มรดก คสช. ที่ยังเหลืออยู่ สั่งปิดเว็บไซต์-เข้าถึงข้อมูลไม่ต้องขอหมายศาล

ตั้งแต่ คสช.เข้ามายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ใช้อำนาจเข้าควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทั้งการส่งทหารไปตามสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ออกประกาศมาควบคุมเอาผิดสื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาขัดต่อหลักเกณฑ์ของ กสทช.

สื่อออนไลน์มีลักษณะเฉพาะตัวกว่าสื่อรุ่นเก่า ไม่มีสถานีออกอากาศ ไม่มีศูนย์กลางแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่จะควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งหมด ในช่วงเวลาของการยึดอำนาจ สื่อออนไลน์จึงยังคงเป็นช่องทางที่ประชาชนพอจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างจากสื่อหลักได้บ้าง แต่ คสช.ก็รีบออกประกาศมาควบคุมสื่อออนไลน์ ดังนี้

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้าน คสช. โดยประกาศระบุด้วยว่า หากใครไม่ปฏิบัติตาม คสช.จะระงับการให้บริการทันที และจะนำตัวมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตาม ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเรียกผู้ให้บริการทุกรายมารายงานตัวที่สำนักงาน กสทช. 

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจดังนี้

  1. ตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ที่แพร่เนื้อหาเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช.
  2. สั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตามข้อ 1)
  3. ประสานงานกับ คสช. เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง 

ประกาศ คสช.เหล่านี้มีผลใช้บังคับอยู่เป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยที่ผู้บริโภคสื่ออาจไม่ได้สังเกต หรือไม่ได้รู้ตัวว่ามีระบบการควบคุมสื่อออนไลน์อยู่ และเป็นระบบที่ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูล ทำให้ไม่มีบันทึกอยู่ในเอกสารราชการที่จะยืนยันได้ว่า มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้ประกาศ คสช. เหล่านี้เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตไปมากน้อยเพียงใด 

อย่างไรก็ดี วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คสช.ใช้อำนาจ “มาตรา 44” มายกเลิกประกาศและคำสั่งของตัวเองที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นแล้วอย่างน้อย 78 ฉบับ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 และ 17/2557 ถูกยกเลิกไป ปลดเปลื้องภาระหน้าที่อันกว้างขวางและกำกวมให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กลับไปมีหน้าที่ตามกฎหมายปกติ คือ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550

แต่ประกาศฉบับที่ 26/2557 ยังเป็นฉบับที่ไม่ถูกยกเลิก หรือจงใจที่จะเหลือไว้ให้มีผลบังคับใช้อยู่

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เป็นการสร้างขั้นตอนการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาบนโลกออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยให้อำนาจลัดขั้นตอนของกฎหมายปกติ

การปิดกั้นเว็บไซต์ในกรณีปกติเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ตั้งแต่กฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้มาเมื่อปี 2550 ก็พบสถิติชี้ชัดว่า เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่ถูกปิดกั้นเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” หรือสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งในช่วงแรกการตีความว่า เว็บไซต์ใดบ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ถูกปิดกั้นยังคงมีปัญหา และอำนาจการวินิจฉัยยังอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีเดิมมากเกินไป

ต่อมาเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2559 ขั้นตอนการปิดเว็บไซต์ตามมาตรา 20 ก็ถูกแก้ไขด้วยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น และมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบ “คณะกรรมการ” ที่มีตัวแทนจากหลายฝ่าย เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ

ดังนั้น ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการปิดเว็บไซต์ตามมาตรา 20 เมื่อแก้ไขและประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จึงเป็นดังนี้

         1) เว็บไซต์ที่จะถูกปิดได้ต้องเข้าข่ายหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีข้อมูลที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือขัดต่อหมวดความมั่นคงของกฎหมายอาญา หรือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นร้องขอให้ปิด


         2) ต้องดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอบรมจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญและได้รับการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ อีกชั้นหนึ่ง 

         ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่าข้อมูลใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีกรรมการจำนวน 9 คน ซึ่ง 3 ใน 9 คนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้วินิจฉัย


         3) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้สั่งปิดเว็บไซต์ได้

ส่วนการจะเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 18, 19 แบ่งระดับของข้อมูลไว้ กรณีที่เป็นการขอข้อมูลการใช้งานตามปกติ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพิเศษมีอำนาจส่งหนังสือขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด แต่กรณีที่เป็นการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องถอดรหัส หรือการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูล ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนเท่านั้น

การจงใจคงไว้ซึ่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 โดยไม่ถูกยกเลิกไปพร้อมกับประกาศฉบับอื่นๆ เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการคงไว้ซึ่ง “อำนาจพิเศษ” ที่จะสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยการลัดขั้นตอนตามปกติ ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจตุลาการ

เหตุที่คำสั่ง คสช.ที่ไม่ถูกยกเลิก ยังบังคับใช้ได้แม้จะมี ‘การเลือกตั้ง’ แล้ว ก็เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 279 ได้รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ทุกฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไปโดยถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะถูกยกเลิก นี่กลายเป็นมาตราสำคัญที่รับรองให้อำนาจพิเศษตามประกาศและคำสั่ง คสช. อีกหลายฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป และแทบจะตรวจสอบไม่ได้ว่า ในทางปฏิบัติอำนาจที่ถูกคงไว้เหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างไร มากน้อยเพียงใด

ประชาชน 13,409 คน เคยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 เข้าชื่อมากกว่า 10,000 คน เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้แล้ว ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอต้องการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องไว้แล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 กระบวนการตรวจสอบรายชื่อก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการรอบรรจุวาระพิจารณาในสภาเท่านั้น แต่ก็เป็นขั้นตอนที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาว่า จะต้องทำภายในเมื่อใด

เพื่อการทวงคืนสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมรดกที่ คสช. ทิ้งไว้และกลับไปใช้กฎหมายในระบบปกติ จึงเป็นภารกิจที่ทุกคนต้องช่วยกันติดตาม และเร่งรัดให้ร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาโดยเร็ว