“สสร. 40” จุดเริ่มต้นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

"สสร." หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นชื่อเรียกคณะบุคคลที่มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับและได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนับถึงปี 2562 ประเทศไทยมี สสร. มาแล้วสี่ชุดด้วยกัน  
คำว่า สสร. กลายเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องพูดถึงกันในสังคมอีกครั้ง หลังพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ซึ่งประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ประกาศต่อสาธารณะว่า แนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จากนั้นจะนำไปให้ประชาชนร่วมลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
สสร. ชุดที่น่าจะเป็นตัวแบบสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ สสร. 40 หรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เพราะตั้งแต่อุดมการณ์เริ่มต้น ที่มาของผู้ร่าง และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ล้วนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน 
"พฤษภาทมิฬ" แรงกระตุ้นสู่การเกิด "สสร.40" 
หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 หรือที่เรียกกันว่า "พฤษภาทมิฬ" ที่ประชาชนไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของประเทศได้มากขึ้น ประเด็นการปฏิรูปการเมืองกลายเป็นกระแสเรียกร้องที่เข้มข้นมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวและนำเสนอความคิดที่จะปรับปรุงระบบการเมืองในเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้น ด้วยความรุนแรงของเหตุการณ์เดือนพฤษภาและการผลักดันอย่างต่อเนื่องของหลากหลายกลุ่ม นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สำเร็จ
แต่ทว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬผ่านไปสองปี การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไม่มีความคืบหน้า จน 'ฉลาด วรฉัตร' ผู้ประท้วงคนสำคัญของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬต้องออกมาอดอาหารเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย และมีหมุดหมายหนึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จนกระทั่งในปี 2538 บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขี้นมา และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ได้สำเร็จ กลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 มีสาระสำคัญคือให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อรัฐสภา
"สสร. 40" มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของรัฐสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม ได้แก่
หนึ่ง สสร. จากตัวแทนแต่ละจังหวัด ที่มาจากการประกาศรับสมัครในแต่ละจังหวัด โดยหากมีผู้สมัครในจังหวัดนั้นๆ ไม่เกิน 10 คน ให้นำรายชื่อทั้งหมดส่งไปให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติคัดเลือก แต่หากมีผู้รับสมัครเกินกว่า 10 คน ให้ลงคะแนนโดยคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครให้เหลือไม่เกิน 10 คน แล้วจึงส่งไปให้รัฐสภาคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละหนึ่งคน รวม 76 คน
สอง สสร. จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จะแบ่งสัดส่วนเป็น ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 8 คน และ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวให้มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการมอบปริญญาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ แล้วจึงส่งให้รัฐสภาเลือกคัดเลือกให้เหลือ 23 คน
โดยตัวแทนทั้งสองแบบจะมีรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นคนคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในด่านสุดท้าย หรือที่เรียกกันว่า การเลือกตั้งทางอ้อมจนได้ สสร. จำนวน 99 คน รายชื่อสมาชิก สสร. 2540 ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมืองมาจนปัจจุบัน เช่น คณิต ณ นคร, คณิน บุญสุวรรณ, แก้วสรร อติโพธิ์, ทองใบ ทองเปาด์, ธงทอง จันทรางศุ, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, พนัส ทัศนียานนท์, ลิขิต ธีรเวคิน, สมคิด เลิศไพฑูรย์, สุนี ไชยรส, เสรี สุวรรณภานนท์, อานันท์ ปันยารชุน, ประสงค์ สุ่นศิริ โดยมีอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน สสร.
"สสร. 40" เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้รับการขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผ่านตัวแทนแต่ละจังหวัดและนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังได้กำหนดเป็นหลักการไว้ด้วยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ หากดูในเชิงโครงสร้างการทำงานของ สสร. 40 จะพบว่า มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 2 ชุด ที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ได้แก่ คณะกรรมาธิการรับฟังควาคิดเห็นและประชาพิจารณ์ และคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์
โดยทั้งสองกรรมาธิการมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ขององค์การเอกชน สมัชชา กลุ่ม ชมรม สหภาพ สหกรณ์ และประชาชนทั่วไป รวมถึงประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยวิธีต่างๆ
ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท ระบุว่า รายงานการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดในชั้นเบื้องต้นมีถึง 629,232 คน ขั้นประชาพิจารณ์ในระดับจังหวัด 70 จังหวัด 122,584 คน เวทีระดับภาค 3,828 คน มีผู้กรอกแบบสอบถาม 87,912 คน รวมผู้มีส่วนร่วมทั้งสิ้น 843,556 คน รวมถึงการมีส่วนร่วมระดับองค์กรกลุ่มธุรกิจ กลุ่มภาคประชาชน กลุ่มองค์กรประชาธิปไตย พรรคการเมืองจำนวนกว่า 300 กลุ่ม