‘พรรคแตก’ จากการออกแบบระบบเลือกตั้ง เสี้ยม ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

พรรคการเมือง เป็นสถาบันทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการของประชาชน และเป็นเสาหลักหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับจึงรับรองสิทธิ์ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันสามารถรวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชนในการใช้อำนาจรัฐ 
ย้อนไปในสมัยที่ไทยมีกระแสปฏิรูปการเมืองเมือง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้สร้างระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่และรัฐบาลที่เข้มแข็งสามารถผลักดันหรือขับเคลื่อนนโยบายในระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบเลือกตั้งในช่วงเวลานั้นถูกออกแบบให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เรียกว่า ระบบคู่ขนาน ใบหนึ่งเลือกพรรค (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ บัญชีรายชื่อ) ใบหนึ่งเลือกคน (ส.ส.เขต)   
ตรงกันข้าม ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่นำทีมออกแบบโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบใหม่ เรียกว่า 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' ซึ่งใช้บัตรเลือกใบเดียวเลือกทั้งพรรคทั้งคน ส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแออย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทำให้การเลือกของประชาชนกลับไปมุ่งเน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบาย 
ที่สำคัญ มันยังเป็นการออกแบบที่ทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กับ ส.ส.เขต ในพรรคเดียวกันขัดแย้งกันเองได้ง่าย เพราะออกแบบให้พรรคใดได้ ส.ส.เขต มาก จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลงโดยอัตโนมัติ ปรากฎการณ์ "พรรคแตก" ที่ส.ส.เขตสอบตกของบางพรรคยกขบวนลาออก ส่วนหนึ่งจึงเป็นปัญหาในเชิงระบบ 
ลองทำความเข้าใจในรายละเอียดระบบเลือกตั้งกันอีกครั้งว่าทำไมจึงสร้างความขัดแย้งเช่นนั้น 
ทุกพรรคต้องพึ่ง ส.ส.เขต-พรรคใหม่ต้นทุนสูง
ระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว กาหนึ่งครั้งเป็นทั้ง 1.คะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ 2.คะแนนของพรรคการเมือง ผู้ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นจะได้เป็น ส.ส.เขต ส่วนกรณี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะนำคะแนนของ ส.ส.เขต ทั่วประเทศของพรรคนั้นๆ มาเป็นฐานคิดคำนวณ ดังนี้
(1) นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ไม่รวมบัตรเสียเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ 500 จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขชุดหนึ่งที่อนุมานว่า เป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ  1 ส.ส. 
เช่น ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน หมายความว่า ส.ส.1 คน เท่ากับประชากรจำนวน 80,000 คน 
สมการคือ 40,000,000/500 = 80,000
(2) เมื่อจะหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองใด ก็นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำตัวเลขที่ได้จากข้อ (1) ไปหาร ผลลัพธ์จะเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
เช่น พรรค ก. ได้คะแนนทั่วประเทศ 16 ล้านเสียง พรรค ก. จะได้มี ส.ส. พึงมี 200 คน
สมการคือ 16,000,000/80,000 = 200
(3) นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีจากข้อ (2) มาเป็นตัวตั้ง ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้มาแล้ว ผลลัพธ์ คือจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
เช่น พรรค ก. มี ส.ส.เขต จำนวน 160 คน พรรค ก. จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม 40 คน
สมการคือ 200-160 = 40  
จากขั้นตอนการคำนวณข้างต้น จะเห็นได้ว่า คะแนนเสียงที่ผู้รับสมัครแบบแบ่งเขตได้มาจะเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวณที่นั่ง ดังนั้น ทุกพรรคจึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้สมัครในเขต หรือ ส.ส.เขต 
พูดง่ายๆ คือ ถ้าอยากได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก พรรคก็ต้องส่ง ส.ส.เขตลงเลือกตั้งให้มากที่สุด หรือ ดีที่สุดก็ส่งให้ครบ 350 เขตทั่วประเทศ ชนะหรือไม่ไม่สำคัญเท่าเก็บคะแนนมาให้มากที่สุด ไม่ให้มีเสียงตกหล่นจากเขตที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร จะได้นำคะแนนมาคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  ปัญหาที่ตามมาโดยอัตโนมัติคือ พรรคการเมืองมีต้นทุนสูงขึ้นมาก เพราะไม่สามารถส่งส.ส.ลงชิงชัยเฉพาะในเขตที่ตนมีความพร้อมได้ พรรคไหนเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ก็ยิ่งยากลำบากและเกิดปัญหามากมาย
เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส.ส.ในพรรคกว่า 40 คนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สอบจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่รักษาสัญญว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการหาเสียง อีกกรณีหนึ่งคือ พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ต้องยื่นเรื่องเลิกกิจการพรรค โดยระบุเหตุผลว่า พรรคมี ส.ส.เพียงคนเดียว และกรรมการบริหารพรรคไม่พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในพรรคการเมืองต่อ 
ด้วยเหตุที่ จำนวน ส.ส. เขต แปรผกผันกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าต้องการ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส.เขต ต้องได้คะแนนเสียงลำดับต้นๆ แต่ต้องไม่ชนะการเลือกตั้ง เรียกได้ว่า ที่นั่งของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้มาจากการประกอบสร้างของผู้พ่ายแพ้ในเขต จึงไม่แปลกที่จะเห็นปรากฏการณ์ที่สมาชิกพรรคและอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ยื่นใบลาออก โดยอ้างถึงการที่พรรคไม่ให้คุณค่าและความสำคัญกับผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่าที่ควร เพราะแกนนำพรรคมองว่าคะแนนที่ทำให้ได้ ส.ส. (ปาร์ตี้ลิสต์) ในครั้งนี้มาจากการความนิยมในตัวพรรคและแกนนำมากกว่าความนิยมในตัวบุคคล (ส.ส.เขต) ขณะที่ในมุมของผู้สมัครก็มองว่า ตนเองลงพื้นที่ไปล่าคะแนนมาให้กับพรรค
ปัญหานี้เป็นที่คาดการณ์ได้ตั้งแต่ต้น รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทักทวงต่อระบบเลือกตั้งดังกล่าวด้วยว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค เพราะ ส.ส.เขตเป็นเหมือนเบี้ย ที่ลงไปหาเสียงๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีโอกาสชนะ แต่ต้องหาเสียงให้คนที่นั่งรออยู่ในบัญชีรายชื่อ รอคะแนนเข้าไปนั่งในสภา ส่วนพรรคเล็กก็ต้องใช้ต้นทุนสูงในการหา ส.ส.เขตมาดูดคะแนน ดังนั้น พรรคต้องมีต้นทุนทางทรัพยากรมากพอที่จะหาตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด 
พรรคใหญ่ถูกลงโทษ-ผลประโยชน์ ส.ส. ขัดแย้งกัน 
ระบบเลือกตั้งแบบใหม่จะคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากคะแนนเสียงที่ประชาชนลงให้ ส.ส.เขตแต่ละพรรคทั่วทั้งประเทศ โดยนำคะแนนเสียงดังกล่าวมาคิดเป็นสัดส่วนที่นั่งที่พรรคพึงได้รับ จากนั้นให้นำมาหักลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้ ซึ่งส่วนต่างที่เหลือก็คือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้ แต่ถ้าในกรณี ส.ส.เขต มีจำนวนมากกว่า ส.ส.พึงมี พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลการคำนวณที่นั่งส.ส. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง ส.ส.เขต ทั่วประเทศ 7,881,006 คะแนน เมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า ส.ส. ที่พรรคพึงจะมีคือ 110 ที่นั่ง แต่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขตไปแล้ว 136 คน ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยแม้แต่คนเดียว ในขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. เขต 204 คน และมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 61 คน 
ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจึงมีแนวโน้มเป็นโทษกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่กวาดที่นั่งจาก ส.ส.เขตได้มาก เพราะทำให้พรรคที่ชนะ ส.ส.เขต จะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง หรืออาจจะไม่ได้เลย ในขณะที่พรรคที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาทดแทน  ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองต้องการที่นั่ง ส.ส.เพิ่ม พรรคจำเป็นต้องลดขนาดให้เป็นพรรคขนาดกลาง 
จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีแตกพรรคย่อยเป็น 'พรรคไทยรักษาชาติ' พร้อมกับแบ่งพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการลงเลือกตั้งด้วยการให้พรรคเพื่อไทยส่งแค่ 250 เขต ส่วนพรรคไทยรักษาชาติส่ง 150 เขต โดยหวังให้แกนนำของพรรคที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคได้เข้าสภา 
แต่ทว่า เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง กลยุทธ์ที่วางไว้ก็ไม่สามารถใช้การได้ ประกอบกับพรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งแค่ 250 เขต ทำให้คะแนนเสียงที่ได้มาเพื่อนำคำนวณเป็น ส.ส. พึงมีของพรรคแล้วยังน้อยกว่าจำนวน ส.ส. เขต ทำให้แม่ทัพนายกองคนสำคัญของพรรคไม่ได้เข้าสภา และนับเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยหลังครองเสียงข้างมากในสภามาหลายสมัย  
พรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ
ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกฉีกไปนานแล้วนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็น "The Best of two world" ที่ทำให้ประชาชนได้เลือกคนที่รักและมีผู้แทนจากพรรคที่ชอบอยู่ในสภา อีกทั้งยังเป็นระบบที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันในเชิงนโยบาย มากกว่าแข่งขันที่ตัวบุคคลผู้ลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันและนำไปสู่การเป็นพรรคที่เข้มแข็ง กลายเป็นรัฐบาลเสียงมากที่ผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ง่าย
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ยังต้้งข้อสังเกตด้วยว่า การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งสะท้อนวิธีคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องการสลายความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับประชาชน ผู้ร่างต้องการทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำลายความสร้างสรรค์ในเชิงนโยบายของพรรคการเมือง จึงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวโยงประชาชนเข้ากับตัวบุคคลมากกว่าพรรค และเมื่อพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนอ่อนแอ มันก็จะยิ่งทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอ่อนแอตามไปด้วย เพราะพรรคการเมืองเป็นตัวกลางในการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนในการใช้อำนาจทางการเมือง