เลือกตั้ง 62: 9 พฤติกรรม คสช. (ส่อ)โกงและเอาเปรียบเลือกตั้ง

ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ก็เห็นเค้าลางของการโกงและเอาเปรียบประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่การออกแบบกติกาที่สร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองและพรรคที่ตัวเองสนับสนุน การใช้ทรัพยาการของรัฐในการสร้างความนิยมให้ตัวเอง และการดึงเวลาเพื่อควบคุมพรรคการเมืองและประชาชนให้เสียเปรียบในการเลือกตั้ง นี่คือเก้าข้อที่ คสช. โกงและเอาเปรียบการเลือกตั้ง
 
ข้อ 1: ยื้อเวลาห้ามพรรคการเมืองขยับ ตัดกำลังด้วยการรีเซ็ตสมาชิกพรรคเก่า
 
แม้ว่าวันที่ 11 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนเก้าฉบับเพื่อปลดล็อคพรรคการเมืองเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่เมื่อวันเลือกตั้งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองจึงเหลือเวลาน้อยนิดประมาณเพียงสองเดือนครึ่งในการเดินหาเสียงพบปะประชาชน หลังจากถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองและพบปะประชาชนเป็นเวลามากกว่าสี่ปี ขณะที่พรรคการเมืองใหม่จำนวนมากเตรียมตัวไม่ทันเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้
 
นอกจากถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว คสช. ยังเดิมเกมส์สร้างความได้เปรียบใช้อำนาจพิเศษ ม.44 รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ส่งผลให้พรรคการเมืองเดิมมีสมาชิกลดฮวบกว่า เช่น พรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมมีสมาชิก 2,500,000 คน เหลือประมาณ 100,000 คน หรือ พรรคเพื่อไทย จากเดิมมีสมาชิก 134,822 คน เหลือประมาณ 13,000 คน และพรรคภูมิใจไทย จากเดิมมีสมาชิก 130,000 คน เหลือประมาณ 2,500 คน เป็นต้น
 
ข้อ 2: ตั้งพรรคพลังประชารัฐ ดูดอดีตรัฐมนตรีและ ส.ส. จากพรรคอื่น
 
แน่นอนว่าการเลือกตั้งปี 2562 คสช. จะลงมาเป็นผู้เล่นเองผ่าน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่มีผู้บริหารพรรคเป็นสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. โดยมีจุดยืนสนับสนุนแนวการทำงานแบบ คสช. และมีท่าทีว่าจะดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ใช้เวลาอย่างรวดเร็วในการรวบรวมสมาชิก โดยได้บรรดาอดีต ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งปี 2554  เข้าร่วมอย่างน้อย 65 คน มาจากพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย 25 คน พรรคประชาธิปัตย์ 14 คน และพรรคภูมิใจไทย 12 คน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม ส.ส. ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งก่อนปี 2554 อีกหลายคน ท่ามการเสียงครหาว่า คสช. ใช้อำนาจรัฐและเงินในการดึงอดีต ส.ส. ย้ายเหล่านี้ย้ายฟาก
 
บรรดาอดีต ส.ส. ส่วนใหญ่ที่เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ถูก “พลังดูด” โดย “กลุ่มสามมิตร” นำโดยสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สามอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยหนึ่งคนหลังทำงานเป็นหัวหน้าทีมเศษฐกิจให้รัฐบาล คสช. ปรากฎการณ์พลังดูดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ถูกล็อคและถูกรีเซ็ตสมาชิกกันใหม่ แม้การเดินทางดูดอดีต ส.ส. ของกลุ่มสามมิตร ถูกมองว่าอาจขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง แต่คำตอบจากผู้มีอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่งคง คือ ทำได้เพราะเป็นกลุ่มการเมืองไม่ใช่พรรคการเมือง
 
นอกจากนี้ก่อนการเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ รัฐบาล คสช. ก็เดินทางไปประชุม ครม. สัญจร ตามกลุ่มจังหวัดต่างๆ และได้มีการพบปะพูดคุยกับอดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ครั้งที่ฮือฮาที่สุดคงเป็นการประชุม ครม สัญจร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จังหวัดจันทบุรี และพบกับนักการเมืองภาคตะวันออก ซึ่งหลังจากนั้น สนธยา คุณปลื้ม และวิทยา คุณปลื้ม สองพี่น้องจากพรรคพลังชล ก็ถูกดึงตัวไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล คสช.     
 
ข้อ 3: ใช้เงินประชาชน หาเสียงก่อนพรรคการเมืองอื่น ผ่านนโยบายรัฐบาล
 
การลงพื้นที่เพื่อประชุม ครม. สัญจร อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล คสช.  ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2560 มีการทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากลงไปในพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท นอกจากนี้ในการลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มักการโปรยวาทะทางการเมืองที่มีนัยยะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น “เลือกตั้งให้เลือกคนดี” “เลือกตั้งครั้งหน้าจะเลือกใคร” อยู่เสมอ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าการประชุม ครม. สัญจร ไม่ใช่การหาเสียง และไม่ใช่การมาดูดอดีต ส.ส.
 
ขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 รัฐบาลคสช. ก็อนุมัติงบประมาณรวม 86,994 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการแจกของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อดำเนินการ ได้แก่
 
1. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 38,730 ล้านบาท
2. เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 559 ล้านบาท และเงินบำเหน็จดำรงชีพ 24,700 ล้านบาท
3. เงินชดเชยดอกเบี้ย 3,876 ล้านบาท ให้ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำโครงการบ้านล้านหลัง ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
4. มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ 525 ล้านบาท
5. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ชาวสวนยางพารา 18,604 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เตรียมเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 230 ต่อเดือน
ข้อ 4: คสช. แต่งตั้ง กกต. ใช้ ม.44 ควบคุมการทำงาน
 
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะมาทำหน้าที่เป็น “กรรมการ” ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 มาจากการแต่งตั้งของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของ คสช. เนื่องจาก สนช. มีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ สำหรับการเลือก กกต. ต้องใช้การพิจารณาถึง 3 ครั้ง ถึงจะได้ กกต. ครบ 7 คน ซึ่งการพิจารณาเลือก กกต. ทุกครั้งเป็นการพิจารณา “ลับ” ทั้งนี้ หากพิจารณาคุณสมบัติของ กกต. ที่ สนช. เลือกมา จะพบว่าไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้ด้านการจัดการเลือกตั้งมาก่อน
 
นอกจากนี้เมื่อ กกต. ชุดนี้เข้ารับตำแหน่งก็แสดงออกถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่อิสระ เช่น กรณี EU ขอสังเกตการณ์เลือกตั้ง อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวว่าต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อน หรือกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเพจและช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ในช่วงที่มีการประกาศห้ามหาเสียงออนไลน์ อิทธิพร ก็เห็นว่าไม่เป็นการหาเสียง หรือการที่ประธาน กกต. ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า อำนาจหน้าที่ของนายกฯ และครม. ในช่วงหลังประกาศ พ.ร.ฎ. จัดการเลือกตั้ง จะมีขอบเขตอย่างไร เป็นต้น ซึ่งชัดเจนว่าการทำงานของ กกต. อยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. ที่มีอำนาจพิเศษ ม.44 ซึ่งเคยใช้อำนาจนี้ปลด กกต. ออกจากตำแหน่งมาแล้ว
ข้อ 5: เปลี่ยนเขตเลือกตั้งเอื้อพรรคพลังประชารัฐ
 
29 พฤศจิกายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ว่า กกต. จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือ รัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา ทั้งนี้ก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมา กกต. แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นและประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ
 
อย่างไรก็ตามผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เช่น จังหวัดอุดรธานี ที่อำเภอเมืองถูกแบ่งเป็น 5 เขตเลือกตั้ง และในบ้างพื้นที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐมากขึ้น เช่น จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดชัยนาท ที่มีแกนนำพรรคประชารัฐเป็นเจ้าของพื้นที่
ข้อ 6: สร้างความสับสนกำหนดบัตรเลือกตั้ง 350 แบบ แต่ละพรรคคนละเขตเบอร์ต่างกัน
 
การเลือกตั้งในปี 2562 จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว แม้จะมี ส.ส. สองรูปแบบ คือ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ก็ตาม ส่งผลให้ประชาชนจะเข้าไปกาบัตรช่องไหนต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “คนที่รักกับพรรคที่ชอบ” ทั้งนี้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สร้างความยุ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากกำหนดให้เบอร์ของแต่ละพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับลำดับการไปสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ของผู้สมัครแต่ละพรรค กล่าวคือถ้าผู้สมัครคนใดมาสมัครเป็นคนแรกของเขตเลือกตั้งนั้นก็จะได้หมายเลขที่ 1 และจะไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนถึงผู้สมัครคนสุดท้ายของเขตเลือกตั้งนั้น
 
ด้วยเหตุนี้การลงคะแนนของประชาชนและการหาเสียงของพรรคการเมืองจะมีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะจะมีบัตรเลือกตั้งถึง 350 รูปแบบ ใน 350 เขตเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ พบอุปสรรคในการหาเสียงในระดับประเทศ เพราะแต่ละเขตเลือกตั้งพรรคการเมืองจะได้หมายเลขที่กระจัดกระจาย และยังส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำหมายเลขผู้สมัครของแต่ละพรรคสับสน เพราะหากประชาชนเดินทางข้ามเขตเลือกตั้งก็จะพบกับหมายเลขของผู้สมัครพรรคเดียวกันที่แตกต่างกันซึ่งอาจนำไปสู่การลงคะแนนที่ผิดพลาดได้
 
นอกจากนี้ยังมีความพยายามจาก คสช. ในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ยุ่งเหยิงไปอีก ด้วยข้อเสนอของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่ต้องการให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและไม่มีโลโก้พรรค มีแค่เบอร์ของผู้สมัครเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ กกต. จะออกมารับลูกในตอนต้น แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนและพรรคการเมือง ส่งผลให้ กกต. ยอมถอย โดยให้บัตรเลือกตั้งปี 2562 มีรายละเอียด “หมายเลขผู้สมัคร ชื่อและโลโก้ของพรรคการเมือง”
ข้อ 7: ออกแบบระบบเลือกตั้งให้ไม่มีพรรคเสียงมาก
การออกแบบระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ที่เรียกระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA มีหลักการสำคัญอยู่ที่วิธีการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถที่จะมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 250 คนขึ้นไป เนื่องจากพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. แบ่งเขตมากก็มีโอกาสที่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลงหรือไม่ได้เลย ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องลดขนาดลง และแตกตัวไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ เช่น พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ เป็นต้น การแตกตัวของพรรคดังกล่าวมีข้อเสียคือจะทำให้พรรคการเมืองเหล่านี้ต้องทำการแข่งขันกันเอง ตัดคะแนนกันเอง ซึ่งอาจทำให้พรรคฝากฝั่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจเสียงที่นั่งใน ส.ส. แบบแบ่งเขตได้
นอกจากนี้ ระบบเลือกตั้งแบบ MMA จะสร้างโอกาสให้กับพรรคขนาดกลาง เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะในเขตเลือกตั้ง แต่คะแนนในเขตจะถูกนำไปคิดที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา หรือกระทั่งพรรคพลังประชารัฐ อาจจะได้ที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้หลังการเลือกตั้งปี 2562 จำนวน ส.ส. อาจจะกระจายไปในหลายพรรคการเมือง ซึ่งทำให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และก็ง่ายที่ คสช. ในฐานะผู้กุมอำนาจเต็มจะเข้าไปเจรจาต่อรองเพื่อรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
ข้อ 8: คสช. ตั้ง ส.ว. 250 คน เลือกนายกฯ
หลังการเลือกตั้งปี 2556 ส.ว. ทั้งหมด 250 คน จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ 6 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ซึ่งคาดว่า ส.ว. ชุดนี้จะเป็นพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา เพราะระบบเลือกตั้งใหม่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินกึ่งหนี่งหรือ 250 คน ขึ้นไปของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งบทบาทสำคัญของ ส.ว. แต่งตั้ง คือมีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. 500 คน ด้วยเหตุนี้ถ้าพรรค ส.ว. รวมกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ที่สนับสนุน คสช. ได้ ส.ส. 126 คน ขึ้นไป ดังนั้นกลไกที่ คสช. วางไว้อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และ คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบได้
ข้อ 9: แสดงท่าทีไม่เปิดให้ต่างชาติสังเกตการณ์เลือกตั้ง
การเลือกตั้งในปี 2562 ถูกมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรมมายิ่งขึ้น เมื่อท่าทีของรัฐบาล คสช. ปฏิเสธให้นานาชาติเดินทางเข้ามาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำในหลายโอกาสว่า ไม่ควรให้ชาวต่างชาติซึ่งอยู่นอกประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง เพราะถ้าเกิดต่างชาติเข้ามาจะเป็นการแสดงว่าประเทศไทยยังมีปัญหา ซึ่งแม้ตอนนี้จะเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่เราสามารถจัดการเลือกตั้งตั้งเองได้และเป็นเป็นความภาคภูมิใจเป็นเกียรติเป็นศรีของคนไทย
ขณะที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวว่า ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตุการณ์เลือกตั้งจะต้องไปขออนุญาตจาก คสช. หรือไม่ แต่หาก คสช. มีความเห็นเบื้องต้น กกต. ก็อาจนำประกอบการพิจารณา เพราะถ้า คสช. ออกคำสั่งอะไรก็เป็นกฎหมายสั่งได้ แต่อาจจะแค่สะท้อนความเป็นห่วงเรื่องการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น ในกรณีที่มีการขอเข้ามาสังเกตการณ์มากเกินไป นอกจากนี้ยังต้องขอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วย