การนิรโทษกรรม เป็นหนึ่งในกลไก “ลบล้างความผิด” เพื่อประโยชน์ในสังคมหรือในทางการเมือง สำหรับการกระทำบางประการที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความผิดตามกฎหมายแต่เมื่อวันเวลาและบริบทในสังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินคดีอาจส่งผลเสียต่อสังคมมากกว่าส่งผลดี การนิรโทษกรรมจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในทางกฎหมายเพื่อยุติความขัดแย้งโดยไม่ต้องรอศาลพิพากษา
สำหรับประเทศไทย หลังการพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกคัดค้านและไม่ประสบผลสำเร็จ คำว่า “นิรโทษกรรม” เปรียบเสมือนคำต้องคำสาป ที่นักการเมืองไม่กล้ายกขึ้นมาพูดถึงอีก แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยการ “นิรโทษกรรม” ไม่ได้มีขึ้นโดยนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง แต่อยู่คู่กับระบอบรัฐประหารอย่างแน่นแฟ้น เราเคยออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง ในจำนวนนั้น 11 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมแก่บรรดาคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจ และการนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารสองครั้งล่าสุด คือ การนิรโทษกรรมแก่การรัฐประหาร 2549 และ 2557 ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้สำหรับผู้พยายามทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จจึงกลายเป็น “กบฏ” ก็ได้รับนิรโทษกรรมจากกฎหมายหกฉบับ
กลไกการนิรโทษกรรมในประเทศไทยจะมีรอยด่างพร้อยเพราะถูกนำไปใช้เอื้อประโยชน์แก่การรัฐประหาร แต่ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่กลไกนิรโทษกรรมก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปใช้กับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากผู้มีอำนาจ นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมในการชุมนุมใหญ่ นิรโทษกรรมข้อหาคอมมิวนิสต์ นิรโทษกรรมผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกข้างประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง การนิรโทษกรรมจึงเคยถูกใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมด้วย
ชวนไปย้อนดูประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมของประเทศไทย 23 ครั้ง ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง
นิรโทษกรรม ให้การปฏิวัติและรัฐประหาร 12 ครั้ง
นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 กลไกการนิรโทษกรรมเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเพื่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหนึ่งครั้ง และใช้เพื่อนิรโทษกรรมแก่บรรดาคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลถึง 11 ครั้ง โดยจำนวนเก้าครั้งเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และการรัฐประหารอีกสองครั้ง คือ รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 กลไกนิรโทษกรรมถูกสอดไส้ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นเอง โดยการนิรโทษกรรมภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติและรัฐประหารนั้น มักเขียนนิรโทษกรรมการกระทำความผิดไว้อย่างกว้างทุกการกระทำและทุกบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ระบุว่านิรโทษกรรมให้ความผิดฐานใดเป็นการเฉพาะ
โดยการนิรโทษกรรมภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติและรัฐประหารแต่ละครั้ง มีรายละเอียด ดังนี้
1) นิรโทษกรรมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎร ภายหลังจากคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของสยามประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 26 มิถุนายน 2475 สองวันหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 กำหนดว่าการกระทำใดๆ ของคณะราษฎร หากละเมิดต่อกฎหมาย ไม่ให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชกำหนดดังกล่าว
2) นิรโทษกรรมจากเหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 20 มิถุนายน 2476 ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีรัฐบาลโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี คณะราษฎรเกิดความขัดแย้งขึ้นเมื่อปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในรัฐมนตรี นำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง โดยการนำเสนอสมุดปกเหลืองของปรีดีนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งให้ปรีดีต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
นายกฯ และบรรดาคณะราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของปรีดี จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ลงวันที่ 1 เมษายน 2476เพื่อยุบคณะรัฐมนตรีและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และงดใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้ และและออกแถลงการณ์โจมตีปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณ์นิติธาดายังอาศัยอำนาจจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 เพื่อปราบปรามปรีดี พนมยงค์โดยเฉพาะ ทางด้านศักดินา ขุนนาง ก็อาศัยจังหวะนี้โต้กลับแนวคิดในสมุดปกเหลืองด้วยการตีพิมพ์ “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือ สมุดปกขาว สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส
อย่างไรก็ดี ทางฝั่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่ได้ต้องการลดบทบาทของคณะราษฎรสายพลเรือนเท่านั้น แต่ต้องการลดบทบาทของคณะราษฎรสายทหารด้วย ทว่าความมุ่งหมายของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ไม่ได้ลุล่วง เพราะแม้บทบาทของปรีดีจะลดลงด้วยโดนตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงระหว่างใช้พระราชกฤษฎีปิดสภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ยื่นหนังสือลาออก รัฐบาลจึงแต่งตั้งพระยาพิชัยสงคราม เป็นผู้รักษาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และเลื่อนขั้นหลวงพิบูลสงคราม จากรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช สถานการณ์ที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาจัดแจงกิจการของทหาร สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาคณะราษฎรสายทหารบางส่วน นำไปสู่การรวมตัวกันทำรัฐประหารเพื่อโค่นรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนามาเป็นผู้นำของคณะ เมื่อรัฐประหารสำเร็จ พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงเป็นนายกฯ คนต่อไป จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และกลับมาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นเพียงห้าวัน ก็ประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476นิรโทษกรรมผู้ที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารดังกล่าว กำหนดให้การกระทำของคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนหากละเมิดกฎหมาย ไม่ให้ถือว่าละเมิดกฎหมาย
3) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เสนอให้ปรีดีกลับมาประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ ปรีดีจึงหวนคืนสู่บทบาททางการเมืองอีกครั้งในฐานะรัฐมนตรี และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2484 ถึง 5 ธันวาคม 2488 และได้เป็นนายกฯ ในเดือนมีนาคม 2489
ทว่า หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ได้ไม่นาน 20 วันต่อมาก็เกิดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ส่งผลให้รัฐบาลที่นำโดยปรีดี พนมยงค์สูญเสียความเชื่อมั่นในสายตาประชาชน ท้ายที่สุดแล้วปรีดีจึงลาออกเมื่อ 21 สิงหาคม 2489 จากนั้นประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทว่าท้ายที่สุดกลุ่มทหารก็เข้ารัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” หลังจากนั้นประเทศก็อยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งหนึ่งปีเศษให้หลัง วันที่ 23 ธันวาคม 2490 ก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรัฐประหารเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 โดยกำหนดว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งปวง มากไปกว่านั้น ยังกำหนดรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ให้ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
4) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 ภายหลังจากควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ไม่นาน ต่อมา 6 เมษายน 2491 ควงก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากควง อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยปัญหาทางการเมืองของขั้วอนุรักษ์นิยม และฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นหนึ่งในขวากหนามในการบริหารราชการแผ่นดินของจอมพล ป. พิบูลสงคราม 29 พฤศจิกายน 2494 กลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” นำโดยพลเอกผิน ชุณหะวัณ จึงเข้ามายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 ทิ้ง จากนั้นให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง หลังจากนั้นก็ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 นิรโทษกรรมการกระทำที่คณะรัฐประหารกระทำเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญ 2492 และนำรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิด นอกจากนี้ ยังรับรองอีกว่าประกาศและคำสั่งที่ออกสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าเดินตามแนวทางของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490
5) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 หลังจากการรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำคณะทหารเข้ามายึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อ 16 กันยายน 2500 แล้วใช้เวลาไม่นาน 26 กันยายน 2500 ก็ประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 กำหนดนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจเมื่อ 16 กันยายน 2500 หากกระทำผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิด และรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีความพิเศษกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมการรัฐประหารฉบับก่อนๆ คือ ระบุชัดเจนว่านิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้ถูกใช้ ผู้สนับสนุน และกำหนดขอบเขตด้านเวลาของการกระทำที่นิรโทษกรรมครอบคลุมทั้งก่อนและหลัง 16 กันยายน 2500
6) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งผ่านการยึดอำนาจจากพลเอกถนอม กิตติขจร นายกฯ ซึ่งเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ด้วย ภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ยังไม่ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในทันที ต่อมา 5 มีนาคม 2502 สภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาอันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ลงมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และตั้งกรรมาธิการวิสามัญเก้าคนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยหนึ่งในกรรมาธิการนั้นมีพลโทประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วย 3 เมษายน 2502 จึงมีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ.2502 โดยเนื้อหาบางส่วนเป็นไปทำนองเดียวกันกับกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2500 และมีการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหาร แต่ที่เพิ่มขึ้นมา คือ พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดการกระทำที่ถูกนิรโทษกรรมรวมไปถึงการลงโทษ และการกระทำที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างอื่นด้วย
7) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เสียชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เข้ามาปกครองประเทศ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการคุมเสียงส.ส. โดยเฉพาะจากพรรคสหประชาไทที่จอมพลถนอมตั้งขึ้นมาเอง จนท้ายที่สุดจอมพลถนอมจึงยึดอำนาจตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกสภานิติบัญญัติ ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2511 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง 2515 แทน เดือนต่อมาจึงประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ. 2515 กำหนดนิรโทษกรรมหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือรับคำสั่ง ที่ได้กระทำการเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันดังกล่าว หากการกระทำผิดกฎหมาย ให้ผูกระทำพ้นความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
8) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ภายหลังจากการยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจรเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ต่อมา เดือนตุลาคม 2516 ประชาชน นิสิต นักศึกษาก็ลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วงรัฐบาลโดยเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร การชุมนุมต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการปราบปรามผู้ชุมนุมที่รุนแรงจนทำให้ผู้ชุมนุมหลายรายเสียชีวิต ทำให้รัฐบาลทหารยิ่งขาดความชอบธรรมในทางการเมือง จนท้ายที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และเดินทางออกจากประเทศไทยไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประกาศแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งและม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ ทว่าด้วยสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ และความพยายามกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ส่งผลให้เกิดการชุมนุม 6 ตุลาคม 2519 ในวันเดียวกันนั้นเอง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็เข้ายึดอำนาจและแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ ปลายปีจึงประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 นิรโทษกรรมการกระทำของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินรวมไปถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่ง ไม่ว่าการกระทำจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิด
9) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 กลุ่มทหาร นำโดยพล.ร.อ. สงัด ชะลออยู่ เข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520และผลักดันพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ปลายปีมีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 นิรโทษกรรมการกระทำของคณะปฏิวัติรวมไปถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่ง ไม่ว่าการกระทำจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิด
10) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เข้ายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่มาจากการเลือกตั้ง เดือนเศษก็ประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 นิรโทษกรรมการกระทำของรสช. รวมถึงผู้ได้รับคำสั่งหรือได้รับมอบหมาย ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิด
11) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้มีการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารครั้งก่อนๆ แต่ การนิรโทษกรรมคปค. ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 37 โดยนิรโทษกรรมคปค. รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย ในการกระทำจากการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ไม่ว่าการกระทำจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำก่อนหรือหลัง 19 กันยายน 2549 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิด นอกจากนี้ มาตรา 36 ยังกำหนดให้คำสั่งและประกาศคปค. ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
12) นิรโทษกรรมการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล การนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารชุดนี้เดินตามรอยรัฐประหาร 2549 โดยกำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรมคสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 48 โดยกำหนดให้บรรดาการกระทำเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของคสช. รวมไปถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลัง 22 พฤษภาคม 2557 หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และมาตรา 47 รับรองว่าประกาศหรือคำสั่งคสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
นิรโทษกรรมคดีกบฏ หรือผู้ที่พยายามยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จ 6 ครั้ง
การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศไทยหกครั้งออกมาบังคับใช้ในสถานการณ์ที่อำนาจทางการเมืองแน่นหนาอยู่ในมือของผู้ใช้อำนาจแล้ว สี่ครั้งจากหกครั้งเป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ใช้กำลังต่อสู้เพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ จึงมีความผิดในฐานกบฏ แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็มีการนิรโทษกรรมตามมา โดยอาศัยวาระโอกาสมงคลของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจังหวะออกกฎหมายนิรโทษกรรม อาจสรุปจากประวัติศาสตร์ได้ว่าผู้พยายามทำรัฐประหารทั้งหลายที่กลายเป็นกบฏมีปลายทาง คือ การได้รับนิรโทษกรรม แต่จะได้รับเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป
กฎหมายนิรโทษกรรมในกลุ่มนี้มักระบุชัดเจนว่านิรโทษกรรมในความผิดฐานใดบ้าง และกำหนดขอบเขตระยะเวลาของการกระทำที่อยู่ภายใต้การนิรโทษกรรม  ดังนี้
1) นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล กรณีกบฏบวรเดชและกบฏพระยาทรงสุรเดช
หลังจากการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกฯ พยายามจะนำตัวปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์กลับมายังประเทศไทย สิบวันหลังจากปรีดีกลับมาถึงไทย 11 ตุลาคม 2476 กลุ่มทหาร “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็นำกำลังทหารมาประชิดที่ทุ่งดอนเมือง พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีลาออกด้วยเหตุว่าไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสนับสนุนคอมมิวนิสต์ โดยจัดการให้ปรีดี พนมยงค์กลับมา ทางด้านรัฐบาลก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ซ้ำยังนำกำลังเข้าปราบปรามคณะกู้บ้านกู้เมือง จากนั้นจึงรายงานเหตุการณ์กบฏที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายเพื่อจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” มาพิจารณาคดีของกลุ่มกบฏ โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2476 ประกาศใช้เมื่อ 30 ตุลาคม 2476 มุ่งหมายใช้กับการกบฏและจลาจลที่เกิดขึ้น ให้ศาลพิเศษมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยใช้ทุกบทกฎหมาย คำพิพากษาของศาลพิเศษเป็นที่สุด ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2476 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ยังกำหนดว่ากรณีผู้ต้องคำพิพากษาถูกลงโทษประหารชีวิต ให้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่อ่านคำพิพากษา ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยภายในกำหนด ให้เอาตัวผู้ต้องคำพิพากษาไปประหารชีวิตโดยไม่ชักช้า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกเรียกว่า “กบฏบวรเดช"
ต่อมาในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ 29 มกราคม 2481 กลุ่มขุนนางเก่า เชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ ส.ส. พยายามจะล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในกลุ่มผู้ก่อการดังกล่าวมีพ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นส.ส. ในขณะนั้นด้วย จึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้โดยลำลองว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” สภาผู้แทนราษฎรจึงผ่านพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2481 ประกาศใช้เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2481 เพื่อพิจารณาคดีของกลุ่มบุคคลดังกล่าวโดยเฉพาะ ทำนองเดียวกันกับกรณีของกบฏบวรเดช
อย่างไรก็ดี เวลาผ่านล่วงเลยไปอีกกว่าเจ็ดปี ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2488 ภายใต้รัฐบาลควง อภัยวงศ์ จึงมีการประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 ต่อมา 7 สิงหาคม 2488 ประกาศพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนด ดังกล่าว โดยพระราชกำหนดฉบับนี้มุ่งหมายใช้นิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจลที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษ ตามกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษ 2476 และ 2481 หรือกล่าวอีกอย่างก็คือมุ่งหมายนิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดกรณีกบฏบวชเดชและกบฏพระยาทรงสุรเดช โดยกำหนดว่า ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะถูกฟ้องและรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว หรือจะหลบหนีไป ให้พ้นจากความผิดทั้งสิ้น
2) นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ 29 มกราคม 2500 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 เพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ภายนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานก่อจลาจล ซึ่งกระทำความผิดก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2499 แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ตัวมาดำเนินคดีก่อนวันดังกล่าว ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมยังรวมถึงผู้ป้องกัน ปราบปรามการกบฏ การจลาจล หรือความผิดอื่นๆ ทำนองเดียวกัน ซึ่งกระทำก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2499 ต่อมา 15 ธันวาคม 2502 มีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมที่ถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนหรือถูกถอดยศจากการกระทำความผิด สามารถดำเนินการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือยศหรือบรรดาศักดิ์คืนได้
ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว จะมีผลนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดกบฏและจลาจลอย่างน้อยสี่เหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
หนึ่ง กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491 เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ถึงแม้คณะรัฐประหารจะเชิดควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ ในตอนแรก แต่ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในผู้ทำรัฐประหารก็กลับขึ้นเป็นนายกฯ เสียเอง ประกอบกับปัญหาดุลอำนาจภายในกองทัพทำให้กลุ่มทหารบางส่วนไม่พอใจ นายทหารเสนาธิการ เช่น พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก จึงวางแผนล้มอำนาจของรัฐบาลคณะรัฐประหาร โดยหมายมาดจะยึดอำนาจในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ซึ่งเป็นวันงานมงคลสมรสระหว่างพล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนึ่งในคณะรัฐประหาร กับ วิจิตรา ชลทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวกับรั่วไหล ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจับกุมบรรดาผู้ก่อการกบฏได้ในคืนก่อนลงมือปฏิบัติการ
สอง กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 ภายหลังจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ปรีดี พนมยงค์ หลบหนีออกนอกประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ปล่อยให้กรรมการสอบสวนของพล.ต.ต.พระพินิจชนคดี พี่เขยของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทำการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ภายหลังการสอบสวน กรมตำรวจออกหมายจับปรีดี พนมยงค์ และเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ว่าสมคบกันตระเตรียมวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 และปกปิดพยานหลักฐาน ภายหลังเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ ฝ่ายปรีดียิ่งถูกกวาดล้างมากกว่าเดิม ประกอบกับการรัฐประหาร 2490 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งวางระบบรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ส่งผลให้เกิดปรีดี พนมยงค์ และเสรีไทย ตัดสินใจที่จะล้มรัฐบาลที่มีที่มาจากการรัฐประหาร
26 กุมภาพันธ์ 2492 ปรีดี พนมยงค์ และเสรีไทยเข้ายึดสถานที่สำคัญและเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ จากเดิมมีฐานที่มั่นคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาก็เข้ายึดพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกเหตุการณ์นี่ว่า “กบฏวังหลวง” อย่างไรก็ดี แม้ว่าการก่อกบฏดังกล่าวจะมีแนวโน้มได้ชัยชนะ แต่ราวห้าทุ่มรัฐบาลก็ประกาศยืนยันว่ารัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศ ในวันถัดมาก็เกิดการปราบปรามกลุ่มกบฏ เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่จุดจบของปรีดี พนมยงค์ ในเกมการเมืองไทย และเสรีไทยก็ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา
สาม กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494 ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีรับมอบเรือขุดสันดอน “แมนฮัตตัน” จากสหรัฐอเมริกาที่มอบให้ไทย พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ เป็นผู้รับมอบ ในช่วงนั้นเอง นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งใช้ปืนกลจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนำตัวจอมพล ป. ไปยังเรือหลวงศรีอยุธยาพร้อมกับคุมขังไว้ โดยกลุ่มกบฏยืนยันเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ว่า เพราะรัฐบาลบริหารราชแผ่นดินล้มเหลว กดขี่ประชาชน แสวงหาแต่อำนาจ ในวันถัดมา จนเกิดเหตุการณ์สู้รบกัน ทหารบกและทหารอากาศโจมตีทหารเรือ เครื่องบินกองทัพอากาศทิ้งระเบิดลงเรือหลวงศรีอยุธยาอันเป็นที่คุมขัง จอมพล ป. ทำให้นายกฯ รอดมาได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กองทัพเรือถูก “เช็คบิล” โดยการลดบทบาทของกองทัพเรือลง ยุบหน่วยงานบางส่วน เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสั่งการ และปลดทหารเรือราว 70 นาย
สี่ กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2494 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ทนายความ นักศึกษา และตั้งข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมีผู้ถูกจับกุม 104 คน หนึ่งในนั้นมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของปรีดี พนมยงค์ด้วย ในวันนั้นเอง กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่ามีคณะบุคคลสมคบกันสร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทย หากเกิดความวุ่นวายในประเทศก็จะเข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เหตุการณ์นี้นำไปสู่การสั่งฟ้องผู้ต้องหา 54 รายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งหนึ่งในผู้ที่อัยการสั่งฟ้องมีปาล พนมยงค์ บุตรชายของปรีดี พนมยงค์ด้วย ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุข มารดาของปาลถูกคุมขัง 84 วันและได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอจะฟ้อง ปาลถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจําคุก 20 ปี ซึ่งต่อมาได้รับการลดโทษลงเหลือ 13 ปี 4 เดือน
3) นิรโทษกรรมเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 50 พรรษา 3 ธันวาคม 2520 มีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรวันที่ 25-26 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มทหารนำโดย พลเอก ฉลาด หิรัญสิริ พยายามเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดการนิรโทษกรรม ถือว่าการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิด และให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกลงโทษในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดฐานบุกรุกตามคำสั่งนายกฯ พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หากถูกลงโทษก็ให้สิ้นสุดลงในวันที่กฎหมายใช้บังคับ ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่รวมถึงความผิดต่อชีวิตแต่อย่างใด
4) นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจากกรณีกบฏเมษาฮาวายหรือกบฏยังเติร์ก 1-3 เมษายน 2524 นายทหารกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ แต่พลเอกเปรมได้ตั้งกองบัญชาการตอบโต้และปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทหาร ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2524 จึงมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 และรัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดดังกล่าวเมื่อ 22 พฤษภาคม 2524 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวนิรโทษกรรมการกระทำความผิด “ในการก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจ” ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2525 โดยไม่ได้กำหนดกรอบฐานความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมไว้โดยเฉพาะ แต่ระบุว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช้บังคับกับผู้ที่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับ ต่อมา 12 มิถุนายน 2524 ก็มีการประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 ยกเลิกเงื่อนไขที่ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ไม่ไปรายงานตัว เท่ากับว่าผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวก็จะได้รับการนิรโทษกรรมตามกฎหมายด้วย
5) นิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติ 9 กันยายน 2528 พันเอกมนูญ รูปขจร หนึ่งในผู้ก่อการกบฏเมษาฮาวายที่ถูกให้ออกจากราชการ เป็นผู้นำก่อการเพื่อยึดอำนาจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยใช้กำลังทหารเข้ายึดสถานที่สำคัญ ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) แต่ท้ายที่สุดความพยายามในการยึดอำนาจก็ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานรัฐสภาจึงผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ประกาศใช้เมื่อ 27 กันยายน 2531 โดยกฎหมายดังกล่าวมุ่งนิรโทษกรรมการกระทำก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจระหว่าง 8-9 กันยายน 2528 ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้ถูกใช้ หรือผู้สนับสนุน ก็ได้รับการนิรโทษกรรม หากการกระทำผิดต่อกฎหมายให้ผู้กระทำพ้นความผิด ถ้าถูกดำเนินคดี ให้ปล่อยตัว
6) นิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติ หรือวาระที่รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 42 ปีเท่ากับรัชกาลที่ 5 วันที่ 30 สิงหาคม 2532 มีการประกาศพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 พระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งเน้นนิรโทษกรรมบุคคลที่ (1) กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (2) การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ (3) กระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิด (1) หรือ (2) ที่ไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยการกระทำดังกล่าวหากกระทำก่อน 2 กรกฎาคม 2531 ให้การกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิด ให้ผู้กระทำพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา ถ้ารับโทษอยู่ ให้การลงโทษสิ้นสุดลง
นิรโทษกรรมสืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ สามครั้ง
การนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์ชุมนุมทั้งสามครั้ง กฎหมายจะกำหนดขอบเขตด้านเวลาว่าหากกระทำสืบเนื่องจากการชุมนุมภายในวันใดบ้างจึงจะถูกนิรโทษกรรม แต่ไม่มีขอบเขตด้านฐานความผิด กล่าวคือ กำหนดไว้อย่างกว้างๆ ว่าหากการกระทำของบุคคลผิดกฎหมายใด ให้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ทุกฝ่าย “เลิกแล้วต่อกัน” ไปภายหลังเหตุการณ์ ทำให้ไม่ต้องเกิดการต่อสู้คดีความที่ยืดเยื้อ ยังทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีเอาผิดด้วย
1) นิรโทษกรรมจากการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 การชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญ โดยการชุมนุมในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในการสืบทอดอำนาจในหมู่จอมพล จากอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่จอมพลถนอม กิตติขจร ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน จึงออกมาชุมนุมกัน โดยเริ่มจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อ 5 ตุลาคม 2516 ในวันถัดมา กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเดินแจกใบปลิวและหนังสือ โดยมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเดินจากสนามหลวงไปถึงประตูน้ำ ทว่ากลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหามั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม จนนำไปสู่การชุมนุมและอภิปรายโจมตีรัฐบาลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ 8-13 ตุลาคม 2516 นำไปสู่การเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านถนนราชดำเนิน ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
การชุมนุมทอดยาวไปถึง 14 ตุลาคม 2516 ทว่าในช่วงประมาณตีห้า เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มสลายตัว ทหารและตำรวจก็ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมุนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ชุมนุมแตกรังและหนีเอาตัวรอด การปราบปรามผู้ชุมนุมยกระดับขึ้นเมื่อรัฐบาลให้ใช้รถถังและเฮลิคอปเตอร์เข้ามาปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งออกมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้าครึ่ง ปิดสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ การใช้ยาแรงของรัฐต่อผู้ชุมนุม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมจนท้ายที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกฯ ในคืนนั้น 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องคมนตรี และนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นนายกฯ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอมถอย วันที่ 15 ตุลาคม 2516 ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงยืนยันชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้กำลังและอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ทำให้ทหารและตำรวจบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้และเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล จนท้ายที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพล, ประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร (บุตรชายจอมพลถนอม บุตรเขยจอมพลประภาส) ก็หนีออกนอกประเทศไทยไป
ต่อมา 16 พฤศจิกายน 2516 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 กำหนดว่าการกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อ 13 ตุลาคม 2516 และกระทำระหว่าง 8-15 ตุลาคม 2516 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
2) นิรโทษกรรมจากการชุมนุม 6 ตุลาคม 2519 ในการชุมนุมดังกล่าวมีนักศึกษาประชาชนถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวา ซ้ำผู้ที่รอดชีวิตมายังถูกจับกุมภายในวันเดียวกันนั้นเอง และมีการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุม ผ่านไปเกือบสองปี 16 กันยายน 2521 จึงมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลที่กระทำระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หมายความว่า สำหรับผู้ที่กระทำความผิดฐานฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม ก็จะ “เหมาเข่ง” ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย นอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ศาลปล่อยตัวจำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย และให้จำเลยพ้นความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว
3) นิรโทษกรรมจากการชุมนุมพฤษภาทมิฬ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่รัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (บิดาของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์) เป็นหัวหน้ารสช. หลังจากนั้นจึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งก็คือบรรดารสช. โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น จนจัดทำรัฐธรรมนูญ 2534 ออกมาสำเร็จ
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ประเทศไทยก็เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญดังกล่าว แน่นอนว่ารสช. ก็สร้างกลไกการสืบทอดอำนาจเอาไว้ โดยหนึ่งในกลไกนั้นคือ พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 22 มีนาคม 2535 และสามารถรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลได้ โดยสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ
การชุมนุมขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกฯ ที่มาจากกลไกสืบทอดอำนาจ เริ่มตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2535 และชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน จน 20 พฤษภาคม 2535 เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม รัฐบาลจึงประกาศเคอร์ฟิว ช่วงดึกของคืนนั้นเองก็มีการฉายรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสัญญาณของการหันหน้าเข้าหากันเพื่อความสงบของบ้านเมือง สถานการณ์ในวันต่อมาจึงดีขึ้น
23 พฤษภาคม 2535 จึงมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 นิรโทษกรรมการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมระหว่าง 17-21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ "เหมาเข่ง" ยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม วันถัดมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เส้นทางของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่ได้จบลงง่ายๆ ส.ส. 154 คนได้เสนอเรื่องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ไม่เป็นประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ชี้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้พระราชกำหนดดังกล่าวตกไป ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติใช้จะใช้บังคับต่อไป แต่ก็ไม่กระทบกับการนิรโทษกรรมที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดดังกล่าว
นิรโทษกรรมในเหตุอื่น
นอกจากเหตุแห่งการนิรโทษกรรมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มบุคคลหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอีกสองครั้ง ดังนี้
1) นิรโทษกรรมแก่ผู้ต่อต้านการดำเนินสงครามญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เลือกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย
ด้านข้าราชการและประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยของรัฐบาลและต่อต้านการตัดสินใจดังกล่าว จนนำไปสู่การก่อตั้งองค์กรเคลื่อนไหว “เสรีไทย” ขณะที่ฟากรัฐไทยก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู พุทธศักราช 2485 กำหนดข้อห้ามติดต่อกับชนศัตรู หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถประกาศรายชื่อว่าเป็นชนศัตรูได้ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์สงครามโลก ข้าราชการสถานทูตหลายรายถูกไล่ออกจากราชการ
ท้ายที่สุด ญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากการโจมตีจากสหรัฐอเมริกาที่ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ 15 สิงหาคม 2488 สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะจึงประกาศว่าญี่ปุ่นยอมจำนนต้องฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันต่อมา ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ลงนามในประกาศสันติภาพ ยืนยันว่าที่รัฐบาลประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นการกระทำขัดต่อเจตจำนงของชาวไทยและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย
หลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขอร้องให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ ในสภาวะที่บ้านเมืองยังไม่สงบ 24 มีนาคม 2589 จึงมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ ซึ่งในรัฐบาลปรีดีนี่เอง ฝ่ายนิติบัญญัติก็ผ่านกฎหมาย และประกาศใช้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489 เมื่อ 30 เมษายน 2489 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการดำเนินสงครามของญี่ปุ่น
2) นิรโทษกรรมแก่ผู้ฟ้องคณะปฏิวัติ หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร 9 มีนาคม 2515 อดีตส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์สามราย คือ อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตส.ส.จังหวัดชลบุรี, อนันต์ ภักดิ์ประไพ อดีตส.ส. จังหวัดพิษณุโลก และบุญเกิด หิรัญคำ อดีตส.ส.จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องคณะปฏิวัติ ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้ากับพวกอีกรวม 17 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหากบฏ ปรากฏว่าอดีตส.ส. ทั้งสามคน ถูกเล่นงานโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 และต้องโทษจำคุก ต่อมาเมื่อสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ จึงประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 เมื่อ 25 มกราคม 2517 ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 และให้ปล่อยตัวอุทัย พิมพ์ใจชน, อนันต์ ภักดิ์ประไพ และบุญเกิด หิรัญคำ และถือว่าอดีตส.ส.ทั้งสามคนนั้นไม่ได้กระทำความผิด และไม่เคยต้องโทษตามคำสั่งคณะปฏิวัติดังกล่าว