คนเคย “โหวตเยส” 94% ได้ข้อมูลไม่พอ คิดใหม่แล้ว 83% ไปร่วมชุมนุม

นับแต่วันลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติแล้วกลายเป็นที่มาของระบอบการเมืองที่ไม่ปกติ และเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ มิติ ทั้งประเด็นการรับรองสิทธิเสรีภาพในรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การรับรองให้การกระทำใดๆ และคำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จัดทำโดย คสช.

การบังคับใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เห็นปัญหาความไม่ปกติทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องในการ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ และข้อเรียกร้องดังกล่าวยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จนเป็นที่รับรู้ของคนวงกว้าง เห็นได้จากการรวบรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถึง 100,732 คน ภายในเวลาเพียง 43 วัน

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายคนที่ยังโต้แย้งการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการหยิบยกเสียงของผู้ที่ลงประชามติรับร่างฉบับนี้ขึ้นมาอ้างอิง ไอลอว์จึงเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการทำแบบสอบถามทางออนไลน์และออฟไลน์ขึ้นมา เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เคยลงประชามติ “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นว่า เมื่อเวลาผ่านมา 4 ปีแล้ว มีใครบ้างที่ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนไป และเป็นไปเนื่องจากปัจจัยใด

94% โหวตเยส เพราะได้รับข้อมูล “ไม่เพียงพอ” 87% ไม่รู้ว่า ส.ว. 250 คน มาจาก คสช.

จากการเปิดให้คนที่เคยลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ และหรือคำถามพ่วง หรือกลุ่มที่ “โหวตเยส” มาให้ข้อมูล มีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,070 คน แยกเป็นเพศชาย 53.64% และเพศหญิง 42.90% จำนวนที่เหลือ 3.46% ไม่ระบุเพศ โดยเป็นผู้มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านใน 71 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ในจำนวนทั้งหมด ผู้ตอบแบบสอบถาม 94.21% ระบุว่า ก่อนวันทำประชามติ คิดว่าได้รับข้อมูล “ไม่เพียงพอ” สำหรับการตัดสินใจ ในขณะที่ 5.79% ตอบว่าได้รับข้อมูล “เพียงพอ”

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงข้อมูลที่ผู้ตอบแบบสอบถาม “ไม่รู้” ก่อนวันประชามติ โดยหนึ่งคนสามารถตอบสิ่งที่ไม่รู้ได้หลายข้อ ข้อมูลที่มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้ก่อนวันประชามติมากที่สุด คือ เรื่อง ส.ว. ชุดแรก 250 คน จะมาจากกระบวนการคัดเลือกของ คสช. มีผู้ไม่รู้ข้อมูลถึง 87.29% ลำดับที่สอง มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 85.33% ไม่รู้ว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ต้องใช้เสียง ส.ว. อย่างน้อย 84 คน และพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ลำดับที่สาม 79.81% ไม่รู้ว่า คสช. ยังอยู่จนหลังเลือกตั้ง และการกระทำ การออกคำสั่งใดๆ ก็ไม่มีความผิด

ในขณะที่เรื่องระบบเลือกตั้งจะใช้บัตรใบเดียว เลือกทั้งคนทั้งพรรค มีผู้ไม่รู้ข้อมูลก่อนวันประชามติน้อยที่สุด คิดเป็น 56.07%

ทั้งนี้ ในแบบสอบถามไอลอว์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระว่า มีข้อมูลใดบ้างที่ไม่รู้มาก่อนและมารู้ในภายหลัง โดยส่วนใหญ่ระบุว่า มารู้ภายหลังว่า ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล 250 คนมีสิทธิเลือกนายกฯ ในขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่รู้เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวมไปถึงเรื่องกติกาการเลือกตั้ง บางส่วนระบุว่า มารู้ภายหลังว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ และบางส่วนไม่รู้ถึงเนื้อหาบทบัญญัติหมวดพระมหากษัตริย์มาก่อน

เมื่อสำรวจถึงช่องทางที่ได้รับข้อมูลก่อนวันลงประชามติ โดยผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายคำตอบเช่นกัน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 49.91% ได้รับข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ 37.10%  ได้รับข้อมูลจากสื่ออินเทอร์เน็ต ในขณะที่ 37.01% ได้รับข้อมูลจากการพูดคุยกับเพื่อน ญาติ คนรู้จัก ผู้ตอบแบบสอบถาม 18.97% ได้รับข้อมูลจากเอกสารสรุป จาก กกต./กรธ. จำนวน 9.91% ได้รับข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ บางส่วนรับข้อมูลจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม คิดเป็นจำนวน 8.13% อีก 6.36% ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ส่วนผู้รับข้อมูลจากงานเสวนา และกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น มีจำนวนน้อยสุด อยู่ที่ 2.06%

จะเห็นได้ว่า สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ และวิทยุ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ยังมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงข้อมูลในการลงประชามติ และสื่ออินเทอร์เน็ตเองก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนระบุมาว่า ได้รับข้อมูลประชามติจากกลุ่มบุคคลในสังคมรอบตัว เช่น คุณครู หัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ แผ่นพับตามบ้านที่แจกโดยนิติบุคคล และมีรายหนึ่งระบุว่า “ผู้ใหญ่บ้านบอกให้เลือกรับทั้ง 2 ช่อง”

75% รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะอยากให้มีเลือกตั้ง 49% รับคำถามพ่วงโดยไม่เข้าใจ

ในคำถามว่าเมื่อปี 2559 ผู้ตอบแบบสอบถามได้ลงประชามติกาช่อง “เห็นชอบ” เรื่องใดบ้าง เมื่อย้อนดูในบัตรลงประชามติ จะมีอยู่สองประเด็นที่ประชาชนจะต้องกาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำถามแรก ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คำถามที่สอง (คำถามพ่วง) ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ให้ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล สามารถเลือกนายกฯ ได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อย 1.78% ที่กาเห็นชอบในคำถามที่สองเพียงข้อเดียว อีก 23.83% กาเห็นชอบในคำถามแรกเพียงข้อเดียว 28.32% กาเห็นชอบทั้งสองคำถาม ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 46.07% ระบุว่าจำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ากาเห็นชอบข้อเดียวหรือทั้งสองข้อ แต่จำได้ว่ากาเห็นชอบ

จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากจะได้รับข้อมูลไม่เพียงพอก่อนไปทำประชามติ แต่หากวัดจากผู้ที่จำได้ว่า กาข้อไหนอย่างไรบ้าง จะพบว่าส่วนใหญ่กาเห็นชอบทั้งสองคำถาม

สำหรับปัจจัยในการลงคะแนนเห็นชอบกับคำถามข้อที่สอง (คำถามพ่วง) มีผู้ตอบข้อนี้ทั้งหมด 330 คน 49.70% ตอบว่า ไม่เข้าใจ ไม่ได้ใส่ใจ ลงเหมือนกันทั้งสองช่อง 34.24% ตอบว่า อ่านคำถามแล้ว เห็นข้อดี ไม่ทราบว่าเป็นการให้ ส.ว. ชุดพิเศษเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนอีก 4.55% ตอบว่า เห็นด้วยกับการให้ ส.ว. ชุดพิเศษเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ผู้ตอบแบบสอบถามคนอื่นๆ ที่เหลือได้อธิบายถึงเหตุผลนอกเหนือจากข้างต้นไว้ เช่น อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่เข้าใจว่าอำนาจ ส.ว. จะมีผลขนาดที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อ่านคำถามแล้ว เห็นข้อดี แต่ไม่คิดว่าคนเลือก ส.ว. จะลงสมัครเป็นนายกเสียเอง บางส่วนตอบว่า รับไปก่อน แล้วค่อยแก้ในภายหลัง และมีหลายคนที่พ่อแม่บอกให้กาเห็นชอบ หรือลงประชามติตามคนในครอบครัว

สำหรับสาเหตุที่ลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายสาเหตุ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 75.70% ต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด 33.83% ต้องการให้ประเทศสงบ ไม่วุ่นวาย 28.60% ไม่แน่ใจในเหตุผล ลงคะแนนไปตามคำบอกกล่าว 19.07% ระบุว่า ไม่มีทางเลือก กลัวจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้

15.89% เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกง 7.38% เชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของ คสช. 1.12% ต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และจำนวนน้อยที่สุด 0.93% คือ พอใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายยังระบุว่าครอบครัวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการลงคะแนนเห็นชอบ เช่น “ลงตามคำบอกกล่าวของคนในครอบครัว ครอบครัวกลัวว่าหากลงไม่เห็นชอบอาจจะมีผลต่ออนาคต”

และเมื่อให้เลือกสาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยหนึ่งคนสามารถเลือกได้เพียงหนึ่งข้อเท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 61.59% เลือกเหตุผลว่าต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด 11.21% เลือกเหตุผลว่าไม่แน่ใจในเหตุผล ลงคะแนนไปตามคำบอกกล่าว 5.23% เลือกเหตุผลว่าไม่มีทางเลือก กลัวจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้ 3.93% เลือกเหตุผลว่าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกง 1.31% เลือกเหตุผลว่าเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของ คสช. 0.47% เลือกเหตุผลว่าต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และอีก 0.47% เลือกเหตุผลว่า พอใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เหลือตอบว่าสาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดเป็นเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตัวเลือกข้างต้น เช่น เหตุผลจากทางครอบครัว

การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เปลี่ยนความคิด และแสดงออกต่อสาธารณะ

ไอลอว์ยังได้ทำการสอบถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมื่อถึงปี 2563 แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามได้เปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ โดยหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายปัจจัย ผู้ตอบแบบสอบถาม 93.08% ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้คิดใหม่ คือ เห็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมคุกคามประชาชน จำนวน 92.15% เห็นการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ปกติ 90.65% เห็นการสั่งยุบพรรคการเมืองที่ไม่เป็นธรรม 90.00% เห็นการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของ คสช. อีก 85.33% ระบุว่า ติดตามข่าวสาร ได้ฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลมากขึ้น

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายยังได้ระบุถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เช่น 

“การสืบทอดอำนาจผ่านการแต่งตั้ง สว. และความไม่เป็นธรรมของระบบยุติธรรม”

“ทุกอย่างมันผิดปกติไปหมดไม่มีอะไรดีขึ้นเลยตั้งแต่เลือกตั้งเหมือนโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า” 

“พรรคการเมืองทำผิดกฎหมายแล้วไม่ยอมรับ”

ไอลอว์ได้ตั้งคำถามว่าเมื่อคิดใหม่ในปี 2563 แล้ว ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดบ้าง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายๆ กิจกรรม ผู้ตอบแบบสอบถาม 83.93% แสดงออกต่อสาธารณะ ต่อคนรอบตัว ว่าคิดใหม่ได้แล้ว 53.64% เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 38.13% เป็นหนึ่งใน 100,732 ที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตอบแบบสอบถามอีกหลายรายระบุว่าได้บริจาคเงินให้แก่กิจกรรมการชุมนุมต่างๆ บางส่วนศึกษาข้อมูลในอดีตให้มากขึ้น ติดตามข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย

ถ้อยคำที่คน “เคยรับ” อยากบอกกับคนที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ

ในแบบสอบถาม ได้เปิดโอกาสให้คนเคยรับร่างรัฐธรรมนูญส่งความในใจไปยังผู้ที่ยังไม่แน่ใจ หรือไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ โดยหลายคนได้ยกประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทางสังคมขึ้นมา เช่น 

“เวลาผ่านไปหลายปี ทำให้รับรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เคยทราบในตอนนั้นมากขึ้น จนหลายคนมีความคิดที่เปลี่ยนไป รวมถึงควรมีการแก้ไขให้รัฐธรรมนูญมีความทันกับเหตุการณ์และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด” 

“ทุกอย่างมีพลวัตของมัน ถ้าหากรัฐธรรมนูญดีจริง ลองเปิดประชามติอีกครั้งอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่าให้ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นชอบจากประชาชน” 

“ก่อนทำประชามติคิดว่ามีหลายคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เพราะตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า คสช. ออกมาทำให้การประท้วงหายไป บ้านเมืองสงบสุข ไม่คิดว่า ทุกอย่างมันเป็นการวางแผนของเหล่าอำมาตย์และศักดินามาก่อน”

บางรายได้หยิบยกประเด็นการรับข้อมูลข่าวสาร และการดำเนินคดีกับผู้รณรงค์โหวตโน โดยคนเคยโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญรายหนึ่งบอกว่า 

“ผ่านแล้วก็แก้ไขได้ ถ้าการใช้งานจริงมันไม่ได้เรื่องและมีแต่ปัญหา และการที่บอกว่าผ่านประชามตินั้น ก็เกิดจากการที่ประชาชนได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยสื่อกระแสหลักเท่านั้น ถ้าไม่ลงลึกหาข้อมูลจริงๆ จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีผลกระทบใดๆ ตามมาบ้างในการรับร่างครั้งนั้น”

และอีกรายกล่าวว่า 

“ประชามติในครั้งนั้นไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่สนับสนุนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การให้ข่าวสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียสำคัญของรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในขณะนั้นที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจก่อนไปลงคะแนนเสียง”

คนเคยโหวตรับบางคน ได้หยิบยกถึงอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพื่อที่จะบอกไปยังคนที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญว่า 

“ระบอบประชาธิปไตยให้สิทธิและเสียงของประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ และเลือกผู้นำประเทศ หากรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ชอบธรรม ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะคัดค้านและเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณรัฐธรรมนูญ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และยุคสมัย”

ผู้เคยโหวตรับอีกรายได้กล่าวว่า

“เราประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ การมีส่วนร่วมในบ้านเมืองตลอดเวลาเป็นหน้าที่ของตนเอง ไม่สามารถไว้ใจข้าราชการ นักการเมือง หรือคนของพระราชาได้ อย่านิ่งเฉย บ้านเมืองย่ำแย่เพราะถูกแอบอ้างคำว่าคนของพระราชามามากถึง 88 ปีแล้ว ประชาชนต้องดูแลอำนาจตนเองด้วยตนเอง” 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์