รับมือโควิด 19 แบบไทยๆ ด้วยการออกกฎและ “ข่มขู่”

วันที่ 8 มกราคม 2563 ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ครั้งแรกเป็นหญิงชาวจีน วัย 61 ปี หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกไทยใช้มาตรการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบิน แต่ไม่มีมาตรการระงับการเดินทางจากประเทศจีนที่เป็นศูนย์กลางการแพร่เชื้อในขณะนั้น ยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนเรื่อยมา ผู้ติดเชื้อชุดแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ก่อนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ ไทยจึงเริ่มมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อชาวไทยจากการแพร่ระบาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมามาตรการรับมือโรคโควิด 19 ของไทยไม่มีความชัดเจน เปลี่ยนแปลงไปมา เช่น วิธีการกักตัวผู้เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จนกระทั่งเกิดการติดเชื้อภายในประเทศมากขึ้น รัฐบาลจึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 และออกข้อกำหนดต่างๆ ตามมาด้วยนโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นโยบายการปราบปรามข้อมูลเท็จ และอื่นๆ อีกมาก จนกระทั่งเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่และรัฐบาลเริ่มอ้างอิงตัวเลขสถิติในฐานะที่เป็น “ผลงาน” จากการออกมาตรการต่างๆ ของตัวเอง

ระหว่างการต่อสู้กับโรคโควิด 19 ด้วยกฎหมายและเครื่องมือใหม่ๆ แนวทางที่บุคลากรของภาครัฐปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันคือ การแสดงออกในลักษณะ “ข่มขู่” หรือสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน การข่มขู่อาจมาในลักษณะคำพูดที่สร้างความไม่มั่นคงให้แก่หน้าที่การงาน หรือการเตือนว่า การกระทำที่สวนทางกับรัฐอาจนำมาซึ่งการดำเนินคดีตามกฎหมาย

49869674897_f4eef7f033_o

 

ขู่ดารา: ระวัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยติดโควิด 19 จากสนามมวย

13 มีนาคม 2563 แมทธิว ดีน ดาราและพิธีกรชื่อดังแจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมว่า เขาติดโรคโควิด 19 และแจ้งรายละเอียดการเดินทางเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 เขาทำงานเป็นพิธีกรที่สนามมวยลุมพินี หลังจากนั้นก็ได้ไปทำกิจกรรมในที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง จนกระทั่งมีไข้และตรวจพบเชื้อในวันดังกล่าว

ต่อมาไทยพีบีเอสรายงานคำแถลงของนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า แมทธิวติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จริงหรือไม่ เนื่องจากในคลิปวิดีโอบนอินสตาแกรม เขาไม่ได้สวมใส่ชุดของสถานพยาบาล ส่วนเรื่องการโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากไม่ป่วยจริงอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะให้ข้อมูลเท็จ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนและความปั่นป่วนในสังคม

ด้านแมทธิวและภรรยาได้โพสต์ภาพเอกสารการตรวจหาโรคโควิด 19 ของโรงพยาบาลพระรามเก้าลงบนอินสตาแกรมและชี้แจงขั้นตอนการตรวจโรคอย่างละเอียด หลังจากนั้นไม่นานก็มีบรรดาเซียนมวยที่อยู่ในสนามมวยลุมพินีวันเดียวกับแมทธิวทยอยออกมาแจ้งต่อสังคมผ่านสื่อออนไลน์ว่า พวกเขาต่างติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เช่นเดียวกัน ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2563 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พลตรีราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกและนายสนามมวยลุมพินีติดโรคโควิด 19 ด้วย

 

ขู่คนเดือดร้อน: ระวังข้อหาเพียบ หากไม่มีสิทธิแล้วไปลงทะเบียนรับเงิน

28 มีนาคม 2563 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลาสามเดือน คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ต้องไม่เป็นข้าราชการ เกษตรกร และไม่มีสถานะเป็นนักศึกษา

ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนจำนวนประมาณ 24 ล้านคน หากนำงบประมาณมาใช้ในการเยียวยา อาจเกิดปัญหาในงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลได้ จึงขอให้ประชาชนที่รู้ว่า ตนเองขาดคุณสมบัติก็ให้ถอนชื่อเสีย เพราะหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วไม่มีคุณสมบัติอาจมีโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ

ด้านโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า ผู้ที่กรอกข้อมูลเท็จเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 14(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341

ทั้งนี้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอาผิดกับการนำเข้าข้อมูลเท็จ ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหาย “แก่ประชาชน” หรือ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” เท่านั้น เจตนารมณ์ของมาตรา 14(1) ก็มีขึ้นเพื่อเอาผิดการกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาเงินหรือเอาข้อมูลเป็นหลัก กฎหมายนี้ไม่ได้เอาผิดการ “โกหก” หรือการกรอกข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทุกกรณี

คุณสมบัติของผู้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทถูกรัฐใช้มาเป็นประเด็นในการกล่าวหาว่า สร้างภาระให้แก่รัฐในการตรวจสอบและกล่าวทำนองว่า จะดำเนินคดีผู้ที่ขาดคุณสมบัติ แต่รัฐบาลตัดสินใจกลับลำในวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายจำนวนผู้ได้รับเงินเยียวยา มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงการคลัง ให้ครอบคลุมไปถึงสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย และนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์

ด้านลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า การลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 28 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ ที่ช่วงแรกไม่ได้รับสิทธิรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายสิทธิให้ได้รับเงินเยียวยาแล้ว ก็จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม จึงนำไปสู่คำถามว่า หากนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดในครั้งนี้ถอนการลงทะเบียนเพราะหวาดกลัวว่าจะต้องถูกดำเนินคดีจะเสียสิทธิไปเลยหรือไม่

 

ขู่ผู้ว่าฯ: ทำไม่ดีมีย้าย…จังหวัด

19 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลประกาศมาตรการให้อำนาจกับฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดของตัวเองได้ ถ้าเป็นสถานที่ที่เข้าข่ายมีความเสี่ยง โดยตอบคำถามเรื่องปิดพรมแดนหลังหลายประเทศเริ่มมาตรการแล้วว่า เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และต้องรายงานให้รับทราบด้วย ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศใช้มาตรการนี้แล้วและกล่าวด้วยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทำไม่ได้ก็ย้าย จะยากอะไร

14 เมษายน 2563 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ระบุว่า เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีความต่อเนื่อง เพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียนและเพื่อประโยชน์ของทางราชการจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงสามราย ได้แก่

  • กอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพขรบุรีให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ
  • ภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
  • ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

การโยกย้ายตำแหน่งครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการรับมือกับโรคโควิด 19 โดยจังหวัดที่น่าจับตาคือ ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพมหานคร หากพิจารณาจากสัดส่วนประชากรแล้วถือเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อต่อหัวประชากรสูงสุดในประเทศ ก่อนหน้าคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการภูเก็ตได้ประกาศปิดการเข้าออกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและปูพรมตรวจค้นผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้วันที่ 9 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อพุ่งวันเดียวเป็นจำนวน 21 คน คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตถูกย้ายไปรับตำแหน่งที่จังหวัดเพชรบุรีแทน

 

ขู่ชาวเน็ต: ให้วิจารณ์กองทัพเบาๆ

วันที่ 20 เมษายน 2563 กองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบกประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ 2563 ชื่อโครงการ ยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธและการบริการทางเทคนิค จำนวน 50 คัน ด้วยงบประมาณ 4,515 ล้านบาท นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนถึงความสมเหตุสมผลของการใช้งบประมาณแผ่นดินของกองทัพบก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศล็อคดาวน์ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการช่วยเหลือประชาชนในภายหลัง แต่พบว่า คนจำนวนมากไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ

ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2563 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมได้ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดพิจารณาปรับลดงบประมาณในปี 2563 นำไปเป็นงบประมาณกลางของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นเงิน 18,000 ล้านบาท หากเป็นโครงการที่ไม่ได้เป็นงบประมาณผูกพันก็จะตัดงบทั้งหมด แต่โครงการใดเป็นโครงการงบประมาณผูกพันก็จะตัดอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ กรณียานเกราะล้อยางไม่ได้ถูกตัดงบที่ตั้งไว้ในปี 2563 ทั้งโครงการ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาและจัดทำเป็นโครงการที่มีการดำเนินการมาก่อน

ในปี 2563 มีแผนใช้งบประมาณจำนวน 900 ล้านบาท เมื่อปรับลดแล้วจะเหลือเพียง 450 ล้านบาท สรุปแล้วโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยางยังคงมีอยู่ แต่ใช้จ่ายงบปี 2563 เป็นเงินทั้งสิ้น 450 ล้านบาทเท่านั้น

พันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบกระบุว่า กองทัพบกมีความเข้าใจในความจำเป็นของประเทศ และยินดีที่จะปรับลดงบประมาณ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุด และให้สามารถดำรงสถานภาพอำนาจกำลังรบในการรักษาอธิปไตย พร้อมกล่าวทำนองว่า เพจเฟซบุ๊กบางเพจนำเข้าข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงและต่อว่ากองทัพบก จึงขอให้เบาลงหน่อย ด้วยไม่อยากจะใช้มาตรการทางกฎหมายต่อเพจดังกล่าว

 

อีกสารพัดการข่มขู่ระหว่างการรับมือโควิด 19 ของรัฐบาล

นอกจากสี่เรื่องการข่มขู่ที่ยกตัวอย่างไปแล้วยังพบว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐใช้การออกกฎหมายเพื่อควบคุมโรคพร้อมกับการข่มขู่ประชาชนไปด้วย ซึ่งนอกจากจะสร้างบรรยากาศหวาดกลัวให้สังคมแล้ว ยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงกันเองในหมู่ประชาชน กล่าวโทษพฤติกรรมของคนในสังคมกันเองที่นำพาความยากลำบากมาให้แก่ส่วนรวมแทนที่จะมุ่งไปที่ปัญหาการจัดการเชิงโครงสร้างของรัฐบาลเป็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

ขู่ปิดประเทศ ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

วันที่ 26 มีนาคม 2563 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโรคหลายอย่าง แต่ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติทำให้ตัวเลขสูงขึ้น หลังจากนี้ถ้าเชิญชวนแล้วไม่ปฏิบัติ รณรงค์แล้วไม่ทำ ตัวเลขจะยิ่งสูงขึ้นและไม่รู้จะจบตรงไหน ขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดการสัญจร แต่ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนและตัวเลขสูงขึ้นจะนำไปสู่การปิดประเทศ ผลกระทบดำเนินชีวิตจะสูงขึ้น ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่หากไม่ปิดประเทศแต่ให้ประชาชนสมัครใจปิดตัวเองไม่ไปไหนมาไหนเอง

ขู่เดินทางกันเยอะจะระงับการขนส่ง

วันที่ 31 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีการเดินทางของประชาชนระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณา หากยังมีการเคลื่อนย้ายประชาชนเป็นจำนวนมากอยู่ ซึ่งเข้าใจถึงความสะดวกแต่บางคนก็ใช้โดยไม่จำเป็น ตนจึงได้ให้ไปดูว่าการให้บริการขนส่งต่างๆ ของภาครัฐจะทำอย่างไร จำเป็นต้องลดจำนวนลงหรือไม่ หรือกำหนดให้บริการกี่เที่ยวต่อวัน ในเมื่อให้ทำกันเองแล้วยังไม่เรียบร้อย ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต่อไปต้องเจอสถานการณ์การลดให้บริการทั้งรถไฟฟ้า รถไฟ รถโดยสาร หรือรถเมล์ ก็จำเป็นต้องลดเที่ยวให้บริการ จนกว่าจะเรียบร้อย ถ้ายังไม่เรียบร้อยอีกก็จะหยุดให้บริการทั้งหมด

ขู่คนแจกอาหารผู้เดือดร้อน

วันที่ 21 เมษายน 2563 ข่าวสดออนไลน์รายงานเหตุการณ์การข่มขู่ผู้แจกอาหารที่จังหวัดนครปฐมว่า กัญญณัฎฐ์ ชาวจังหวัดนครปฐมได้วางแผนแจกอาหารให้แก่ประชาชนที่บริเวณหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายที่ดูแลอยู่ในพื้นที่กลับบอกเธอว่า “คุณแจกแบบนี้มันผิดกฎหมายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.การชุมนุม ที่อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ซึ่งหากคุณแจกคุณจะถูกจับดำเนินคดี” ขณะที่ปลัดอำเภอบอกกับเธอว่า ข้าว 250 ชุดนี้มันจะไม่พอ แล้วมันจะก่อให้เกิดเหตุการณ์โกลาหล

ขู่หมดเงินสู้ ถ้าระบาดรอบสอง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อถึงหกเดือน จะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้หรือไม่ว่า ถ้ายืดเยื้อคงไม่ได้ เราไม่มีทุนที่จะสู้อีกแล้ว ถ้าปล่อยให้ระบาดอีกรอบ เราจะมีปัญหาในการที่จะต้องกู้เงินอีกรอบ เพราะหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นพอสมควร เพราะเงินนี้เป็นเงินกู้ ไม่ควรที่จะจ่ายแบบไม่ควรจะเสีย

ขู่คนแห่ซื้อเหล้า

วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เวิร์คพอยท์นิวส์รายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีประชาชนจำนวนมากไปซื้อแอลกอฮอล์ที่ห้างสรรพสินค้า จนเกิดภาพความแออัดขัดต่อมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพว่า ขอตำหนิภาพการรุมแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้สั่งไปแล้วว่าต้องมีมาตรการที่ชัดเจน จำกัดปริมาณที่ให้ซื้อได้แต่ละราย เปิดในเวลาที่กำหนด ไม่ให้มีภาพแย่งกันอีกถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ขอให้ภาคเอกชน ร้านที่มีการขายสุราปฏิบัติตามมาตรการที่ออกไป ไม่เช่นนั้นต้องถูกปิดไม่ให้ขายอีกต่อไป

ขู่สั่งปิดร้าน หากไม่ทำตามเงื่อนไขผ่อนปรน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานคำแถลงของพลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อเรื่องการผ่อนปรนให้กิจการดำเนินการได้ว่า ผู้ประกอบการต้องจัดตามมาตรฐานกลาง ซึ่งภาระหนักจะตกอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการตรวจว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานกลางหรือไม่ และกระทรวงสาธารณสุขจัดทำคู่มือ และศูนย์ด้านความมั่นคงโควิด-19 จะเข้าไปตรวจสอบ ซุ่มดูสถานประกอบการ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตให้เปิดได้ แต่เป็นหน้าที่ผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน หากไม่ทำตามนั้น เตือนก่อน ถ้าไม่ทำอีกปิดทันที เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ