รับมือโควิดในฝรั่งเศส: ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ชุมนุมประท้วงทำได้

เรื่องโดย
ณัฐวุฒิ คล้ายขำ

นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master de droit public financier, Université de Paris Nanterre

France

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (Coronavirus) กลายเป็นภัยพิบัติทางสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 14 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6 แสนคน หลายประเทศจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการรับมือกับสถานการณ์

ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในหลายประเทศได้ทุเลาลงแล้ว บางประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกัน รวมถึงยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศสก็ยังคงต้องเคารพกฎเกณฑ์บางอย่างของภาครัฐในการป้องกันการระบาดของโรค

ผู้เขียนขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศฝรั่งเศส โดยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ดังต่อไปนี้ 1) ความหมายของสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศฝรั่งเศส และ 2) การยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและผลของการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

 

1. ความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ของประเทศฝรั่งเศส

“สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (l’état d’urgence sanitaire) คือ มาตรการทางกฎหมายรูปแบบใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับโรคระบาดหรือภัยพิบัติทางสาธารณสุขในประเทศ เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐบัญญัติเลขที่ 2020-290 ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด covid-19 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 (La loi n° 2020-290 du 23 mars 2020 d’urgence pour faire face à l’épidémie de covid-19) ดังนั้น รัฐบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการแยก “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ออกจาก “สถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคง” 

การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร (l’exécutif) ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งอันจำกัด เพื่อปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติอันอาจส่งผลต่อสาธารณสุขโดยรวมของประชาชน

“สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ไม่ได้จำกัดเฉพาะการระบาดของไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่รวมถึงภัยพิบัติทางสาธารณสุขอื่นๆ อีกด้วย เพราะกฎหมายใช้คำว่า “catastrophe sanitaire” ที่แปลตรงตัวได้ว่า “ภัยพิบัติทางสาธารณสุข” ดังนั้น หากในอนาคตเกิดภัยพิบัติที่ส่งผลต่อสาธารณสุขโดยรวมของประชาชนที่เกิดจากสาเหตุอื่น รัฐบาลฝรั่งเศสอาจใช้อำนาจตามรัฐบัญญัติฉบับนี้ในการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ได้ 

ภายหลังประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข รัฐบาลฝรั่งเศสได้กำหนดมาตรการจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เช่น มาตรการกักตัว (le confinement) มาตรการปิดสถานที่ (les mesures de fermeture d’établissements) มาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ (l’interdiction de la circulation des personnes et des véhicules) มาตรการควบคุมราคาสินค้าบางชนิด (les mesures temporaires de contrôle des prix) และมาตรการห้ามการรวมกลุ่ม (l’interdiction des rassemblements et des réunions) เป็นต้น

 

2. การยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและผลของการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

ปัจจุบัน เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนของผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันที่ลดลง และจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาหายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ออกรัฐบัญญัติเลขที่ 2020-856 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2020 ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อการออกจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข (La loi n° 2020-856 du 9 juillet 2020 organisant la sortie de l’état d’urgence sanitaire) โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาเลขที่ 2020-803 DC ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2020 รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐบัญญัติดังกล่าว

แม้รัฐบัญญัติดังกล่าวจะมิได้บัญญัติโดยตรงว่ายกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข แต่ก็สามารถเข้าใจได้โดยเนื้อหาของกฎหมายเองว่า สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในแผ่นดินแม่ของประเทศฝรั่งเศสได้สิ้นสุดแล้ว เพราะมาตรา 2 รัฐบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2020……เฉพาะในเขตปกครองพิเศษโพ้นทะเล กุยยาน (la Guyane) และ มายอต (Mayotte) เท่านั้น” 

ดังนั้น นับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในแผ่นดินแม่ของประเทศฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ การสิ้นสุดของสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขทำให้เกิดการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ และทำให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น เช่น

  • การเปิดสนามกีฬาที่มีความจุไม่เกิน 5,000 คน สามารถกระทำได้ โดยผู้ใช้บริการต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย
  • การเปิดโรงมหรสพ (les salles de spectacle) ที่มีผู้คนเข้าร่วมไม่เกิน 2,500 คน สามารถกระทำการได้ 
  • การชำระค่าบริการน้ำและไฟฟ้า กล่าวคือ ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา รัฐบาลได้ห้ามบริษัทผู้ให้บริการในการตัดน้ำและตัดไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าบริการ แต่เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงและสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ผู้ให้บริการสามารถกลับมาดำเนินการเก็บค่าบริการและดำเนินการตัดน้ำหรือไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ค้างชำระค่าบริการได้
  • การยกเลิกการกำหนดราคาสูงสุดของหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้ในช่วงวิกฤตเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 
  • การเดินเรือ (Les croisières fluviales) ภายในยุโรป สามารถกลับมาดำเนินการได้ภายใต้การอนุญาตจากภาครัฐ
  • การรวมตัวของประชาชนสามารถกลับมาทำได้ (rassemblements) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอาจกำหนดมาตรการพิเศษสำหรับเรื่องนี้ได้โดยการออกเป็นรัฐกำหนด และ
  • การชุมนุมประท้วง (manifestations) สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ว่ารัฐการจังหวัด (préfet)

การใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนานี้ ได้มีประเด็นพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศส (le Conseil d’État) ว่าการประท้วงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่ารัฐการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว โดยได้ให้เหตุผลในคำพิพากษาที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า “การประท้วงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ….”และ “….การรักษาสวัสดิภาพของประชาชนจากภัยพิบัติทางสาธารณสุขก็เป็นภารกิจของรัฐที่มีคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ (valeur constitutionnelle) เช่นกัน…” ดังนั้น “การห้ามการชุมนุมประท้วงจึงสามารถทำได้แต่ต้องเคารพหลักของความได้สัดส่วน (le principe de proportionnalité)…. การที่กฎหมายบังคับให้มีการขออนุญาตจากผู้ว่ารัฐการก่อนการชุมนุมประท้วง โดยไม่มีระยะเวลากำหนดว่าในการพิจารณาของผู้ว่ารัฐการ… ถือว่ามาตรการดังกล่าวขาดความได้สัดส่วน” (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส (le Conseil d’État) เลขที่ 441257, 441263, 441384 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2020) 

อย่างไรก็ตาม รัฐและประชาชนยังไม่อาจวางใจต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ เพราะการระบาดระลอกที่ 2 อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา Olivier Véran รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ในการอภิปรายต่อวุฒิสภาว่า “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขจะสิ้นสุดลง แต่ความระมัดระวังของเรายังคงต้องมีอยู่เสมอ การออกจากสถานการณ์ฉุกเฉินนี้จำต้องมีการตระเตรียม เพราะหากยกเลิกมาตรการทั้งหมดก็ราวกับว่าเราประมาทต่อการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น” ดังนั้นรัฐบัญญัติดังกล่าวยังคงให้อำนาจรัฐบาลที่อาจกำหนดมาตรการพิเศษได้จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563

แม้สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในแผ่นดินแม่ของประเทศฝรั่งเศสได้สิ้นสุดแล้ว ชาวฝรั่งเศสยังคงต้องเคารพมาตรการต่างๆ ของรัฐเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น 

  • ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ที่รัฐกำหนดจนถึงเดือนพฤศจิกายน เช่น ห้องสมุด (Bibliothèques) โรงแรม (Hôtels) พิพิธภัณฑ์ (Musée) ร้านค้า (magasin) ตลาด (Marché) เป็นต้น
  • ห้ามฝึกกีฬาต่อสู้สำหรับมือสมัครเล่น และ
  • ผับ (discothèques) ยังคงต้องปิดอยู่ 

 

บทสรุป

เมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาทุเลาความรุนแรงลง รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสปรับตัวตามสถานการณ์โดยการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในแผ่นดินแม่ ผ่านการออกกฎหมายโดยรัฐสภา และผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้ามาสู่วิถีปกติ แม้จะยังไม่ “100 เปอร์เซ็นต์” แต่ก็ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ใช้บริการของสถานที่ต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองได้ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสยังคงไว้ซึ่งมาตรการและอำนาจพิเศษบางอย่างเพื่อป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่ 2 อาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้ฝรั่งเศสอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (période transitoire) จาก “ประเทศในสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับวิกฤตไวรัสโคโรนา” เพื่อกลับไปสู่ “ประเทศในสถานการณ์ปกติ” 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม