เลือกตั้ง 62: สูตรคำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ยาก คิดเองได้ ไม่ต้องรอ กกต.

หลัง กกต. เปิดเผยผลคะแนนการเลือกตั้ง 100% จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 และสำนักข่าว หรือนักวิชาการต่างก็หยิบผลคะแนนไป “เข้าสูตร” เพื่อคิดคำนวนจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง แต่ปรากฏว่า ได้ผลแตกต่างกันอยู่บ้าง และทาง กกต. ก็ยังไม่ได้เปิดเผยผลการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการ

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้สูตรใดการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากกรรมการ กกต.ยังไม่มีมติในเรื่องนี้ โดยจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีบัญญัติไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง แต่จะต้องไปดูต้นร่างและเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย เพื่อรวบรวมและศึกษารายละเอียด ก่อนที่จะมีคำตอบให้กับสังค

ในระหว่างที่ กกต. ยังไม่ให้ความชัดเจนในเรื่องสูตรคำนวน และผลการคำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ประชาชนก็สามารถเปิดดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสูตรคำนวน และลองคิดด้วยตัวเองได้เลย โดยสูตรคำนวนทั้งหมดเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้วใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ มาตรา 128 พอสรุปเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจได้เป็นขั้นตอน ดังนี้

(1) นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ไม่รวมบัตรเสีย ไม่รวมบัตรที่ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด เป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขชุดหนึ่ง ที่อนุมานว่า เป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง

สำหรับผลการเลือกตั้ง 2562 นี้ คือ 38,268,366 – 2,130,327 – 605,392 = 35,532,647 หารด้วย 500 = 71,065.294

(2) เมื่อจะหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองใด ก็นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำตัวเลขที่ได้จากข้อ (1) คือ 71,065.294 ไปหาร ผลลัพธ์จะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือที่เรียกกันว่า “จำนวน ส.ส. พึงมี”

(3) นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ จากข้อ (2) มาเป็นตัวตั้ง ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้มาแล้ว ผลลัพธ์ คือจำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ 

(4) หากผลลัพธ์ที่ได้จากข้อ (3) เป็นเศษทศนิยม ยังไม่นำเศษทศนิยมมาใช้ ยังไม่ปัดเศษขึ้นและปัดเศษลง ให้เอาเฉพาะจำนวนเต็มมาใช้จัดสรรจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อให้แต่ละพรรคก่อน หากรวมแล้วยังได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษทศนิยมเหลือมากที่สุด ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน ตามลำดับจนครบ 150 คน

(5) ถ้าเศษของทศนิยมเท่ากัน ให้เอาคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้เป็นตัวตั้ง หารด้วย “จำนวน ส.ส. พึงมี” ของพรรคนั้น หากพรรคใดได้ผลลัพธ์เยอะกว่า ก็ให้จัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อให้พรรคนั้น

(6) หากคำนวนตามสูตรนี้แล้ว ปรากฏว่า พรรคการเมืองทั้งหมดได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อรวมแล้วมากกว่า 150 คน ให้คำนวนปรับจำนวนใหม่ให้เหลือ 150 คน พอดี โดยการนำจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค คูณด้วย 150 และหารด้วย จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมดที่คำนวนได้ ผลที่ได้ก็จะเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นๆ ได้รับ หากมีเศษทศนิยม ให้ใช้วิธีการตามข้อ (4) 

มาตรา 128 เป็นกฎหมายที่เขียนแล้วอ่านเข้าใจยาก เพราะเขียนภาษาคณิตศาสตร์เรื่องการคิดคำนวณให้ออกมาในรูปภาษาเขียน ไม่ใช่ตัวเลข แต่เมื่อพยายามอ่านแล้วเขียนออกมาเป็นสูตรคณิตศาสตร์ก็สามารถทำได้ และจะเห็นว่า ไม่สามารถตีความมาตรา 128 ให้ออกมาเป็นสูตรคิดคำนวณจำนวน ส.ส. แบบอื่นหรือเป็นลำดับอย่างอื่นได้เลย นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้

โดยหากคิดตามสูตรนี้แล้ว จะได้ผลการคำนวน ดังนี้

๐ พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 0 คน

๐ พรรคพลังประชารัฐ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 21 คน

๐ พรรคอนาคตใหม่ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 57 คน

๐ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 21 คน

๐ พรรคภูมิใจไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 13 คน

๐ พรรคเสรีรวมไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 11 คน

๐ พรรคชาติไทยพัฒนา จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 5 คน

๐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 6 คน

๐ พรรคประชาชาติ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 0 คน

๐ พรรคเพื่อชาติ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 5 คน

๐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 4 คน

๐ พรรคชาติพัฒนา จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 2 คน

๐ พรรคพลังท้องถิ่นไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 2 คน

๐ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน

๐ พรรคพลังปวงชนไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน

๐ พรรคพลังชาติไทย จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน

พรรคการเมืองที่เหลือนอกจากนี้ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์