รัฐบาลคุมเกมแก้รัฐธรรมนูญใน กมธ. เบ็ดเสร็จ ตั้ง ส.ว. ที่ “ไม่เห็นชอบ” มาด้วย

18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งสองร่างมีหลักการสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “สสร.” เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ห้ามแก้ไข “หมวด 1 หมวด 2” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ขั้นตอนต่อไปของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกพิจารณาในวาระที่สองโดย “คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….” หรือ “กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ” จำนวน 45 คน ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ประกอบไปด้วยทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยจำนวนตามสัดส่วนของแต่ละพรรคในสภา

รัฐบาล และ ส.ว. คุมเกมแก้รัฐธรรมนูญเบ็ดเสร็จ

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ จำนวน 45 คน ถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็น ตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 13 คน พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจำนวน 17 คน และวุฒิสภา 15 คน ซึ่งหากรวม กมธ. สัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาลกับวุฒิสภาแต่งตั้งจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลกุมเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย กมธ. จำนวน 32 คน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 คือ ยกแรกของการประชุมของ กมธ. แก้รัฐธรรมนญฯ มีการเลือกประธาน กมธ. ชุดนี้ โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่าง “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กับ “ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ผลเป็นไปตามคาด วิรัช ได้คะแนนโหวต 27 เสียง เป็นประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ส่วน ชลน่าน ไดคะแนนโหวต 12 คะแนน

การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณา โดยโมเดล สสร. ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ คือ มี สสร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คน รัฐสภาเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 20 คน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มาจากกระบวนการของ กกต. 10 คน ทั้งกรอบเวลาในการพิจารณา กมธ.ฯ วางไว้ 45 วัน โดย วิรัช ประธาน กมธ.ฯ คาดว่า จะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนมกราคม และลงมติวาระสามในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

สัดส่วน กมธ. แก้รัฐธรรมนูญฯ

พรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคร่วมรัฐบาลวุฒิสภาแต่งตั้ง
๐ พรรคเพื่อไทย 8 คน
๐ พรรคก้าวไกล 3 คน
๐ พรรคเสรีรวมไทย 1 คน
๐ พรรคประชาชาติ 1 คน
๐ พรรคพลังประชารัฐ 8 คน
๐ พรรคภูมิใจไทย 4 คน
๐ พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน
๐ พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
๐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน
๐ วุฒิสภาแต่งตั้ง 15 คน
สัดส่วนฝ่ายค้าน 13 คนสัดส่วนฝ่ายรัฐบาล 17 คนสัดส่วนวุฒิสภาแต่งตั้ง 15 คน

10 ส.ว. “ไม่รับหลักการ” ตั้ง สสร. แต่ได้เป็น กมธ. พิจารณารายละเอียด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. มีโมเดลหลักอยู่สามโมเดล คือ “โมเดลพรรคร่วมรัฐบาล” ให้ สสร. มาจาการเลือกตั้ง ผสมการแต่งตั้ง หรือ “โมเดลพรรคเพื่อไทย” ที่ให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งทั้งสองโมเดลเป็นสองร่างรัฐธรรมนูญที่สภารับหลักการ และ “โมเดลภาคประชาชน” ที่ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนจะถูกปัดทิ้งไป แต่ กมธ.จะยกขึ้นมาประกอบในการพิจารณาด้วย

แม้ยังไม่แน่ชัดว่าโมเดล สสร. สุดท้ายที่ออกมาหลังการพิจารณาโดย กมธ. ชุดนี้จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร แต่ชัดเจนว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มี สสร. เพื่อเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตามในบรรดา กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ จำนวนทั้ง 45 คน พบว่า มี 10 คน ที่ “ไม่” ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้มีการตั้ง สสร. ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ว. และในจำนวนนั้นมี 2 คน ที่ “ไม่” ลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างใดเลย คือ มหรรณพ เดชวิทักษ์ และ เสรี สุวรรณภานนท์

แก้รัฐธรรมนูญไม่ง่าย อุปสรรคหลัก คือ ส.ว.

จากสัดส่วน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ฝั่ง ส.ว. 15 คน มีจำนวนถึง 10 คน ที่ไม่ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มี สสร. ข้ออ้างที่ ส.ว. แต่งตั้ง ในฐานะ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ยกขึ้นมาคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น หากมีการแก้ไขอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ยกเว้นจะแก้ไขรายมาตรา หรือหากจะแก้ไขทั้งฉบับจะต้องนำไปออกเสียงประชามติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านประชามติมาแล้ว

จากข้ออ้างของ ส.ว. แต่งตั้งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. ยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เห็นด้วยกับการตั้ง สสร. และหากโมเดล สสร. ไม่เป็นไปตามที่ ส.ว. แต่งตั้งต้องการ อาจส่งผลให้เสียงของ ส.ว. ไม่ถึงในการลงมติวาระที่สาม ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ รวมทั้งหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง สสร. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยในการถ่วงเวลาและคว่ำร่างรัฐธรรมนูญออกไป

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย