เปรียบเทียบมาตรการรับมือโควิดของไทย กับของชาวโลก

นับถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 แล้วอย่างน้อย 2,957 คน เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 54 คน ซึ่งน้อยกว่าที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันในช่วงต้นเดือนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เมื่อประกอบกับสถิติผู้ที่รักษาหายจำนวนมากก็ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยยังสามารถรองรับสถานการณ์นี้ได้อยู่ 

29 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งกักตัวผู้สงสัยว่าติดเชื้อ หรือสั่งปิดสถานที่เสี่ยงได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการแตกต่างกันไป บางแห่งถึงขั้น “ปิดเมือง” ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ ต่อมา 26 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ขึ้นมามีอำนาจเต็มที่ ตามมาด้วยคำสั่งปิดสถานบันเทิง ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดพรมแดน ห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด 

และในวันที่ 3 เมษายน ประเทศไทยก็ประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” หรือคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน กระทรวงมหาดไทยยังแจ้งข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้สั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งเริ่มแรกแต่ละจังหวัดกำหนดระยะเวลาห้ามขายไม่เท่ากัน แต่ต่อมาก็ขยายเวลาห้ามขายทั้งประเทศออกไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ขณะที่กิจการบางประเภท เช่น ตลาดสด ร้านอาหารทั่วไป ร้านตัดผม กิจกรรมในสวนสาธารณะ กำลังจะได้รับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 

สำนักงานอัยการสุงสุดแถลงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ว่า มีการส่งฟ้องคดีผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว 12,927 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี จำนวน 17,284 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่ “เด็ดขาด” และเน้นการลงโทษของประเทศไทย ซึ่งการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับโควิด 19 และคิดค้นมาตรการขึ้นมารับมือ ระหว่างที่สังคมโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์นี้เช่นเดียวกัน แต่ละประเทศก็ตัดสินใจใช้แนวนโยบายที่แตกต่างกัน บางประเทศอาจใช้นโยบายแบบ “อำนาจนิยม” เช่น จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เน้นการควบคุมพฤติกรรมประชาชน ด้วยการออกกฎหมายมาสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบต่อเสรีภาพ เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และผลกระทบทางสังคมในระยะยาว ขณะเดียวกันบางประเทศเลือกใช้นโยบายแบบ “เสรีนิยม” ที่เน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ พยายามคงสภาพการใช้ชีวิตให้ปกติเท่าที่เป็นไปได้ และลดผลกระทบทางสังคมให้น้อย แต่ก็อาจแลกมาด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง

แนวทางแบบใดที่จะถือว่า ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์กับสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง คงต้องพิจารณากันในระยะยาว เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้คงยังอยู่กับมนุษยชาติไปอีกยาว แต่ระหว่างเส้นทางที่แต่ละประเทศกำลังพยายามเลือกใช้มาตรการที่ “ดีที่สุด” การเหลียวมองการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ และผลที่เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

ลองดูสรุปแนวทางของหลายประเทศในยุโรปจากชาวไทยที่อยู่อาศัยในยุโรปเขียนบทความส่งเข้ามาเล่าสู่กันฟัง

เยอรมนี: ผู้ติดเชื้อสูง เสียชีวิตน้อย ผู้นำย้ำหลักประชาธิปไตย

เยอรมนีเป็นประเทศที่ตรวจพบผู้ติดโควิด 19 มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะเดียวกันก็มีอัตราการเสียชีวิตต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ศุจินทรา อนันต์ คนไทยในเยอรมนี เล่าว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ เยอรมนีเริ่มจัดการวิกฤติการณ์ในระดับต้น คือ พยายามลดการแพร่ระบาดผ่านความร่วมมือของประชาชนในการใส่ใจดูแลตัวเองเป็นหลัก มีการรณรงค์ให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยของตัวเอง โดยสามารถเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจที่บ้านก็ได้ จากความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มจะเชื่อฟังรัฐบาลและพร้อมปฏิบัติตามทุกคำร้องขอหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลดึงออกมาใช้

20 มีนาคม รัฐบาวาเรียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดและมีประชากรหนาแน่นประกาศห้ามออกจากบ้านเป็นรัฐแรก มีการเพิ่มโทษหากมีผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 25,000 ยูโร อนุญาตให้ผู้ที่จำเป็นต้องออกนอกเคหสถานสามารถกระทำได้ ประชาชนสามารถออกไปทำกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับชีวิต เช่น ออกกำลังกาย พาสุนัขไปเดินเล่น ไปเยี่ยมคู่รัก หรือให้ความช่วยเหลือคนชราหรือผู้ป่วยได้ ส่วนร้านอาหารยังคงเปิดอยู่แต่ไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้าน

สถานการณ์ช่วงกลางเดือนอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อเริ่มคงตัวหรือขยับลดลง มาตรการฉุกเฉินยังใช้ต่อไปโดยเริ่มผ่อนคลายบ้าง ร้านค้าบางชนิดเปิดทำการได้ เช่น ร้านค้าที่มีพื้นที่ไม่เกิน 800 ตร.ม. ร้านหนังสือ ร้านจักรยานและอุปกรณ์กีฬา ร้านขายรถยนต์ เป็นต้น โรงเรียนต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นไป รวมทั้งร้านตัดผมด้วย

เบญจมา อนันตพงศ์ คนไทยอีกคนในเยอรมนี เล่าว่า บทเรียนที่ไทยสามารถได้จากเยอรมนี คือ เรื่องประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขปัญหา จิตวิทยาทางสังคม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

โดยเฉพาะภาวะผู้นำของนางแองเกล่า แมคเคิ่ล นายกรัฐมนตรี คำปราศรัยของเธอต่อประชาชนในชาติ ย้ำถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักความโปร่งใสของข้อมูลที่รัฐจะต้องชี้แจงเหตุและผลให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง การให้ความสำคัญและยกย่องบุคลากรทุกฝ่าย รวมทั้งการหาสมดุลระหว่างการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน กับการปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

อ่านประสบการณ์ของศุจินทรา ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5622
อ่านมุมมองของ เบญจมา ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5621

 

ฝรั่งเศส: ล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ด้วยระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” 

ฝรั่งเศสตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 แล้วอย่างน้อย 166,543 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต  24,121 คน สูงเป็นอันดับสี่ของโลก ในสถานการณ์นี้รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายใหม่สร้างระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ขึ้นต่างหากจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางการทหาร หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกรัฐกฤษฎีกา เลขที่ 2020-293 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 ระบุมาตรการห้ามออกจากบ้าน เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นจริงๆ โดยทุกครั้งที่ออกจากบ้านต้องกรอกแบบฟอร์ม ระบุวันเวลา และกิจธุระที่จะออกไปทำ

รัฐบาลได้สั่งให้ปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านค้า หอประชุม ร้านอาหาร ห้องสมุด ห้องแสดงงานศิลปะ สถานที่ออกกำลังกายแบบปิด พิพิธภัณฑ์ สถานศึกษา แต่สวนสาธารณะยังเปิดอยู่ ประชาชนสามารถไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายได้ แต่จะต้องกระทำในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรนับจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง กำหนดเวลา 1 ชั่วโมงและจะต้องไปคนเดียวเท่านั้น

“นายอองดรัวต์ ครัวซองต์” นักศึกษาไทยในฝรั่งเศส เขียนบทความวิเคราะห์ว่า การที่สถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสสูงกว่าประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความตระหนักถึงความอันตรายของโรคระบาด เวลาร่วมวงสนทนากับเพื่อนๆ บางทีก็จะโดนล้อว่า “กังวลเกินกว่าเหตุ” หลายๆ คนยังไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาด หลังจากวันที่ 12 มีนาคมที่รัฐบาลได้แถลงการณ์ “ขอความร่วมมือ” ให้ประชาชนงดออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น ก็ยังคงมีการออกนอกบ้านพบปะสังสรรค์ ทักทายหอมแก้ม จับมือ กอดกันในหมู่เพื่อนฝูงตามปกติ

อ่านต่อเรื่อง ฝรั่งเศสล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ออกจากบ้านต้องกรอกแบบฟอร์มพกติดตัว ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5598
อ่านมุมมองทางกฎหมายของณัฐวุฒิ คล้ายขำ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5619
อ่านประสบการณ์ของนายอองดรัวต์ ครัวซองต์ นักศึกษาไทยในฝรั่งเศส ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5618

 

สหราชอาณาจักร: ล็อคดาวน์ไม่ต้องใช้กฎหมายฉุกเฉิน ส่งเอกสารแนะนำให้ทุกบ้าน

ที่สหราชอาณาจักรมีประกาศให้คนอยู่แต่ที่บ้านจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ยกเว้นออกไปซื้อยา อาหาร หรือออกกำลังกายนอกบ้านคนเดียวหรือกับครอบครัวได้วันละครั้ง ห้ามเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน โดยไม่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือออกกฎหมายพิเศษ การออกนอกบ้านโดยฝ่าฝืนคำสั่งไม่ได้มีโทษ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งห้ามจับกลุ่มกันเกิน 2 คน การออกจากบ้านก็ต้องรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร สำหรับข้อห้ามนี้หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจปรับและสั่งให้แยกย้ายหากมีการจับกลุ่ม และขอความร่วมมือให้ทุกคนทำงานที่บ้าน 

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักศึกษาไทยในอังกฤษ เล่าว่า รัฐบาลส่งเอกสารอธิบายรายละเอียดมายังที่บ้านพร้อมสารจากนายกรัฐมนตรี และคำแนะนำเกี่ยวกับลักษณะอาการของการติด COVID-19 และการป้องกันการติดเชื้อจาก NHS โดยเน้นย้ำว่า ห้ามไปที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หากมีอาการให้โทรปรึกษาบริการของสาธารณสุขออนไลน์เท่านั้นและกักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน

โรงเรียนและสถานศึกษาปิดหมด และให้เปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ สวนสาธารณะยังเปิดตามปกติ เว้นแต่ถ้าคนจับกลุ่มกับคนอื่นที่ไม่ใช่คนที่อยู่บ้านเดียวกันจะมีความผิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังขายตามปกติ ห้างสรรพสินค้าส่วนที่ขายของทั่วไปปิด ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดบางแห่งก็จำกัดจำนวนคนเข้า มาตรการเช่นนี้ยังมีผลต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม และอาจจะถูกขยายเวลาต่ออีกก็ได้ 

 

เนเธอร์แลนด์: “Intelligent Lockdown” รับมือแบบผ่อนคลายเพระเชื่อมั่นในประชาชน

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ใช้มาตรการควบคุมโรคที่ไม่เข้มข้นมากนัก หรือ ‘Intelligent Lockdown’ พยายามให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินไปได้แบบหยุดชะงักน้อยที่สุด และทุกอย่างสามารถกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุดเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว บนความเชื่อที่ว่าการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเด็ดขาดนั้น ‘เป็นไปไม่ได้’ และเชื่อว่าประชาชนที่ดีจะมีความรับผิดชอบส่วนบุคคลในการควบคุมความประพฤติของตนเอง จึงมีแนวคิดที่จะปล่อยให้มีการแพร่ระบาดภายใต้การควบคุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ชาวดัชต์บางส่วนก็ยังกังขากับแนวคิดดังกล่าว

หัวใจหลักสำคัญของมาตรการ คือ social distancing โดยไม่ได้ออกกฎหมายฉุกเฉินขึ้นมาเป็นพิเศษ อะไรที่รัฐบาลคิดว่าประชาชนจะไม่สามารถควบคุมระยะห่าง 1.5 เมตรได้ถูกสั่งปิดและสั่งห้ามชั่วคราว เช่น งานอีเวนท์ คอนเสิร์ต เฟสติวัล ร้านตัดผม ร้านนวด โรงภาพยนตร์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร (สำหรับซื้อกลับบ้าน) ตลาด และร้านขายสินค้าอื่นๆ ยังสามารถเปิดได้ คนสามารถออกไปเดินเล่นรับแสงแดดได้ถ้าไม่เกินสองคนเดินใกล้กัน พาสุนัขไปเดินในพื้นที่สาธารณะได้ 

ในความเห็นของฮันนี่ ไกรวีร์ ศิลปินอิสระ มีเหตุผลอยู่สองประการที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้มาตรการแบบผ่อนคลาย คือ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ และแนวคิดแบบยุโรปเหนือที่ยึดมั่นในหลักเสรีภาพส่วนบุคคล ในแง่เศรษฐกิจคนดัชต์เรียกจิกกัดรัฐบาลว่า “business as usual” ซึ่งในทางปฏิบัติ การใช้ชีวิตหรือประกอบธุรกิจก็ไม่ได้เหมือนเดิมเสียทีเดียว ร้านอาหารเปลี่ยนมาให้บริการแบบซื้อกลับบ้านหรือนำมาส่งที่หน้าประตูบ้าน การรักษาระยะห่างจากคนแปลกหน้า 1.5 เมตร ในทางปฏิบัติก็ทำได้ยากโดยเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต 

จากมุมมองของวิรดา แซ่ลิ่ม นักศึกษาชาวไทย เห็นว่า มีคนในสังคมดัตช์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังจับกลุ่มปาร์ตี้กัน ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดประมาณ 400 ยูโร เดือนเมษายนเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 23 องศา อากาศดี คนดัตช์หลายคนออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะจนบางเมืองประกาศปิดพื้นที่สาธารณะบางแห่ง วันไหนแดดดีๆ ออกไปซื้อของ เห็นคนดัตช์ออกมารับแดดกันจนชวนให้ลืมไปเลยว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส!

อ่านมุมมองของวิรดา แซ่ลิ่ม ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5616
อ่านประสบการณ์ของฮันนี่ ไกรวีร์ ต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5642

 

ฟินแลนด์: กฎหมายฉุกเฉินที่ผ่านสภา ยอดขายแอลกอฮอล์สูงขึ้น

ฟินแลนด์พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 4,906 คน เสียชีวิตแล้วกว่า 200 คน วิกานดา ติโมเนน คนไทยในฟินแลนด์ช่วยแชร์ประสบการณ์ และวิธีคิดเรื่องการรับมือโควิดที่ไม่เหมือนใคร โดยรัฐบาลร่วมกับประธานาธิบดีได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยการเสนอรัฐบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐกฤษฎีกาให้รัฐสภาลงมติ (ฟินแลนด์ใช้ระบบสภาเดี่ยว ไม่มี ส.ว.) นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้กฎหมายโรคติดต่อ (Communicable Diseases Act) ประกอบด้วย โดยมาตรการที่ออกมา เช่น

ระงับการเรียนการสอนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาอื่นๆ ยกเว้นนักเรียนประถม 1-3 ที่พ่อแม่ที่มีอาชีพที่มีความจำเป็นต่อสาธารณะ (ตอนหลังได้ขยายให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ) สถานเลี้ยงเด็กเล็กยังเปิดทำการตามปกติ ปิดห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โรงละคร โอเปร่า โรงภาพยนตร์ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ ผับ บาร์ ยกเว้นโรงอาหาร หรือร้านอาหารเพื่อพนักงาน โดยอนุญาตให้บริการซื้อกลับบ้านได้ ทั้งนี้เพื่อชะลอการระบาด

คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในสวนสาธารณะและตามป่าหรือแหล่งธรรมชาติมากกว่าในห้างสรรพสินค้า โดยทั้งห้างสรรพสินค้าและสวนสารณะยังเปิดให้บริการตามปกติ ถึงแม้ร้านตัดผมไม่โดนสั่งปิด คนก็ยังเลี่ยงที่จะเข้าร้านตัดผม ยังพบว่า ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นในช่วงกักตัว

ประชาชนมีความพึงพอใจในการบริหารจัดการของรัฐบาลและประธานาธิบดีในเรื่องการรับมือการระบาด โดยเห็นได้จากผลสำรวจความนิยมที่เพิ่มขึ้นของทั้งสองคน และพลอยทำให้พรรค Social Democrate ของนายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมมากขึ้น ฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ จึงไม่มีคนได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในระดับรุนแรง เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัยหรืออาหารรับประทาน เพราะสามารถขอรับความช่วยเหลือจากประกันสังคมได้

29 เมษายน 2563 รัฐบาลประกาศให้โรงเรียน ป. 1-9 กลับมาเปิดเรียนในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยห้ามสอนทางไกลและห้ามแต่ละเมืองตัดสินใจตามแนวทางของตัวเอง แนวปฏิบัติคือ โรงเรียนอาจจัดเรียนเป็นรอบ ดิฉันเข้าใจว่าเป็น เช่น รอบเช้าและรอบบ่าย จัดกลุ่มเรียนให้เล็กลงจะได้นั่งห่างกันได้ รัฐบาลให้เหตุผลของการกลับมาเปิดเรียน คือ สถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนไป ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก เรื่องที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความจำเป็นที่เด็กต้องมีพัฒนาการทางสังคมด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอธิบายว่า กลุ่มเด็กไม่มีผลให้การระบาดแพร่หลายมาก คือ เด็กแพร่เชื้อน้อยกว่ากลุ่มอื่น ความเสี่ยงต่ำที่จะเปิดโรงเรียน

อ่านรายละเอียด การรับมือโควิดของฟินแลนด์ โดยวิกานดา ติโมเนน ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5631

 

สวีเดน: ว่ายทวนน้ำด้วยแนวคิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ไม่ปิดเมือง ใช้ชีวิตปกติ

สวีเดนกลายเป็นประเทศที่พูดกันหนาหูเรื่องความบ้าบิ่นในการจัดการกับโรคระบาดครั้งนี้ หลายคนมองว่าสวีเดนนั้นมียุทธวิธีที่สุดโต่งมาก และกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่ท้าทายกับกระแส “อำนาจนิยม” เพราะเลือกใช้นโยบาย “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ Herd Immunity โดยมองว่า เสรีภาพมีน้ำหนักมากกว่าโรคระบาดครั้งนี้ จึงไม่ใช้วิธีการสั่งปิดเมือง ทั้งที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้วกว่า 18,000 คน แม้รัฐบาลจะออกกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินมาเพื่อปิดสถานที่บางประเภทได้ แต่คำสั่งที่ออกไปแล้วก็ต้องนำกลับมาให้สภาพิจารณา

โรงเรียนในสวีเดนไม่ถูกปิดเพราะกังวลถึงผลกระทบต่อเด็กในระยะยาวมากกว่า กังวลว่า เด็กบางคนอาจอยู่ในบ้านที่ใช้ความรุนแรง ทำให้บ้านไม่เป็นที่ปลอดภัย กรมอนามัยเชื่อว่า การปิดโรงเรียนทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าดีเสียด้วยซ้ำ ในเดือนมีนาคมรัฐประกาศมาตรการ “ไม่ตรวจ” ให้ทุกคนที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อไวรัส เนื่องจากไม่มีทรัพยากรมากพอ มีคำสั่งว่าใครป่วยให้อยู่บ้าน ให้คนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อไม่ต้องเข้ารับการรักษา จะรักษาเฉพาะคนแก่ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น

ในสื่อหลักของสวีเดนมีคลิปรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านและ social distancing เมื่อออกจากบ้าน และจะต้องพยายามลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ยิม ยังคงเปิดให้บริการตามปกติและมีประชาชนไปใช้บริการ ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์รัฐไม่ได้ห้ามเดินทาง ทำให้ยังคงเห็นประชาชนในประเทศเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว ซึ่งผลจากการเดินทางในวันหยุดครั้งนี้จะเห็นในอีก 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า

อธิบดีกรมสุขภาพของสวีเดนบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะวัดว่าสวีเดนล้มเหลวกับการรับมือกับไวรัสครั้งนี้หรือเปล่า ต้องดูว่าระบบสาธารณสุขในอีกสี่ห้าปีนี้เป็นอย่างไร สังคมจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง การจะด่วนตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะ ยุทธศาสตร์ใครล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ มันอาจจะเร็วไป โนวุส สถาบันโพลที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่มีความไว้วางใจรัฐบาลในการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ได้ดีถึงดีมาก 63 เปอร์เซ็นต์ และ 73 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อมั่นกับกรมสุขภาพ แม้ว่ากระแสจากภายนอกจะถาโถมเข้ามา

อ่านงานเขียนของเกษมสันติ์ เราวิลัย นักออกแบบผังเมืองในสวีเดนต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5638
อ่านประสบการณ์ของ ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล นักศึกษาปริญญาโท สถาบัน KTH Royal Institute of Technology ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5639

 

ลองดูสรุปแนวทางของหลายประเทศในเอเชียจากชาวไทยที่อยู่อาศัยในประเทศต่างๆ เขียนบทความส่งเข้ามาเล่าสู่กันฟัง

อินเดีย: ใช้มาตรการแรงเพื่อควบคุมโรค แต่มาตรการรองรับยังมีปัญหา

อินเดียเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มีประมาณ 1,377,626,000 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563) สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่มีความต่างกันอย่างสุดขั้วทั้งภูเขาหิมะจนถึงทะเลทราย ไปจนถึงเงื่อนไขที่อาจเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรค ทั้งความแออัดในสังคมเมือง รถไฟ และปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาด กลางเดือนมีนาคมรัฐบาลกลางของอินเดียประกาศมาตรการควบคุมโรคด้วยยาแรง ทั้งสั่งห้ามคนออกจากบ้าน ยุติการให้บริการรถสาธารณะระหว่างเมืองและระหว่างรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟที่มีผู้โดยสารเรือนล้านในทุกๆ วัน 

เบื้องต้นมาตรการห้ามออกจากบ้านประกาศใช้เป็นเวลา 21 วัน ตั้งแต่ 25 มีนาคม – 14 เมษายน 2563 โดยมาตรการนี้กำหนดให้ทุกท่านอยู่ในที่พักตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว และสามารถออกจากที่พักได้ในกรณีจำเป็น เมื่อครบกำหนดรัฐบาลอินเดียก็ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปจนวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ผู้ที่ออกจากบ้านไปเดินตามท้องถนนโดยไม่มีเหตุอันควรอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใช้ไม้พลองตีได้ สำหรับประชาชนที่ต้องการซื้อของกินของใช้ ยังสามารถไปซื้ออาหารได้โดยไม่ต้องแสดงบัตรแต่จะออกมาได้เฉพาะเวลาผ่อนผันซึ่งแต่ละพื้นที่อาจกำหนดไว้แตกต่างกัน โดยมากมักเป็นช่วงเช้า

หน่วยงานเอกชนและการค้าทั้งหมดถูกสั่งให้ปิดทำการ ยกเว้นงานบริการที่จำเป็น เช่น ร้านค้าจำหน่ายอาหารหรือของบริโภคพื้นฐาน ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นควรสนับสนุนให้ใช้วิธีส่งถึงบ้านเพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน และมีคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย สถานศึกษาและฝึกอบรมทั้งหมดให้ปิดทำการ ให้งดพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ในกรณีการจัดพิธีศพ ให้จำกัดผู้ร่วมพิธีไม่เกิน 20 คน

ด้วยมาตรการที่เข้มงวดรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งพยายามออกมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบในชีวิตของประชาชน แต่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนยากจน คนทำงานรับจ้างรายวันยังดูจะเข้าถึงการช่วยเหลือโดยรัฐได้ไม่ทั่วถึง แต่ละรัฐมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนไม่เหมือนกัน เมืองจัยปูร์ รัฐราชสถาน ตอนแรกให้สมาชิกครอบครัวคนละ 500 รูปี ต่อมาเพิ่มเป็น 1,000 รูปี รัฐมหาราษฎร์ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนรวม 163 แห่งเพื่อจัดหาน้ำและอาหารแจกจ่ายให้ผู้ประสบความเดือดร้อน ทั้งนี้ แรงงานอพยพจากชนบทในนครมุมไบน่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายจากมาตรการการปิดเมืองเพราะพวกเขาต้องสูญเสียงาน แรงงานบางส่วนไม่มีทางเลือกและต้องเดินเท้ากลับบ้านในชนบท

อ่านประสบการณ์จาก “สาวกองค์สุดท้าย” พระที่ศึกษาปริญญาเอกอยู่ในอินเดีย ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5637
อ่านเรื่อง ล็อคดาวน์ใหญ่ที่สุดในโลก ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5602

 

ยูเออี: เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ออกจากบ้านต้องขออนุญาตทางออนไลน์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) นับเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวไว เพราะที่สนามบินใหญ่ๆ เริ่มตรวจคัดกรองวัดไข้นักท่องเที่ยวที่บินมาจากจีนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม แต่ก็ไม่รอดเงื้อมมือเจ้าไวรัสไปได้ รัฐบาล UAE เริ่มมาตรการเฟสแรกด้วยการใช้เคอร์ฟิว 14 วัน ห้ามออกจากบ้านช่วงเวลา 20.00 – 06.00 โดยจะมี sms แจ้งเตือนส่งมาที่มือถือทุกคน ทุกวัน ก่อนเวลาเคอร์ฟิวเริ่ม ใครที่ฝ่าฝืนจะมีค่าปรับแพงมากและปรับอย่างจริงจัง ถ้าขับรถออกมาข้างนอกหลังเวลาเคอร์ฟิวจะมีกล้องถ่ายภาพรถทุกคัน ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริงๆ และมีการขออนุญาตรัฐก่อนออกจากบ้านแล้ว โดยก็ยังต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร 

ก่อบครบกำหนดเฟสแรกประมาณ 2 วัน มีการประกาศล็อคดาวน์เพิ่มอีก 14 วัน แต่คราวนี้เป็นเคอร์ฟิวตลอด 24 ชม. เข้าสู่การล็อคดาวน์เฟสที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2563 ซึ่งมีมาตรการเข้มขึ้น คือ การเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการออกไปข้างนอก จะออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีการขออนุญาตกับทางรัฐก่อน และมีจุดประสงค์เพื่อออกไปซื้อของใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหาร ยา เหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยออกได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แถมต้องเป็นการส่งตัวแทนจากในบ้านออกไป ไม่อนุญาตให้ไปทั้งครอบครัว วิธีการขออนุญาตให้ขอผ่านทางเว็บไซต์ที่รัฐจัดระบบขึ้นเฉพาะ ไม่ต้องร่างจดหมายและรอใครลงชื่อ ในระบบจะมีให้เลือกเหตุผลที่ต้องการจะออกจากบ้าน หากตำรวจตรวจก็แค่ยื่นมือถือที่มีข้อความอนุมัติตรงนี้ให้ดู

สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ให้นั่งได้แค่ 2 คนต่อคัน คือ คนขับและอีกคนนึงนั่งข้างหลังฝั่งตรงข้ามคนขับ รถไฟฟ้าปิด ไม่ให้ใช้บริการเลยเพื่อลดการแออัด ประชากรชาวเอมาราติดูเหมือนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจบ้าง แต่ยังอยู่ได้ หากใครกังวลว่าตัวเองติดหรือยัง ก็มี Drive through ที่ขับรถเข้าไปตรวจได้เลยโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง สาเหตุที่จำนวนคนติดเชื้อสูง อาจเพราะเขาตรวจประชาชนอย่างทั่วถึง 

24 เมษายน รัฐบาลยกเลิกการห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นเปิดให้ออกได้ช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเดือนถือศีลอดที่ไม่มีกิจกรรมและการค้าขายมากนักอยู่แล้ว 

อ่านเรื่องเล่าจาก Crewabs “น้องเอ” และ “คุณนายเก่า” ฉบับเต็มๆ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5625

 

สิงคโปร์: เน้นสร้างความมั่นใจและให้ข้อมูลประชาชน 

สิงคโปร์ได้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ตื่นตัวและเฝ้าระวังสูง เริ่มมีการตรวจเช็คอุณหภูมิร่ายกายของผู้ที่เดินทางเข้าออกผ่านสนามบิน ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563 และหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกได้ไม่นาน รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มแถลงข่าวต่อสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสอย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้รายละเอียดสถานที่และการเดินทางของผู้ติดเชื้อแต่ละคน ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อรัฐบาลยังคงพยายามรักษาการดำเนินชีวิตไว้ให้เป็นปกติมากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมยังดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด

จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน 2563 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มใช้มาตรการให้คนในประเทศกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาหนึ่งเดือน และขยายออกไปอีกหนึ่งเดือน สถิติของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติที่สภาพความเป็นอยู่แออัด รัฐบาลจึงมีการปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับแรงงานข้ามชาติ จัดหาที่พักใหม่เพื่อลดจำนวนคนในแต่ละห้องพักลงและตรวจหาเชื้อไวรัสให้กับแรงงานทุกคนทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ 

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ประกาศใช้นโยบายปิดประเทศ (Lockdown) เหมือนประเทศอื่นๆ ยังอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้ แต่คนที่เดินทางเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ต้องถูกติดตามควบคุมตามนโยบายการกักตัว ธุรกิจหลายๆ ส่วนยังดำเนินไปได้ไม่ได้มีการสั่งปิดกิจการทั้งหมด ประชาชนยังออกจากบ้านไปซื้อสินค้าและอาหารกลับบ้าน หรือออกกำลังกายในที่สาธารณะได้ แต่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด หรือทำกิจกรรมคนเดียวเป็นหลัก โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอีกทีหนึ่ง

รัฐบาลเน้นให้ทุกคนทำงานอยู่กับบ้านเป็นหลัก ลดกิจกรรมทางสังคมและการรวมกลุ่มทางสังคมลง หมายความว่า ยังคงให้มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ยังจำเป็นอยู่ แต่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมพฤติกรรมทางสังคมมากขึ้น และวันที่ 14 เมษายน เริ่มมีมาตรการในการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน  และประกาศบทลงโทษทางกฎหมายไว้ด้วยว่าจะมีการปรับเป็นเงิน 300 สิงคโปร์ดอลล่าร์ (หรือประมาณ 6,750 บาท)

อ่านประสบการณ์ของสุนทรี สิริอินต๊ะวงศ์ และ “แนนซี่” ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5643

 

ญี่ปุ่น: มาตรการฉุกเฉินแบบไม่บังคับ

ยุทธศาสตร์การรับมือของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนั้นค่อนข้าง “สวนกระแส” โลกที่ต่างเน้นการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามรักษา “ชีวิตตามปกติ” ของประชาชน โดยการรักษาให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำ ด้วยการตั้งเงื่อนไขการได้รับการตรวจไวรัสไว้สูง ทำให้จำนวนการตรวจน้อย ไม่เลื่อนการเปิดเรียนของโรงเรียน แต่เน้นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนสาหัส และส่งเสริมการป้องกันตัวเองโดยประชาชน ให้เลี่ยงพื้นที่แออัด 

ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทาง เริ่มจากการ “ขอความร่วมมืองดเว้นการเดินทาง” ในช่วงปลายเดือนมีนาคม และเพิ่มความหนักแน่นขึ้นตามลำดับ จนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศโดยนายกรัฐมนตรีอาเบะในวันที่ 16 เมษายน อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินในปัจจุบันนั้น แทบจะไม่ได้ให้อำนาจในการลงโทษประชาชนที่ฝ่าฝืนการขอความร่วมมือ ในทางกฎหมายแล้วการ “ประกาศภาวะฉุกเฉิน” นั้นเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” ที่มากกว่าเดิมเท่านั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดและมีโทษ คือ การไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์เท่านั้น 

รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนี้ไม่มีอำนาจที่จะ “สิ่งปิด” บริษัทเอกชน ทำให้การปรับตัวต่างๆ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทเป็นหลัก บริษัทกว่า 80% ได้รายงานว่า ไม่มีความพร้อมในการทำงานแบบ remote working โพลล์ของ Gallup International ชี้ว่าประชาชนญี่ปุ่นกว่า 62% รู้สึกว่ารัฐบาลอาเบะ “บริหารผิดพลาด (mishandle)” ในขณะที่โพลล์ของสำนักข่าว FNN ชี้ว่า คะแนนสนับสนุนรัฐบาลลดลงเหลือ 39% ตรงข้ามกับคะแนนไม่สนับสนุนที่เพิ่มเป็น 44.3% ประชาชนหลายคน “เห็นด้วย” กับการที่รัฐบาลและโรงพยาบาลเลือกใช้ยุทธศาสตร์ที่จำกัดการตรวจโรค เพราะเกรงว่าการเพิ่มการตรวจโรคในแบบที่เกาหลีใต้ทำนั้น อาจทำให้มีผู้ป่วยทะลักเข้ามาใช้บริการได้ 

อ่านบทความของโมโตกิ ฉบับเต็มได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5629

 

ไต้หวัน: เด็ดขาด ฉับไว ในนามความสูญเสียจากซาร์ส

ไต้หวัน เผชิญอุปสรรคทางการเมืองที่ต้องดิ้นรนพยายามเป็น ‘รัฐ’ ทำให้ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ทำให้ไต้หวันเตรียมพร้อมรับมือ และออกมาตรการได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า มีความเด็ดขาด และฉับไว ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส บอกความจริงกับทุกคน เช่น เมื่อพบผู้ที่ติด COVID-19 จะมีการชี้แจงว่า อายุเท่าไร ไปไหนมาบ้าง โดยจะบอกแค่ชื่อสถานที่ แต่ปิดบังชื่อ-สกุลของผู้ป่วย

เมื่อไต้หวันสามารถควบคุมการระบาดไม่ได้เข้าสู่ Phase 3 ทำให้ไม่มีคำสั่ง Lockdown ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องทำงานที่บ้าน สามารถออกไปพบปะกันข้างนอกได้ เพียงแต่หากคุณเข้าใช้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า มีข้อบังคับว่า ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บริการ และผู้คนก็ต่างเคร่งครัดกับการสวมหน้ากากอนามัย

เทคโนโลยีกลายเป็นพระเอกสำหรับบทสนทนาเรื่องหน้ากาก ชาวไต้หวันมีโควต้าซื้อหน้ากากได้ 2 สัปดาห์ต่อ 9 ชิ้น (เด็ก 10 ชิ้น) ซึ่งถูกติดตามผ่านข้อมูลในบัตรประกันสุขภาพ และบัตรพำนักอาศัย พวกเขาสามารถใช้แอปพลิเคชั่นสำรวจแผนที่ และปริมาณหน้ากากใกล้บ้าน สั่งซื้อทางออนไลน์ หรือผ่านหุ่นยนต์ที่ทยอยเดินสายอวดโฉมทั่วนครไทเป ต่อมา ไต้หวันพยายามพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เปรียบเสมือนพยาบาลส่วนตัว คอยเตือนการใกล้ชิดผู้อื่น เพื่อ ‘แยก และสกัด’ เท่าที่จะเป็นไปได้ 

อ่านมุมมองของ นิติธร สุรบัณฑิตย์ นักศึกษาไทยในไต้หวันต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5635
อ่านบทความจาก ดลพร นิธิพิทยปกฤต ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5636
อ่านเรื่อง เมื่อการรับมือโควิด 19 แบบไม่เผื่อใจรอ กลายเป็นความสำเร็จของไต้หวันที่ https://ilaw.or.th/node/5605