25 พรรคลงนาม ‘รัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ’ แต่ไร้เงาพรรค รปช.และพลังประชารัฐ

21 ธันวาคม 2561 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ได้เชิญผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งหมด 25 พรรค และสักขีพยาน ร่วมกันลงนามในสัญญา เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี สุจริตและเที่ยงธรรม โดยการทำสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งและบรรทัดฐาน ให้กับสถาบันพรรคการเมืองบนรากฐานประชาธิปไตย อีกทั้งยังลดความขัดแย้งในการเลือกตั้งลง 
โดยรายละเอียดของสัญญาที่พรรคการเมืองร่วมลงนามนั้นจะแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้ง
สำหรับสาระสำคัญของสัญญาที่พรรคการเมืองจะปฏิบัติตามก่อนการเลือกตั้ง คือ พรรคการเมืองจะ ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นตาม 'หลักนิติธรรมและตามมาตรฐานสากล' และพรรคการเมืองจะไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการซื้อเสียง จะไม่ใช้และพร้อมที่จะต่อต้านการใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง
นอกจากนี้ พรรคจะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยสันติวิธี และไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ และจะไม่ใช้ถ้อยคำและภาษาที่ร้อนแรง จะไม่ให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะไม่ใช้การข่มขู่ และไม่ใช้วาจาที่ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง รวมถึงจะเคารพสิทธิของพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะรณรงค์หาเสียง โดยปลอดจากความหวาดกลัว และการถูกข่มขู่ และขอยืนยันว่าจะไม่ไปก่อกวนการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองใด ๆ
ส่วนช่วงหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองขอสัญญาว่าจะเคารพเสียงของประชาชน และเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบสุขและเป็นธรรม โดยสาระสำคัญคือ การตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่การจัดทำนโยบายร่วมกันนี้ ในลำดับก่อนการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
อีกทั้ง พรรคจะสนับสนุนให้รัฐจัดให้มีกลไกที่ใช้หลักของความเป็นธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเสนอแนะการปรองดอง และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำของรัฐ และการกระทำด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง และจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันอย่างสันสติ
นอกจากนี้ พรรคการเมืองจะดำเนินการให้องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากร จากราชการ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเพียงพอ
โดยสัญญาดังกล่าวมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นอ่านคำสัญญาที่นักการเมืองขอไว้ให้แก่ประชาชน มีสาระสำคัญคือ มีการเรียกร้องจากรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องไม่ปิดกั้นเสรีภาพ เปิดให้มีการสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ปฎิบัติต่อพรรคการเมืองทุกพรรคตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ซึ่งพรรคการเมืองต้องมีน้ำใจกีฬา และแข่งขันอย่างยุติธรรม  
โดยพรรคที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ พรรคกลาง พรรคอนาคตใหม่ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคมหาชน พรรคเสรีรวมไทย พรรคสามัญชน พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังสังคม พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคไทยรุ่งเรือง พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคพลังไทยรักไทย พรรคพลังคนกีฬา พรรคพลังไทยดี พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์  
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เข้าร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย แต่ทางคณะผู้จัดยังเปิดโอกาสให้ลงนามเพิ่มเติมได้จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2562