เลือกตั้ง 62 : 4 เหตุการณ์ที่เป็นไปได้หลังเลือกตั้ง ไม่มีฉากไหนไม่วุ่นวาย

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่ออกตามมา ซึ่งถูกร่างขึ้นภายใต้กำกับของคสช. และองค์กรต่างๆ ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นหนทางหนึ่งที่คสช. อาจจะใช้เพื่อปูทางกลับเข้าสู่อำนาจ หรือใช้สืบทอดอำนาจที่ตัวเองวางไว้ โดยให้กลุ่มทหาร ข้าราชการ และคณะกรรมการต่างๆ ที่ตัวเองตั้งขึ้นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศแทนที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองที่มีแนวทางตรงข้ามกับ คสช. ที่ประกาศต่อต้านระบอบเผด็จการและการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต่างก็รอคอยการเลือกตั้งเพื่อหวังได้มาบริหารประเทศ หรืออย่างน้อยก็ได้มีโอกาสใช้กลไกรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยทำงานเพื่อตรวจสอบ คสช. บ้าง หลังจาก คสช. ครองอำนาจอยู่ฝ่ายเดียวอย่างยาวนาน
การเลือกตั้งครั้งนี้ ในแง่หนึ่ง จึงมีความหมายเป็นการช่วงชิงกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุน คสช. และฝ่ายที่ต่อต้าน คสช. เพื่อพิสูจน์ว่า ฝ่ายใดจะได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากกว่ากัน 
อย่างไรก็ดี หนทางบนการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะบทบาทของพรรคการเมืองที่ไม่ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า มีแนวทางสนับสนุนหรือต่อต้าน คสช. แต่อาจจะเป็นตัวแปรในสมการการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคการเมืองเหล่านี้ก็มีอยู่จำนวนมาก และมีฐานเสียงเข้มแข็ง มีประชาชนจำนวนมากพร้อมสนับสนุน 
ทั้งนี้ กติกาในการตัดสินว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้นไม่ได้ง่ายนัก และไม่ได้เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย เนื่องจากในรัฐสภาจะมี ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกเองของ คสช. อีก 250 คน รวมแล้ว 750 คน จะเป็นผู้ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียงขึ้นไป 
สำหรับพรรคการเมืองฝ่ายที่ต่อต้าน คสช. ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมที่แตกตัวออกไปจากพรรคเพื่อไทยเดิม ถ้าสามารถรวบรวม ส.ส. ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด คือ 251 คน อาจมีความชอบธรรมมากพอที่จะเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการจะจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้ 376 เสียง ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องต่อรองกับพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้ประกาศจุดยืนให้เข้ามาร่วมด้วยให้ครบเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุน คสช. ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ถ้าภายหลังการเลือกตั้งสามารถหาที่นั่ง ส.ส. ได้เพียง 126 คน เมื่อรวมเสียงกับ ส.ว. อีก 250 คน ก็จะได้ครบ 376 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เอง เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เพียงแต่จะเป็น ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร์’ ซึ่งขาดความชอบธรรมในทางการเมือง จึงยังคงต้องมีภารกิจต้องชักชวนพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนทั้งหลายมาเข้าร่วมด้วยให้ได้ เพื่อให้มี ส.ส. ในฝ่ายรัฐบาลไม่น้อยกว่า 251 และสามารถบริหารประเทศต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนช่วงชิงกัน ระหว่างพรรคที่สนับสนุน คสช. และพรรคที่ต้าน คสช. หลังการเลือกตั้ง พอจะประเมินภาพเป็นฉากทางการเมืองได้อย่างน้อย 4 กรณี ดังนี้

1. พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 126 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยและเพื่อน ได้ ส.ส. น้อยกว่า 251 ที่นั่ง

หากพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 126 ที่นั่ง และ ส.ว. ทั้ง 250 คนพร้อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นผู้นำรัฐบาลและเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย และหากต้องการจะเป็นพรรครัฐบาลพรรคเดียวก็สามารถทำได้ รวมถึงหากพรรคพลังประชารัฐสามารถชักชวนพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนเข้ามาร่วมด้วยได้จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เสียง ส.ส. สนับสนุนมากขึ้นอีก และผนึกกันเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถเดินหน้าตามนโยบายและแนวทางที่ คสช. วางเอาไว้ได้ เรียกได้ว่า แผนการสืบทอดอำนาจของ คสช. สำเร็จ

ในขณะเดียวกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่มีจุดยืนต่อต้าน คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึง 251 หรือไม่มากกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด ก็จะไม่ได้ถือความชอบธรรมทางการเมืองมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เอง และเป็นไปได้ว่า จะต้องกลายเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อย ถ้าต้องมีการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร เช่น การพิจารณาออกกฎหมาย การอนุมัติงบประมาณ หรือการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็จะแพ้ให้กับฝ่ายรัฐบาล การหวังใช้ระบบกลไกรัฐสภาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกับรัฐบาลจะเป็นไปได้ยาก
ฉากทางการเมืองเช่นนี้ จะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และอนาคตทางการเมืองก็ชัดเจนที่สุด ตามแนวทางที่ คสช. วางแผนเอาไว้แล้ว แต่ประเทศไทยก็จะได้ระบบการเมืองที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย เช่น สื่อมวลชนยังถูกควบคุม ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ องค์กรอิสระที่ คสช. เลือกคนเข้ามาทำหน้าที่ไว้แล้วก็จะไม่สามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลได้ สถานการณ์เช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า ประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตย

เป็นไปได้ด้วยว่า ผู้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ โกรธแค้น และนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านนอกรัฐสภาเพื่อโค่นล้มระบอบของ คสช. ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีกำลังอำนาจในมือที่จะเข้าปราบปราม

2. พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 126 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยและเพื่อน ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 251 ที่นั่ง

หากพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 126 ที่นั่ง และ ส.ว. ทั้ง 250 คนพร้อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นผู้นำรัฐบาลและเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ โดยหากต้องการจะเป็นพรรครัฐบาลพรรคเดียวก็สามารถทำได้ เพียงแต่ความชอบธรรมทางการเมืองยังมีไม่มากจึงอาจต้องชักชวนพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนเข้ามาร่วมด้วย 
ในขณะเดียวกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่มีจุดยืนต่อต้าน คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 251 คนหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด ก็มีความชอบธรรมทางการเมืองอย่างสูงที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน ในฉากการเมืองเช่นนี้จะทำให้ในรัฐสภามีกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่สองกลุ่มที่ชัดเจน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะถูกตรวจอย่างหนักจากสภา และการลงมติต่างๆ ก็จะแพ้ฝ่ายค้าน เช่น การพิจารณาออกกฎหมายจะทำไม่ได้ การอนุมัติงบประมาณจะทำไม่ได้ หรือหากฝ่ายค้านต้องการเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็จะทำได้โดยง่าย 
ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐดึงดันที่จะจับมือกับ ส.ว. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้าประเทศไปตามแนวทางของ คสช. ก็เป็นไปได้ว่า ประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตย หรือผู้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล จะรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากและนำไปสู่ความโกรธแค้นของประชาชนจำนวนมาก อาจมีการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เพื่อต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของพรรคพลังประชารัฐและการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ข้อเรียกร้องมีความชอบธรรมสูง 

3. พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. น้อยกว่า 126 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยและเพื่อน ได้ ส.ส. น้อยกว่า 251 ที่นั่ง

หากพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. น้อยกว่า 126 ที่นั่ง แม้จะรวมกับ ส.ว. 250 คน แล้วก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เอง และเมื่อพรรคเพื่อไทยก็ได้ ส.ส. น้อยกว่า 251 ที่นั่ง ความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพราะรวม ส.ส. ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งก็ยังมีไม่มากนัก ดังนั้น ฉากการเมืองเช่นนี้พรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนทั้งหลายจะกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงมาก เพราะหากเลือกไปเข้าร่วมกับฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ หรือฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นตัวแปรสำคัญให้ฝ่ายนั้นสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ในฉากการเมืองเช่นนี้ เราอาจจะเห็นภาพที่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. ซึ่งก็มีจำนวนมากที่สุดในสภา ใช้ “พลังดูด” ดึงเอาพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้ ส.ส. ระดับ 20-30 ที่นั่งหลายพรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็น ‘รัฐบาลผสมหลายพรรค’ แม้จะจัดรัฐบาลสำเร็จก็ไม่การันตีตัวนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ รวมถึงการบริหารประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่คสช. กำหนดหรือไม่ ยิ่งพรรคพลังประชารัฐได้จำนวน ส.ส. น้อยเท่าไรก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองในสภาน้อยลงเท่านั้น และหากจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจถอนตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อีก 
ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่มีจุดยืนต่อต้าน คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งน้อยกว่า 251 คน หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด ก็จะเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อยและอ่อนแอ การจะคัดค้านกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลเป็นไปได้ยาก การเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนชัดเจนทั้งหลายเป็นตัวแปรว่า หากถึงวันนั้นแล้วจะเลือกข้างฝ่าย คสช. หรือฝ่ายประชาธิปไตย 
ยังมีเงื่อนไขว่า หากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีจุดยืนต่อต้าน คสช. เป็นพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดจากการเลือกตั้ง และได้มากกว่าพรรคการเมืองที่ได้อันดับรองลงมาอย่างเห็นได้ชัด พรรคการเมืองนั้นก็มีความชอบธรรมทางการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อรวมเสียง ส.ส. ทั้งหมดแล้วยังไม่พอจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็มีโอกาสมากที่จะนำไปสู่ความไม่พอใจ หรือความโกรธแค้นของประชาชนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น  

4. พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. น้อยกว่า 126 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยและเพื่อน ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 251 ที่นั่ง

หากพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. น้อยกว่า 126 ที่นั่ง แม้จะรวมกับ ส.ว. 250 คน แล้วก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เอง ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่มีจุดยืนต่อต้าน คสช. ได้ที่นั่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 251 คนหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด ก็มีความชอบธรรมทางการเมืองอย่างสูงที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ มีความชอบธรรมสูงกว่าฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่มีฝ่ายใดที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ฉากการเมืองเช่นนี้พรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนทั้งหลายก็จะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
หากพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนหลายพรรคตัดสินใจเลือกเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจนสามารถรวม ส.ส. ได้ไม่น้อยกว่า 126 เสียง และร่วมกับ ส.ว. จัดตั้งรัฐบาล ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็จะเป็น ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ ก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ การลงมติต่างๆ ก็จะแพ้ เช่น การพิจารณาออกกฎหมายจะทำไม่ได้ การอนุมัติงบประมาณจะทำไม่ได้ ประเทศจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ หรือหากฝ่ายค้านต้องการเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็จะทำได้โดยง่าย  
หรือถ้าพรรคพลังประชารัฐ ใช้ “พลังดูด” ดึงเอาพรรคการเมืองอื่นๆมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ก็กลายเป็น ‘รัฐบาลผสมหลายพรรค’ แม้จะจัดรัฐบาลสำเร็จก็ไม่การันตีตัวนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ รวมถึงการบริหารประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่คสช. กำหนดหรือไม่ ยิ่งพรรคพลังประชารัฐได้จำนวน ส.ส. น้อยเท่าไรก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองในสภาน้อยลงเท่านั้น และหากจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจถอนตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อีก   
ในขณะเดียวกันประชาชนที่ต่อต้าน คสช. จะรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากและนำไปสู่ความโกรธแค้นของประชาชนจำนวนมาก อาจมีการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เพื่อต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของพรรคพลังประชารัฐและการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ข้อเรียกร้องมีความชอบธรรมสูง