“โอกาส” ของประเทศไทย ถ้า คสช. ไม่ได้สืบทอดอำนาจต่อหลังเลือกตั้ง

เราได้เห็นแล้วว่า ตลอดเวลาเกือบ 5 ปี รัฐบาล คสช. มีแนวทางและวิธีการใช้อำนาจบริหารประเทศไทยอย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่ประชาชนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยปะปนกันไป ในเวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร้อมพรรคพวกจัดตั้งพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหวังกลับมาสู่อำนาจและบริหารประเทศไปตามแนวทางเดิมต่อหลังการเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศที่เป็นมาภายใต้รัฐบาลทหาร ก็พอจะเห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้ปกครองประเทศในลักษณะรวบอำนาจตัดสินใจไว้ที่ตัวเอง ไม่เน้นสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง และสร้างระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง จึงคาดหมายได้ว่า หากหลังการเลือกตั้งทีมงานชุดเดิมยังได้กลับมาบริหารประเทศต่อไป อนาคตก็คงยังเดินหน้าไปตามแนวทางเดิม 

แม้ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ถ้าพรรคการเมืองอื่นได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะตอบสนองประชาชนได้ดีไปกว่ารัฐบาล คสช. แต่หากหลังการเลือกตั้งพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงสนับสนุนไม่พอให้กลับมาบริหารประเทศ และ คสช. ไม่ได้สืบทอดอำนาจต่อ หลายสิ่งที่ประชาชนเคยฝันอยากจะเห็นแต่ถูกทำหมันไปในช่วงเวลาเกือบ 5 ปี ก็จะกลับมามี “โอกาส” เริ่มเดินหน้าได้ต่ออีกครั้ง 

1. ได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่มาจากประชาชนเลือก

ระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน เป็นอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และ ส.ว. ที่ คสช. เลือกมา 250 คน ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่า เสียงในสภาจำนวน 1 ใน 3 มาจาก คสช. ทั้งหมด ส่วนเสียงที่ประชาชนร่วมตัดสิน คือ ประมาณ 2 ใน 3 โดยระบบนี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะมาจากคนที่ประชาชนเลือก หรือเป็นคนที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

การจะแก้ไขไม่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลังการเลือกตั้งด้วยระบบเช่นนี้ ย่อมไม่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เพราะจะทำให้อำนาจในสภาที่สนับสนุนตัวเองหายไป การแก้ไขอำนาจ ส.ว. ที่จะมาเลือกนายกรัฐมนตรีจึงแทบเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเริ่มขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากประชาชนเลือกอย่างแท้จริง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูที่มา ส.ว. จากการคัดเลือกของ คสช. ที่ https://ilaw.or.th/node/4069

2. ได้จำนวน ส.ส. ในสภา ที่สะท้อนเสียงโหวตของประชาชน

ระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ที่เรียกว่า ระบบ MMA ถูกออกแบบโดยคนของ คสช. โดยให้ประชาชนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกในระบบแบ่งเขตจะถูกนำไปคำนวนเป็นจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ และมีความหมายถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีกับการเลือกอนาคตให้กับประเทศด้วย 

ระบบเช่นนี้ยังมีปัญหาที่ไม่ตอบความต้องการของประชาชน เพราะว่า ประชาชนหลายคนอาจต้องการเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขตบางคน แต่ไม่ชอบนโยบายของพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ถูกบังคับให้เลือกรวมกัน หรือประชาชนบางคนอาจจะไม่ชอบ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตบางคน แต่ต้องการสนับสนุนนโยบายของพรรคการเมืองนั้น จึงต้องจำใจเลือกอีกเช่นกัน หรือประชาชนบางคนอาจจะอยากสนับสนุนบางพรรคการเมือง แต่เมื่อพรรคนั้นๆ ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงในเขตของตัวเอง ประชาชนก็ไม่สามารถลงคะแนนสนับสนุนพรรคนั้นๆ ได้

ระบบเลือกตั้งเช่นนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) ที่ คสช. ตั้งขึ้นอ้างว่า นำแบบมาจากประเทศเยอรมัน แต่ในความเป็นจริง คือ หลายรัฐของประเทศเยอรมันที่เคยใช้ระบบนี้ ตัดสินใจยกเลิกไปแล้ว เหลือเพียงรัฐเดียวที่ยังคงใช้อยู่ แต่ไทยก็กลับไปเอาระบบที่เคยถูกพิสูจน์แล้วว่า มีปัญหา มาใช้ในประเทศของเราเป็นครั้งแรก

การจะแก้ไขระบบเลือกตั้งเช่นนี้ เพื่อเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบ “บัตรสองใบ” ใบหนึ่งเลือก ส.ส. ระบบแบ่งเขต อีกใบเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ หรือจะเสนอระบบอื่นที่อาจจะพัฒนาให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้นได้ ต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลังการเลือกตั้งด้วยระบบเช่นนี้ ก็ย่อมจะไม่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เพราะระบบนี้ทำให้พรรคของตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้งแล้ว 

ดังนั้นความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งแบบ MMA บัตรใบเดียว ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5059

3. ได้สร้างการเมืองใหม่ มีนักการเมืองหน้าใหม่ แข่งกันที่นโยบาย เลิกอาศัย “เจ้าพ่อท้องถิ่น”

ระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ที่เรียกว่า ระบบ MMA ถูกออกแบบโดยคนของ คสช. โดยให้ประชาชนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกในระบบแบ่งเขตจะถูกนำไปคำนวนเป็นจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ และมีความหมายถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีกับการเลือกอนาคตให้กับประเทศด้วย  

ระบบการคำนวนที่นั่งแบบ MMA นั้น ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เคยได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนมากเสียเปรียบ หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ถึง 200 เขตขึ้นไป ก็มีโอกาสจะได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อน้อยมาก หรือไม่ได้เลย หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ทุกเขต คือ ได้ ส.ส. 350 ที่นั่ง ก็มีโอกาสมากที่จะไม่ได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเลย และจะยังได้ที่นั่งไม่ครบ 376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ในทางตรงกันข้ามระบบเช่นนี้ จะทำให้คะแนนเสียงจากระบบแบ่งเขตมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะนอกจากจะใช้ตัดสินที่นั่ง ส.ส. จากระบบแบ่งเขตแล้วยังนำไปใช้คำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อด้วย ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางๆ ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในระดับพื้นที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น นักการเมืองที่ได้รับความนิยมจากคนในท้องถิ่นจึงกลายเป็นตัวผู้เล่นสำคัญในการเลือกตั้งระบบ MMA และเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครที่ทุกพรรคการเมืองต้องการ ปรากฏการณ์ “ดูด ส.ส.” จากพื้นที่ต่างๆ จึงเกิดขึ้น และผู้มีอิทธิพลระดับ “เจ้าพ่อท้องถิ่น” เหล่านี้ก็กลายเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ต้องการได้

ในทางตรงกันข้าม หากมีผู้สมัครหน้าใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับชูนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่ไม่เคยมี “ฐานเสียง” หรือฐานความนิยมในท้องถิ่นจากการสะสมบารมีมาก่อน ก็ต้องพบความยากลำบากในการแย่งชิงคะแนนจากประชาชน เพราะเมื่อมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ประชาชนต้องชั่งใจระหว่างการเลือกผู้สมัครหน้าใหม่พร้อมนโยบายที่เห็นชอบ กับเจ้าพ่อท้องถิ่นที่เคยมีบุญคุณเชื่อใจกันมาก่อน ในระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงไม่เอื้อให้คนตัดสินใจเลือกนโยบายที่ชอบ หรือไม่เอื้อต่อการเกิดผู้เล่นใหม่ๆ ในสนามการเลือกตั้ง

ถ้าหาก คสช. ได้รับผลการเลือกตั้งที่ต้องการผ่านระบบนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะดึงดูดเอา ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าไปสนับสนุนความเข้มแข็งของรัฐบาตัวเองได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เพราะระบบนี้ทำให้พรรคของตัวเองที่ดึงดูด “เจ้าพ่อท้องถิ่น” ทั้งหลายมาเข้าพรรค ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง

ดังนั้นความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองหน้าใหม่ ที่มาพร้อมนโยบายใหม่ๆ มีที่ยืนมากขึ้นในสนามเลือกตั้ง เปิดโอกาสไปสู่การเมืองโฉมใหม่ไม่ตกอยู่ในวังวนของผู้เล่นหน้าเดิมๆ ที่มักได้รับการเลือกตั้งเสมอในเขตพื้นที่เดิมๆ แบบหลายสิบปีที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งแบบ MMA บัตรใบเดียว ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5059

4. ได้พรรคการเมืองทางเลือกเพิ่มขึ้น จากคนธรรมดาไม่ใช่เศรษฐี

พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ กฎหมายพรรคการเมือง ที่ร่างขึ้นโดยคนชุดเดียวกับที่ คสช. แต่งตั้งให้มาร่างรัฐธรรมนูญ วางเงื่อนไขให้คนที่ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากมากขึ้น โดยกำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องมีทุนประเดิมตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยทุนประเดิมให้มาจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่ต้องสมทบกันอย่างต่ำคนละ 1,000 บาทแต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท 

หากเปรียบเทียบกับ กฎหมายพรรคการเมืองฯ ปี 2550 จะเห็นว่า กติกาตอนปี 2550 มีเงื่อนไขที่ง่ายกว่ามาก เช่น จำนวนผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใช้แค่ 15 คน ไม่จำเป็นจะต้องมีทุนประเดิมพรรคขั้นต่ำ รวมถึงไม่จำกัดเพดานการจ่ายเงินทุนประเดิมให้กับพรรค 

กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันยังกำหนดด้วยว่า เมื่อจดทะเบียนพรรคการเมืองได้แล้ว ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองยังต้องหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา แต่ละสาขามีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดแบบที่คนของ คสช. ออกแบบไว้ว่า อยากให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันขนาดใหญ่ ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งขึ้นและจบไปง่ายๆ และป้องกันคนที่หวังมาหาประโยชน์จากเงินที่รัฐให้เพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง แต่ก็ได้ผลในอีกทางหนึ่งเป็นการบีบให้พรรคการเมืองต้องเริ่มต้นโดยมีคนใหญ่โตหรือคนมีเงินสนับสนุนก่อน ถึงจะฝ่าด่านธุรการในการจดทะเบียนพรรคการเมืองได้ หากมีเพียงอุดมการณ์และความฝันจะไม่สามารถลงสนามเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้

ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กอยู่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น พรรคเกียน นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่มาพร้อมกับสโลแกนจะนำความบันเทิงเข้าสู่การเมืองไทย “ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง” เน้นการเสนอสิ่งใหม่มากกว่าเน้นคะแนนเสียง สุดท้ายไม่สามารถดำเนินการทางธุรการได้ทันและไม่ได้ลงสมัครในการเลือกตั้ง 2562 หรือพรรคสามัญชน ที่เกิดจากการวมตัวกันของนักกิจกรรมและ NGO โดยไม่มีเงินทุน ทำให้ส่งผู้สมัครได้เพียง 14 เขตเลือกตั้งเท่านั้น สำหรับคนที่มีอุดมการณ์มีความฝันและกล้าเสนอสิ่งใหม่หากไม่มีเงินทุนสนับสนุนก็ยากที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาชนได้

สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อประชาชนทำให้ตัวเลือกในสนามเลือกตั้งมีน้อยลง และเดินไปในทางตรงข้ามกับที่เราใฝ่ฝันหาการเมืองแบบใหม่ หาคนหน้าใหม่ในระบบการเมืองที่เน้นชูนโยบาย ความฝันที่อยากกำจัดนักการเมืองรุ่นเก่า กำจัดผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์จากการลงสนามเลือกตั้ง ความฝันที่จะออกจากวังวนความขัดแย้งทางการเมืองเดิมๆ

ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และไม่เสนอให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง หรือขัดขวางในการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ก็จะทำให้เราอยู่ในระบบการเมืองโดยมีตัวเลือกเช่นเดิมต่อไป โอกาสที่จะเห็นพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ๆ จัดตั้งขึ้นโดยไม่ต้องมีนายทุนหนุนหลัง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4654

5. ได้รัฐสภาที่มีระบบถ่วงดุล มี ส.ว. ทำงานตรวจสอบรัฐบาล

ในระบบรัฐสภาปกติ จะต้องมี ส.ส. ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ที่เป็นฝ่ายค้าน คอยทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน และยังต้องมีสภาที่สอง คือ วุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกับ ส.ส. อีกชั้นหนึ่งด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจเสียงข้างมากโดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อย ร่างกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส. แล้ว ก็จะยังมี ส.ว. ที่จะนำกฎหมายมาพิจารณากันอีกชั้นหนึ่งและสามารถยับยั้งหรือคัดค้านกฎหมายจาก ส.ส. ได้

นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีอีกหลายบทบาทสำคัญ เช่น พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในประเด็นสำคัญๆ ซึ่งส่วนใหญ่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ก็จะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารนั่นเอง

แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. ชุดแรก 250 คนที่จะดำรงตำแหน่งนาน 5 ปี มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ทั้งหมด ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้ง จึงยากมากที่ ส.ว. ที่พล.อ.ประยุทธ์เลือกมาเองจะมาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลพวกเดียวกันเอง ทำให้ระบบกลไกของรัฐสภาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แม้อาจจะมีฝ่ายค้านอยู่แต่ถ้าฝ่ายค้านมีที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ก็สนับสนุนรัฐบาลการตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบรัฐสภาจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง หากรัฐบาลทุจริต หรือออกนโยบายที่ประชาชนไม่ต้องการ และระบบรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบหรือยับยั้งอำนาจรัฐบาลได้ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและหาทางออกไม่ได้อีกเป็นวังวนเช่นเดิม

เพื่อให้รัฐสภายังมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ทำงานได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องให้ ส.ว. ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้สองทาง คือ หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกระบบ ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. หรือ สอง และออกแบบที่มา ส.ว. ใหม่ให้มีความยึดโยงกับประชาชน

ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็คาดหมายได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เพราะ ส.ว. 250 คนนี้ คือ เสียงสนับสนุนและตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ ดังนั้นโอกาสที่จะมีระบบรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้จริง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4654

6. ได้องค์กรอิสระที่เป็นกลาง กล้าตรวจสอบรัฐบาล มีที่มาหลากหลาย 

รัฐธรรมนูญ 2560 วางระบบการคัดเลือกและสรรหากรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายเอาไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหา ประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง ใช้คณะกรรมการสรรหาชุดเดียวกันทั้งหมดทุกองค์กร และเมื่อสรรหาแล้วให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ

แต่อย่างไรก็ดี ตลอด 5 ปีในอำนาจ คสช. ได้ใช้อำนาจทั้ง “มาตรา 44” และกลไกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทน ส.ว. เข้ายึดครององค์กรอิสระไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือแม้กระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนใหญ่มีที่มาจากกระบวนการสรรหาที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. เข้ามาแทรกแซงและทุกคนยังต้องผ่านการรับรองโดย สนช. สภาทหารที่แต่งตั้งขึ้นมาเองมาก่อนแล้ว

เราจึงเห็นการทำงานขององค์กรอิสระที่ควรจะต้องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในยุคของ คสช. ค่อนข้าง “สงบเสงี่ยม” คือ ไม่เคยมีผลงานปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของรัฐบาล คสช. เลย แม้ว่า จะมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก เช่น กรณีทุจริตโคงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ กรณี พล.อ.ประวิตรมีนาฬิกาหรูจำนวนมาก หรือกรณีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ 

จึงคาดหมายได้ว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งและแต่งตั้งคนของตัวเองกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่มีที่มาจากระบบการสรรหาของ คสช. ก็จะยังคงไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเช่นเดิม และเมื่อ ส.ว. ทั้งหมดก็มาจากการคัดเลือกของ คสช. การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระชุดต่อๆ ไปเมื่อมีผู้หมดวาระลงก็จะยังคงเป็นระบบการสรรหาโดยคนของ คสช. อีกเช่นเดิม ทำให้เราแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะได้เห็นองค์กรเหล่านี้ทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างแท้จริง

การจะแก้ไขให้องค์กรอิสระกลับมาเป็นอิสระและเป็นกลาง ทำงานตรวจสอบรัฐบาลได้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใด ต้องเริ่มจากการ “เซ็ตซีโร่” ให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากระบบของ คสช. พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดก่อน แล้วแก้ไขกระบวนการที่มาใหม่ หรือยกเลิก ส.ว. 250 คนที่ คสช. เลือกมาเอง แล้วเริ่มต้นกระบวนการสรรหากรรมการทุกองค์กรใหม่ทั้งหมด ซึ่งโอกาสที่จะทำเช่นนี้ได้จะมีก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูขั้นตอนการคัดเลือกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4210

ดูขั้นตอนกระบวนการ ที่ คสช. เข้ายึดองค์กรอิสระทั้งหมด ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4808

7. ได้เสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิจารณ์รัฐบาล และเสนอข้อเรียกร้อง

ในยุคสมัยของ คสช. ตั้งแต่เข้ายึดอำนาจ ก็อาศัยอำนาจพิเศษออกคำสั่งเรียกบุคคลไปรายงานตัวและคุมขังไว้ในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน เมื่อมีการชุมนุมต่อต้านก็จะมีคนถูกจับกุมและเอาตัวเข้าค่ายทหารเช่นกัน ต่อมาก็ออกประกาศให้คดีทางความทางการเมืองจำนวนมากต้องถูกพิจารณาโดยศาลทหาร 

บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นไปภายใต้ข้อจำกัด การออกมาทำกิจกรรมในที่สาธารณะเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยคำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ออกตามมาในปี 2558 ไม่เพียงแต่กิจกรรมที่ต่อต้าน คสช. โดยตรงเท่านั้น การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ทั้งการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มประชาชนที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ก็พบกับการกดดัน ข่มขู่ จากเจ้าหน้าที่หลากหลายรูปแบบ

การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์พอจะทำได้บ้าง แต่ก็มีความหวาดกลัวแฝงอยู่ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่แก้ไขในปี 2559 (ประกาศใช้ปี 2560) เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้เอาผิดเนื้อหาได้อย่างกว้างขวาง และการวิจารณ์รัฐบาล คสช. หรือพล.อ.ประยุทธ์ หรือพล.อ.ประวิตร หลายครั้งก็นำมาซึ่งการดำเนินคดีด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลทหาร เพื่อส่งสัญญาณให้สังคมเรียนรู้ที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง

เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ ในยุคสมัยของ คสช. มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 91 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) จากการวิจารณ์ คสช. อย่างน้อย 51 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 191 คน และมีคนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปอย่างน้อย 421 คน

นอกจากนี้การจัดกิจกรรมสาธารณะ เช่น เวทีเสวนาวิชาการ คอนเสิร์ตดนตรี งานนิทรรศการศิลปะ ฯลฯ ยังทำได้ยากลำบากเพราะถูกคุกคาม ปิดกั้น หรือแทรกแซงรวมแล้วมากกว่า 200 ครั้ง จนกิจกรรมต่างๆ ค่อยๆ หดหายไปเพราะผู้จัดทั้งหลายก็ต่างไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาลทหาร

การจำกัดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ หลายครั้งทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งหลายฉบับเป็นกฎหมายที่ คสช. เขียนขึ้นและประกาศใช้เอง หลายครั้งก็อ้างอิงข้อกฎหมายแต่เป็นการตีความเกินเลยไป จนสุดท้ายศาลก็เห็นว่า การกระทำของประชาชนไม่เป็นความผิด และหลายครั้งที่การแสดงออกของประชาชนไม่อาจอ้างได้เลยว่า ขัดต่อกฎหมายใด จึงต้องถูกใช้อำนาจทางสังคมเข้ากดดันทางอ้อมเนื่องจาก เช่น ให้ทหารไปติดตามเยี่ยมที่บ้าน การให้ทหารไปหาพ่อแม่หรือครอบครัว การติดต่อผ่านทาง “ผู้ใหญ่” ที่มีอำนาจทางสังคม ทั้งอำนาจตามกฎหมายและอำนาจทางอ้อมเหล่านี้ยังอาจถูกใช้ต่อไปได้แม้หลังการเลือกตั้งก็ตาม

นอกจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว หากพิจารณาพฤติกรรมการให้สัมภาษณ์แต่ละครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเห็นว่า มีทัศนคติในทางลบต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้ง ก็มีแนวโน้มที่การตีความบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดประชาชนจากการวิจารณ์ผู้ใช้อำนาจรัฐ และการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคมจะยังคงเดินหน้าต่อไป 

หากต้องการให้บรรยากาศที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้กลับคืนมา โดยผู้ใช้อำนาจรัฐที่ไม่ว่าจะเป็นใครหลังการเลือกตั้งสามารถถูกวิจารณ์ ถูกประชาชนหยิบไปล้อเลียน หรือถูกประชาชนเรียกร้องกดดันให้ทำหรือไม่ทำสิ่งใดได้ ต้องอาศัยผู้นำรัฐบาลที่มีวุฒิภาวะ ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิของประชาชนที่ออกในรัฐบาล คสช. ซึ่งโอกาสเช่นนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูข้อมูลผู้ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองในยุค คสช. ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged

ดูเรื่องการสร้างข่าว สร้างความกลัว ของรัฐบาล คสช. ต่อได้ที่ https://bit.ly/2TvNTj1

อ่านเรื่อง ทัศนคติต่อการวิจารณ์ของ “ลุงตู่” น่ากังวลหากยังเป็นนายกฯ ต่อ ต่อได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/676

8. ได้สื่อที่กล้าวิจารณ์รัฐบาล ได้ฟังความเห็นหลายมุมในประเด็นร้อน 

ในยุคสมัยของ คสช. มีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ห้ามสื่อนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ห้ามวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ห้ามสัมภาษณ์บุคคลที่ให้ความเห็นอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ฯลฯ ประกาศทั้งสองฉบับซึ่งใช้บังคับมาตลอด นำไปสู่การสั่งลงโทษสถานีโทรทัศน์ที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ คสช. มาแล้วอย่างน้อย 59 ครั้ง รวมทั้งการสั่งปิดสถานี ว๊อยซ์ทีวี, พีซทีวี, ทีวี24 และเป็นอาวุธทางกฎหมายที่ทำให้สื่อมวลชนทุกแห่งต้องจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความหวาดกลัว

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 กำหนดว่าเนื้อหาที่ออกอากาศใดมีลักษณะเข้าข่ายตามประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และ 103/2557 ให้ถือเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ด้วย คำสั่งยังกำหนดอีกว่าหากกสทช.เห็นว่ารายการใดนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าวก็มีอำนาจกำหนดบทลงโทษได้สูงสุดถึงการปิดสถานี และยังมีบทยกเว้นความรับผิดว่า หาก กสทช. ทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ก็ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 

บรรยากาศการทำงานของสื่อเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังในการเลือกบุคคลมาให้สัมภาษณ์ และเมื่อมีประเด็นร้อนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น สื่อมวลชนก็ไม่กล้าหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือจัดรายการให้มีคนฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมานั่งพูดคุยกันให้ประชาชนได้เห็นมุมมองหลายมุม เหมือนที่มักจะทำเป็นประจำก่อนยุคสมัยของ คสช. การจะทวงคืนเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเลือกประเด็นนำเสนอในทางไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จะทำได้ก็โดยยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งสามฉบับดังกล่าว

3 พฤษภาคม 2562 สามสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน เคยร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ “ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ทวงคืนเสรีภาพประชาชน” โดยเห็นว่าการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อเช่นนี้เข้าข่ายการปิดกั้น ลิดรอนสิทธิ หากเห็นว่า สื่อทำผิดจรรยาบรรณก็ควรใช้กลไกจริยธรรมขององค์กรสื่อมากกว่า แต่หลังออกแถลงการณ์เรียกร้องแล้ว รัฐบาล คสช. ก็ไม่ได้ตอบรับใดๆ 

หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็คาดหมายได้ว่า ประกาศและคำสั่งเหล่านี้จะไม่ถูกยกเลิกหรือแก้ไข และพล.อ.ประยุทธ์ จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ยกเลิกได้สำเร็จ โอกาสที่จะทวงคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชนจะมีได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce97-2557.pdf

ดูประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce103-2557.pdf 

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order41-2559.pdf

ดูข้อมูลการสั่งลงโทษสื่อ ในยุค คสช. ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/572

ดูกลไกการปิดกั้นสื่อมวลชนของ คสช. ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4725 และ https://freedom.ilaw.or.th/TVContentRegulation

ดูแถลงการณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ที่ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/800622

9. ได้ความปลอดภัย จากอำนาจพิเศษของทหาร

ในยุคสมัยของ คสช. มีการใช้อำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 3/2558, 13/2559 และ 5/2560 ที่ให้อำนาจทหารเข้ามาทำหน้าที่เช่นเดียวกับตำรวจ รวมทั้งอำนาจในการจับกุมประชาชน การบุกค้นบ้านเรือนได้ และร่วมสอบสวน ตั้งข้อหา ดำเนินคดีกับประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวประชาชนไปคุมขังไว้ในค่ายทหารได้เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา ไม่ต้องมีการกระทำผิดเกิดขึ้นก่อน และระหว่างถูกคุมขังก็อาจไม่ได้รับสิทธิให้พบญาติหรือทนายความ โดยเจ้าหน้าที่อาจอ้างว่าบุคคลที่ถูกนำตัวมายังไม่ใช่ผู้ต้องหาคดีอาญา จึงยังไม่มีสิทธิพบทนายความซึ่งเป็นสิทธิของผู้ต้องหาคดีอาญา

นอกจากให้อำนาจทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการทุกประเภทแล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 3 ฉบับ ยัง “ยกเว้นความรับผิด” คือ กำหนดให้ทหารที่ใช้อำนาจไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หากทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ก็ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ซึ่งยิ่งเป็นการให้ท้ายให้ทหารระดับปฏิบัติกล้าทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวผลที่อาจจะตามมา

ตลอดเวลา 5 ปี ภายใต้อำนาจของ คสช. บทบาทของทหารจึงเพิ่มขึ้นและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการทุกอย่างในประเทศ ทหารจะไปเยี่ยมบ้านเรือนประชาชน บางครั้งก็ไปกินข้าวกินกาแฟ บางครั้งก็ “เชิญตัว” บางครั้งก็ “ปรับทัศนคติ” ประชาชน โดยมีคนที่ถูกทหารติดตามคุกคามด้วยอำนาจพิเศษอย่างนี้มากกว่า 1,300 คน บรรยากาศเหล่านี้ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะ “ความหวาดกลัว” ต่ออำนาจของทหาร ไม่อาจทราบได้ว่า เมื่อใดจะมีทหารแวะมาเยี่ยมที่บ้านด้วยเหตุผลใด ไม่ทราบได้ว่า หากทหารเอาตัวไปไว้ในค่ายทหารจะต้องถูกคุมขังในสภาพใดเป็นเวลานานเท่าใด และไม่อาจทราบได้ว่า หากถูกทหารใช้อำนาจรังแกแล้วไม่ทำตามจะมีผลร้ายใดตามมา 

อำนาจจากคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้เป็นฐานสำคัญที่รองรับให้ทหารยังคงทำตัวเป็นใหญ่และติดตามคุกคามประชาชนอยู่ได้เรื่อยมา หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็คาดหมายได้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้จะไม่ถูกยกเลิกหรือแก้ไข และพล.อ.ประยุทธ์ จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ยกเลิกได้สำเร็จ เพื่อใช้ทหารระดับปฏิบัติทำหน้าที่สร้างความหวาดกลัวต่อไปเพื่อให้สถานการณ์นำของพล.อ.ประยุทธ์ มีฐานรองรับมากขึ้น โอกาสที่ประชาชนจะทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานและ “ความรู้สึกปลอดภัย” จากอำนาจพิเศษของทหาร จะมีได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3-2558.pdf

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2559 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order13-2559.pdf 

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order5-2560.pdf

ดูเรื่องราวของคนที่ถูกทหารเอาตัวไปปรับทัศนคติ ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/attitude-adjusted 

10. ได้กระบวนการยุติธรรมปกติ ที่เชื่อถือได้ ไม่ถูกทหารแทรกแซง

ในยุคสมัยของ คสช. มีการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งการมาทำหน้าที่แทนตำรวจ และการทำหน้าที่แทนผู้พิพากษา

คสช. ใช้อำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 3/2558, 13/2559, 5/2560 ให้อำนาจทหารเข้ามาทำงานได้เช่นเดียวกับตำรวจ รวมทั้งอำนาจในการจับกุมประชาชนผู้ต้องสงสัย การบุกค้นบ้านเรือนได้ และร่วมสอบสวน ตั้งข้อหา ดำเนินคดีกับประชาชน ที่สำคัญที่สุด คือ การนำตัวประชาชนไปคุมขังไว้ในค่ายทหารได้เป็นเวลา 7 วัน พร้อมกับยกเว้นความรับผิดให้กับทหารที่ใช้อำนาจตามคำสั่งเหล่านี้ด้วย

คสช. ยังออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 เพื่อให้คดีความทางการเมืองของประชาชนต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร ซึ่งมีอัยการผู้สั่งฟ้องคดีเป็นทหาร และตุลาการเป็นทหารทั้งหมด โดยตุลาการบางนายยังไม่ต้องผ่านการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์ด้วย เท่าที่มีข้อมูล ประชาชนมากกว่า 2,100 คน ต้องถูกจับกุมและดำเนินคดีต่อศาลทหารทั่วประเทศที่ตั้งอยู่ภายในค่ายทหาร

จึงอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมในยุค คสช. นั้น “ไม่ปกติ” แม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมปกติทุกขั้นตอนอยู่แล้ว แต่ คสช. กลับให้ทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนโดยไม่มีเหตุผลรองรับ เมื่อทหารเข้ามาใช้อำนาจในทุกขั้นตอนเช่นนี้ ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกจัดการและควบคุมได้โดยคนของ คสช. เพื่อสนับสนุนการคงอยู่ในอำนาจให้กับ คสช. นั่นเอง 

ในบางคดีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. ก็ต้องถูกดำเนินคดีโดยทหารและถูกตัดสินคดีโดยทหาร จึงยากที่ประชาชนจะได้รับความสบายใจจากกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ และยากที่ผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมจะได้รับการยอมรับกัน เมื่อสังคมไม่อาจยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่อาจจะนำไปสู่สังคมที่มีความสงบเรียบร้อยที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมได้

การจะได้กระบวนการยุติธรรมแบบปกติที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนกลับคืนมา ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่มืออาชีพ อย่าง ตำรวจและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เป็นพลเรือน เช่นเดียวกับข้อพิพาทในคดีความทั่วไป แม้ว่าในกันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 55/2559 มายกเลิกการบังคับใช้ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557 แล้ว แต่การยกเลิกการบังคับใช้จะมีผลกับคดีที่เหตุเกิดตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้าคสช. 55/2559 ออกมาบังคับใช้เท่านั้น ส่วนคดีที่เหตุเกิดระหว่างที่ประกาศทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้ หรือคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารแล้ว ก็จะยังอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารต่อไป ซึ่งการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 13/2559 และ 5/2560 ที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนในกระบวนยุติธรรม และความเป็นไปได้ในการโอนย้ายคดีของพลเรือนในศาลทหารกลับไปศาลพลเรือนตามปกติ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง 

ดูความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับศาลทหารในยุค คสช. ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/militarycourtfact

ดูข้อมูลและเรื่องราวทั้งหมด เมื่อพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/court-martial

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3-2558.pdf

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2559 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order13-2559.pdf 

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order5-2560.pdf

ดูประกาศ คสช. 37/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce37-2557.pdf

ดูประกาศ คสช. 38/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce38-2557.pdf

ดูประกาศ คสช. 50/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce50-2557.pdf

11. ได้เยียวยาผู้เสียหาย จากความขัดแย้งทางการเมือง

ตลอดเวลาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยกว่า 12 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทั้งจากฝ่ายต่อต้านทักษิณ และฝ่ายต่อต้านอำนาจทหาร หลายคนเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บหรือพิการ หลายคนถูกจับกุมดำเนินคดี และต้องถูกจองจำในเรือนจำเพราะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง แสดงความคิดเห็น หรือละเมิดกฎหมาย โดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากข้อเรียกร้องทางการเมือง เมื่อนานวันเข้า “นักโทษการเมือง” เหล่านี้เริ่มถูกลืมเลือนไปในสังคมและไม่มีใครให้ความสนใจ

เฉพาะในยุค คสช. มีการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก คนที่ยังถูกจองจำอยู่ เช่น ธเนตร ผู้ถูกดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาล คสช. และกองทัพ และถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งถูกจองจำโดยไม่ได้ประกันตัวมานานกว่าสองปีแล้ว หรือคนอีกจำนวนมากที่เคยถูกทหารควบคุมตัวเพื่อไปกักขังไว้ในค่ายทหาร และภายหลังก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหา และไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใด แต่ต้องถูกบังคับให้สูญเสียอิสรภาพไปช่วงเวลาหนึ่ง

ผู้ที่เสียหายทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพจากการถูกจับกุมดำเนินคดี โดยมีพื้นฐานมาจากเหตุผลทางการเมืองถือเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติทางการเมือง คนเหล่านี้ควรจะได้รับการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวจากการคุมขัง การยกเลิกคดีความ หรือการชดเชยค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ แต่ตลอดเวลาเกือบ 5 ปี ที่อยู่ในอำนาจ คสช. มองคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายเป็น “ภัย” ทั้งหมด และปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเยี่ยงอาชญากร เน้นการใช้อำนาจทหารเข้าควบคุม ดำเนินคดี และลงโทษ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลเบื้องหลังของการกระทำของแต่ละคน

หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็คาดหมายได้ว่า ผู้เสียหายจากความขัดแย้งเหล่านี้จะยังคงไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ดังนั้น โอกาสที่จะผลักดันการเยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อนำไปสู่บรรยากาศทางการเมืองที่ดีขึ้นและลดความขัดแย้งลง จะมีได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูรายละเอียดคดีของธเนตร ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/698

ดูรายชื่อผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาทางการเมือง ในยุค คสช. ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged

12. ได้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ “มืออาชีพ” ปลอดนายทหาร

ในยุคคสช. มีการส่งนายทหารระดับสูงเข้าไปนั่งเป็น “บอร์ด” รัฐวิสาหกิจ โดยบีบีซีไทยรายงานข้อมูลเมื่อ คสช. อยู่ในอำนาจมาครบสามปี พบว่า รัฐวิสาหกิจ 40 แห่ง มีทหารนั่งอยู่ในคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจ 16 แห่งมีทหารนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ โดยเพิ่มขึ้นจากก่อนปี 2557 ถึงเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ 
นักการเมือง มักตกเป็นจำเลยว่านิยมตั้งคนที่ไม่มีความเหมาะสมเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดปัญหาบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดทุนซ้ำซาก ไปถึงขั้นมีข้อครหาเรื่องทุจริต เมื่อ ทหาร ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในปี 2557 หนึ่งในวาระเร่งด่วนคือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คสช.ออกคำสั่ง ที่ 75/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานขึ้นมาผ่าตัดด้วยตัวเอง

หลังจากนั้นผู้มีอำนาจในยุค คสช. ก็ออกคำสั่งเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง โดยบางแห่งมีการส่งทหารเข้าไปแทน ท่ามกลางความเข้าใจของสาธารณชน ว่าเป็นการเข้าไปเฉพาะใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

บีบีซีไทย ตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน “เพิ่มขึ้น” จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี “ประธานบอร์ด” เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง
บางรัฐวิสาหกิจ เป็นนโยบายพิเศษที่ คสช. ต้องการจัดการเด็ดขาด เช่น การแก้ไขปัญหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา ดังนั้นจึงมีชื่อของ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 นั่งเป็นประธานบอร์ด อย่างไรก็ดี มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจากกองทัพ แต่มีทหารนั่งอยู่ในบอร์ด อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย หรือมากกว่า 5 เท่าตัว

เมื่ออำนาจของทหารเป็นใหญ่ ก็ย่อมคัดเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปกำกับกิจการของรัฐ ภายใต้แนวคิดว่า ทหารจะมีระเบียบวินัย เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา เสียสละเพื่อชาติ และซื่อสัตย์ แต่การให้ทหารเข้าไปมีบทบาททุกอย่างในประเทศก็มีข้อเสียที่ขาดความเชี่ยวชาญ และทหารบางนายยังรับราชการทหารพร้อมไปด้วย นั่งควบตำแหน่งอื่นๆ ไปด้วยพร้อมกันทำให้ไม่มีเวลาหรือสมาธิทำงานเพื่อรัฐวิสาหกิจมากเพียงพอ รวมถึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการทุกอย่างในประเทศไว้ที่กองทัพแต่เพียงผู้เดียว 
โอกาสในการแก้ไข ต้องอาศัยเมื่ออำนาจรัฐเปลี่ยนมาอยู่ในมือของรัฐบาลพลเรือน และเปิดให้กระบวนการคัดเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจโปร่งใสมีหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ ได้คนที่เป็นมืออาชีพมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง
ดูรายงานของบีบีซีไทย เรื่อง สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป ต่อได้ที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-40121632

13. ได้ทบทวนกฎหมายทั้งชุด ที่ออกโดยกลุ่มทหารและข้าราชการเกษียณ

ในยุคสมัยของ คสช. ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมา มีสมาชิก 250 คน  58% เป็นทหารหรืออดีตทหาร 5% เป็นตำรวจหรืออดีตตำรวจ และอีก 25% เป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ สภาแห่งนี้ทำงานออกกฎหมายรวดเร็วไปอย่างน้อย 444 ฉบับ บางฉบับใช้เวลาพิจารณาวันเดียว หลายฉบับลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ และไม่เคยมีร่างกฎหมายฉบับไหนเลยที่ส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แล้วไม่ผ่านการพิจารณา เรียกได้ว่าสภาแห่งนี้ทำหน้าที่เป็น “ตรายาง” ชั้นดี คอยประทับตราออกกฎหมายให้ตามที่ คสช. ต้องการ

กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. และประกาศใช้ หลายฉบับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานของราชการที่ต้องออกตามระยะเวลาหรือตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่มีข้อห่วงกังวลใดตามมา ขณะที่หลายฉบับยังมีข้อถกเถียงและข้อคัดค้านจากสังคมอยู่มาก และมีเนื้อหาเป็นไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็ผ่านออกมาบังคับใช้ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558, การแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2559, พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2559 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่สังคมยังคาใจ เช่น กฎหมายอุ้มบุญ กฎหมายภาษีมรดก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น 

กฎหมายหลายฉบับก็ผ่านการพิจารณาออกมาชนิดเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน โดยกลุ่มข้าราชการที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายเป็นผู้จัดทำร่างกฎหมายเอง เสนอกฎหมายเอง เป็นกรรมาธิการร่วมพิจารณากฎหมายเอง และเป็นสมาชิก สนช. มายกมือสนับสนุนการผ่านกฎหมาย เพื่อให้ตัวเองได้อำนาจมากขึ้นหรือได้ผลประโยชน์มากขึ้นเองด้วย

กฎหมายทั้งหมดที่ผ่านออกมาโดยสภาแต่งตั้งควรจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนกันในรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดย ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจากการเลือกตั้ง หากเห็นว่า ดีอยู่แล้วก็บังคับใช้ต่อไป หากเห็นว่า มีปัญหาก็ควรต้องถูกแก้ไขปรับปรุง แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยดึงดูด ส.ส. จำนวนมากเข้ามาร่วมรัฐบาลเป็นเสียงข้างมากพร้อมกับ ส.ว. อีก 250 คนได้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่กฎหมายที่ออกในยุคของ คสช. เพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์กับคนของ คสช. จะถูกทบทวนหรือแก้ไข

ดังนั้น โอกาสที่จะได้เอากฎหมายหลายร้อยฉบับนี้ขึ้นมาทบทวนกันใหม่ จะมีได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูข้อมูลสี่ปี สนช.: “สภาตามสั่ง” ผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ-ปูทาง คสช. อยู่ยาว ต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/4881

ดูเรื่อง “สภาทหาร-สภาผลประโยชน์” เมื่อคนใกล้ชิดผู้นำประเทศอยู่เต็มสนช. ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4407

ดูข้อมูลเมื่อ ข้าราชการยึดอำนาจออกกฎหมาย ร่างเอง-โหวตเอง-ได้ประโยชน์เอง ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4410
ดูตัวอย่างกฎหมายที่ผ่าน สนช. อย่างคาใจ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/3971

14. ได้เอาทหารออกจากที่ดินชาวบ้าน ให้ชุมชนมีสิทธิจัดการดูแลป่าเอง

ในยุครัฐบาล คสช. นโยบายสำคัญที่ถูกเร่งรัดดำเนินการ คือการ “ทวงคืนผืนป่า” ผ่านการออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มในการปราบปราม สั่งการเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ป่า แม้ว่า คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 จะเน้นย้ำว่า ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ แต่มาตรการหลักของคำสั่ง คสช. คือ การใช้กำลังเข้าจับกุม โดยให้อำนาจรวมศูนย์ไว้ที่หน่วยงานทหาร ทำให้ประชาชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินกับภาครัฐได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ให้ทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปมีอำนาจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างว่า จะใช้ “ปราบผู้มีอิทธิพล” แต่กลับถูกเอามาใช้เพื่อเอาทหารหลายร้อยคนพร้อมอาวุธเข้าปิดล้อม-ตรวจค้น หมู่บ้านและไร่นาของชาวบ้าน 

รายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. ไม่มีการระบุถึงการจับกุม ดำเนินคดีขบวนการลักลอบตัดไม้ หรือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่า โดยไม่แจกแจงข้อมูลว่า มีผู้ต้องหาที่จับกุมได้ เป็นนายทุน นักการเมือง เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนเท่าใด และเป็นประชาชนทั่วไปจำนวนเท่าใด 

เล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ประมาณ 7,900,000 ไร่ ถือว่า ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ พื้นที่ที่สภาพเป็นป่ากว่า 6,900,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 ของพื้นที่ทั้งหมด ที่ดินที่ประชาชนทำกินและมีเอกสารสิทธิมีแค่ ร้อยละ 1.3 ขณะที่ทางภาคกลางบางจังหวัดไม่มีพื้นที่ป่าเลย ส่วนกรุงเทพมีพื้นที่ป่า ร้อยละ 0.33 เท่านั้น แต่ชาวเขา คนชนเผ่า กลับถูกมองว่า เป็นคนทำลายป่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังใช้คำสั่งที่ 64/2557 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,003 คดี เฉลี่ยปีละ 334.3 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 136 คน ที่ดินถูกยึดทั้งหมด 4,689.24 ไร่

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ตามแผนแม่บทป่าไม้ที่มีมาตั้งแต่ปี 2528 กำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยังขาดอยู่อีก 26 ล้านไร่ เมื่อ คสช. ใช้นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” มาสี่ปี ยึดที่ดินชาวบ้านไปแล้ว 500,000 ไร่ ยังขาดอีกเยอะมาก จึงเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านรายเล็กรายน้อยที่ถูกไล่ที่ และถูกดำเนินคดี

ความหวังของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่า คือ ต้องการมี “สิทธิชุมชน” เนื่องจากคนที่อยู่อาศัยกับป่า ก็เห็นความสำคัญของป่าไม้ที่สมบูรณ์ไม่แพ้ใคร จึงต้องการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดและตัดสินใจวิธีการรักษาพื้นที่ป่าด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้เพียงรัฐส่วนกลางที่นั่งดูภาพถ่ายทางอากาศเป็นผู้กำหนดว่า พื้นที่ตรงไหนประชาชนจะอยู่อาศัยหรือทำการเกษตรได้หรือไม่ ซึ่งเห็นแล้วว่า แนวนโยบายแบบรัฐบาล คสช. ไม่ได้สอดคล้องกับความหวังนี้ ดังนั้น โอกาสที่ชุมชนจะมีสิทธิจัดการดูแลป่าเองได้ โดยไม่ต้องให้ทหารมาถืออาวุธปืนไล่จับชาวบ้าน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง 

อ่านเรื่อง ไม่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า มีแต่การแย่งยึดที่ดินชาวบ้านใต้เงา คสช. ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5198

อ่านเรื่อง สี่ปี คำสั่ง คสช. “ทวงคืนผืนป่า” ล้มเหลวเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่า ทำชาวบ้านเดือดร้อน ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4840

ดูตัวอย่างเรื่องของ “ไพฑูรย์ สร้อยสด” คนที่ถูกไล่ออกจากที่ดินทำกิน ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4890 

15. ได้ตีกรอบการตั้งโรงงานเข้มงวด ให้รักษาสิ่งแวดล้อม

ในยุคสมัยของ คสช. มีการใช้อำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 ให้จัดหาที่ดินมาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ใน 10 จังหวัดที่อยู่ติดชายแดน ซึ่งหมายถึงการจัดทำพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต่อมาก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 ให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองสำหรับกิจการบางประเภท หมายความว่า เปิดทางให้สามารถจัดตั้งโรงงานในเขตที่อยู่อาศัยหรือเขตพ้นที่ทำเกษตรกรรมได้ 

ต่อมาก็ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้จัดประมูลโครงการหรือหาผู้รับเหมาได้ ก่อนทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ (EIA) ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนตามกฎหมายให้เดินหน้าโครงการได้เร็วขึ้น และยังมีคำสั่งอีกหลายฉบับเพื่อจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว 

ในยุค คสช. ยังมีการแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้พัฒนาไปสู่การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น กลับเน้นมิติการสนับสนุนการลงทุนโดยลดทอนมาตรการด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อม และช่วงท้ายของ คสช. ก็เร่งผ่าน พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ ท่ามกลางข้อกังวลที่จะเปิดทางให้ก่อสร้างโรงงานได้ก่อนได้รับใบอนุญาต ทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุม แก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ รวมทั้งเปลี่ยนระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน

แนวทางที่เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยลดขั้นตอนที่มีขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม เดินหน้าไปได้ฉลุยภายใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งไม่มีเสียงคัดค้านในสภา และการแสดงออกของประชาชนก็ถูกจำกัด และเห็นได้ว่า จะยิ่งเร่งดำเนินการโดยอาศัย “มาตรา44” เป็นเครื่องมือสำคัญ หากเป็นโครงการที่รัฐบาล คสช. ร่วมมือกับกลุ่มทุนตั้งใจผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เช่น โครงการอีอีซี 

หากต้องการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม กฎหมายที่ออกในยุคของ คสช. ทั้งหลายต้องถูกนำมาทบทวน แก้ไขปรับปรุง เพื่อให้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งโอกาสนี้จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

อ่านเรื่องรวม 6 ผลงาน ส่งเสริมทุน-ลดทอนสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงา คสช. ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5206

ดูเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เสี่ยงกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4887

อ่านเรื่อง พ.ร.บ.โรงงาน ที่ออกในยุคของ คสช. ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5163

16. ได้ถกเถียง เรื่องยกเลิกกการเกณฑ์ทหาร

การเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นให้ต้องพูดถึงทุกครั้งในสังคมไทย ว่าเราพอจะมีทางเลือกในการ ‘รับใช้ชาติ’ แบบไหนได้บ้าง เพราะการตัดสินใจเข้าระบบโดยสมัครใจ หรือ เสียงดวง ‘จับใบดำ-ใบแดง’ หน้าที่นี้ก็กลายเป็นความทุกข์ของหลายคนที่ต้องทำมาหากิน หรือต้องเอาเวลาวัยหนุ่มไปทำประโยชน์อย่างอื่น

ในการเลือกตั้ง 2562 เป็นครั้งแรกที่เรื่องการเกณฑ์ทหารถูกยกขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยบางพรรคการเมืองเสนอให้ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารไปเลยและให้เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ขณะที่บางพรรคการเมืองยังประนีประนอมว่า อาจต้องมีการบังคับอยู่แต่มีนโยบายลดจำนวนลง รวมทั้งปรับปรุงวิธีการฝึกให้มีคุณภาพและปลอดภัย

เมื่อประชาชนให้ความสนใจประเด็นนี้ และมีหลายพรรคการเมืองชูเป็นนโยบาย วันที่ 7 มกราคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า หน้าที่ของผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร เว้นแต่จับใบดำใบแดงแล้วไม่ได้เป็น ทหารจะต้องเกณฑ์กันทุกปี เพราะทหารที่สมัครกันเข้ามามันไม่พอที่จะดูแลประชาชน ไอ้ที่บอกให้เลิกการเกณฑ์ทหาร มันควรจะทำหรือไม่ แต่ถ้าถามเด็กๆ ก็คงชอบ แต่ถ้าถามตนก็จะไม่เกิดความรับผิดชอบและนึกถึงส่วนรวม มันไม่ดีหรอก 

ต่อมา 18 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกครั้งว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่าหน้าที่ในการป้องกันประเทศไม่ใช่อยู่ที่ทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน อีกทั้งการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร ซึ่งตามหลักการรัฐบาลที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศและภารกิจที่ไม่ใช่สงคราม ขณะเดียวกันยังช่วยกันพัฒนาประเทศ รวมถึงเสริมกำลังให้หน่วยงานอื่นๆ โดยทุกอย่างต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่วันหน้าถึงเวลาแล้วไปเกณฑ์มา ซึ่งประเด็นสำคัญอย่ามองในแง่สงครามอย่างเดียว ขอให้เข้าใจกันด้วย และเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องตอบแทบคุณแผ่นดิน

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช. ก็แสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่า ไม่สนับสนุนแนวคิดที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือปรับลดกำลังพล โดยปักหลักคิดเรื่อง “หน้าที่ของชายไทย” ไปแล้ว โดยไม่ได้ถกเถียงกันที่ข้อมูลเรื่องงบประมาณและความจำเป็นเมื่อเทียบกับภารกิจอื่น

ดังนั้น โอกาสที่จะผลักดันให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้จริง หรือปรับลดจำนวน หรืออย่างน้อยก็ทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ในเวทีอย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

ดูคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ที่ https://www.springnews.co.th/politics/445328 และ https://mgronline.com/politics/detail/9620000002136

17. ได้ระบบหลักประกันสุขภาพ “ถ้วนหน้า” ที่มั่นคง 

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบที่ทุกคนในประเทศต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่รู้จักกันเป็นชื่อเล่นว่า “ระบบบัตรทอง” มีลักษณะเด่นสำคัญ คือ ต้องจัดสวัสดิการให้กับทุกคนแบบ “ถ้วนหน้า” หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้รับบริการเท่ากันหมด โดยไม่ต้องคำนึงว่า จะเป็นคนรวยหรือคนจน เนื่องจากการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่เสียภาษีให้กับรัฐ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ หรือต้องร้องขอความช่วยเหลือต่อเมื่อตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น  

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ในยุคของรัฐบาล คสช. มีปัญหาที่สั่นคลอนต่อระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น

1. การเปิดโอกาสให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ล้วนแล้วแต่มาจากข้าราชการ และฟากฝั่งแพทย์พาณิชย์ เข้ามามีบทบาทในระบบบัตรทอง จนเป็นที่มาของการร้องเรียนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การชะลอการจ่ายเงินให้โรงพยาบาล (ค่าน้ำ ค่าไฟ) รวมไปถึงการอ้างว่า สปสช. ไม่มีสิทธิจัดซื้อยาเอง จนเกิดปัญหาทำให้ผู้ป่วยขาดยา ทำให้รพ.ขาดความมั่นใจในการบริหารเงิน และเป็นชนวนของการแก้เสนอแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. ระหว่างความปั่นป่วนของระบบบัตรทอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ออกมาพูดถึงบัตรทองอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง โดยรวมแล้ว แสดงถึงทัศนะในทางลบทั้งสิ้น เช่น การออกมาพูดว่าบัตรทองเป็นภาระ การบอกว่าบัตรทองเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลเจ๊ง การออกมาเรียกร้องให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย เป็นต้น แม้ในทางหนึ่งก็พูดอยู่ว่า “ไม่ล้ม” บัตรทอง แต่การแสดงออกทั้งจากตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง และคนรอบข้างกลับเป็นไปในทางตรงข้าม 

3. การเสนอแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กฎหมายบัตรทอง” ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ในเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อเพิ่มจำนวนคณะกรรมการในฝั่งผู้ให้บริการและผู้ประกอบวิชาชีพ แต่ตัวแทนของประชาชนผู้รับบริการมีเท่าเดิม ซึ่งหลังถูกคัดค้านอย่างหนักความพยายามเสนอกฎหมายฉบับนี้ก็เงียบไป

4. การร่างรัฐธรรมนูญ โดยจงใจไม่เขียนให้ประชาชนมี “สิทธิเสมอกัน” ที่จะรับบริการสาธารณสุข แต่ให้ “บุคคลผู้ยากไร้” เท่านั้นมีสิทธิได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แสดงให้เห็นถึงความจงใจที่จะเปิดทางไว้เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขระบบบัตรทองในอนาคต 

5. รัฐบาล คสช. ริเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ซึ่งมีปัญหาในการคัดแยกและนิยามว่า ใครบ้างที่เป็นคนจนจึงจะมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการนี้ โดยบัตรคนจนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดการให้ประชาชนได้รับบริการเนื่องมาจากความยากจนเท่านั้น แต่ไม่ได้จัดให้ทุกคนอย่างเสมอกัน

หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ย่อมเห็นแนวโน้มของการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นโยบายประชารัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มุ่งเน้นคนจน อาจเลยครอบคลุมมาถึงระบบบัตรทอง ในที่สุดบัตรทองอาจมีให้ใช้เฉพาะคนที่พิสูจน์ได้ว่าตัวเองจนมากพอเท่านั้น หรืออย่างน้อยถ้าการ “ล้มบัตรทอง” ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อาจมีการพยายามแทรกแซงระบบผ่านการแก้ไขกฎหมาย และแต่งตั้งคณะกรรมการ จนสิทธิการได้รับบริการของประชาชนเกิดความไม่มั่นคง

โอกาสที่ระบบบัตรทอง ที่ให้สิทธิกับทุกคนอย่าง “ถ้วนหน้า” และ “เสมอกัน” จะอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมั่นคง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

อ่านเรื่อง หลักประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการที่รัฐพยายามจะล้มมาตลอด 5 ปี ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5203

ดูสรุปรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นสิทธิทางสาธารณสุข ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4190

ดูร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และเหตุผลที่คัดค้าน ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4524 และ http://ilaw.or.th/node/4525

18. ได้กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง

ภายใต้เวลา 5 ปี ในยุคสมัยของ คสช. ผู้มีอำนาจนิยมใช้อำนาจแบบ “รวมศูนย์” ให้ส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ และให้องค์กรราชการส่วนกลางมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความฝันเรื่อง “การกระจายอำนาจ” หรือการปกครองรูปแบบที่ให้คนในท้องถิ่นสามารถตัดสินใจเรื่องในท้องถิ่นได้เอง และกำหนดอนาคตให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม สภาพภูมิศาสตร์ ฯลฯ ที่แตกต่างหลากหลายได้เอง

ตัวอย่างที่สำคัญของแนวทางแบบ คสช. เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด ก็เริ่มจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2558 ด้วยอำนาจ “มาตรา44” โดยไม่ได้ถามความเห็นของคนในพื้นที่ และออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2557 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเอง หรือ การบริหารจัดการน้ำ ก็ใช้วิธีการออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 46/2560 ตั้งองค์กรกลางขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะให้แต่ละพื้นที่ออกแบบระบบที่เหมาะสมด้วยตัวเอง หรืออย่างการแก้ไขปัญหาการประมง ก็ใช้ “มาตรา 44” ออกคำสั่งมา 3 ฉบับ รวมทั้งใช้อำนาจพิเศษของคณะรัฐมนตรีแก้กฎหมายโดยออกเป็นพระราชกำหนด ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มองวิธีแก้ไขปัญหาต่างไป

นอกจาก คสช. จะรวบอำนาจการตัดสินใจผ่านการใช้ประกาศและคำสั่งโดยตรงของ คสช. รวมทั้ง “มาตรา44” ที่ออกมามากกว่า 536 ฉบับแล้ว ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 สั่ง “แช่แข็ง” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่ให้จัดการเลือกตั้งและให้ผู้บริหารชุดเดิมนั่งอยู่กับตำแหน่งได้ยาวนานไปเรื่อยๆ แม้จะหมดวาระไปนานแค่ไหนแล้วก็ตาม ทำให้นานวันเข้าผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นทั้งหลายสบายตัว ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชน และค่อยๆ กลายเป็นกลไกตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางมากกว่าความต้องการของคนในท้องถิ่น

คาดหมายได้ว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศตามแนวทาง “รวมศูนย์” แบบเดิม ความฝันของการ “กระจายอำนาจ” มีแต่จะลอยห่างออกไป โอกาสที่การปกครองที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้โอกาสคนในท้องถิ่นตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง จะกลับมาเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

อ่านเรื่อง สรุปสี่ปี คสช. กระจายอำนาจถอยหลัง ราชการแทรกแซงท้องถิ่น ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4809

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 17/2558 ได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law3/%a4%ca%aa02/%a4%ca%aa02-20-2558-a0021.pdf

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 46/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order46-2560.pdf

ดูเรื่อง คสช. กับภารกิจซ่อมสร้างการประมง ต่อได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5111
ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 1/2557 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order1-2557.pdf

19. ได้อนาคตประเทศ ที่ประชาชนร่วมกำหนด

ในยุคสมัยของ คสช. รัฐบาล คสช. วางแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมีกำหนดระยะเวลา 20 ปี โดยบังคับว่า หน่วยงานรัฐทุกแห่งและทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามแผนการนี้ หากไม่ทำตามมีความผิดและมีโทษที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ การวางแผนยุทธศาสตร์ มีประโยชน์ทำให้ประเทศมีทิศทางการเดินไปข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้วหลายฉบับ แต่แผนที่ดีต้องยืดหยุ่นให้ปรับตัวได้ตามสถานการณ์ ต้องไม่กลายเป็นกำแพงขวางไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือ การเขียนแผนต้องมาจากการมีส่วนร่วม หรือทำโดยองค์กรที่ยึดโยงกับประชาชน 

เมื่อ คสช. เขียนรัฐรรมนูญให้มียุทธศาสตร์ 20 ปี ก็เขียนให้อำนาจตัวเองเป็นคนจัดทำต่อเลยด้วย และแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น 28 คน โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเอง และยังประกอบไปด้วยคนสำคัญๆ ของรัฐบาล คสช. นั่งอยู่ครบ เช่น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ, วิษณุ เครืองาม, สุวิทย์ เมษินทรีย์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ฯลฯ จากจำนวนกรรมการ 28 คนนี้ มี 8 คน ที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช, 12 คน เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกของ คสช., 13 คน เป็นกรรมการ ป.ย.ป., 9 คน เป็นสมาชิก สนช., 12 คน เป็นคณะทำงานโครงการประชารัฐ เรียกได้ว่า เป็นการแต่งตั้งคนพวกเดียวกันเองให้เข้ามาเขียนยุทธศาสตร์ที่จะใช้บังคับไป 20 ปีด้วยกัน

ในทางปฏิบัติ แผนยุทธศาสตร์ที่ว่า นี้ก็ไม่ได้เพิ่งเขียนขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 จริงๆ แต่แอบเขียนกันขึ้นมาไว้ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสี่ครั้ง สี่จังหวัด แต่ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณะให้เข้าร่วมด้วย เมื่อประชาชนขอที่จะดูร่างที่จัดทำกันไว้ก่อนก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้ามีส่วนร่วมได้ 
หากพิจารณาเนื้อหาของแผนยุทธศาสตร์ ความยาว 74 หน้าที่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะเห็นว่า เป็นเพียงภาพฝันลอยๆ ที่สวยงามแต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร เช่น ต้องมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40, ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องสงบ, ประเทศไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2579 ภาพฝันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะเป็นอันตรายเมื่อกลไกการบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์ก็ทำโดยคนของ คสช. เอง

หาก คสช. ต้องการกำจัดรัฐบาลชุดหน้าที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจอ้างว่า รัฐบาลทำไม่สำเร็จตามภาพฝันข้อใดข้อหนึ่งและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้
การจะแก้ไขยุทธศาสตร์ 74 หน้านี้ยังเป็นไปได้ เพราะต้องทบทวนและแก้ไขกันทุกห้าปีอยู่แล้ว ยังมีโอกาสที่จะเริ่มต้นทำกันใหม่โดยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อวางแผนการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย และหากจะบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นธรรม ไม่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ยังเป็นไปได้ เพราะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำหน้าที่หลักในการตีความบังคับใช้ ถูกกำหนดไว้ให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

หากหลังการเลือกตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนเป็นคนอื่น ตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็จะถูกเปลี่ยนตัวด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และนั่งในตำแหน่งเดิมต่อไป โอกาสที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและบังคับใช้อย่างเป็นธรรมก็เป็นไปได้ยาก 
โอกาสของประชาชนที่จะแก้ไขหรือยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. นี้ และใช้งานเพื่อนำพาทิศทางของประเทศไปข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง

รู้จักยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดูได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4775

ประสบการณ์ 122 วัน ตามหาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ดูได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4627

ทำความเข้าใจกลไกควบคุมรัฐบาลใหม่ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4844

จุดยืนไอลอว์ หยุด “ยุทธศาสตร์ชาติ” หยุด “ระบอบ คสช.” ต้องช่วยกันส่งเสียง https://ilaw.or.th/node/4805

20. ได้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจริงๆ ภายใต้กติกาประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยมีมานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่มีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการปกครองในยุคสมัยของทักษิณ ชินวัตร เริ่มรวมตัวกันออกมาต่อต้าน จนเกิดการรัฐประหาร ขณะที่กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ ก็ยังต่อสู้เพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอยู่ตลอด และสามารถเข้าสู่อำนาจผ่านระบบการเลือกตั้งได้อย่างน้อย 3 ครั้งในรอบ 12 ปี ส่วนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนทักษิณ เข้าสู่อำนาจได้ผ่านช่องทางอื่นโดยตลอด เช่น การทำรัฐประหารโดยทหาร หรือการยุบพรรคการเมืองของฝ่ายทักษิณโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งของสังคมไทยที่ผ่านมา อาจพอสรุปได้ว่า เกิดจากทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เคารพใน ‘คุณค่าของหลักการประชาธิปไตย’ เนื่องจาก ฝ่ายหนึ่งอาศัยเสียงข้างมากทับถมเสียงข้างน้อย ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามทำให้เสียงข้างน้อยอยู่เหนือเสียงข้างมาก และเมื่อความขัดแย้งไม่สามารถอยู่ในกฎกติกาได้ เมื่อนั้นก็เปิดทางให้ ‘อำนาจนอกระบบ’ เข้ามาจัดการ

หลังการรัฐประหารโดยคสช. มีความพยายามในการรื้อกฎกติกาเลือกตั้งใหม่ โดยหวังให้ระบบพรรคการเมืองที่มีสองพรรคใหญ่แข่งขันกันอ่อนแอลง หรือ ทำให้ที่นั่งในสภาของพรรคการเมืองขนาดใหญ่น้อยลง โดยเฉพาะพรรคการเมืองของทักษิณ อีกทั้ง ตัวละครต่างๆ ในสนามการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก กกต. มาจัดการเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง ส.ว. มาเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ล้วนแล้วแต่เป็นการสืบทอดอำนาจต่อของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

ทั้งนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ความขัดแย้งก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่ความวุ่นวายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากเป็นระบบการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตย อีกทั้งกลายเป็นปัญหาใหม่จากความขัดแย้งเดิมที่ล่วงเลยมาถึง 2 ทศวรรษ

หนทางเดียวที่จะสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองให้เกิดขึ้นได้จริงๆ คือ ต้องมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ด้วยกติกาที่เขียนขึ้นโดยทุกฝ่ายยอมรับ ต้องสร้างระบบการเมืองที่มีฝ่ายค้าน มีพื้นที่ให้เสียงส่วนน้อยถูกรับฟัง เปิดกว้างให้ปัญหาสามารถหยิบปัญหาขึ้นมาถกเถียงกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและเหตุผล ต้องมีองค์กรอิสระและกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ทำงานได้จริง โดยคนที่เป็นกลาง ไม่ใช่ให้ คสช. คัดเลือกคนของตัวเองเข้าไปใช้อำนาจอยู่ทุกแห่ง มีกระบวนการยุติธรรมและศาลที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วฝ่ายที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุดต้องได้จัดตั้งรัฐบาล โดยยังถูกตรวจสอบและถอดถอนได้หากกระทำความผิดหรือทุจริตคอร์รัปชั่น 

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 คสช. ไม่ได้วางแผนไว้ที่จะเดินหน้าไปในทิศทางนี้ มีแต่จะพยายามควบคุมการเลือกตั้งให้ได้ผลตามที่ตัวเองที่ต้องการ แต่งตั้ง ส.ว. ที่ควรจะทำหน้าที่ถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารขึ้นเองทั้งหมด 250 คน ตั้งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมองค์กรอิสระ อาศัยประกาศและคำสั่งที่ออกโดยอำนาจพิเศษควบคุมสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคพลังประชารัฐได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนไม่มากที่สุด แต่กลับใช้กลไกอื่นๆ ที่เขียนขึ้นเองผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศก็มีแต่จะเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นๆ หลังการเลือกตั้ง 

หากต้องการสร้างสังคมที่ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง เดินหน้าไปสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างเอาไว้ หรือห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น แต่ต้องเริ่มจากแก้ไขกติกาการเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน ยกเลิกระบบ ส.ว. แต่งตั้ง เริ่มกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระใหม่ ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย นโยบาย วางแผนอนาคต ตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ โดยเดินหน้าไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอยู่ในนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีโอกาสเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง