เลือกตั้งซ่อมนครปฐม: “ประชาชนเปลี่ยนใจ” หรือ “วันเลือกตั้งทำพิษ”

23 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดนครปฐม หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ได้รับเลือกตั้งลาออก ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ 91,043 คน (คิดเป็น 63.43%) และ "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" จากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 ในขณะที่ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กลับพ่ายแพ้ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ถัดมาเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
จากการเปรียบเทียบคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งสองครั้ง พบว่า ผู้สมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ลดลง จาก 23 พรรค เหลือเพียง 7 พรรค โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่ พรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่กับรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นการวางกลยุทธ์ของแต่ละขั้วการเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านที่เปิดทางให้แชมป์เก่าอย่างพรรคอนาคตใหม่สู้อย่างเต็มที่ แต่ทว่า ผลการเลือกตั้งกลับเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล
อย่างไรก็ดี จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนเปลี่ยนวิธีคิดในการออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากการลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่ชอบกลับกลายเป็นการให้น้ำหนักกับ อดีต ส.ส. ที่มีประวัติการทำงานกับพื้นที่มาอย่างยาวนาน หรือ แท้จริงแล้วเป็นผลจากวันเลือกตั้งของ กกต. ที่ใช้วันหยุดราชการที่เป็นวันหยุดกลางสัปดาห์เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งผลจากการศึกษาเปรียบเทียบ มีข้อสังเกตว่า วันเลือกตั้ง เป็นปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะของพรรคฝ่ายรัฐบาล
ชาติไทยพัฒนาคะแนนเพิ่มสองเท่า อนาคตใหม่หายห้าพัน
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีทั้งหมด 23 พรรค ในขณะที่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 มีพรรคการเมืองเพียง 7 พรรคลงแข่งขั้น โดยการเลือกตั้งเป็นการแข่งขั้นระหว่างสองขั้วการเมือง ได้แก่ ไพรัฐโชติก์ จันทรขจร จากพรรคอนาคตใหม่ กับ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีต ส.ส. หลายสมัยของพรรคชาติไทยพัฒนา
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของคะแนนการเลือกตั้ง โดยแบ่งจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคอื่นๆ จะพบการเปลี่ยนแปลงของคะแนน ดังนี้
๐ พรรครัฐบาล
พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 37,675 คะแนน เพิ่มขึ้น 25,396 คะแนน
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 18,425 คะแนน ลดลง 545 คะแนน
โดยคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ 23,448 คะแนน ประกอบไปด้วย
พลังประชารัฐ 18,741 คะแนน
พรรคภูมิใจไทย 1,178 คะแนน
พรรครวมพลังประชาชาติไทย 614 คะแนน
พรรคประชานิยม 449 คะแนน
พรรคประชาภิวัฒน์ 397 คะแนน
พรรคชาติพัฒนา 342 คะแนน
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 341 คะแนน
พรรคพลังท้องถิ่นไท 192 คะแนน
พรรคประชาชนปฏิรูป 168 คะแนน
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 137 คะแนน
พรรคพลเมืองไทย 343 คะแนน
๐ พรรคฝ่ายค้าน
พรรคอนาคตใหม่ ได้ 28,216 คะแนน ลดลง 5,948 คะแนน
พรรคเสรีรวมไทย ได้ 2,261 คะแนน ลดลง 3,749 คะแนน
โดยคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ 5,926 คะแนน ได้แก่
พรรรคเศรษฐกิจใหม่ 3,113 คะแนน
พรรคเพื่อชาติ 2,813 คะแนน
๐ พรรคอื่นๆ
พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ 467 คะแนน เพิ่มขึ้น 73 คะแนน
พรรคพลังสังคม ได้  154 คะแนน เพิ่มขึ้น 33 คะแนน
พรรคเพื่อชีวิตใหม่ได้ 226 คะแนน เพิ่มขึ้น 226 คะแนน
โดยคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ของพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ 1,113 คะแนน ได้แก่
พรรคพลังชาติไทย 779 คะแนน
พรรคพลังไทยรักชาติ 180 คะแนน
พรรคเครือข่าวชาวนาแห่งประเทศไทย 84 คะแนน
พรรคมหาชน 70 คะแนน
วันเลือกตั้งทำพิษ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหาย 12.5 เปอร์เซ็น
เนื่องจากในการเลือกตั้งวันที่ 23 ตุลาคม 2562 มีอย่างน้อยสองเรื่องที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ได้แก่ หนึ่ง การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยคะแนนเสียงจะไม่ถูกนำไปคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือหมายความว่า เป็นการแข่งขั้นระหว่างตัวบุคคลเป็นหลัก และ สอง วันที่จัดการเลือกตั้งเป็นวันหยุดราชการในกลางสัปดาห์ ไม่ใช่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เหมือนการเลือกตั้งปกติ 
แต่ทว่า จากการดูตัวเลขการลงคะแนนเสียงแล้ว พบว่า แม้พรรคชาติไทยพัฒนาจะได้เสียงเพิ่มขึ้น แต่คะแนนเสียงก็มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับคะแนนเสียงรวมของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ โดย พรรคชาติไทยพัฒนาได้คะแนนเสียงเพิ่มมา  25,396 คะแนน ในขณะที่คะแนนเสียงรวมของพรรครวมรัฐบาลที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ เท่ากับ 22, 902 คะแนน
ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังให้ความสำคัญกับ ส.ส. ที่สังกัดพรรคที่ตัวเองสนับสนุนมากกว่า ส.ส. ที่มีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับพื้นที่
นอกจากนี้ คะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้านที่หายไปก็ใกล้เคียงกับยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลดลง โดยคะแนนเสียงรวมของพรรคฝ่ายค้านที่หายไป คือ 15,623 คะแนน ในขณะที่ผู้ไม่มาใช้สิทธิในรอบนี้หายไป  17,995 คน คิดเป็นประมาณ 12.5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็อาจตีความได้ว่า การเลือกตั้งวันเลือกตั้งของ กกต. ส่งผลไม่น้อยต่อผลลัพธ์การเลือกตั้ง