เลือกตั้ง 62: รายงานอุปสรรคของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

วันที่ 23 มกราคม 2562 รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ซึ่งในวันเดียวกันคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศวันเลือกตั้งพร้อมแถลงปฏิทินการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต วันที่ 17 มีนาคม 2562 สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต. เพียงแต่กำหนดกรอบเวลากว้างๆ ระหว่างวันที่ 4 – 16 มีนาคม 2562 เท่านั้นส่วนวัน เวลา วิธีการ และสถานที่การใช้สิทธิขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่จะกำหนด

election01

วิธีการออกเสียงอยู่สองแบบ คือ วิธีที่หนึ่ง การมาใช้สิทธิด้วยตัวเองที่สถานทูต หรือสถานที่อื่นที่สถานทูตกำหนด เช่น ตามประกาศของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์   สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วิธีการเลือกตั้งในประเทศดังกล่าวผู้มีสิทธิต้องมาลงคะแนนด้วยตัวเอง

นอกจากนี้สถานทูตก็พยายามอำนวยความสะดวกด้วยการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่นอกสถานทูตหรือเมืองหลวงในเมืองที่อาจมีคนไทยอาศัยอยู่เยอะ เช่น ที่ฟิลิปปินส์มีการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ในเมืองเซบู  ที่ปากีสถานมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มเติมที่เมืองละฮอร์ และที่กัมพูชามีการจัดคูหาเคลื่อนที่ที่เสียมเรียบ เป็นต้น

วิธีที่สอง การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ซึ่งสถานทูตจะส่งบัตรพร้อมเอกสารไปให้ผู้ออกเสียงตามที่อยู่ในต่างประเทศที่แจ้งไว้ จากนั้นผู้มีสิทธิก็เพียงแต่ใช้สิทธิแล้วปิดผนึกซองบรรจุบัตรส่งกลับมายังสถานทูตตามกำหนด อย่างไรก็ตามการออกเสียงด้วยไปรษณีย์เป็นวิธีการที่ใช้โดยสถานทูตไทยบางแห่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลพบว่า การออกเสียงนอกราชอาณาจักรมีอุปสรรคในหลายประเทศ ทั้งกรณีการออกเสียงที่สถานทูตหรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ ดังนี้

มาเลเซีย : เตรียมรับมือผู้ออกเสียงจำนวนมากไม่ดีพอ

ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวช่องสามรายงานว่า ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์มีประชาชนมารอต่อแถวออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมาก โดยขอให้ทางการเร่งแก้ปัญหาด่วนเพราะกลัวลงคะแนนไม่ทันจะเสียสิทธิก่อนจะหมดเวลาลงคะแนน 17.00 น. มีบางคนรอนานกว่าสองชั่วโมงจนกลับบ้านไปแล้ว ต่อมาเลขาธิการกกต. ได้ติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ หากมีปัญหาจะขอให้เพิ่มคูหาออกเสียง

ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งว่า เนื่องจากมีคนมาเข้าแถวเพื่อใช้สิทธิลงคะแนนเป็นจำนวนมาก จึงจะขยายเวลาการลงคะแนนในวันที่ 9 มีนาคม 2562 ไปเรื่อยๆไม่มีกำหนดสิ้นสุดจนกว่าผู้ใช้สิทธิจะได้ลงคะแนนกันครบทุกคน รวมทั้งจะเปิดให้ลงคะแนนเพิ่มอีกหนึ่งวันในวันที่ 10 มีนาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป โดยมีการเพิ่มช่องให้ออกเสียงเป็น 4 ช่อง คิดเป็นอัตรา 180 คนต่อชั่วโมง โดยคูหาที่เพิ่มทำขึ้นจากลังกระดาษ ก่อนจะกลายเป็นภาพที่ได้รับการวิจารณ์อย่างมากถึงความพร้อมของการจัดการเลือกตั้ง

ประชาชนที่มารอออกเสียงกล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะมาได้หรือไม่ เพราะลางานมาและมาไกลจากอีกรัฐ พร้อมตั้งคำถามกระบวนการของรัฐไม่โปร่งใส นอกจากนี้ผู้ใช้โซเชียลจำนวนยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพในการจัดเลือกตั้ง เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Areefah —- โพสต์ทำนองว่า สถานทูตไม่มีการเตรียมตัว ทั้งที่มีประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้าไปแล้ว และมีคูหาให้ออกเสียงเพียงสามคูหา มีจุดลงทะเบียนเดียว เอกสารรายชื่อของผู้สมัครไม่เป็นระเบียบ มีการปรินท์ข้อมูลผู้สมัครเกินมาอีกหน้าหนึ่ง ทำให้มีความไม่ชัดเจนในรายละเอียด

จีน : ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง อ้างไม่ระบุเบอร์โทรศัพท์

วันที่ 9 มีนาคม 2562 เวลา 11.41 น. ทวิตเตอร์แอคเคาท์ @thekop— ทวีตทำนองว่า บัตรเลือกตั้งยังไม่ถึงประชาชนหลายร้อยคน โดยปัญหาเกิดจากการประสานงานจัดส่งระหว่างสถานกงสุลเซี่ยงไฮ้และบริษัทผู้จัดส่ง ดังนี้

“เลือกตั้งรอบนี้โปร่งใสที่สุดแล้ว 55555555พูดในฐานะเลือกตั้งในจีน เขตดูแลกงสุลเซี่ยงไฮ้ แต่อยู่เมืองหนานจิง 1.บัตรเลือกตั้งของคนในนี้หายไป 500 กว่าใบ มันหมายถึงคนที่ไม่ได้รับบัตรมีมากถึง 500 กว่าคน 2.กงสุลเอาเบอร์ใครไม่รู้มาใส่แทนเบอร์เรา…จากข้อ 2. กงสุลเซี่ยงไฮ้โยนความผิดมาให้เราว่าเราไม่ใส่เบอร์ ทีแรกเกือบเชื่อละว่าไม่ใส่เบอร์ แต่เอะใจเรื่องสำคัญขนาดนี้ไม่ใส่เบอร์ได้ไงวะ เลยไปเปิดหลักฐานดู เอ้าใส่วะ แล้วทำไมบอกไม่ใส่ แล้วมายัดเยียดให้เราอีก”

โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวได้นำบันทึกการสนทนากับบุคคลที่อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลเซี่ยงไฮ้  บุคคลดังกล่าวชี้แจงในทำนองว่า ผู้ลงทะเบียนออกเสียงนอกราชอาณาจักรอาจจะไม่ได้กรอกเบอร์โทรศัพท์ไว้อย่างครบถ้วน ดังนี้

“เมื่อติดต่อกับกงสุลเซี่ยงไฮ้ตอบว่า เบอร์ที่กรอกไว้ตอนลงทะเบียนมีเบอร์ของตัวเองหรือเปล่า ถ้าดูลิสต์แล้วมีเบอร์ของเขา ก็แสดงว่า ตีเบอร์เขาไป…ถ้าเราอยากรู้ชัวร์ เราก็ต้องเอาลิสต์ของเราและที่อยู่ที่ผู้จัดส่งตีไปให้เขาว่า ตกลงผู้จัดส่งตีตามลิสต์หรือเปล่า เพราะเราส่งไฟล์ลิสต์ให้ผู้จัดส่ง ให้พิมพ์ทุกอย่างตามลิสต์นี้เลย แต่ตอนลงสมัคร บางครั้งคนที่ลงสมัครเขาค่อนข้างจะเข้าใจผิดว่า ที่อยู่ปัจจุบันและที่อยู่ไปรษณีย์ บางคนเขียนที่อยู่ปัจจุบันในต่างประเทศ เขียนชัดมาก แต่พอที่อยู่ทางไปรษณีย์ ไม่ได้เขียนเบอร์โทรศัพท์ให้ชัดเจน ฉะนั้นลิสต์ที่เขาไม่เขียนที่อยู่ เราก็ไม่สามารถรู้เหมือนกัน เพราะลิงค์ที่เขียนที่อยู่เป็นของมหาดไทยลิงค์มาให้เรา แต่ให้เราส่งที่อยู่ไปตามลิงค์ที่เห็น ซึ่งพวกพี่ไม่ได้เป็นคนพิมพ์เอง เอามาจากมหาดไทย ระบบจริงที่เขากรอกจริงค่ะ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กงสุลหรอก อย่างที่เห็นว่า เราส่งไฟล์ให้ผู้จัดส่งแล้วและย้ำว่าต้องพิมพ์ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น ถ้าเป็นปัญหาก็คือ น่าจะเป็นผู้จัดส่ง ถ้าไม่ตรง ก็แสดงว่า ผู้จัดส่งเป็นคนทำแล้วมีปัญหา แต่ถ้าเกิดเขาพูดจาในลักษณะแบบนี้ เราจก็สุดวิสัย เพราะว่า เราก็ตามให้เขาเหมือนกัน”

ต่อมาผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวโพสต์บันทึกเสียงอีกครั้ง เป็นเนื้อหาเป็นการพูดคุยในวันที่ 11 มีนาคม 2562 ระหว่างประชาชนและบุคคลที่คาดว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฯ  โดยสรุปคือ สถานกงสุลฯ นำเบอร์โทรศัพท์ของประชาชนที่ลงทะเบียนออกเสียงนอกราชอาณาจักรจากระบบที่ลงทะเบียนไว้และโทรมาตรวจสอบความคืบหน้าเรื่องการรับเอกสารบัตรเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีที่ระบุว่า ประชาชนกรอกเบอร์โทรศัพท์ไม่ครบถ้วนอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด โดยพูดคุยกันดังนี้

เจ้าหน้าที่: เป็นเบอร์ที่อยู่ในรายชื่อและเราก็ค้นเบอร์จากที่ลงทะเบียน
ผู้ออกเสียง:วันนี้คือคุยกับเขากว่าจะได้[เอกสาร]
เจ้าหน้าที่: ตอนนี้เราต้องการเชคว่า การจัดส่งไปถึงไหน
ผู้ออกเสียง : ตอนแรกเขาบอกว่า ไม่มีเบอร์ ก็เลยนึกว่า ไม่มีเบอร์
เจ้าหน้าที่ : ไม่เกี่ยวกับเบอร์ คนละส่วนอันนี้พวกพี่ติดตามว่า เราได้รับเอกสาร ก็เอาเบอร์จากที่ลงทะเบียนไว้
ผู้ออกเสียง : เบอร์นี้เป็นเบอร์ที่ลงทะเบียนใช่ไหมครับ
เจ้าหน้าที่:ถูกต้องค่ะ เป็นเบอร์ที่อยู่ในข้อมูล

ญี่ปุ่น : บัตรเลือกตั้งถูกตีกลับหาผู้ส่ง

วันที่ 6-7 และ 11 มีนาคม  2562 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวได้โพสต์แจ้งกรณีเอกสารการออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของบุคคลรวม 113 คนถูกตีกลับมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้ตรวจสอบรายชื่อซองตีกลับตามรายชื่อด้านล่างและติดต่อกลับด่วน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วย จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2562 เวลา 14.30 น.

นอกจากนี้มีรายงานว่า ผู้ที่ได้รับเอกสารการออกเสียงและลงคะแนน พร้อมส่งกลับคืนตามที่อยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตพิมพ์ไว้ ถูกไปรษณีย์ญี่ปุ่นตีกลับมาที่ผู้ออกเสียงอีกครั้ง เมื่อผู้ออกเสียงติดต่อไปยังเฟซบุ๊กของสถานกงสุลไทย โอซากา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า จะตรวจสอบกับทางไปรษณีย์ให้และรายงานทางการไทย

แคนาดา : ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง

คนไทยแคนาดาร้องเรียนยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนออกเสียงนอกราชอาณาจักร ตนเริ่มลงตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียน แต่เว็บไซต์ล่ม พยายามจนกระทั่งสามารถลงทะเบียนได้สำเร็จในวันที่ 29 มกราคม 2562  ปัญหาต่อมาคือ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2562 เวลา 06.30 น. ตนยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งเลย เมื่อสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออตตาวา ได้รับคำตอบว่า ได้ทำการจัดส่งตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ให้ตรวจสอบไปรษณีย์ แต่ทราบว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งไปรษณีย์แบบธรรมดาที่ใช้เวลาในการจัดส่งประมาณหนึ่งสัปดาห์

บุคคลรายดังกล่าวมองว่า สถานเอกอัครราชทูตฯไม่ได้คำนึงถึงระบบการขนส่ง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า หากวันที่ 16 มีนาคม 2562 ยังไม่ได้บัตรเลือกตั้งจะขอไปเลือกที่สถานเอกอัครราชทูตฯได้ไหม เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่ได้เพราะไม่มีบัตรสำรอง จึงเกรงว่า สุดท้ายแล้วจะต้องเสียสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ไป หากได้รับในช่วงหนึ่งถึงสองวันก่อนวันสิ้นสุดรับเอกสารบัตรเลือกตั้งคืน อาจตัดสินใจที่ขับรถไปส่งคืนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยที่อยู่ตั้งอยู่ห่างจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ประมาณ 5 ชั่วโมงด้วยการเดินทางโดยรถยนต์

อย่างไรก็ดีตนยังเห็นว่ามีคนไทยโพสต์ในเว็บบอร์ดว่า มีบางคนได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วเช่นกัน ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2557 ตนก็เคยประสบกับเหตุการณ์บัตรเลือกตั้งมาถึงช้าจนต้องไปทวงกับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งหรือไม่ จนกระทั่งได้บัตรเลือกตั้งมาอย่างฉิวเฉียด ตนรู้สึกว่า ทัศนคติเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นทัศนคติของคนที่จัดการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่า ต่อมาการเลือกตั้งครั้งนั้นจะเป็นโมฆะไป

สหรัฐอเมริกา : บัตรเลือกตั้งในนิวยอร์กถูกตีกลับหาผู้ส่ง

11 มีนาคม 2562 ในเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ชมรมคนไทยในนิวยอร์ก” มีบุคคลโพสต์ทำนองว่า ส่งเอกสารการออกเสียงกลับไปที่สถานกงสุลแต่ปรากฏว่า ไปรษณีย์ตีกลับมาที่ผู้ส่ง โดยปรากฏว่า มีบุคคลอื่นๆประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ต่อมาสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ออกประกาศที่ 6/2562 เรื่อง การส่งบัตรเลือกตั้งให้สถานกงสุลใหญ่ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนว่า ซองเอกสารเลือกตั้งที่ส่งให้แก่สถานกงสุลใหญ่ฯถูกส่งกลับคืนมายังผู้ส่ง ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯกำลังติดต่อกับ USPS ในการแก้ไขปัญหา และขอให้ผู้ที่ได้รับซองตีกลับนำมาส่งที่สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยตรงหรือนำบัตรเลือกตั้งบรรจุในซองและปิดแสตมป์ใหม่

12 มีนาคม 2562 พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง โดยสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี ส่งอีเมล์มาบอกว่า เอกสารบัตรเลือกตั้งส่งออกตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ให้แทรคกิ้ง นัมเบอร์มาด้วย แต่เอกสารไปค้างอยู่ที่ Boston distribution center ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2562 เมื่อพยายามสอบถามไปยังไปรษณีย์ก็ยังไม่ได้คำตอบ  พร้อมกับวิพากษ์การจัดการเลือกตั้งของกกต.ว่า ทำไมไม่รู้จักเรียนรู้จากประเทศอื่นบ้าง มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ที่อเมริกา คนที่อยู่ต่างประเทศ จะได้รับอีเมล์ให้ดาวน์โหลดใบลงคะแนนเสียงจากอินเตอร์เน็ตได้เอง ลงคะแนนแล้วก็ส่งไป ถ้ารับเอกสารทางไปรษณีย์เขาก็จะส่งให้ก่อนอย่างน้อย 30 วัน ของไทยเวลาน้อยเกินไป ไม่เผื่อความผิดพลาดในการส่งเลย

13 มีนาคม 2562 นัชชชา คนไทยในนิวยอร์กเล่าว่า ปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีตั้งแต่ช่วงการลงทะเบียนเลือกตั้งทางออนไลน์ คือเว็บไซต์ล่ม ไม่สามารถลงทะเบียนได้ บางครั้งลงทะเบียนแล้วแต่เว็บไซต์ระบุว่า กรอกข้อมูลผิด เช่น เลขพาสปอร์ต แต่เมื่อตรวจสอบดูก็พบว่า ถูกต้องแล้ว การประชาสัมพันธ์ในการลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตไม่มีมากพอให้คนทั่วไปได้รับทราบ เท่าที่ทราบมีกลุ่มชุมชนคนไทยในนิวยอร์กนำข้อมูลการลงทะเบียนออกเสียงนอกราชอาณาจักรมาแจ้งบนเฟซบุ๊ก

ปัญหาต่อมาคือ การส่งเอกสารเลือกตั้งมีความล่าช้า ในส่วนของเธอได้เมื่อประมาณวันที่ 8 มีนาคม 2562 และซองเอกสารเปิดออก แต่เอกสารภายในอยู่ครบถ้วน ขณะที่ญาติที่อาศัยอยู่เมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา เพิ่งจะได้รับจดหมายเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 12 มีนาคม 2562 ขณะที่ ณ เวลาที่ให้สัมภาษณ์นี้ ยังมีเพื่อนบางคนที่ยังไม่ได้รับเอกสาร โดยเอกสารของเธอส่งกลับไปเรียบร้อยแล้วยังไม่ทราบว่า จะมีการตีเอกสารกลับหรือไม่ ส่วนญาติที่ออร์แลนโด เมื่อได้รับเอกสารแล้วต้องรีบส่งกลับทันที โดยยอมเสียเงินส่งเอกสารด่วนเพิ่มจำนวน 25-30 ยูเอสดอลลาร์ หรือประมาณ 800 บาท เพราะกลัวว่า จะไปถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ไม่ทันวันที่ 16 มีนาคม 2562

จากการติดตามข่าวเห็นว่า มีการตั้งกระทู้คำถามชมรมคนไทยในนิวยอร์ก ที่พบปัญหาว่า ส่งเอกสารการเลือกตั้งกลับไปที่สถานกงสุลนิวยอร์ก แต่เอกสารได้รับการตีกลับประมาณ 50 คน ต่อมาสถานกงสุลฯได้ออกแถลงการณ์ว่า ให้ไปส่งที่สถานกงสุลฯได้ แต่ก็สร้างความลำบากให้แก่พี่น้องคนไทยที่จะต้องลางานหรือลาเรียนไป การเลือกตั้งควรจะมีการอำนวยความสะดวกอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องดิ้นรนด้วยตนเองเช่นนี้  

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ เอกสารแนะนำผู้สมัครมีการจัดหน้ากระดาษให้รูปผู้สมัครและชื่อพรรคอยู่คนละหน้ากัน แต่ไม่ปรากฏเนื้อหาที่ผิด หากผู้ออกเสียงมีอายุมากอ่านไม่ได้ละเอียดใส่ใจอาจจะดูผิดได้

ถึงแม้ว่า เอกสารการเลือกตั้งของเธอจะส่งไปรษณีย์ไปยังสถานกงสุลฯแล้ว แต่หากมีการตีกลับมาก็คงต้องเรียกร้องให้สถานกงสุลฯมีความรับผิดชอบ เพราะงบประมาณในการเลือกตั้งเยอะพอสมควร มันเป็นสิ่งทีประชาชนตั้งใจและรอคอยให้เกิดการเลือกตั้งด้วยความยุติธรรม สถานกงสุลฯและ กกต.ควรต้องรับผิดชอบ หนึ่งเสียงของประชาชน และจากปัญหาที่เกิดขึ้นก็อยากให้กกต. และผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นัชชชาได้แจ้งว่า เอกสารการเลือกตั้งถูกตีกลับมาที่เธออีกครั้ง ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจไปส่งที่สถานกงสุลฯด้วยตัวเอง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยูทูปแอคเคาท์ 9arm ได้โพสต์คลิปวิดีโอเล่าถึงกรณีการตีกลับเอกสารบัตรเลือกตั้ง ระบุว่า วันที่ 11 มีนาคม 2562 เขาได้ส่งเอกสารบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานกงสุลนิวยอร์กแล้ว แต่วันนี้เอกสารถูก USPS ไปรษณีย์ของอเมริกาตีกลับมาที่เขาอีกครั้ง โดยให้น้ำหนักข้อสงสัยว่า USPS ไม่ให้เอกสารเป็นซองแนวตั้ง ให้ส่งแนวนอนเท่านั้น ซึ่งทำให้เขาต้องจัดส่งใหม่อีกครั้ง โดยใช้บริการด่วนที่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600-700 บาท เพื่อให้ทันกำหนดปิดรับ โดยรายละเอียดในคลิปมีดังนี้

“หลังจากที่โพสต์คลิปวิดีโอเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไป มีน้องคนนึงบอกในทวิตเตอร์ว่า สำหรับใครที่ส่งไปรษณีย์ไปที่สถานกงสุลมีข่าวว่าหลายคนโดนตีกลับ อาจจะเป็นเพราะว่า จ่าหน้าซองไม่ชัดเจนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พี่อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น และคิดว่า เราจะโดนหรือเปล่า แต่ว่าถ้าเกิดโดนตีกลับเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่า ผมไม่ได้อยู่ใกล้นิวยอร์ก การที่เขาตีกลับมาจะใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองวัน ผมส่งไปเมื่อวันจันทร์ ได้รับเอกสารตีกลับในวันพุธ ถ้าจะว่า เป็นเรื่องที่อยู่ของสถานกงสุลไม่ชัดเจน ผมว่าไม่ใช่นะครับ มีอีกประเด็นนึงที่ตั้งข้อสงสัยว่า จริงๆแล้ว USPS ไม่ให้ส่งที่อยู่แนวตั้ง ให้ส่งแนวนอนเท่านั้น จึงอาจจะเป็นปัญหาว่า ทำไมทุกคนถึงได้รับการตีกลับแบบนี้ มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า สแตมป์มูลค่าไม่พอหรือไม่ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะเอกสารของสถานกงสุลที่ส่งมาก็ติดสแตมป์สี่ดวงเท่ากัน…ประเด็นน่าจะเป็นแนวตั้งและแนวนอนมากกว่า เพราะเอกสารที่สถานกงสุลฯส่งมาเป็นแนวนอน…

…แต่ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร การที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นถือว่า ชุ่ยมากๆ คุณเป็นสถานกงสุลไทยในอเมริกา คุณจะไม่รู้เรื่องวิธีการส่งเอกสารให้คนไทยแบบนี้ได้อย่างไร การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มันมีผ่านมาแล้วกี่ครั้ง ทำไมแต่ละครั้งไม่เป็นปัญหาแบบครั้งนี้ คือผมไม่เข้าใจ เลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ผ่านมาแล้ว หรืออาจจะเป็นกกต.ชุดใหม่ แล้วไม่ถามงานชุดเก่ามาหรอ คือผมงงมากๆ ที่สำคัญคืองบประมาณที่เบิกมาทำเรื่องของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มันก็สูญเปล่าเพราะต้องซื้อแสตมป์รวมแปดดวง ดวงละหนึ่งดอลลาร์ 300 ต่อคน ฉะนั้นเสียเงินฟรีๆไปเลย และถ้าผมจะต้องส่งกลับไปอีกรอบและส่งให้ทันเดดไลน์วันที่ 15 จะต้องส่งด่วนพิเศษ ซึ่งจะเพิ่มอีก 600-700 บาท แต่ผมก็จะจ่าย…

…ไม่รู้ว่าเป็นความผิดใคร หรือสถานกงสุลที่ไม่ได้ดูให้ระเบียบรอบคอบ เรื่องเอกสาร USPS ต้องรู้อยู่แล้วป่าว…แต่บางคนที่เขาโดนตีกลับช้ากว่านี้ทำยังไง ความผิดพลาดนี้คือปล้นเสียงประชาชนไปเลย คนที่โหวตแต่เสียงโหวตของเขาไปไม่ถึง การเลือกตั้งครั้งหน้ามันเสียสิทธิ์ ถ้าเกิดเขาจะสมัครส.ส. หรือส.ว. ไปเลย [ที่อเมริกามีการจัดส่ง]จากดีซี แอลเอ และนิวยอร์ก มีปัญหาที่นิวยอร์กสาขาเดียว ถ้าใช้สิทธิ์เรียบร้อยแล้ว เป็นความผิดพลาดของตัวระบบ กกต.ต้องยืดเดดไลน์เฉพาะเคสนิวยอร์กหรือป่าว…”

นอกจากนี้ยังปรากฏผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่น้อยกว่า 8 คน ที่รายงานปัญหาการตีกลับของเอกสารเช่นกัน

เยอรมนี : บัตรเลือกตั้งล่าช้า

มีรายงานการจัดส่งเอกสารการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นไปล่าช้าเนื่องจากการทำงานที่ล่าช้าของไปรษณีย์เยอรมนี ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการส่งเอกสารจำนวนมากในคราวเดียว และบางครั้งเอกสารไปไม่ถึงมือผู้รับเนื่องจากที่อยู่ในเยอรมนีไม่เฉพาะเจาะจงมากพอ 

วันที่ 14 มีนาคม 2562 ทราบว่า มีคนไทยในเมืองมิวนิคคนหนึ่งเพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ส่งโดยไปรษณีย์เยอรมัน ซึ่งเหลือเวลา 3 วันจะหมดเขตที่กงสุลไทยจะรับเอกสาร ในวันที่ 16 มีนาคม กรณีนี้ เป็นไปได้สูงมากว่า สถานกงสุลไทยจะส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยไม่ทันวันที่ 23 มีนาคม จึงอาจทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งของคนไทยคนนี้ไม่ถูกนับไป

อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่อยู่จัดส่งไม่เฉพาะเจาะจงมากพอ ทำให้เอกสารถูกตีกลับมาที่สถานกงสุลฯอีกครั้ง การแก้ปัญหาของสถานกงสุลฯ คือ ส่งอีเมล์แจ้งให้ผู้ลงทะเบียนออกเสียงนอกราชอาณาจักรรับทราบโดยตรง โดยให้รายละเอียดข้อมูลที่ต้องการอย่างชัดเจน

กกต. ยืนยัน ถึงผิดพลาด แต่เลือกตั้งไม่โมฆะ

จากปัญหาในการเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศที่เกิดขึ้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า สามารถทำได้ไม่มีปัญหาเพราะการลงคะแนนยังเป็นไปในทางลับตามที่กฎหมายกำหนด เพียงแต่อาจดูไม่สวยงามเท่านั้น ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นสถานเอกอัครราชทูตอาจมีคูหาไม่เพียงพอจึงต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ส่วนกรณีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สหรัฐอเมริกา ที่มีการแชร์ภาพเอกสารให้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.เขต 13 ซึ่งมีความคลุมเครือเรื่องชื่อพรรคนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครจากช่องทางอื่นได้ 
 
ส่วนเรื่องปัญหาเรื่องความผิดพลาด เกี่ยวกับเอกสารแจ้งเจ้าบ้าน  พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า คงเป็นสิทธิที่สามารถฟ้องได้ แต่กกต.ก็ได้ออกเอกสารใบแก้ไปแล้ว คงไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่ผ่านมาการที่ศาลจะสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มีเพียงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยตรงและลับ และการไม่จัดเลือกตั้งในวันเดียวกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 140 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อ กกต. ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่ตนรับสมัครรับเลือกตั้งได้ หากเห็นว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องยื่นคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง

หากไม่พอใจ กกต. ชุดนี้ ประชาชนสามารถถอดถอนได้
 
อย่างไรก็ดี หากการยื่นคัดค้านการเลือกตั้งไม่ประสบผลสำเร็จ หรือ เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ผิดพลาด อย่างไม่น่าให้อภัย ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 236 ที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนข้อเท็จจริง และหากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง