผู้ฉีดวัคซีนสองเข็มมีถึง 72.30% ของประชากร ซึ่งใกล้จะเข้าสู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังขยับเพดานอายุผู้ฉีดวัคซีนลง โดยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปก็สามารถรับวัคซีนได้
ล็อคดาวน์ครั้งแรก มาตรการเข้มข้น ออกจากบ้านได้เท่าที่จำเป็นและต้องมีเอกสารยืนยัน
หากย้อนกลับไปช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดแรกๆ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ฝรั่งเศสเริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สองราย เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันอยู่ที่หลักสิบเท่านั้น และเริ่มทะลุหลักร้อยวันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งวันดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 138 ราย เสียชีวิตสามราย จนวันที่ 12 มีนาคม 2564 ผู้นำฝรั่งเศสจึงเริ่มจริงจังกับการรับมือโควิด-19 มากยิ่งขึ้น โดยเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดี ถึงขั้นประกาศผ่านโทรทัศน์ว่าโคโรน่าไวรัสเป็นวิกฤตสาธารณสุขครั้งสำคัญ และขอความร่วมมือจากประชาชนให้รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และหมั่นล้างมือ ไม่จับมือทักทาย และสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น เมื่อ 16 มีนาคม 2563 ประธานาธิบดีประกาศล็อกดาวน์ประเทศ เริ่มใช้มาตรการตั้งแต่ 17 มีนาคม 2563 เวลาเที่ยง เป็นต้นไปพื้นที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวถูกปิดตัวลงชั่วคราว
ต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสจึงยกระดับมาตรการทางกฎหมายด้านสาธารณสุขมากขึ้น โดยประกาศใช้รัฐบัญญัติเลขที่ 2020-209 ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 (Loi n° 2020-290 du 23 mars 2020 d'urgence pour faire face à l'épidémie de covid-19) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แยกออกจากการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศในรูปแบบอื่น โดยรัฐบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการออกรัฐกฤษฎีกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข ในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการประกาศรัฐกฤษฎีกาเลขที่ 2020-293 (Décret n° 2020-293 du 23 mars 2020 prescrivant les mesures générales nécessaires pour faire face à l'épidémie de covid-19 dans le cadre de l'état d'urgence sanitaire) กำหนดมาตรการที่จำเป็นอาทิ ห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นกรณีออกนอกบ้านเพื่อซื้ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น, การออกไปพบแพทย์, การออกกำลังกายคนเดียว เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ในรัศมีไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรจากที่พักอาศัย, การออกไปดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ ส่วนการทำงานนั้น รัฐมุ่งเน้นการทำงานจากที่บ้านให้มากที่สุด ยกเว้นงานที่ไม่สามารถทำจากที่บ้านได้และเลื่อนกำหนดไม่ได้ โดยการออกจากบ้านแต่ละครั้งประชาชนต้องกรอกแบบฟอร์มด้วย โดยรัฐกฤษฎีกาซึ่งกำหนดมาตรการดังกล่าว เดิมมุ่งหมายจะใช้ถึง 31 มีนาคม 2563 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงขยายไปสิ้นสุดวันที่ 15 เมษายน 2563 และขยายอีกไปถึง 11 พฤษภาคม 2563 และเริ่มผ่อนคลายมาตรการลง โดยคงมาตรการห้ามเดินทางเกิน 100 กิโลเมตรจากที่พักอาศัย หากจะเดินทางเกิน 100 กิโลเมตรต้องมีเหตุจำเป็นและต้องกรอกแบบฟอร์ม ทั้งนี้ มาตรการห้ามเดินทางดังกล่าวก็ผ่อนคลายตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 หลังจากนั้นสถานที่สาธารณะหลายที่ก็ค่อยๆ ทยอยกลับมาเปิดอีกครั้ง อาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โดยมาตรการฉุกเฉินทางสาธารณสุขสิ้นสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2563
ด้านจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงผ่อนคลายมาตรการเริ่มลดลงกว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรวมๆ แต่ละวันไม่ถึงหนึ่งพันราย ยกเว้นบางวัน เช่น 17 พฤษภาคม 2563 ผู้ติดเชื้อ 1,110 ราย 19 พฤษภาคม 2563 ผู้ติดเชื้อ 1,027 ราย ด้านผู้เสียชีวิตรายวันโดยรวมไม่ถึงร้อยรายต่อวัน และบางวันก็มีรายงานผู้เสียชีวิตศูนย์ราย
ล็อคดาวน์ครั้งที่สอง ออกจากบ้านได้ยกเว้นเวลา “เคอร์ฟิว” เริ่มฉีดวัคซีนปลายธันวาคม 2563
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในฝรั่งเศสเริ่มกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก วันที่ 6 กันยายน 2563 ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 12,099 ราย ในวันต่อๆ บางวันมียอดผู้ติดเชื้อหลักพัน บางวันจำนวนผู้ติดเชื้อก็แตะที่หลักหมื่น วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แจ้งว่าจะใช้มาตรการ “เคอร์ฟิว” ในเวลากลางคืน ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่สามทุ่มถึงหกโมงเช้า โดยมาตรการเคอร์ฟิวเริ่มใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ดี ลำพังเพียงแต่มาตรการเคอร์ฟิวก็ไม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงแต่อย่างใด ท้ายที่สุดประธานาธิบดีมาครง จึงประกาศล็อคดาวน์ครั้งที่สอง เมื่อ 29 ตุลาคม 2563 โดยการล็อคดาวน์มีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 จนถึง 1 ธันวาคม 2563 ประชาชนสามารถออกจากบ้านได้กรณีที่ต้องไปทำงาน ไปเรียน ไปพบแพทย์ ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น หรือไปออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมง โดยจะต้องแสดงเอกสารแบบฟอร์มด้วย ทำนองเดียวกันกับการล็อคดาวน์ครั้งแรก โดยโรงเรียน สถานที่ราชการ ธุรกิจที่สำคัญ จะยังคงเปิดอยู่ แต่บาร์ ร้านอาหาร ธุรกิจที่ไม่จำเป็นจะถูกปิด ห้ามเดินทางข้ามภูมิภาค การทำงานให้มุ่งเน้นการทำงานจากที่บ้าน ส่วนการเรียนระดับอุดมศึกษาจะใช้การเรียนออนไลน์เป็นหลัก
27 ธันวาคม 2563 ฝรั่งเศสเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีหญิงชราอายุ 78 ปีเป็นคนแรกที่ได้รับวัคซีนโดสแรก โดยวัคซีนที่ฉีดให้กับหญิงชรา คือวัคซีนประเภท mRNA ของ Pfizer-BioNTech
การฉีดวัคซีนในฝรั่งเศสนั้น มีการจัดลำดับกลุ่มผู้เข้ารับวัคซีนด้วย
กลุ่มแรก คือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและอยู่ที่บ้านพักคนชรา
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนชรา และผู้สูงอายุที่มีอายุช่วง 65-74 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะมีโรคประจำตัว เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและปอด 
กลุ่มที่สาม กลุ่มเปราะบาง ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และบุคลากรทางการแพทย์ 
กลุ่มที่สี่ คือกลุ่มคนทำงานที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีการประกอบอาชีพเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 เช่น ผู้ที่ทำงานด้านบริหารสาธารณะ และยังรวมถึงคนไร้บ้านด้วย 
กลุ่มที่ห้า ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ล็อคดาวน์ครั้งที่สาม ปลดล็อคเคอร์ฟิว 20 มิถุนายน 2564 เดินหน้าฉีดวัคซีนบุคคลอายุ 12 ปึขึ้นไป
ช่วงเดือนธันวาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในฝรั่งเศสเริ่มลดลงจากช่วงพีคสุดช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งแม้จะไม่เท่ากับช่วงที่พีคที่สุดก็ตาม 31 มีนาคม 2564 ประธานาธิบดีมาครงจึงประกาศล็อคดาวน์เป็นครั้งที่สาม และยังคงมาตรการเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลาหนึ่งทุ่มถึงหกโมงเช้า 29 เมษายน 2564 ประธานาธิบดีมาครงประกาศว่าจะคลายมาตรการล็อคดาวน์ลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 โดยพิพิธภัณฑ์ โรงละคร โรงภาพยนตร์ และสถานที่จัดคอนเสิร์ต  รวมไปถึงคาเฟ่ และร้านอาหารที่มีที่นั่งกลางแจ้ง จะทยอยเปิดในวันนั้น และมีมาตรการห้ามออกจากเคหสถานในยามวิกาล หรือ “เคอร์ฟิว” ช่วงสามทุ่มถึงหกโมงเช้า ต่อมา 9 มิถุนายน 2564 ร้านอาหารและคาเฟ่ที่นั่งภายในร้านจะเปิดได้โดยต้องจำกัดจำนวนที่นั่ง ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวจะขยับขึ้นไปเป็นห้าทุ่มถึงหกโมงเช้า และคลายมาตรการมากขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ยกเลิกการเคอร์ฟิว และเปิดร้านรวงต่างๆ มากขึ้น
แม้วางเป้าว่าจะคลายมาตรการและเลิกเคอร์ฟิวในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติก็สามารถยุติการเคอร์ฟิวได้เร็วขึ้นกว่าที่วางแผนเอาไว้สิบวัน โดยการเคอร์ฟิวสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 หลังจากใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงจากช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่น้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 และช่วงมีนาคม-เมษายน 2564
ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อของฝรั่งเศสจะติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ขณะเดียวกัน อัตราการฉีดวัคซีนของฝรั่งเศสต่อจำนวนประชากรก็สูงเช่นกัน หากนับถึง 28 ตุลาคม 2564 ประชาชนจำนวน 51,173,481 คน หรือ 76.20% ของจำนวนประชากร ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ประชาชน 49,968,137 คน หรือ 74.50% ของจำนวนประชากร ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว วัคซีนที่ใช้ในฝรั่งเศสมีสี่ตัวด้วยกัน ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA สองตัว คือ Moderna และ Pfizer-BioNTech วัคซีนชนิด Viral Vector สองตัว คือ Janssen (Johnson & Johnson) และ AstraZeneca
ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2564 ฝรั่งเศสพยายามขยายฐานจำนวนผู้รับวัคซีนด้วย โดยขยับจากผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือกล่าวอีกอย่างก็คือฝรั่งเศสเริ่มเดินหน้าการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กแล้ว และต้นเดือนกันยายน 2564 ฝรั่งเศสก็เริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มที่สามหรือบูสเตอร์ (booster) แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป