เปิด “ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น” เพิ่มอำนาจประชาชนรวมตัวเสนอกฎหมายในบ้านตัวเอง

“องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ “อปท.” ตั้งแต่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), เทศบาล, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร คือหน่วยการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้ว พวกเรายังมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอ “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” หรือ “กฎหมายท้องถิ่น” เพื่อให้สภาท้องถิ่นที่พวกเรามีชื่ออาศัยอยู่พิจารณาได้



การเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยประชาชนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 รับรองสิทธินี้อยู่ อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน กำลังดำเนินการพิจารณาแก้ไขใหม่ให้เป็นไปตาม ม.254 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอข้อบัญญัติ โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ….” เป็นกฎหมาย และในวันที่ 13 กันยายน 2564 วุฒิสภามีมติรับหลักการ หรือ เห็นชอบในวาระแรก หากวุฒิสภาในวาระที่สาม จึงจะมีการทูลเกล้าเพื่อประกาศใช้ต่อไป

 



 



ใช้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,000 คน เสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น



โดยปกติผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อสภาท้องถิ่น ได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด แต่ทว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถใช้สิทธิเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ตามร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่กำหนดให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2,000 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อ อปท. ในเขตที่ตัวเองมีชื่ออยู่ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่เสนอต้องไม่อยู่ระหว่างห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

 



ให้ร่วมลงชื่อเสนอข้อบัญญัติออนไลน์ได้



ในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น มาตรา 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ที่เสนอต้องมีร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น จากนั้นให้ยื่นขอเป็น "ผู้เชิญชวน" ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ร่วมลงชื่อให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยการเชิญชวนจะทำเป็นหนังสือหรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องแนบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นไปพร้อมกัน อีกทั้ง การร่วมเข้าชื่อต้องมีหลักฐานแสดง ชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และข้อความแสดงให้เห็นว่าสมัครใจเข้าร่วมในการเสนอร่าง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและส่งไปยังสถานที่หรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด ทั้งนี้ มาตรา 13 กำหนดโทษว่า ผู้ใดกระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนดไม่เกินห้าปี



นอกจากนี้ มาตรา 8 ยังกำหนดให้การเข้าชื่อสะดวกขึ้น โดยกำหนดว่า ในกรณีที่กระทรวงมหาดไทย หรือ อปท. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวให้กระทำได้โดยไม่ลงลายมือชื่อก็ได้





ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น



เมื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กฎหมาย มาตรา 7 กำหนดให้ผู้ประสงค์เสนอข้อบัญญัติยื่นคำร้องต่อประธานสภาท้องถิ่น โดยคำร้องต้องประกอบด้วยเอกสาร ดังต่อไปนี้



1) เอกสารชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และข้อความแสดงให้เห็นว่าสมัครใจเข้าร่วมในการเสนอร่าง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ

2) ร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งต้องมีสาระสำคัญเป็นไปตามแบบที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น

3)รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อที่จะมีอำนาจดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอและการพิจารณาข้อบัญญัติท้องถิ่น จำนวนไม่เกิน 10 คน

4) คำร้องของผู้แทนผู้เข้าชื่อที่เสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น       



ทั้งนี้ร่างกฎหมายเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ยังกำหนดว่า กรณีมีการถอนการเข้าชื่อหรือตายภายหลังจากประธานสภารับคำร้องให้ถือว่าการเข้าชื่อยังคงมีผลอยู่ (มาตรา 7) หรือในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อ เมื่อหักลายมือชื่อปลอมดังกล่าวออกแล้วยังมีผู้เข้าชื่อครบจำนวน ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการเสนอสภาท้องถิ่นต่อไปได้ (มาตรา 10)





ให้ อปท. ช่วยจัดทำร่างข้อบัญญัติและเชิญชวนเข้าชื่อได้



การทำจัดร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นเสนอต่อสภาท้องถิ่นและการชักชวนให้ประชาชนผู้สิทธิร่วมเข้าชื่อ นอกจากจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ริเริ่มประสงค์จะเสนอข้อบัญญัติแล้ว ร่างกฎหมายเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น มาตรา 8 ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ประสงค์เสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้ อปท. ช่วยดำเนินการจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือช่วยดำเนินการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อ หรือทั้งสองกรณีก็ได้  



โดยผู้ประสงค์เสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องยื่นคำร้องต่อประธานสภาท้องถิ่น และให้ประธานสภาท้องถิ่นมอบหมายให้ปลัด อปท. ดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ร้อง ทั้งนี้มาตรา 13/1 กำหนดบทโทษ หากปลัด อปท. หรือ เจ้าหน้าที่ของ อปท. ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทน ไม่ปฏิบัติตามที่ประธานสภาท้องถิ่นมอบหมาย โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าเป็นความผิดวินัย และให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้นโดยเร็ว 





ขั้นตอนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นฉบับประชาชน



เมื่อประชาชนที่ต้องการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นรวบรวมรายชื่อครบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดขั้นตอนดังต่อไปนี้



ขั้นที่ 1 ให้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาท้องถิ่น พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 7) 



ขั้นที่ 2 เมื่อประธานสภาท้องถิ่นได้รับคำร้องให้ดำเนินการตรวจสอบคำร้องว่าถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ โดยต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ประธานสภาท้องถิ่นอาจมอบหมายให้ปลัด อปท. ดำเนินการแทนได้ (มาตรา 10) 



ขั้นที่ 3 ถ้าประธานสภาท้องถิ่นเห็นว่าร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ประชาชนเสนอมาถูกต้องครบถ้วนและเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ อปท. ให้ประธานสภาดำเนินการเสนอร่างบัญญัติต่อสภาท้องถิ่น (มาตรา 10) 



แต่ในกรณีที่ประธานสภาท้องถิ่นเห็นว่าคำร้องที่ได้รับไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้ยื่นคำร้องไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด (มาตรา 10)



หรือในกรณีที่ตรวจสอบแล้วเป็นร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ประธานสภาส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวไปยังผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อพิจารณารับคำร้องภายใน 30 วัน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นได้รับร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นแล้ว ให้พิจารณาคำร้องภายใน 15 วัน และมีหนังสือแจ้งไปยังประธานสภาท้องถิ่นเพื่อแจ้งผู้ยื่นคำร้องเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยเร็ว ทั้งนี้ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้คำรับรองให้แจ้งเหตุผลของการไม่ให้คำรับร้องด้วย (มาตรา 10/1) 



ขั้นที่ 4 ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นของสภาท้องถิ่นให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ผู้สิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอโดยให้สภาท้องถิ่นแต่งตั้งผู้แทนของผู้เข้าชื่อ ร่วมเป็นกรรมการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการวิสามัญทั้งหมด (มาตรา 11)



ทั้งนี้หากบรรดาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เสนอต้องตกไปเพราะเหตุอายุของสภาท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาท้องถิ่น ถ้าภายใน 120 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุมสภาท้องถิ่นครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง ผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติยืนยันเป็นหนังสือต่อประธานสภาท้องถิ่นให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อไป ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อสภาท้องถิ่นเพื่อพิจารณาโดยเร็ว (มาตรา 12)

ไฟล์แนบ