“19 คดีไทรทอง” เมื่อชาวบ้านจ.ชัยภูมิ เตรียมเรียงหน้าเข้าคุก ตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า”

ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่เป็นระยะเวลานานในประเทศไทย ฝั่งรัฐเองต้องการที่จะปกป้องผืนป่า ด้วยแนวคิดว่า ในพื้นที่ป่าไม่ควรมีผู้คนอาศัยอยู่  และป่าควรเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่ให้คนเข้าไปในเขตป่า เพราะ "คน" จะ "ทำลายป่า" ส่วนชาวบ้านที่อยู่กับพื้นที่ป่าก็ยืนยันว่า ชุมชนบางชุมชนนั้นตั้งอยู่มาก่อนที่รัฐจะกำหนดเขตป่าสงวน หรือเขตอุทยาน และชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าและดูแลป่าเองได้ เพียงแต่ใช้ทรัพยากรในป่าเพื่อดำรงชีพเท่านั้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กันบนแนวคิดที่แตกต่างกันเรื้อรังเป็นเวลานาน หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย 
หลังการรัฐประหารครั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ใช้ความพยายามอีกก้าวหนึ่งที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาเหล่านี้ โดย ได้ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือเรียกกันว่า “นโยบายทวงคืนผืนป่า”  ที่ให้อำนาจทหารร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จัดการจับกุมและดำเนินคดีคนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า ส่งผลให้มีชาวบ้านหลายพันคนถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง และบางส่วนถูกดำเนินคดี
ชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ตกอยู่ในความขัดแย้งเช่นเดียวกันนี้ จากปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ซึ่งในระหว่างยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออก มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีโดยอุทยานแห่งชาติไทรทองอย่างน้อย 14 คน แยกเป็น 19 คดี ทุกคดีจำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดียืนยันถึงสิทธิที่อยู่อาศัยในที่ดินมาก่อน จึงไม่มีเจตนาบุกรุกป่า
ทุกคดีศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุกและให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำนวนมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จำเลยใช้ทำกิน จำเลยทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์
วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นวันแรกที่มีคำพิพากษามาจากศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกนิตยา ม่วงกลาง หรือ กบ ผู้ถูกดำเนินคดีที่ผันตัวมาเป็นแกนนำต่อสู้เรื่องที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว เป็นเวลา 4 เดือน และให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐ 40,000 บาท นิตยาจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ส่วนชาวบ้านอีก 13 คน ศาลจังหวัดชัยภูมิก็ได้ทยอยนัดหมายให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป
โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปัจจุบันใช้ระบบ "ศาลสองชั้น" คือ ให้อุทธรณ์คำพิพากษาได้ต่อศาลอุทธรณ์หนึ่งชั้น ส่วนถ้าหากยังไม่พอใจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และต้องการจะยื่นต่อ "ศาลฎีกา" จะต้อง "ขออนุญาต" ก่อน และศาลฎีกาจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า จะอนุญาตให้ยื่นคดีต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ หากศาลฎีกาเห็นว่า เป็นคดีที่ไม่สำคัญ หรือไม่ใช่คดีที่กระทบต่อสาธารณะ และอาจสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกา จะทำให้คดีสิ้นสุดทันที และชาวบ้านต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอุทยานแห่งชาติไทรทองทับพื้นที่ชาวบ้าน
พัฒนาการในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เกิดขึ้นหลังการยกเลิกการทำสัมปทานตัดไม้ ของบริษัท ชัยภูมิทำไม้ จำกัด ตั้งแต่ปีช่วงปี 2510 เป็นต้นมา จากนั้นเริ่มมีชาวบ้านทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จนก่อตั้งเป็นชุมชนในเวลาต่อมา โดยชุมชนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทยทอง มีทั้งหมด 5 ชุมชนด้วยกัน คือ 
1. บ้านหนองผักแว่น ก่อตั้งปี 2501 
2. ชุมชนหินรู  ก่อตั้งปี  2512
3. ชุมชนซับหวาย ก่อตั้งปี 2515
4. กลุ่มบ้านซับสะเลเต  ก่อตั้งปี 2518
5. กลุ่มบ้านซอกตะเคียน  ก่อตั้งปี 2519
หลังจากการตั้งชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เมื่อปี 2522 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัก ทับที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินชาวบ้าน แต่ยังไม่เกิดปัญหา จนกระทั่ง วันที่ 30 ธันวาคม 2535 มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติไทรทอง หลังจากนั้น ชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ เริ่มได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ 5 ชุมชนหลักที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากที่ดินเดิมของชาวบ้านทับกับเขตที่ประกาศอุทยานแห่งชาติ และอุทยานต้องการพื้นที่ไปเป็นของอุทยาน แต่ปัญหาระหว่างชาวบ้านกับอุทยานก็อยู่ในระหว่างการเจรจาหาทางออกที่ยังไม่ยุติ
จนกระทั่งปี 2557 มีการประกาศ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” โดย คสช. และในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวในปี 2558 ทางภาครัฐได้ใช้กำลังทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอีกหลายหน่วยงาน เข้าปฏิบัติการ ชาวบ้านถูก "ขอคืนพื้นที่" ตัดฟันสวนยางพารา และดำเนินคดี 
แม้คำสั่งคสช.ที่ 66/2557 จะระบุไว้ว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทองที่อยู่มาก่อน และกำลังอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์สิทธิถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน รวมทั้งหมด 19 คดี โดยคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดได้ใช้ที่ดินในการอยู่อาศัย และทำการเกษตร คือ ทำไร่มันสำปะหลัง 
บีบีซีไทย รายงานว่า วรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 14 คนไม่ยอมออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีการเซ็นยินยอมคืนพื้นที่แล้ว จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด
รายละเอียดผู้โดนคดีทั้งหมด และการนัดหมายคดี
ในวันที่ 12 กรกฎาคม  2558 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้จับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมด 14 คน 19 คดี ดังนี้
ตารางผู้ถูกอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหวง จ.ชัยภูมิ ดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน 19 คดี

ลำดับ

ชื่อ

พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหา

สถานะปัจจุบัน

1.

นิตยา ม่วงกลาง คดีที่ 1

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา

วันที่ 15 พ.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์ลงโทษคดีแรก จำคุก 4 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท ต้องขังอยู่ที่เรือนจำกลางชัยภูมิ

 

นิตยา ม่วงกลาง คดีที่ 2

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ไม่ทราบจำนวน

ศาลชั้นต้นลงโทษรวม จำคุก 8 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท

2.

นริศรา ม่วงกลาง คดีที่ 1

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 87 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษรวมสองคดี จำคุก 9 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 130,000 บาท

 

นริศรา ม่วงกลาง คดีที่ 2

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 8 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา

3.

ปัทมา โกเม็ด คดีที่ 1

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษรวมสองคดี จำคุก 8 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาท

 

ปัทมา โกเม็ด คดีที่ 2

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 15 ไร่ 83 ตารางวา

4.

พุธ สุขบงกช

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 14 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 6 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 370,000 บาท

5.

วันชัย อาพรแก้ว

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 14 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา

ศาลขั้นต้นลงโทษ จำคุก 6 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท

6.

สมพิตร แท่นนอก คดีที่ 1

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 10 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 10 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท

 

สมพิตร แท่นนอก คดีที่ 2

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 10 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท

7.

สมร สมจิตร

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 8 ไร่ 1 ตาราง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้มีความผิด จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่รอลงอาญาโทษไว้ 3 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 80,000 บาท

8.

สากล ประกิจ

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 46 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 4 ปี ชดใช้ค่าเสียหาย 900,000 บาท

9.

สีนวล พาสังข์

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 6 ไร่ 4 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท

10.

สุณี นาริน

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท

11.

สุภาพร สีสุข

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 6 ไร่ 3 งาน 31 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 190,000 บาท

12.

สุวลี โพธิ์งาม

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 160,000 บาท

13.

สุวิทย์ รัตนะไชยศรี

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 17 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท

14.

ทองปั่น ม่วงกลาง คดีที่ 1

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ไม่ทราบจำนวน

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกทั้งสองคดีรวมกัน 9 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท

 

ทองปั่น ม่วงกลาง คดีที่ 2

บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ไม่ทราบจำนวน

ยังไม่ทราบสถานะคดี

 

หลังจากที่ นิตยา ม่วงกลาง ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 เดือน และชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ 40,000 บาท ศาลจังหวัดชัยภูมิมีการนัดหมายอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีอื่นๆ อีกในช่วงเดือน มิถุนายน 2562 คือ

1. คดีของศรีนวล พาสังข์ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 4 มิถุนายน 2562

2. คดีของนิตยา ม่วงกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สอง วันที่ 5 มิถุนายน 2562

3. คดีของสุนีย์ นาริน อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 12 มิถุนายน 2562

 

คดีบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ  

               จากการสอบถามข้อมูลไปยังศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรทางกฎหมายที่รับช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นทนายความชาวบ้านที่ไม่มีฐานะที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ดิน ทั่วภาคเหนือ รายงานว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557 ที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ประกาศใช้ ทำให้เกิดนโยบายทวงคืนผืนป่าในภาคเหนือ มีชาวบ้านที่โดนฟ้องคดี และต่อสู้คดีที่ศูนย์พิทักษ์ฯ รับผิดชอบทั้งหมด 20 คดี มีคดีสิ้นสุดแล้วจำเลยถูกพิพากษาจำคุก 2 คดี ศาลรอลงอาญา 6 คดี พิพากษายกฟ้อง 2 คดี คดีสิ้นสุดแล้ว 1 คดี อีก 1 คดียังอยู่ในชั้นฎีกา อยู่ในชั้นอุทธรณ์ 7 คดี และอยู่ระหว่างการสืบพยานยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา 3 คดี