เลือกตั้ง 62: ระบบเลือกตั้งสร้างพรรคมากในสภา สร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างประเมินกันว่าตัวเองจะได้ที่นั่งจำนวนมาก จนมีการพูดติดตลกว่า ถ้านับจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคประกาศว่าจะได้ รวมกันแล้วประเทศไทยจะมี ส.ส. เกิน 500 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามแม้จะยังดูไม่ออกว่าสรุปแล้วจำนวนที่นั่ง ส.ส. 500 ที่นั่งจะตกเป็นของพรรคไหนบ้าง แต่ที่คาดการณ์ได้แน่ๆ คือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคในสภา

ระบบเลือกตั้งที่ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเมืองของ คสช. 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการสืบอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ คสช. ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังเลือกตั้ง กติกาใหม่จึงถูกออกแบบโดยมีเป้าหมายทางการเมือง คือ

1) ไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ที่นั่ง ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง หรือมากกว่าจำนวน ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. 250 คน ผู้มีอำนาจจึงกำหนดกติกาว่า ถ้าพรรคไหนได้ที่นั่ง ส.ส. เขต มากก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลย ซึ่งตัดโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาเหมือนดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยเคยทำได้

2) ต้องการให้ ส.ส. จำนวน 500 คน กระจายไปตามพรรคต่างๆ จึงกำหนดกติกาให้พรรคใดที่แม้จะแพ้เลือกตั้งในเขต แต่คะแนนของผู้แพ้จะถูกนำมารวมกันเพื่อคิดที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งกติกาเช่นนี้พรรคขนาดกลางที่มีโอกาสชนะ ส.ส. เขต ไม่มาก แต่มีคะแนนในเขตจำนวนพอสมควรจะได้ประโยชน์ เพราะจะมีโอกาสได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสน้อยที่จะพรรคการเมืองจะได้ที่นั่งในสภามากพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบให้กับ คสช. ที่มีเสียง ส.ว. 250 คน อยู่ในมือ ดังนั้นขอเพียง คสช. รวบรวมเสียง ส.ส. อย่างน้อย 126 เสียง ก็จะได้เสียงในสภาครบ 376 เสียง ซึ่งเพียงพอจะทำให้สามารถเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ระบบเลือกตั้งอาจทำให้พรรคหน้าใหม่แจ้งเกิด

แม้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ ระบบ MMA (Mixed Member Apportionment) จะสร้างมาเพื่อตอบโจกย์ทางการเมืองเฉพาะหน้าของ คสช. แต่ระบบนี้ก็อาจจะทำให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นพรรคหน้าใหม่ที่มีความสามารถในการส่ง ส.ส. เขตจำนวนมาก ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาจากระบบบัญชีรายชื่อ

นั้นเพราะว่าหากพรรคหน้าใหม่เหล่านี้สามารถเก็บคะแนนเสียงจากประชาชนในทุกเขตที่ส่งรวมกันได้จำนวนมากพอกับเกณฑ์ขั้นต่ำก็มีโอกาสที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 51,427,628 คน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 80% ซึ่งเท่ากับน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 41,142,102 คน ทั้งนี้หากเรานำมาหารกับ 500 ซึ่งเป็นจำนวน ส.ส. ทั้งสภา ก็จะได้ 82,284 คะแนน ซึ่งจะเป็นคะแนนขั้นต่ำที่จะทำให้แต่ละพรรคได้ ส.ส. 

พรรคไหนส่งสมัคร ส.ส. เขตมาก มีโอกาสลุ้นที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่มีโอกาสลุ้น ส.ส. เขต แต่ก็มีความจำเป็นต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต ให้มากที่สุด เพราะคะแนนที่ผู้สมัครแบบเขตของพรรคได้รับ จะถูกนำไปคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ รวมถึงหน้าเก่าจำนวนหนึ่งจึงส่งผู้สมัคร ส.ส. ให้มากที่สุด

 

ทั้งนี้หากลองคำนวนอย่างง่ายๆ คือ ถ้าตัวเลขที่คาดการณ์ว่าจะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง เท่ากับ 82,284 คะแนน พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต ครบ 350 เขต ก็ใช้คะแนนเสียงจากแต่ละเขตแค่ 240 คะแนน ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคที่ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต จำนวน 6 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบ 350 เขต จะมีโอกาสลุ้นได้ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่ออย่างน้อยก็อาจจะได้สัก 1 ที่นั่ง แต่อาจจะยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจจะต้องลุ้นเพราะหากได้ ส.ส. เขต จำนวนมากระดับหนึ่งก็อาจจะทำให้ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย

คสช. ออกแบบระบบเลือกตั้งทำให้มีพรรคจำนวนมากในสภา

หลังจากเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ด้วยระบบเลือกตั้งแบบ MMA มีโอกาสที่จะทำให้มีพรรคการเมืองเข้าไปในสภาจำนวนหลายพรรค ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนออกแบบกติกาที่ต้องการให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองภายใต้การปกครองของ คสช. ทั้งนี้หากย้อนดูการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 จะพบว่ามีพรรคการเมืองที่เข้าสู่สภาได้ถึง 11 พรรค ซึ่งครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีพรรคการเมืองมากกว่านั้นที่สามารถเข้าไปในสภาได้

อย่างไรก็ตามการมีเพราะการเมืองจำนวนมากหรือจำนวนน้อยในสภาเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการเมืองไทย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีประสบการณ์ที่จะเป็นบทเรียนในการอธิบายเรื่องนี้แล้วพอสมควร  

รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบระบบเลือกตั้ง ลดพรรคในสภา สร้างเสถียรภาพทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการปฏิรูปการเมืองหลังการสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” จนนำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ได้มีการออกแบบระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าระบบผสมแบบคู่ขนาน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส. เขต คือผู้สมัครพรรคไหนชนะก็ได้เป็น ส.ส. เขต และบัตรเลือกตั้งอีกใบใช้เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบนโยบายอยากให้บริหารประเทศ ซึ่งจะเอาคะแนนทั้งประเทศมาคำนวนแล้วแบ่งที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ

เป้าหมายของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ การต้องการสร้างพรรคที่มีความนิยมในระดับประเทศ ลดจำนวนพรรคการเมือง เพื่อสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ผลลัพธ์หลังจากนั้นคือ การได้พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ที่ได้เสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด และการเลือกตั้งสองครั้งในปี 2544 และปี 2548 มีพรรคการเมืองในสภาลดลงตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2550 สร้างระบบเลือกตั้งเน้นตัวบุคคล กลุ่มการเมืองท้องถิ่นตั้งพรรค

หลังการรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และปี 2557 มีความพยายามออกแบบระบบเลือกตั้ง เพื่อลดความนิยมของพรรคการเมืองในระดับประเทศ โดยการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส. เขต มากกว่า เช่น รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เริ่มแรกกำหนดให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นการเลือกในระดับภูมิภาคไม่ใช่ในระดับประเทศ หรือ การกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เขต เป็นเหมือนการเลือกตั้งก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่เขตเดียวเลือกได้หลายเบอร์ พรรคเดียวกันแข่งขันกันเองในเขต

ผลลัพธ์คือบรรดาอดีต ส.ส. จากพรรคไทยรักไทย ต่างออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองซึ่งมีฐานเสียงในพื้นที่ เช่น “พรรคพลังชล” ซึ่งมีฐานเสียงพื้นที่จังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออก “พรรคมัชฌิมาธิปไตย” ซึ่งมีฐานเสียงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน เช่น จังหวัดสุโขทัย ชัยนาท และนครสวรรค์ หรือ “พรรคประชาราช” ซึ่งมีฐานเสียงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งปี 2550 จึงมีพรรคการเมืองเข้ามาในสภาถึง 11 พรรค แต่พรรคพลังประชาชนก็ชนะเลือกตั้งด้วยการได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาด

รัฐธรรมนูญ 2560 ระบบเลือกตั้งแบบเพิ่มที่นั่ง ส.ส. เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพรรคขนาดกลาง 

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยิ่งเน้นตัวบุคคลด้วยการบังคับให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. ให้มากที่สุด เพราะจะมีผลต่อที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในทางกลับกันพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เขตมาก ก็อาจจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย ซี่งเป็นระบบเลือกตั้งที่สะท้อนว่าให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส. เขต มากกว่า ซึ่งผู้มีอำนาจตั้งใจทำให้ตัวบุคคลในท้องถิ่นที่อาจเป็นเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มีความสำคัญมากกว่านโยบายของพรรคในการบริหารประเทศ

แต่ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การตัดโอกาสให้มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด และเพิ่มโอกาสให้พรรคขนาดกลางได้มี ส.ส. เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2562 เราอาจเห็นพรรคการเมืองจำนวนมากเข้าสู่สภามากกว่า 10 พรรค และในจำนวนพรรคเหล่านี้ประมาณครึ่งหนึ่งอาจจะได้ที่นั่งในสภาจำนวนมากที่พอจะมีอำนาจต่อรองและเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

เลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มี ส.ส. หลายพรรค ทำการเมืองไร้เสถียรภาพ

การเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส. เขตมากกว่า ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปคล้ายกับก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกกว่า ระบบบล็อกโหวต (BV) ที่กำหนดให้แต่ละเขตมีผู้แทนได้หลายคน ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนที่มาจากหลายพรรคการเมือง และพรรคที่เข้าสู่สภาก็มีจำนวนมากกระจัดกระจายไปหลายพรรค ดังจะเห็นว่าการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2529 – 2539 มีการเลือกตั้งถึง 6 ครั้ง และการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็มีพรรคการเมืองเข้าสภาประมาณ 11 – 15 พรรค

ทั้งนี้ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดไม่เคยมีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาเลย ซึ่งนั้นนำมาสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เพราะรัฐบาลผสมจากหลายพรรคทำให้การทำงานไม่เป็นเอกภาพ เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลมีอายุสั้น ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่กันเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศ

คสช. ออกแบบกติกาสร้างการเมืองไร้เสถียรภาพ 

แน่นอนว่าการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 คสช. ต้องการให้เกิดภาพดังเช่นการเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะการที่มี ส.ส. กระจัดกระจายตามพรรคการเมือง จะทำให้ คสช. ซึ่งมี “พรรค ส.ว. แต่งตั้ง” จะเป็นกลุ่มการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีคะแนนมากที่สุดในสภาจะมีอำนาจต่อรองสูงที่สุด ซึ่งสภาพการณ์ที่พรรคการเมืองแตกกระจายจะทำให้ คสช. ง่ายต่อการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งปี 2562 ต่างจากอดีต เพราะพรรคการเมืองไทยแบ่งกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น

ดังนั้น ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. กระจายไปสู่พรรคฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. มากกว่า พรรคที่สนับสนุน คสช. อำนาจต่อรองของ คสช. จะน้อยลงและการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ง่ายนัก ซึ่งแน่นอนว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองจะเริ่มตั้งแต่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองไม่ยอมรับกติกาของ คสช. แต่เกิดจากการออกแบบกติกาของ คสช. ที่คิดแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าว่าจะกลับเข้าสู่การมีอำนาจอย่างไร ซึ่งกติกาเช่นนี้จะทำประเทศไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองดังเช่นที่เกิดมากแล้วในอดีต