สภาเตรียมขยายช่วงอายุให้โอกาส “เด็ก” ไม่เกิน 12 ปี ทำผิดไม่ต้องรับโทษ

ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่รัฐบาลเสนอกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ประเด็นหลักมีเรื่องเดียว คือ เปลี่ยนช่วงอายุเด็กที่กระทำความผิดแล้วได้รับยกเว้น ไม่ต้องรับโทษ จากเดิมที่ขีดเส้นไว้ที่ 10 ปี เพิ่มเป็น 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ CDC 

ตามหลักการของกฎหมายอาญา ที่กำหนดว่าการกระทำใดเป็นสิ่งที่ผิด ต้องห้ามกระทำ และกำหนดโทษของการฝ่าฝืน มีมุมมองต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่เหมือนกับคนทั่วไป เพราะเด็กอาจจะอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การกระทำของเด็กอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือการสั่งสอนเลี้ยงดูมากกว่าเกิดจากจิตใจของเด็กนั้นๆ เอง การมุ่งเอาผิดลงโทษจึงอาจไม่เกิดประโยชน์ แต่ต้องมุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เรียนรู้ผลของการกระทำและปรับปรุงตัวเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

ประมวลกฎหมายอาญา จึงกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการเอาผิดกับเด็กไว้เป็นการเฉพาะใน มาตรา 73-76 โดยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้

1) เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี หากกระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ หมายความว่าสิ่งที่ทำนั้นยังนับเป็น “ความผิด” แต่กฎหมายไม่เอาโทษใดๆ กับเด็ก

2) เด็กอายุ 10-15 ปี หากกระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ทั้งเด็กและผู้ปกครอง วางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลเด็ก หากเด็กยังฝ่าฝืนให้ผู้ปกครองจ่ายเงินต่อศาลไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เด็ก หรือส่งไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม

3) เยาวชนอายุ 15-18 ปี หากกระทำความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบในแต่ละกรณี และอาจไม่สั่งลงโทษแต่ใช้มาตรการพิเศษเช่นเดียวกับเด็กอายุ 10-15 ปีก็ได้ หรือจะสั่งลงโทษก็ได้ แต่ให้ลดโทษลงมาครึ่งหนึ่ง

4) เยาวชนอายุ 18-20 ปี หากกระทำความผิด ศาลจะสั่งลงโทษโดยลดโทษครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 3 ก็ได้

วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกันยายน 2564 บรรจุร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องความรับผิดของเด็กไว้เป็น “เรื่องด่วน” ลำดับที่ 2 หลังร่างฉบับนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งถือว่ามีโอกาสสูงที่จะได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และเนื่องจากข้อเสนอครั้งนี้มีหลักการเพียงสั้นๆ จึงเชื่อว่ามีโอกาสจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้โดยไม่ใช้เวลามากจนเกินไป 

ข้อเสนอแก้ไขครั้งนี้ คือ การแก้ไขมาตรา 73 และ 74 โดยแก้อายุขั้นต่ำของเด็กที่ต้องเริ่มรับผิดทางอาญา จากเดิมที่มาตรา 73 กำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นอายุไม่เกิน 12 ปี 

มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบสองปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

แม้มาตรา 73 เพิ่งถูกแก้ไขมาเมื่อปี 2551 โดยขยายอายุเพิ่มจาก 7 ปี เป็น 10 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านมาสิบปีเศษก็กำลังจะถูกเสนอแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง เหตุผลในการเสนอแก้ไขครั้งนี้อ้างอิงถึง การกำหนดให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไปของสหประชาชาติ ฉบับที่ 10 (ค.ศ.2007) หรือ General Comment No.10 (2007) Children’s rights in juvenile justice) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of Child) และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

และในเอกสารบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญยังอธิบายว่า ร่างแก้ไขกฎหมายอาญาฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวมีความอ่อนด้อยในทางความนึกคิด ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อีกทั้งเป็นช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิด จึงไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี แต่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เพื่อฟื้นฟูให้เป็นประชากรที่ดีมีคุณภาพสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กได้เรียนรู้การกระทำความผิดจนนำไปสู่การกระทำความผิดซำ้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญยังได้เสนอแก้ไขมาตรา 74 เกี่ยวกับรายละเอียดวิธีการที่ศาลอาจพิจารณานำมาใช้กรณีเด็กอายุ 12-15 ปีกระทำความผิด โดยแก้ไขการจัดเรียงลำดับประเด็นสำคัญ การย่อหน้า แต่ไม่ได้แก้ไขหลักการสาระสำคัญตามที่มีอยู่ในกฎหมายเดิม 

ซึ่งมาตรการพิเศษที่ศาลอาจใช้กับเด็กอายุ 12-15 ปี มีดังนี้ 

1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป 

2. ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หากเด็กฝ่าฝืนให้ผู้ปกครองชำระเงินแก่ศาลครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท

3. ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตามข้อ 2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้ 

4. ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ 2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม 

5. ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี