สนช. แก้ พ.ร.บ.กสทช. อีกครั้ง เปิดทางเอาคลื่นความถี่ขายต่อได้

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีนัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ในวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการเตรียมแก้กฎหมายของ กสทช. เป็นครั้งที่สองของสภานี้

ร่างกฎหมายกสทช. ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญ คือ เพิ่มบทบัญญัติเพื่อการใช้วงโคจรดาวเทียมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกสทช. ในเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่

เพิ่มบทนิยามและภารกิจเกี่ยวกับสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 3 ได้เพิ่มบทนิยามของคำว่า ‘สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม’ เข้ามา ซึ่งหมายถึง สิทธิที่ประเทศไทยหรือหน่วยงานของรัฐได้รับหรือมีอยู่ในการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

คำว่า สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ยังถูกสอดแทรกอยู่ในมาตรา มาตรา 11/1 ของร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยให้ กสทช. ทำแผนการบริหารสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่ แนวทางการได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิ แนวทางในการสละสิทธิ และแนวทางในการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว

เตรียมเปิดทางให้คลื่นความถี่บางประเภทไม่ต้องประมูล

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/2 (แก้ไขมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553) กำหนดให้บางคลื่นความถี่ กสทช. ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการ ‘ประมูล’ เพื่อขออนุญาตใช้งาน ได้แก่ คลื่นความถี่ที่มีเพียงพอต่อการใช้งาน คลื่นความถี่ที่ กสทช. ประกาศกำหนดให้นำไปใช้ในกิจการเพื่อบริการสาธารณะ ความมั่นคงของรัฐ หรือกิจการอื่นที่ไม่แสวงหากำไร  

เปิดทางให้ ‘โอน’ ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการอื่นได้

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/2 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44/3 ของ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553) ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันไม่ได้ ‘เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน’ ซึ่งรายละเอียดการโอนใบอนุญาตจะเป็นอำนาจของกสทช. ในการออกประกาศในภายหลัง

ทั้งนี้ เมื่อ กสทช. อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาต ให้ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ให้กับผู้รับโอน ซึ่งต้องเป็นไปตามลักษณะ ประเภท และขอบเขตของใบอนุญาตที่รับโอนมา

เท่ากับเปิดช่องให้เอกชนที่ได้สิทธิใช้งานคลื่นความถี่ตามการจัดสรรของ กสทช. หากไม่ต้องการใช้งานคลื่นดังกล่าวแล้วก็สามารถให้สิทธิกับเอกชนรายอื่นได้ หรือการเอาคลื่นความถี่ไปขายนั่นเอง แต่รายละเอียดวิธีการโอน กสทช. จะยังมีอำนาจกำกับดูแลอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่ยังไม่เห็นชัดเจนในวันนี้

ผู้ที่มีใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สามารถขอประกอบกิจการได้หลายอย่าง 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 14/4 และมาตรา 14/5 กำหนดให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถนำคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมาประกอบกิจการเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมมาก่อนก็ตาม

ทั้งนี้ กสทช. มีอำนาจ ในการออกประกาศเพื่อกำหนดว่ากิจการประเภทใดหรือลักษณะใดสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการเพิ่มเติมได้

เพิ่มสัดส่วนความถี่ให้ภาคประชาชน ให้ กสทช. เอาคลื่นที่ไม่ได้ใช้คืนได้

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/4 ระบุว่า ต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสำหรับภาคประชาชนรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ในกรณีที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่จัดให้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสำหรับภาคประชาชน หรือ คลื่นความถี่เพื่อกิจการประเภทอื่นจนพ้นกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศให้ขออนุญาต ให้ กสทช. มีอำนาจนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในกิจการประเภทอื่นได้

โทรฟรี เบอร์ฉุกเฉิน พร้อมรู้ตำแหน่งผู้แจ้งทันที

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา  10/1 กำหนดให้เพื่อหมวดหนึ่งเข้าไปใน พ.ร.บ.กสทช. คือ ให้มีเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นเลขหมายสำหรับรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และให้หมายเลขดังกล่าวเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ทั้งนี้ หมายเลขดังกล่าว ประชาชนสามารถโทรหาได้โดยผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรือระงับเหตุฉุกเฉินสามารถเข้าถึงหรือเปิดเผยพิกัดตำแหน่ง หรือข้อมูลบุคคลของผู้แจ้งหรือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินได้

การขอใบอนุญาตและการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ให้เริ่มใช้หลังมี พ.ร.ฎ. 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 14/7 กำหนดว่า ในระยะเริ่มแรกยังไม่ให้มีการใช้บังคับเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กับการกำกับการประกอบกิจการตามกฎหมายใหม่ จนกว่า กสทช. จะมีความพร้อมในการดำเนินการ และให้เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้บทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”