“คุกซ้อนคุก” ชีวิตผู้ต้องขังในโควิดระลอกที่ 3

ท่ามกลางตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการออกมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงในหลายจังหวัดผ่านประกาศฉบับต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของ ‘กลุ่มผู้ต้องขัง’ ในเรือนจำที่มีมากกว่า 40,000 คน หรือคิดเป็น 9% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดในประเทศ   กลับไม่ได้รับความสนใจทั้งจากสังคมและภาครัฐเท่าที่ควรมากนักว่า ในการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งสถานการณ์น่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติกว่าระลอกที่ผ่านมา ผู้ต้องขังซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตในเรือนจำกันอย่างไรและทางราชทัณฑ์มีการออกมาตรการใดมารับสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรมบ้าง?
คุณ "บี" อดีตผู้ต้องขังหญิงแดนใน ทัณฑสถานหญิงกลางชวนไอลอว์เล่าถึงสถานการณ์ #โควิดเรือนจำ ที่เธอประสบระหว่างถูกคุมขังโดยหวังว่าคำบอกเล่าของเธอจะทำให้สถานการณ์ในเรือนจำได้รับความสนใจจากสาธารณชนซึ่งจะกระตุ้นให้ภาครัฐหาทางแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น 
คุณ "บี" ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำช่วงเดือนมีนาคม 2564 หลังถูกดำเนินคดีและศาลไม่ให้ประกันตัว เธอเข้าไปอยู่ในเรือนจำไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่ รุ้ง ปนัสยาถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 คุณ "บี" ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 หรือประมาณหนึ่งเดือนหลังรุ้งได้รับการประกันตัว โดยคุณ "บี" ระบุว่าเพียงหนึ่งวันหลังรุ้งได้รับการปล่อยตัวเรือนจำก็ประกาศมาตรการล็อคดาวน์อย่างฉบับพลันและสถานการณ์ในทัณฑสถานหญิงกลางหลังจากนั้นก็กลายเป็นเสมือนคุกซ้อนคุกที่ผู้ต้องขังต้องอยู่ในห้องขังเกือบ 24 ชั่วโมง
หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดในงานนี้มาจากการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564
ล็อกดาวน์ 24 ชั่วโมง: มาตรการใหม่หลัง ‘รุ้ง’ ออกจากเรือนจำ
คุณ "บี" เล่าว่า ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 หรือหนึ่งวันหลังรุ้งปนัสยาได้รับการประกันตัว ทัณฑสถานหญิงกลางออกมาตรการ ‘ล็อกดาวน์ 24 ชม.’ กักบริเวณผู้ต้องขังให้อยู่แค่ภายในเรือนนอน สามารถออกไปข้างนอกได้เฉพาะช่วงเวลาอาบน้ำ งดการเยี่ยมญาติ พบทนาย รวมทั้งงดการซื้อของกิน ของใช้จากร้านค้า โดยมิได้มีการชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนมาตรการที่เข้มงวดโดยฉับพลันแต่อย่างไร
“ตอนที่รุ้งยังอยู่ มันมีมาตรการแค่ว่าใครไปศาลหรือไปไหนมา ก็แค่กักตัว 14 วัน ซึ่งการกักตัว 14 วันนั้นมันก็ยังสามารถให้คนซื้อของฝากเข้ามาให้ได้ แล้วเราก็จะได้รับของกินพวกนั้น แต่ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาที่ผ่านมา มาตรการเปลี่ยน กลายเป็นว่าของกินของใช้ญาติส่งเข้ามาให้ไม่ได้ ซื้อของที่ร้านค้าในเรือนจำก็ไม่ได้ ไม่ได้เลยสักอย่าง กินได้แต่ของหลวง ข้าวหลวง อย่างเดียวเลย มันต่างกันแบบนี้เลย”
“ช่วงประมาณครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม เขา(เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์) ไม่พูดอะไรเลย ไม่บอกอะไรเลย จนกระทั่งมีเริ่มมาประกาศบ้างว่า เพราะพวกเธอไม่ดูแลตัวเองกันทำให้มีการระบาดในคุก คนในคุกก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองอยู่แต่ในคุก จะไปเอาโควิดมาจากไหน..”
นอกจากการกักบริเวณแล้ว คุณ "บี" ยังเล่าว่า ห้องที่เคยใช้สำหรับกักตัว 14 วันตามมาตรการเก่าก็หายไป ไม่มีผู้ต้องขังคนใดถูกกักตัวอีกต่อไปเนื่องจากทุกคนถูกพามาขังรวมกันในเรือนนอนทั้งหมดโดยปราศจากการจำแนก ความเปลี่ยนแปลงทางนโนบายที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเพียงชั่วข้ามคืนทำให้คุณ "บี" และผู้ต้องขังบางส่วนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ก่อนหน้านี้ราชทัณฑ์อาจระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากรุ้งปนัสยาเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในเรือนจำไปบอกเล่าต่อสังคมภายนอก
“ตอนที่รุ้งยังอยู่ในห้องกักตัว 14 วัน เราโดนจำหน่ายลงมาข้างล่างแล้ว คนในคุกก็จะบอกว่า อยากให้รุ้งลงมาไวๆ เผื่ออะไรๆมันจะดีขึ้นหน่อย เขาพูดอย่างนี้จริงๆ จะได้ดูทีวี หรืออะไรอย่างนี้..”
“จริงๆอันนี้มันเป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังหลายคนพูดมาตลอดเลย อย่างปกติตั้งแต่ห้องกักตัว 14 วัน เขาจะไม่ได้เปิดทีวีให้ดูทั้งวันทั้งคืน แล้วก็ไม่สามารถเติมอาหารได้มากขนาดนั้น แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังรุ้งมาในช่วงเดือนมีนาคม ผู้ต้องขังหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะช่วงกักตัวรุ้งเจอทนายบ่อย เขา(เรือนจำ)กลัวรุ้งออกไปพูด ”
“อันนี้เคยได้ยิน เขาบอกว่าตอนอาบน้ำก่อนใช้มาตรการโควิด มันจะมีอาบน้ำแบบขัน 8 ขัน แล้วถ้าอาบน้ำพร้อมกับรุ้ง มันจะเป็นที่รู้กันว่าเราจะแอบตักน้ำเพิ่มขันได้บ้าง หรืออย่างพอเราไปถึง เวลาแปรงฟันเราต้องแปรงแห้งนะ เขาจะไม่ได้ให้เราตักน้ำก่อน 1 ขันเพื่อบ้วนปาก แต่ถ้าเราอาบน้ำรอบเดียวกับรุ้ง เราทำแบบนั้นได้ เราจะแอบตักน้ำขึ้นมาครึ่งขันเพื่อเอามาลูบผมให้เปียกๆก่อนเขาจะนับขันแรก อันนี้ทำได้”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรากฏตัวของรุ้งจะทำให้เรือนจำลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆลงไปบ้าง แต่สำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง คุณ "บี" เล่าว่า ผู้ต้องขังส่วนมากไม่ได้มองนักโทษคดีการเมืองในแง่บวกเท่าไรนัก เธอเองมักได้ยินเพื่อนผู้ต้องขังพูดกันทำนองว่า “อย่าไปคุยกับคนนี้นะ มันโดน 112 เข้ามา” อยู่เสมอๆ
“จริงๆกลุ่มที่อยากให้ประกันออกไปได้ก็คือกลุ่ม 112 ด้วยนะ เพราะโดยส่วนตัวมองว่าเขาอยู่ในคุกลำบาก เขาอาจจะไม่ได้โดนทำร้าย แต่จากที่เคยอยู่มา มันจะมีแว่วมาตลอดว่า ‘พวกนี้แหละมันคัดค้านการลดโทษ อภัยโทษ’ คำพวกนี้ได้ยินในคุกตลอด…เขาชอบแซวๆกันว่า ‘พวกนี้ตีนเยอะ’ เลยรู้สึกว่าเขาน่าจะต้องเครียดกว่าคดีทั่วไป แล้วคนในคุกเหมือนเขาถูกปลูกฝังมาแบบนี้ ถูกปลูกฝังมาว่าพวกนี้ทำให้เขาต้องอยู่คุกนานขึ้น คนในคุกเหมือนเขาจะรักราชวงศ์ เพราะว่าให้อภัยโทษ ฉะนั้นก็เลยจะรักมาก คนที่โดน 112 เข้ามา เหมือนเขามีศัตรูเงียบๆอยู่ตลอดในคุก”
แมสก์เก่า-ช้อนเวียน-อาบน้ำ 15 วิ : เมื่อชีวิตประจำวันกลายเป็นความเสี่ยง
ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และจำนวนคนที่แออัด แม้ผู้ต้องขังพยายามที่จะรักษาความสะอาดหรือระยะห่างอย่างไรอย่างไร ก็ไม่อาจหลีกหนีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด19 โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารที่ต้องถอดหน้ากาก รวมถึงช่วงเวลานอนที่ไม่สามารถใส่หน้ากากนอยตลอดเวลาเนื่องจากอากาศหายใจไม่เพียงพอ มากไปกว่านั้น อุปกรณ์ป้องกันเชื้อพื้นฐานอย่างหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือก็มีไม่เพียงพอ
"มันนั่งห่างไม่ได้ เขาให้ทุกคนกินข้าวในห้อง เลยต้องนั่งติดเป็นแพอย่างนั้นแหละ แล้วบางคนก็ต้องตีล้อมวงบ้างเพราะว่าที่มันไม่พอนั่ง พื้นที่มันแคบมาก ก็ต้องหามุม คือมันเบียดมาก”
“จริงๆจากที่อยู่ข้างใน คนเขาก็อยากจะใส่ (หน้ากาก) อยู่ แต่เนื่องจากว่าห้องมันร้อนมาก คนมันแน่นเกินไป มันทำให้พอเวลานอน.. ตอนนอนก็ใส่ทุกคนแหละ แต่พอตื่นมา นั่งมองหน้าแต่ละคนนี่แบบ หน้ากากก็ไม่ค่อยอยู่กันแล้ว เพราะว่าเวลาเขาหลับ เขาคงแกะออกโดยไม่รู้ตัว”
“ช้อนเป็นอีกอย่างที่ขาดแคลน ตอนที่ล็อกดาวน์แล้วซื้อของไม่ได้ คนที่ไม่ได้ซื้อเอาไว้ หรือซื้อแล้วดันหาย ก็จะไม่มีช้อนใช้ อย่างห้องที่เราอยู่ก็มีบางคนเวียนช้อนกันนะ พอคนหนึ่งใช้เสร็จอีกคนก็จะเอาไปล้างน้ำเปล่าแล้วเอามาใช้ต่อ ในเรือนจำเรื่องการขโมยของมันเกิดขึ้นบ่อย นอกจากช้อนก็ยังมีขโมยผ้าถุง ขโมยสุ่มอาบน้ำ ช่วงล็อกดาวน์ขโมยจะยิ่งเยอะเพราะซื้อของไม่ได้ คนไม่มีใช้บางคนก็ใช้วิธีขโมยเอา"
“เขาก็ประกาศนะว่าเขาจะเอาน้ำยาล้างมือให้ แล้วต้องล้างมืออย่างเดียวนะ ห้ามเอาไปซักแมสก์ ทุกคนก็เข้าใจตรงกันว่าล้างมือ แต่สิ่งที่เขาเอาเข้ามาให้มันคือสบู่เหลวผสมน้ำประมาณ 80% สบู่เหลวแค่ 20% คือสบู่อยู่ตรงไหน มีแต่กลิ่น ผสมมาแบบเจือจางมาก ซดเข้าปากไปก็ไม่น่าจะตาย มันจางขนาดนั้น ไม่เว่อ จางขนาดนั้นจริงๆ”
ทั้งนี้ ‘การอาบน้ำ’ ที่ควรเป็นกิจกรรมที่สะอาดที่สุด กลับกลายเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด คุณ "บี" เล่าว่า ระบบการอาบน้ำภายหลังมาตรการล็อกดาวน์ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นการอาบแบบ ‘ไหล่ชนไหล่’ อีกทั้งยังเร่งเวลาอาบมากขึ้น เพื่อที่ผู้ต้องขังจะได้กลับเข้าไปที่เรือนนอนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“ผู้ต้องขังที่จะได้ออกไปอาบน้ำนอกห้องขังจะเป็นห้องที่มีคนติดเชื้อโควิดไม่มาก มันมีห้องนึงที่ผลออกมาว่าติด 80 คน ห้องนั้นโดนล็อกดาวน์ 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบเลย ต้องอาบน้ำในห้องขัง ตักขันอาบน้ำ-ซักผ้าในห้องนั้นเลย ห้องนี้ไม่ได้ออกเลย 24 ชั่วโมง ไม่ได้ออกเลยจริงๆ”
“ก่อนล็อกดาวน์ การอาบน้ำข้างนอกจะเป็นการอาบแบบตักด้วยขันจากอ่างน้ำรวม แล้วเขาจะให้สัญญาณโดยตะโกนเอาว่าขันที่ 1 ขันที่ 2 อะไรแบบนี้”
“พอเปลี่ยนเป็นมาตรการล็อกดาวน์ เขาไม่ให้ใช้ขันแต่เปลี่ยนเป็นการอาบน้ำแบบรางบัว รางบัวคือท่อน้ำเจาะรูเล็กๆให้น้ำไหลออกมาซึ่งเป็นวิธีการอาบที่ทุกคนรังเกียจมาก เพราะมันไม่สะอาด น้ำมันจะไหลเบามาก แล้วเขาจะนับ 15 วิ ถึงจะนับช้าแต่ก็ไม่สะอาดเพราะน้ำไหลเบามาก การอาบก็ยืนอาบกันแบบไหล่ชนไหล่ แปรงฟันกันอยู่ตรงนั้น กระเด็นกระดอนใส่กัน เวลาบ้วนปากบางทีก็บ้วนไปโดนเท้าคนข้างหน้า" 
หลังเรือนจำใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นและผู้ต้องขังไม่อาจซื้อของจากร้านค้าภายในเรือนจำได้ ผู้คุมก็เปลี่ยนมาใช้วิธีให้ผู้ต้องขังเบิกของใช้ ซึ่งมาจากการบริจาคของคนภายนอก
“ก็ขาดแคลนค่ะ เพราะว่าอย่างพวกเจล เจลล้างมือพระราชทาน ใช้เสร็จเขาบอกว่าให้เก็บขวดไว้นะ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะเอาไปเติม สุดท้ายหมดแล้วก็ไม่เคยมีการเติม คือตั้งแต่ 7 พฤษภาเราได้เติมครั้งเดียว หลอดเล็กๆ แล้วก็ไม่เคยได้เติมอีกเลย แล้วจากนั้นก็จะได้มาอีกบ้าง เวลาที่มีคนเขาบริจาคมา”
“พอมีคนมาบริจาคหน้ากากเข้ามา เขาก็จะเฉลี่ยให้เราคนละ 5 แผ่นบ้าง 10 แผ่นบ้าง ซึ่งตอนที่เราอยู่ได้รับประมาณ 2 ครั้ง คนที่เขาไม่มีจริงๆ เขาก็พยายามไม่ใช้อันใหม่ เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาต้องอยู่ตรงนี้อีกนานแค่ไหน เขาก็รอให้อันเดิมมันย้วยไปก่อนถึงเปลี่ยนไปใช้อันใหม่”
“ในห้องมันไม่มีที่ตาก (หน้ากาก) ผู้ต้องขังบางส่วนใช้วิธีเอาขวดน้ำมาแขวนหน้ากาก บางคนที่มีเพื่อนจะเอาขวดน้ำมาวางคู่กันแล้วกางหน้ากากตากบนนั้น"
“ใช้คำว่า ‘ขอเบิกของหลวง’ พอมาตรการแรงๆ ปิดร้านค้า ของใช้ก็เริ่มจะหมดใช่ไหม เช่น ยาสีฟันหมด เขาก็จะให้ยาสีฟัน 1 หลอด ต่อนักโทษ 2 คน ก็คือให้นักโทษจับคู่กันเอง แล้วก็ใช้ยาสีฟันปนกันอย่างนั้นแหละค่ะ ถ้าสบู่เราหมด เขาก็ต้องได้เห็นว่าสบู่เราหมดจริงๆ ในขันอาบน้ำของเราไม่มีสบู่จริงๆเขาถึงจะให้ บางคนเขาก็ละอายใจนะที่ต้องไปขอ”
“เรื่องสุขลักษณะอนามัยในเรือนจำช่วงกักตัวสำหรับผู้หญิงถือว่าลำบากมากโดยเฉพาะการเข้าถึงผ้าอนามัย พอเราซื้อของไม่ได้ก็ต้องรอรับแจก ซึ่งผ้าอนามัยที่ได้จะเป็นแบบใช้กลางวันอย่างเดียว เราจะขอได้เฉพาะตอนออกไปอาบน้ำ เช้าแผ่น เย็นแผ่น แค่นั้น หรือเต็มที่ถ้าเราบากหน้าขอเยอะๆหน่อยเขาก็ให้ 2 แผ่น แล้วที่แย่ที่สุดคือช่วงหลังๆก่อนที่เราจะออกจากเรือนจำมีมาตรการใหม่คือผู้ต้องขังต้องเปิดให้เจ้าหน้าที่ดูว่ามีประจำเดือนจริงๆ อันนี้คือเรื่องจริงเลย ตอนเขาประกาศนี่แบบ ขนาดนั้นเลยหรอ? แต่เราโชคดีที่เราไม่ต้องขอแบบนั้น เพราะเรามีผ้าอนามัยอยู่ในล็อกเกอร์อยู่แล้วเลยใช้ผ้าอนามัยตัวเอง ไม่ได้ต้องไปขอเขา แต่คนที่ต้องไปขอ  เขาขอดูเลยนะว่าเป็นประจำเดือนจริงไหม ถึงจะยอมแจกผ้าอนามัยให้..”
เมื่อถามถึงมาตรการ Social Distancing ในห้องขัง คุณ"บี" ปฏิเสธอย่างทันควันว่าไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ นอกจากวันนั้นจะมีช่างภาพมาเก็บภาพ
“ไม่มี (การเว้นระยะห่าง) ทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าเรื่องสร้างภาพนี่มีอยู่จริงไหม มีอยู่จริงนะ เพราะว่าวันที่เขามา swab จมูกให้ เขาจะค่อยๆปล่อยนักโทษออกไปทีละ 10-20 คนต่อห้องให้ออกไปตั้งแถวข้างนอก แล้วตอนตั้งแถวข้างนอกเนี่ย แหม social distancing มากเลยค่ะ ทุกคนนั่งถ่ายรูปกันสวยงามมาก บอกเลย พอ swab เสร็จ เข้าห้องก็สภาพเดิมเลย หมูในคอกเหมือนเดิม”
"กว่าจะได้พบแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย” 
ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 ที่ได้จากคุณ "บี" คือ ทางราชทัณฑ์จะมีการตรวจหาเชื้อทุกๆเจ็ดถึงแปดวัน หากพบว่าผู้ต้องขังติดเชื้อก็จะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากแต่ในสภาพความเป็นจริง โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็เรียกได้ว่าแทบจะเต็มอยู่ตลอดเวลา
“ถ้าติด ก็รักษาที่นี่แหละ ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็รักษาตามอาการนะ จะออกไปรักษาข้างนอกก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องหาโรงพยาบาลเองให้ได้ก่อน แล้วก็จ่ายค่าใช้จ่ายเอง แค่นั้นเอง เขาพูดแบบนี้ ถ้ารักษาฟรีก็คือรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์นี่แหละ แต่ว่าตอนที่ถามไป โรงพยาบาลราชทัณฑ์มันก็เต็ม เขาก็จะให้ไปรักษาในแดนนอก ก็คือคุกอะ”
“จะพูดยังไงดี คือพ่อเราก็ติดเข้าไปคดีเดียวกับเรา แต่ว่าพ่อเสียแล้ว เสียในเรือนจำ เพราะว่าโควิดนี่แหละ ก็เลยรู้ว่ามาตรการเขามันค่อนข้างจะแย่มากเลย ก็คือพ่อเสียชีวิตในนั้นแหละ ตั้งแต่เดือนพฤษภาแล้ว ฉะนั้นถ้าถามเรื่องมาตรการโควิด จากที่รู้จากครอบครัวเรานะ เจ้าหน้าที่เรือนจำเพิ่งจะโทรมาบอกแม่ว่า พ่อป่วยหนักแล้ว ตอนโทรมาใช้คำว่า ‘วิกฤตแล้ว’ ตอนป่วยเฉยๆไม่โทร โทรตอนวิกฤติแล้ว แล้วก็โทรอีกทีคือตอนที่ลงปอด แล้วย้ายออกไปโรงพยาบาลภูมิพล แล้วพ่อก็ไปเสียที่โรงพยาบาลภูมิพล”
ปัญหาจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอในช่วงการระบาดทำให้การเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาลอาการป่วยทั่วไปในเรือนจำเป็นเรื่องที่ยากกว่าเดิม คุณ "บี" เล่าถึงเพื่อนผู้ต้องขังหลายคนของเธอที่ต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยนานร่วมเดือนโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
“การเข้าถึงสถานพยาบาลในนั้นมันก็ลำบากแต่แรกอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีโควิดการเข้าถึงการรักษาพื้นฐานก็เป็นเรื่องยาก เรามีเพื่อนผู้ต้องขังที่มีอาการกลืนอาหารไม่ลง ขนาดกลืนน้ำเปล่าก็ยังไม่ค่อยลง เขาก็เลยสงสัยว่าจะมีเนื้องอก คือเป็นมาเป็นเดือนแล้ว หมอก็ให้แต่ยาแก้กรดไหลย้อน ซึ่งมันกินแล้วมันไม่หาย เขาขอส่องกล้องก็ไม่ให้ส่องกล้อง”
“เสาร์-อาทิตย์ จะเป็นวันที่จดยาไม่ได้ ความหมายของคำว่าจดยาคือ ถ้าเรามีอาการป่วย เขาจะให้เราไปจดยา ไหนบอกมาซิอาการเป็นอะไร แล้วเขาถึงจะจดยา แล้ววันรุ่งขึ้นถึงจะได้ยา”
“ทุกอย่างก็ได้แต่ยาพาราเซตามอลแต่ไหนแต่ไร จะไปข้างนอกที จะถูกส่งไปสถานพยาบาลที่มีหมอจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้มีใครไป ยกเว้นว่าจะเป็นโรคหนักๆเลย เอาจริงๆตั้งแต่อยู่มา หลังวันที่ 7 พฤษภายังไม่เคยเห็นใครได้ไปสถานพยาบาลเลย”
เหมือนโลกคนละใบ: การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกตัดขาด
คุณ "บี" เล่าว่า นอกจากไม่มีการให้ความรู้เรื่องการป้องกันเชื้อโควิด19 แล้ว ผู้ต้องขังทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ราวกับถูกปิดตายและตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง
“ไม่มี ไม่แจ้ง สัปดาห์นึงจะพูดออกไมค์ครั้งนึงว่า โควิดมันไม่ได้น่ากลัวอะไรอย่างที่คิดหรอกนะ มันติดแล้วเดี๋ยวเอาไปรักษาแล้วเดี๋ยวก็หาย จะชอบพูดแบบนี้เรื่อยๆเลย ไม่รู้ว่ามันเป็นการให้กำลังใจหรืออะไรก็ไม่รู้ แต่เขาจะพูดอย่างนี้ ส่วนข่าวจากด้านนอก เมื่อก่อนมันจะมีให้ดูเรื่องเล่าจากเรือนจำ แต่ตั้งแต่ 7 พฤษภาก็ไม่มีเลย ข่าวแน่นอนว่าไม่ได้ดูอยู่แล้ว ทั้งวันเขาก็จะเปิดแค่เพลง เปิดซีรีส์จีน วนไปอย่างเดียว”
“เขาจะบอกแค่ นักโทษติดเยอะมากแล้วนะ มีวันนึงที่เขาหลุดข้อมูลว่า อยู่กัน 4,000 กว่าคน เหลือคนไม่เป็นอยู่แค่ 1,000 กว่า แต่ถ้าเป็นส่วนของผู้คุม เขาไม่บอกเลยว่ามีผู้คุมติดกี่คน ไม่รู้เลย”
“ไม่มีอัพเดท (ตัวเลขผู้ติดเชื้อ) เขาบอกแค่วันนั้นวันเดียวเลย แล้วก็ไม่มีอัพเดทอะไรอีก อยากทำอะไรก็ทำเลย อยู่ๆก็เอาคนจากแดนนอกโยกเข้ามาไม่บอก อย่างห้องเรา swab ไปครบหลายรอบ ซึ่งผลออกมาว่า ไม่มีคนเป็นเลยนะ แต่ภายในวันเดียวกัน ผู้คุมก็ไปเอานักโทษจากห้องอื่นย้ายเข้ามาในห้องเรา โดยที่นักโทษกลุ่มนั้นยังไม่ได้ swab”
เมื่อเป็นเช่นนี้ คืนสุดท้ายก่อนที่คุณ "บี" จะได้รับการปล่อยตัว นั่นจึงกลายเป็น ‘คืนแห่งความหวัง’ ของผู้ต้องขังหลายคนที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว รวมทั้งต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงความลำบากในเรือนจำ ภายหลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์นี้
“จริงๆวันที่เราได้ออกมา คนในคุกเขาก็ฝากความหวังกันหลายคนว่าช่วยเอาเรื่องโควิดในคุกไปเล่าด้วยนะ ให้ทุกคนเขาได้รู้ว่าอยู่กันยังไง มีแต่คนฝากให้จำเบอร์โทรศัพท์ญาติๆเขา ฝากเยอะมาก แต่เราก็จะได้หมดนะ ท่องทั้งคืน เพราะคืนนั้นไม่นอนเลย เราจำออกมาประมาณ 20 เบอร์ แล้วคำฝากของทุกๆคน ฝากแพทเทิร์นเดียวกันหมดเลย คือแค่อยากให้ที่บ้านรู้ ให้ครอบครัวรู้ ว่าข้างในมันลำบากมาก อยู่กันทรหดมาก แล้วก็อยากให้รู้ว่าโควิดในคุกระบาด เพราะเขาไม่รู้เลยว่าข้างนอกรู้รึยังว่าข้างในมันแย่มากนะ ซึ่งเราก็ทยอยโทรบอกไปหมดแล้ว ทยอยโทรตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ออกมาแล้ว”
มาตรการหยุดเชื้อกับ ‘ความตึงเครียด’ ในเรือนนอน
เมื่อถามถึง ‘อาการป่วย’ ที่พบในช่วงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ คุณ B ได้เล่าถึงบรรยากาศซ้ำๆที่เธอต้องพบเจอทุกค่ำคืนในเรือนนอน นั่นคือภาพของผู้ต้องขังที่อยู่ในสภาวะ ‘แปรปรวนทางอารมณ์’ และส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยมากขึ้น นอกจากนั้น สภาพจิตใจของเธอเองก็ย่ำแย่ แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตามที
“ก็มีแค่พวกโรคทางจิตเวช บางคนก็เครียดบ้าง คือตั้งแต่มันล็อก 24 ชม. คนมันเครียดมากเลยนะ คนมันจะทะเลาะกัน จากคนปกติ เจอกันตอนเวลาเตรียมเข้านอน เขาก็จะไม่ทะเลาะกัน แต่นี่กลายเป็นว่าในห้องเราเอง คนทะเลาะกันก็เยอะ มีตีกันบ้าง มีเอาหัวโขกผนังกันเองบ้าง ทำร้ายตัวเอง”
“ยังจำได้แม่นเลยว่ามันแย่ตั้งแต่ที่เริ่มโดนกักแล้ว คือติดคุกเราก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว เราอยู่รอทุกวันเพื่อรอดูว่าทนายกำลังทำอะไรอยู่ เรื่องเราไปถึงไหนแล้ว แล้วอยู่มาวันนึงก็โดนตัดสิทธิ์ขาดหมด ทนายห้ามเจอ มาขัง 24 ชั่วโมง อาบน้ำโดนเร่งขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่เราเข้าไป เราไม่เคยกินข้าวหลวงเลยเพราะมันกินแทบไม่ได้เลย เราต้องซื้อกินเอาตลอด กลายเป็นตอนนี้เราต้องมากินแบบนี้เพื่อกันตายหรอ มันหดหู่ไปหมด บวกกับสภาพคนที่เริ่มทะเลาะกันเก่งขึ้นในห้อง ตีกันบ้าง อะไรกันบ้าง”
“เราจำได้เลยว่าบางวันเรามองแฟ๊บในห้องน้ำ แล้วเราก็นั่งคิดว่าเอาให้มันจบไปเลยดีไหม มันไม่อยากอยู่แล้ว มันเครียดมาก ไม่รู้ต้องอยู่อีกนานแค่ไหน เพราะเรารอเจอทนาย แต่กลายเป็นว่าอยู่ๆเราไม่ได้เจอ มันเหมือน คนที่เริ่มจะฟุ้ง นึกออกไหม ฟุ้งไปทุกอย่างเลยว่าคนข้างนอกกำลังทำอะไรอยู่ ทำไมเรายังอยู่ที่นี่อยู่อีก”
“มันอยากจะตายมาก อยากจะตายทุกวัน มันไม่มีความสุขเล็กๆน้อยๆเลย แล้วพอออกมาก็สภาพจิตใจแย่กว่าเดิม เพราะเพิ่งมารู้ว่าพ่อก็เสียในเรือนจำจากคดีเดียวกัน ที่รอประกันเหมือนกัน ทั้งๆที่พ่อมีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน เก๊าท์ ความดัน โรคหัวใจด้วย แต่ศาลก็ไม่ให้ประกัน ยื่นเป็น 4-5 รอบก็ไม่ให้ประกัน สุดท้ายพ่อก็เลยติดโควิดเสียในคุกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ออกมาสภาพจิตใจเราพังกว่าเดิม..”
ลดความแออัด เร่งฉีดวัคซีนมีคุณภาพ ปรับปรุงสุขอนามัย” 3 ข้อเสนอเร่งด่วนต่อราชทัณฑ์
เมื่อถามถึง 3 สิ่งเร่งด่วนที่ราชทัณฑ์จำเป็นต้องทำเพื่อหยุดยั้งการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในเรือนจำ คุณ "บี" ตอบว่ามีสามอย่างคือ คืนสิทธิ์ประกันตัวให้ผู้ต้องขัง เร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ และปรับปรุงสุขอนามัยในเรือนจำ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังต้องเผชิญอยู่ในทุกๆวัน
“ข้อ (1) ยืนยันคำเดิมค่ะว่าถ้าคดีไม่ร้ายแรงต้องให้ประกันตัว เพราะในคุกมันแออัดเกินไป อยากให้พิจารณาตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะการที่คุกมันแน่นเกินไป ยังไงมันก็ป้องกันไม่ได้ อย่างคนที่รอรับคำฟ้อง คดีไม่ร้ายแรง คดีทั่วไป ก็ให้เขาประกันไปเถอะ จะติดกำไล EM หรือวางหลักทรัพย์ ถ้าเขาทำได้ ให้เขาทำไปเลย จะได้เหลือพื้นที่ให้สำหรับคนที่ไม่ควรประกันจริงๆ หรือกลัวหลบหนีจริงๆ”
“ข้อ (2) วัคซีนอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ซิโนแวค ถ้าจะไม่สามารถเอาคนออกไปได้เยอะขนาดนั้น ก็ฉีดวัคซีนที่มันดีกว่าซิโนแวค เพราะก่อนเราออกมาได้ฉีดไป 1 เข็ม คือซิโนแวค แต่ว่ายังฉีดไม่ครบทุกคนเลยนะ แล้วที่ห้องเราได้ฉีดก่อน เพราะเป็นห้องที่รวมคนป่วยกับคนแก่”
“ข้อ (3) คือเรื่องสุขลักษณะอนามัย ถ้ามีใครป้องกันอะไรตัวเองได้ก็ให้เขากันเถอะ อย่างเรื่องห้ามนักโทษใส่รองเท้าของตัวเอง และร้านค้าต้องเปิดตลอด ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ากลับไปเปิดตลอดหรือยัง เพราะถ้าเกิดว่ามีการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง เขาก็จะปิดร้านค้าอีกเหมือนที่เคยทำ อยากให้มันเปิดร้านค้าให้คนสามารถซื้อหน้ากาก ซื้อพวกของใช้ ผ้าอนามัย หรืออะไรก็ได้ เขาจะได้ไม่ต้องไปบากหน้าขอ ไม่ต้องไปเปิดผ้าอนามัยให้ดู อะไรก็ได้ที่ทำให้เขารู้สึกว่า มันสะอาดขึ้นด้วย ให้อาบน้ำนานกว่า 15 วิได้ไหม 15 วินี่รวมแปรงฟันสระผม มันคืออะไร โควิดก็จะไม่เอา อาบน้ำก็จะไม่ให้สะอาด.. ไม่น่าใช่”
แต่ถ้าถามเรา ข้อ 1 นี่สำคัญที่สุดแล้ว คนน่าจะติดกันหลักๆเวลานอน เพราะมันนอนกันเป็นไหล่ชนไหล่ ตะแคงได้อย่างเดียว มันติดกันตอนนี้แหละ”