เล่าเรื่องเก่าใหม่ใน พ.ร.บ.อุทยาน 2562

29 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 (พ.ร.บ.อุทยานฯ) โดยมีผลใช้บังคับหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 กฎหมายดังกล่าวผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ที่อาเซอร์ไบจานเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน ซึ่งมีวาระการพิจารณาที่สำคัญคือ การพิจารณาให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
 
 
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับเดิมใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2504 มีการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งคือ ในปี 2504 และ 2532 ไทยมีหน้าที่ต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศตามพันธกรณีที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วยและสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ให้แก้ไขกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ทางนโยบาย และความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย
 
 
ข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
 
 
พ.ร.บ.อุทยานฯ เป็นหนึ่งในกฎหมายด้านความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้อยห้าฉบับ ที่ไทยดำเนินการทบทวนหรือร่างขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ พ.ร.บ.ป่าไม้(ฉบับที่ 8) พ.ศ 2562, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 , พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเนื่องจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม พ.ศ….
 
 
ไทยเป็นภาคีสมาชิกพันธกรณีระหว่างประเทศด้านทรัพยากรหลายฉบับ ฉบับที่สำคัญ คือ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity – อนุสัญญา) ที่ไทยได้ยื่นสัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาในปี 2546 และมีผลผูกพันในปีถัดมา ในอนุสัญญา มาตราที่หนึ่งระบุถึงวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา คือ การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ, การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
 
 
 
ภาพ : Creative commons
 
ในวัตถุประสงค์ข้อที่สามนำไปสู่การตราพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม (The Nagoya Protocol on Access and Benefit Sharing – พิธีสารนาโงยา) ภายใต้อนุสัญญาและพิธีสารนาโงยามีการบัญญัติเกี่ยวข้องกับความรู้ตามธรรมเนียมประเพณีของชุมชนท้องถิ่นและภาคีสมาชิกจะต้องพยายามสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งปันผลประโยชน์
 
 
ตามรายงานระดับชาติเรื่องการปฏิบัติตามอนุสัญญาครั้งที่หกของไทย มีการอ้างถึงพ.ร.บ.อุทยานฯ ในยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปกป้องสิทธิเหนือทรัพยากรของประเทศและการจัดการที่จะส่งเสริมและจัดสรรรผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพว่า ภายในปี 2563 กลไกและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารนาโงยานี้จะพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งรายละเอียดระบุว่า พ.ร.บ.อุทยานฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องใช้บังคับมายาวนานแล้วจำเป็นที่ต้องทบทวนและปรับปรุง
 
 
นอกจากนี้ยังระบุว่า ภายในปี 2564 กลไกและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารนาโงยาจะถูกพัฒนาขึ้นโดยชุมชนท้องถิ่นและการวิจัย ภายใต้การประกันวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนและให้น้ำหนักกับชุมชนท้องถิ่นในฐานะเจ้าของความรู้เรื่องทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ
 
 
 
ไม่สนเสียงค้าน-คสช.เดินหน้าผลักพ.ร.บ.อุทยานฯ
 
 
พ.ร.บ.อุทยานฯ เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายร้อยฉบับที่ถูกเขียนขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ภายใต้รัฐบาลคสช. โดยเริ่มยกร่างในปี 2559 ระหว่างนั้นในเดือนสิงหาคม 2561 ภาคประชาชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติได้รวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับภาคประชาชน เป้าหมายเพื่อเสนอกฎหมายที่ครอบคลุม สะท้อนปัญหาจากชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายของภาคประชาชนฉบับนี้ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ได้ เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง นำไปสู่การฟ้องร้องที่ศาลปกครอง
 
 
 
 
วันที่ 19 มกราคม 2561 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ต่อศาลปกครอง ตามคำฟ้องระบุว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ลงนามรับรองให้ร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับประชาชน  ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ได้แต่ลงนามรับรองในฉบับที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชยกร่าง ทำให้ไม่มีภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการวิสามัญร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ ตลอดจนไม่สามารถเข้าไปชี้แจงเนื้อหาอันอาจละเมิดต่อสิทธิชุมชนในร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกรมอุทยานแห่งชาติได้
 
 
ตัวแทนสมัชชาฯ ระบุว่า การที่ไม่มีพ.ร.บ.อุทยานฯของภาคประชาชนเข้าไปพิจารณาคู่ขนานได้อาจทำให้ปัญหาของพวกเขาไม่ได้รับฟังและการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
 
 
ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนหน้าสนช.จะลงมติในวาระสามเห็นชอบต่อร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับของกรมอุทยานฯยกร่าง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) หนึ่งในเครือข่ายที่ร่วมผลักดันพ.ร.บ.อุทยานฯภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมการเร่งรีบการออกกฎหมายของสนช. ทั้งที่ไม่มีความเร่งด่วนและกำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งกลับสู่ประชาธิปไตย และระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและอาจกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวชุมชนดั้งเดิมจำนวนมาก จึงสมควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การเร่งรีบจะส่งผลให้กฎหมายขาดความสมบูรณ์เพียงพอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่หรืออาจสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต ขอให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน
 
 
ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ประชุมสนช.ลงมติเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.อุทยานฯฉบับทีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชยกร่างบังคับใช้เป็นกฎหมายด้วยเสียงเห็นด้วย 140 เสียง ไม่เห็นด้วยหนึ่งเสียงและงดออกเสียงเจ็ดเสียงและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562
 
 
พ.ร.บ.อุทยานฯมีอะไรใหม่?
 
 
หากเปรียบเทียบแล้ว พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่มีบทบัญญัติที่ให้รายละเอียดมากกว่าพ.ร.บ.ฉบับปี 2504 เริ่มต้นระบุถึงเรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้การอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติเกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน การจำกัดเสรีภาพ เช่น เรื่องการจับกุมคุมขังที่กระทบต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย, เรื่องการเข้าค้นสถานที่ที่กระทบต่อเสรีภาพในเคหสถานหรือเรื่องการเวนคืนที่ดินที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สิน และมีการนิยามศัพท์อย่างละเอียดกว่าพ.ร.บ.ฉบับเก่าแต่ยังคงขาดนิยามที่สำคัญเช่น ชุมชน หรือชุมชนดั้งเดิม รวมทั้งคำว่า ของป่า อีกด้วย
 
 
สาระสำคัญของการปรับปรุงพ.ร.บ.อุทยานฯให้สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบันและข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ การให้พื้นที่แก่ประชาชนในการให้ความคิดเห็นในขั้นตอนต่างๆ และการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น
 
 

ขายประเด็นการรับฟังความเห็นจากประชาชน

 
พ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งไม่เคยบัญญัติมาก่อนในสองขั้นตอน คือ การกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติและแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดังนี้
 
 
หนึ่ง การกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ – มาตรา 8 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ ระบุว่า การกำหนดอุทยานแห่งชาติเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา จะต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตตามระบบสารสนเทศหรือระบบอื่นที่ใกล้เคียงกัน โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของบุคคลใด เว้นแต่ว่า เป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ แต่จะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานนั้นก่อน
 
 
ในการกำหนดพื้นที่ ขยายเพิ่มเติม หรือเพิกถอนอุทยานแห่งชาติจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประกอบการพิจารณา
 

สอง แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  มาตรา 18 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ ระบุว่า แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบไปด้วยวิธีการดำเนินการแนวทางการจัดการและการกำกับการดูแลการใช้พื้นที่ กระบวนการจัดทำแผนจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย

 
 
การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นสอดคล้องไปกับพิธีสารนาโงยาที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายฉบับใหม่จะตราขึ้นเพื่อปกป้องทรัพยากรและทำให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก แต่เพียงการที่กฎหมายบังคับให้รับฟังความคิดเห็นนั้นไม่เพียงพอให้เชื่อมั่นได้ว่า เสียงของประชาชนจะถูกรับฟังและสมาชิกชุมชนท้องถิ่นเองจะได้รับรู้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดอนาคตหรือแผนต่างๆ อย่างเพียงพอ เห็นได้จากที่ผ่านมากระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพียงเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงปรากฏภาพการกีดกันผู้เห็นต่างกับแนวคิดของรัฐหรือโครงการของเอกชนในการนำเสนอความคิดเห็นของพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง
 
 

เพิ่มโทษหนักขึ้นสูงสุด ปรับสองล้านบาท*-จำคุก 20 ปี

 
 
เดิมในบทกำหนดโทษของพ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2504 บัญญัติโทษสูงสุดกรณีกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1),(2),(3),(4),(5) และ (6) ฐานครอบครองหรือทำให้ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเสื่อมสภาพ เก็บหาหรือทำการที่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมสภาพเข่น การตัดไม้ ลักลอบนำสัตว์ออกจากอุทยานแห่งชาติ และเปลี่ยนหรือกีดขวางทางน้ำ จะต้องโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือเป็นโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายแล้ว
 
 
ขณะที่พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่ได้ปรับบทลงโทษให้หนักขึ้น โดยบัญญัติโทษสูงสุดกรณีกระทำความผิดตามมาตรา 19(1) ฐานครองครองที่ดิน แผ้วถางป่าหรือทำการให้ทรัพยากรเสื่อมสภาพ จะต้องโทษจำคุกระหว่างสี่ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท ในกรณีที่กระทำความผิดในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งหรือสอง (พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์) หรือพื้นที่ที่มีความเปราะบางและหลากหลายทางชีวภาพจะต้องโทษหนักกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง
 
 
นอกจากนี้ยังมีการแยกย่อยลำดับขั้นของบทลงโทษตามความหนักเบาของความผิด เช่น เดิมความผิดฐานเก็บหาหรือทำการที่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมสภาพเช่น การตัดไม้ จะถูกรวมกับโทษเรื่องการครอบครองที่ดินและอื่นๆ แต่พ.ร.บ.อุทยานฯใหม่ได้จัดลำดับขั้นการลงโทษคือ กรณีที่ทรัพยากรไม่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ มูลค่าไม่เกิน 2,000 บาท จะต้องโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่หากทรัพยากรสามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ มูลค่าไม่เกิน 2,000 บาท จะเหลือเพียงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
 
 
ในกรณีที่เป็นการสร้างความเสียหายแก่ต้นไม้หรือไม้ท่อนเกิน 20 ต้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึง 20 ปีหรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท
 
 
เรื่องการเก็บหาของป่า พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ไม่มีการให้นิยามไว้ชัดเจนว่า ของป่าที่เก็บหาได้เพื่อยังชีพของชุมชนท้องถิ่นควรมีสิ่งใดบ้าง ทั้งที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเก็บของป่าและมีบทกำหนดโทษทั้งจำและปรับค่อนข้างสูงเช่นนี้ ซึ่งเมื่อไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนเช่นนี้แล้วอาจนำไปสู่การใช้ดุลพินิจที่กว้างขวางและไม่มีมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย
 
 
ซึ่งนิยามดังกล่าวเป็นข้อกังวลมาตลอดและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจ ในร่างพ.ร.บ.อุทยานฯภาคประชาชนที่ไม่ถูกหยิบมาพิจารณาได้นิยามคำว่า “ของป่า” ไว้ว่า หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรืออยู่ตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เป็นต้นว่า ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ น้ำมันจากไม้ ยางไม้ หญ้า อ้อ พง แขม ปรือ คา กก กระจูด กล้วยไม้ กูด เห็ดรา เฟิร์น ตะไคร่ สาหร่าย พันธุ์ไม้น้ำ ส่วนของพืชสมุนไพร รังนก ครั่ง รังผึ้ง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ไข มูลสัตว์ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม
 
 
 
พ.ร.บ.อุทยานฯ มีอะไรเก่า?
 
 
ระหว่างปี 2557-2562 สนช.ได้เร่งตรากฎหมายจำนวนมากและมีการหยิบยกเนื้อหาของประกาศและคำสั่งของคสช.มาใส่ลงหรืออ้างอิงแนวปฏิบัติในกฎหมายระดับพ.ร.บ. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เรือไทยฯ พ.ศ.2561, พ.ร.ก. การประมง 2558 และพ.ร.ก.การประมง 2560
 
 
การอ้างเนื้อหาตามประกาศและคำสั่ง คสช. ลงในกฎหมายปรากฏอีกครั้งในพ.ร.บ.อุทยานฯ ครั้งนี้เป็นการอ้างถึงคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 หรือคำสั่งทวงคืนผืนป่า ที่เป็นปัญหาตลอดมาในช่วงยุคคสช. มาตรา 64 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ ระบุว่า ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่พ.ร.บ.ใช้บังคับคือ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เท่ากับว่า กำหนดให้สำรวจให้เสร็จภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563
 
 
เมื่อครบกำหนดและรัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาก่อนพ.ร.บ.ใช้บังคับ การช่วยเหลือให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ก.) แต่ผู้ได้รับการช่วยเหลือนั้นจะไม่ได้สิทธิในการครอบครองที่ดิน พ.ร.ก.ดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยมาก่อนภายใต้กรอบเวลามติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ที่ออกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557
 
 
จากมาตราดังกล่าว เงื่อนไขสำคัญของบุคคลที่จะได้รับการช่วยเหลือ คือ ต้องไม่มีที่ดินทำกิน และต้องอยู่อาศัยมาก่อนตามกรอบเวลาในการพิสูจน์การครอบครองที่ดิน มีสองช่วง คือ การครอบครองมาก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และวันที่ 17 มิถุนายน 2557 พิจารณาผิวเผินแล้วสามารถตีความได้ว่า ประชาชนทั้งหมดที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยหรือครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 จะต้องได้รับการลดหย่อนให้ครอบครองทำกินในที่ดินเดิมต่อไปได้ แต่ด้วยลักษณะการจัดการป่าไม้ของคสช.ที่ผ่านมา อาจทำให้กรอบระยะเวลาตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 อาจนำมาอ้างอิงไม่ได้จริง
 
 
คำสั่งทวงคืนผืนป่าระบุว่า “การดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทํากิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดําเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ”  นับแต่ปี 2557 คสช.ได้ทำการทวงคืนผืนป่าจากชาวบ้านอย่างเข้มข้น โดยดำเนินการตรวจพื้นที่ในเขตป่าทั่วประเทศอันเป็นการกระทำจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว มีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่ขอให้ชาวบ้านไปชี้แนวเขตที่ดิน ถ่ายภาพไว้และไม่ให้หลักฐานการสำรวจหรือให้โอกาสชาวบ้านชี้แจง
 
 
 
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ
 
 
ทั้งการสำรวจพื้นที่ไม่ปรากฏชัดถึงแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยมากอ้างอิงตามบัญชีรายชื่อการสำรวจตามมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือภาพถ่ายทางอากาศ หากไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีหรือไม่มีหลักฐานที่เจ้าหน้าที่จะรับฟังว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนคำสั่งทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่จะให้ชาวบ้านเซ็นในข้อตกลงว่ายินยอมคืนพื้นที่ และถ้าหากไม่เซ็นจะถูกข่มขู่ดำเนินคดี ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะจำยอมโดยสภาพต้องเซ็นคืนพื้นที่ให้แก่รัฐ
 
 
การเซ็นคืนพื้นที่ถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่ครอบครองที่ดินมาก่อนคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 โดยชาวบ้านจำนวนมากที่ถูกทวงคืนผืนป่าเป็นผู้ยากไร้และอ้างว่า ครอบครองที่ดินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น ในกรณีชุดคดีชาวบ้านซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านจำนวน 14 คนถูกกล่าวหาว่า บุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลพิจารณาเรื่องการครอบครองที่ดิน ระบุว่า ชาวบ้าน ‘ยินยอม’ คืนพื้นที่ไปแล้ว การกลับเข้าไปทำกินอีกครั้งจึงถือเป็นผู้บุกรุกใหม่ตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557
 
 
 
ข้อห่วงกังวลเรื่องการสำรวจการครอบครองที่ดิน
 
 
พ.ร.บ.อุทยานฯใช้บังคับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 การสำรวจการถือครองที่ดินตามมาตรา 64 จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 จากสถิติของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชระบุว่า ไทยมีอุทยานแห่งชาติจำนวน 131 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 64,001.08 ตารางกิโลเมตร โดยภาคเหนือมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุด พื้นที่กว้างขวางเช่นนี้ ประกอบกับตัวอย่างการสำรวจที่ดินในเขตป่าตามมติครม.เมื่อวันที่ 2541 ที่มีการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ใช้เวลากว่า 12 ปีในการสำรวจ แต่ก็ยังมีผู้ตกหล่นสำรวจและไม่เสร็จสิ้นดี นำไปสู่ข้อห่วงกังวลว่า การสำรวจตามมาตรา 64 จะเสร็จสิ้นไม่ทันภายใน 240 วันตามกฎหมายกำหนด
 
 
 
ปัจจุบันมีบางพื้นที่นำร่องสำรวจไปบ้างแล้ว เช่น พื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ระบุว่า เหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก ขณะที่มีรายงานจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคเหนือระบุว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลได้จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่เริ่มดำเนินการสำรวจที่ดินตามมาตรา 64 เลย สร้างความกังวลใจว่า ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินและครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติตามกรอบเวลาจะตกสำรวจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการซ้ำเติมคนยากไร้และสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านระลอกใหม่