เลือกตั้ง 62: ทดลองคำนวณ จำนวน ส.ส.

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผมขอเรียกร้องให้ กกต. ช่วยอธิบายวิธีคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ถ้ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่ กกต. จะใช้คำนวณ ก็จะสามารถแถลงแจงเหตุผลกันได้อย่างชัดแจ้ง เพื่อไปสู่ความเห็นที่ตรงกันให้มากที่สุด
วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (5) ซึ่งนำมาบัญญัติซ้ำในมาตรา 128 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ใน พ.ร.ป. มีรายละเอียดเพิ่มเติม จึงขอยึดตาม พ.ร.ป. ดังที่ผมพอทำความเข้าใจได้ ซึ่งถ้าเข้าใจผิด ก็ขอความกรุณาผู้รู้ช่วยชี้แจงด้วย เพราะที่เขียนเป็นข้อกฎหมายซึ่งอ่านยากพอสมควร ดังนั้น เมื่ออ่านแล้วอาจเข้าใจต่างกันได้บ้าง
มาตรา 128 เริ่มต้นดังนี้ “มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว  การคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะพึงได้รับ  ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้  โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง” สาระสำคัญอยู่ที่วลีสุดท้าย คือ ในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง” ซึ่งผมตีความว่า ในกรณีที่ต้องการจำนวนเต็ม ก็ใช้จำนวนเต็มที่ไม่มีเศษก็ได้
มาตรา 128 (1) บัญญัติดังนี้ “(๑) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร” ผมลองหารดูแล้ว ได้ 71,065 คะแนน
มาตรา 128 (2) บัญญัติดังนี้ “(๒) นําผลลัพธ์ตาม  (๑)  ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต  จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้นและเมื่อได้คํานวณตาม  (๕)  (๖)  หรือ  (๗)  ถ้ามีแล้ว  จึงให้ถือว่า เป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้”
ผมตีความว่า จำนวน ส.ส. พึงมีได้เบื้องต้นตาม (2) นี้ เป็นตัวเลขจำนวนเต็ม โดยปัดเศษลง ไม่ปัดเศษขึ้น ที่ขอใช้จำนวนเต็ม เพราะจำนวน ส.ส. เป็นคน เป็นเศษส่วนของคนไม่ได้  ส่วนการคำนวณโดยมีเศษ ก็เพื่อประโยชน์ของปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม โดยจัดสรรที่นั่งเพิ่มแก่เศษที่มากที่สุดอีก 1 คน การใช้เศษจะบัญญัติไว้ใน (4) แต่ขั้นตอนตาม (2) ไม่ระบุว่าให้นำเศษมาคิดแต่ประการใด 
อีกทั้ง (4) อยู่ภายใต้บังคับของ (5) (หมายความว่าถ้าขัดกันระหว่าง (4) กับ (5) ให้ถือตาม (5)) หากคำนวณจำนวน ส.ส. ตาม (2) ต่อไปโดยให้รวมถึงพรรคที่ ส.ส. ที่พึงมีได้เบื้องต้นเป็นเศษที่ต่ำกว่า 1 (ได้คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน) นั้น ก็อาจขัดกับบทบัญญัติใน (5) ที่ระบุว่าในการปรับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้จำนวนรวมเป็น 150 คนนั้น “ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม  (2)” ดังนั้น ถ้าตัวเลขตาม (2) ของพรรคใดต่ำกว่า 1 คน จะจัดสรรให้พรรคนั้นมี ส.ส. 1 คนไม่ได้
 ผมลองคำนวณจำนวน ส.ส. ตาม (2) และได้ผลการคำนวณดังนี้
ตารางที่ 1 จำนวน ส.ส. ที่พึงมีได้เบื้องต้นตามมาตรา 128 (2) โดยไม่รวมถึงพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน 
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศน. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. 111 118 88 55 52 11 11 6 6 5 5 3 3 3 1 1
* ชื่อเต็มของพรรค เรียงจากซ้ายไปขวาในตารางมีดังนี้ เพื่อไทย, พลังประชารัฐ, อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, เสรีรวมไทย, ชาติไทยพัฒนา, เศรษฐกิจใหม่, ประชาชาติ, เพื่อชาติ, รวมพลังประชาชาติไทย, ชาติไทยพัฒนา, พลังท้องถิ่นไท, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พลังปวงชนไทย, พลังชาติไทย
คราวนี้มาพิจารณามาตรา 128 (3) ดูบ้าง “(๓) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๒) ลบด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง  ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น” 
ผมลองคำนวณ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีได้เบื้องต้น โดยเอาตัวเลขของ ส.ส. แบบแบ่งเขต มาลบออกจากจำนวนเต็มของ ส.ส. ที่พึงมีได้เบื้องต้น จะได้ผลลัพธ์ดังนี้
ตารางที่ 2 จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พึงมีได้เบื้องต้น
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศม. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. -26 21 58 22 13 11 5 6 0 5 4 2 2 1 1 1
ต่อไปขอพิจารณามาตรา 128 (4) ดังนี้ “(๔) ภายใต้บังคับ  (๕)  ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน  โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม  (๓)  เป็นจํานวนเต็มก่อน  หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน  ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน  ในกรณีมีเศษเท่ากัน  ให้ดําเนินการตาม  (๖)” มาตรานี้กำหนดวิธีปัดเศษขึ้น เพื่อให้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อครบ 150 คน อย่างไรก็ดี เรามีกรณีตาม (5) จึงต้องนำวงเล็บ (5) มาใช้ ดังจะกล่าวต่อไป
มาตรา 128(5) บัญญัติว่า “(๕) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม  (๒)  ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ํากว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม  (๒) ตามอัตราส่วน  แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม  (๒)” 
กรณีพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 137 คน ตรงกับกรณีที่จะใช้ (5) คือพรรคนี้จะไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลย จึงต้องเอา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด (150 คน) ไปจัดสรรแก่พรรคการเมืองอื่นตามสัดส่วน แต่เมื่อจัดสรรแล้ว ต้องไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. รวมแล้วเกินจำนวน ส.ส. ที่พึงมีได้เบื้องต้นตามตารางที่ 1 ซึ่งจะต้องตรวจสอบในท้ายที่สุด 
เมื่อรวมตัวเลข ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีได้เบื้องต้นตามตารางที่ 2 พบว่า มีจำนวนรวม 152 คน มาตรา 128 (6) กล่าวถึงวิธีการคำนวณในกรณีที่จำนวนรวมน้อยกว่า 150 คน จึงไม่ตรงกับกรณีนี้ และต้องนำมาตรา 128 (7) มาใช้ ซึ่งมีข้อความดังนี้
มาตรา 128 (7) “(๗) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม  (๕)  แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน  ให้ดําเนินการคํานวณปรับ จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน  โดยให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ  หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ  และให้นํา  (๔)  มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม” 
กรณีนี้ตัวคูณคือ 150 หารด้วย 152 เท่ากับ 0.9868 เมื่อเอาตัวคูณนี้ไปคูณกับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีได้เบื้องต้นตามตารางที่ 2 ผลลัพธ์แสดงในตารางที่ 3 เมื่อใช้การปัดเศษขึ้นตามที่บัญญัติใน (4) จะเห็นว่าทุกพรรคได้รับการปัดเศษขึ้นหมด ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเศษต่ำกว่าเพื่อน หมายความว่าต้องลดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากจำนวนที่พึงมีได้เบื้องต้น พรรคละ 1 คน จึงได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีซึ่งรวมกันแล้วได้ 150 คน ดังแสดงในตารางที่ 4
ตารางที่ 3 จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีได้เบื้องต้นจากตารางที่ 2 คูณด้วยตัวคูณซึ่งเท่ากับ 0.9868 
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศม. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. 0 20.7228 57.2344 21.7096  12.8284 10.8548 4.9340 5.9208 0 4.9340 3.9472 1.9736 1.9736 0.9868 0.9868 0.9868
ตารางที่ 4 จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงมีหลังการปรับให้จำนวนรวมเท่ากับ 150 ตน
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศม. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. 0 21 57 21 13 11 5 6 0 5 4 2 2 1 1 1
เมื่อนำจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พึงมีตามตารางที่ 4 ไปบวกกับ ส.ส. แบบแบ่งเขต จะได้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค ดังแสดงในตารางที่ 5
ตารางที่ 5 จำนวน ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละพรรค
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศม. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. 137 118 87 54 52 11 11 6 ุ6 5 5 3 3 3 1 1
เมื่อตรวจสอบกับตารางที่ 1 แล้ว ปรากฏว่าจำนวน ส.ส. จัดสรรใหม่ของแต่ละพรรค (ยกเว้นพรรคเพื่อไทยซึ่งไม่อยู่ในข่ายที่ จะต้องเกลี่ย ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พึงมีได้) ไม่เกินจำนวน ส.ส. ที่พึงมีได้เบื้องต้นในตารางที่ 1 แสดงว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา 128 (5)  
จึงขอถือว่าผลการคำนวณที่แสดงในตารางที่ 5 สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 128 ของ พ.ร.ป. การเลือกตั้ง และกับมาตรา 91 (5) ของรัฐธรรมนูญ
พรรค พท. พปชร. อนค. ปชป. ภท. สร. ชทพ. ศน. ปช. พช. รปช. ชพน. พทท. รป. พลท. พพชท.
ส.ส. -26 21 58 22 13 11 5 6 0 5 4 2 2 1 1 1