แก้รัฐธรรมนูญ: สำรวจข้อเสนอ “ระบบเลือกตั้ง สสร.” ผ่านคำ แปรญัตติ

ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ. แก้รัฐธรรมนูญฯ) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลเสนอให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และมาจากการสรรหาจากกลุ่มต่างๆ อีก 50 คน

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากการขอสงวนคำแปรญัตติ หรือ ขอสงวนความเห็นเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาปรับแก้ในประเด็นดังกล่าว จะพบว่า มีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง สสร. ไว้อย่างน้อย 5 แบบ ดังนี้

1. ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 256/1 ว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” และในมาตรา 256/5 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในการเลือกตั้งสมาชิิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง”

จากทั้งสองมาตรา สรุปได้ว่า วิธีการได้มาซึ่ง สสร. จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยระบบเลือกตั้งแบบนี้จะคล้ายกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของตัวเอง เพียงแต่รอบนี้ใช้ ‘จังหวัด’ เป็นเขตเลือกตั้ง ดังนั้นในหนึ่งเขตหรือหนึ่งจังหวัดอาจจะมีผู้แทนหรือ สสร. ได้มากกว่า 1 คน แต่ทว่าประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกคนได้เพียงเบอร์เดียว

อย่างไรก็ดี จากงานศึกษาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งพบว่า ระบบเลือกตั้งแบบใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง “หนึ่งคน-หนึ่งเสียง” มีส่วนทำให้กลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มที่เป็นเสียงข้างน้อยในพื้นที่ยังสามารถแข่งขันทางการเมืองได้ แต่กลุ่มผู้ที่มีความนิยมในพื้นที่หรือกลุ่มที่มีเครือข่ายอิทธิพลในท้องถิ่นจะมีความได้เปรียบ และทำให้การแข่งขันทางการเมืองเป็นการแข่งขันในเชิงตัวบุคคลมากกว่าการแข่งขันทางนโยบาย

2. ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ข้อเสนอในการใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งปรากฎครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 100,732 คน ได้ร่วมกันเสนอ โดยระบบเลือกตั้งดังกล่าวมีผู้ขอสวนคำแปรญัตติให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้อยู่หลายคน ได้แก่ ส.ส. พรรคก้าวไกล อาทิ ธีรัจชัย พันธุมาศ และ รังสิมันต์ โรม โดยขอแก้ไขในมาตรา 256/1 ไว้ว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง”

โดยระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะคล้ายๆ กับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ที่ประชาชนกาบัตรหนึ่งใบเลือกคนหรือพรรคแล้วนำคะแนนทั้งประเทศมาคำนวณที่นั่ง ซึ่งระบบเลือกตั้งนี้จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครที่ตนชอบหรือมีนโยบายที่ตนเองชอบได้มากที่สุด โดยไม่ต้องติดข้อจำกัดเรื่องเขตเลือกตั้ง และทำให้ผลการเลือกตั้งที่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนในระดับประเทศและเป็นระบบที่ทำให้มีตัวแทนตามสัดส่วนที่แท้จริงของกลุ่มประชากรได้ ยกตัวเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ก็มีโอกาสที่จะมีตัวแทนของตัวเองมากขึ้น

3. ใช้ทั้งประเทศและจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ข้อเสนอของระบบเลือกตั้งแบบใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมผสาน และมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (Parallel) คล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2554 ที่มีทั้งระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพียงแต่ระบบเลือกตั้ง สสร. นี้ จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเท่านั้นเอง

สำหรับ ส.ส. ที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว คือ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, วรรณวิภา ไม้สน, ธัฐวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และอื่นๆ รวม 16 คน ซึ่งขอแปรญัตติในมาตรา 256/1 ไว้ดังนี้

“มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่งร้อยคน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่งร้อยคน”

4. ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งร่วมกับการสรรหา

ข้อเสนอของระบบเลือกตั้ง สสร. ที่มีการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งร่วมกับระบบการสรรหา สสร. ปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคฝ่ายรัฐบาล ที่เสนอให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 150 คน และให้อีก 50 คน มาจากการสรรหาคัดเลือกจากรัฐสภา ที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมตัวแทนกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยผู้ที่ขอสงวนคำแปรญัตติให้ใช้ในรูปแบบดังกล่าว คือ สมชาย แสวงการ ส.ว.

ส่วนผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในประเด็นที่มีความใกล้เคียงกัน ก็อย่างเช่น วีรกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 190 คน และให้ 10 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 

หรืออย่าง จิรายุ ห่วงทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เสนอให้มี สสร. 250 คน มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และอีกให้ 50 คน ให้มาจากการ 3 ช่องทาง คือ

  1. 20 คน มาจากคัดเลือกของรัฐสภา โดยห้ามมิให้ผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และพวกบริวารว่านเครือ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
  2. คน มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องไม่มีประวัติในการส่งเสริมการทำรัฐประหาร หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  3. 15 คน มาจากการคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี โดยแบ่งตามภาคของประเทศให้สมดุลตามประชากรของประเทศ โดยให้ผู้ที่มีความสนใจในระบอบการเมืองการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

5. ใช้การสรรหาทั้งหมด

ในข้อเสนอวิธีการได้มาซึ่ง สสร. โดยไม่ใช่การเลือกตั้งแต่ให้ใจการสรรหาทั้งหมด เป็นข้อเสนอของ ‘เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์’ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เสนอให้แก้ไข มาตรา 256/1 โดยกำหนดให้มีที่มาดังต่อไปนี้
(1) บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบจำนวน 100 คน ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 50 คน และบุคคลภายนอกที่มาจากการเสนอชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 50 คน
(2) บุคคลที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบจำนวน 70 คน ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 35 คน และบุคคลภายนอกที่มาจากการเสนอชื่อของวุฒิสภา จำนวน 35 คน

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์