สมบัติ-ปริญญา-ประจักษ์ มองประชาธิปไตยไทยสามยุค ทำไมยังล้มเหลว

9 พฤศจิกายน 2561 สถาบันพระปกเกล้าจัดงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 20 ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยไทย ก้าวย่างเพื่อการพัฒนา" โดยมีวงเสวนาเรื่อง เราเรียนรู้อะไรจากการขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ผ่านมาและเราจะร่วมเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทยไปด้วยกันอย่างไร โดยมีนักวิชาการสามรุ่นมาร่วมให้ความเห็น
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์: ย้อนอดีต 14 ตุลาฯ กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเคยอยู่ร่วมในขบวนการนักศึกษาระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เล่าย้อนอดีตว่า ผมเติบโตมาในยุคสมัยที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย คือ ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนและสื่อก็ถูกควบคุมโดยรัฐบาล ประชาชนไม่มีปากมีเสียง เราเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนสังคมจึงจัดตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตอนนั้นคุยกันว่า ให้เคลื่อนไหวได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการเมืองเพราะมีคำสั่งห้ามอยู่
ต่อมารัฐบาลออกกฎหมาย "โบว์ดำ 299" หรือการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ให้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงการแต่งตั้งตุลาการ ทำให้เราเริ่มเข้าสู่ประเด็นทางการเมือง แล้วก็มาเกิดเหตุการณ์ล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร เกิดกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงสั่งลบชื่อนักศึกษาที่เขียนป้ายว่า "สภาสัตว์ป่า" จึงนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองจริงๆ ได้
กว่าจะไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่ใช่อิทธิฤทธิปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้น ครั้งแรกที่เราจัดกิจกรรมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นก็มีคนมาร่วมแค่ 100 คน และค่อยๆ มีพัฒนาการมาทีละขั้น ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คาดหวังนักศึกษาอย่างเดียว แต่คาดหวังพี่น้องประชาชนนี่แหละที่ต้องเป็นตัวหลักช่วยกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่สั้นๆ มีการชุมนุมของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานผู้ถูกเอาเปรียบมากกว่าพันครั้ง ก่อนที่จะ "โชคไม่ดี" มีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และเผด็จการกลับมาอีก ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพี่น้องประชาชนเห็นผลเสียของเผด็จการแล้ว และเอาเลือดเนื้อไปแลกมาซึ่งประชาธิปไตย 
"ประชาธิปไตยคราวนี้ ไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่มาด้วยการพลีชีพ เสียสละชีวิตของพี่น้องประชาชน ควรต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันทำให้มันยั่งยืน"
แต่หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญ เรียกร้องรัฐธรรมนูญมาได้และเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้ง เราก็มีนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพและเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ไม่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติ แต่เรียกคณะปฏิรูปการปกครองประเทศ 
"ถ้าเรามีนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ระบอบประชาธิปไตยน่าจะดีกว่านี้ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์กว่านี้" สมบัติกล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล: ยังมีหวังกับประชาธิปไตยไทย ถ้าเราเคารพกติกา
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 เล่าอดีตว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นตำนานสำหรับคนรุ่นผม ที่ไม่คิดว่า มันจะเกิดอีก แต่มันก็เกิดอีกเป็นเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 2535 ซึ่งเราก็คิดว่า มันจะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ประเทศไทยถูกมองว่า เป็นดาวรุ่งทางประชาธิปไตย แต่เราก็กลับมีรัฐประหารอีกในปี 2549 จนมาครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ผู้ยึดอำนาจอยู่ในอำนาจได้นานที่สุดนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
คนจำนวนมากในประเทศไทยเชื่อว่า ประชาธิปไตยเป็นของดี แต่ไม่เหมาะกับประเทศไทย บ้านเราควรหารัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลมากกว่า ซึ่งความหมายแบบไทยๆ หมายถึง ขอให้เป็นคนดี แต่อย่ามาตรวจสอบ 
ผมเชื่อว่า คนไทยไม่ได้รักระบอบเผด็จการ แต่ว่า เบื่อนักการเมืองมาก เลยพาลไปเบื่อประชาธิปไตย และคิดไม่ออกว่า จะมีอะไรดีไปกว่านี้ได้ ทั้งที่จริงๆ ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการปกครองของนักการเมือง หรือคนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หมายถึงการปกครองของประชาชน ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและปกครองตนเอง
"เปรียบเสมือนว่า เราเป็นผู้ถือหุ้นคนละหนึ่งหุ้นในบริษัทประเทศไทย และเราเลือกผู้จัดการมาทำงาน ถ้าหากผู้จัดการไม่ดีเราก็เปลี่ยนผู้จัดการ ส่วนพรรคการเมืองก็เหมือนบริษัทเอ้าท์ซอร์ส หากผู้ถือหุ้นชอบวิธีการทำงานของบริษัทไหนก็เลือกบริษัทนั้นมาทำงาน"
ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่เสียงข้างมาก แต่ต้องเคารพและฟังเหตุผลของเสียงข้างน้อยด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วประชาธิปไตยประสงค์ให้เราใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหา ไม่ใช่ใช้พวกมากลากไป ส่วนเสียงข้างน้อยก็ไม่ได้มีไว้เพื่อยกมือแล้วแพ้ แต่มีไว้เพื่อต่อรองและเจรจา บ้านเราล้มเหลวทั้งการทำงานของฝ่ายเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย จนกระทั่งต้องลงถนน และอำนาจก็กลายเป็นของคนที่มีกำลังมากที่สุด คือ ทหาร
"ที่ผ่านมาเราล้มเหลว เพราะเราปกครองตัวเองกันไม่เป็น พอมีปัญหาก็ไปเรียกพวกมา สุดท้ายก็ถูกทหารยึดอำนาจ" อ.ปริญญา กล่าว
ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ออกแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไว้มากกว่าการเลือกตั้ง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การทำประชามติ ฯลฯ แต่ก็ล้มเหลวเพราะเราไปออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไป บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคและทำให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเหนือ ส.ส. มีอำนาจเหนือสภา ทำให้พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอ เมื่อมีปัญหาเราก็แก้ปัญหาไม่ได้ตามระบบ นำไปสู่การรัฐประหารปี 2549
แต่หลังการรัฐประหารเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลับไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ยังบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองเหมือนเดิม แล้วไปออกแบบ ส.ว. ให้มาจากการแต่งตั้ง ไปสร้างองค์กรอิสระโดยหวังให้ศาลมาช่วยสร้างองค์กรที่เป็นคนดีและเป็นกลาง ผมเห็นว่า ส.ส. ควรจะสังกัดพรรคการเมือง แต่การจะเลือก ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองหรือเลือก ส.ส. อิสระควรจะเป็นอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของประเทศ ไม่ต้องไปบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่บังคับระบบแบบนี้ 
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวด้วยว่า ผมยังมีความหวังกับประชาธิปไตยไทย เพราะการจัดคะแนนประชาธิปไตยของไทยก่อนหน้าการรัฐประหารในปี 2557 อยู่อันดับที่ 63 ของโลก เปรียบเทียบกับฟุตบอลทีมชาติไทยที่อยู่อันดับ 120 เรายังมีความหวังได้ ประชาธิปไตยก็ยังมีความหวังได้ เราไม่ได้ดีมากอย่างที่ต้องการ แต่เราก็ไม่ได้แย่มาก ขอเพียงเรียนรู้ที่จะเคารพกติกา
ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ: ภาวะแตกแยกสองขั้วทั่วโลก มีทางออกเดียวคือต้องเปิดพื้นที่
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาประชาธิปไตยถดถอย เกิดมาจากภาวะที่คล้ายกัน คือ คนในประเทศแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างร้าวลึก (Deep Polarization) ซึ่งไม่ได้หมายถึง ความเห็นแตกต่างกันตามธรรมดา แต่หมายถึงภาวะที่ยกระดับให้การเมืองเป็นเรื่องความดีกับความชั่ว เป็นเรื่องมิตรและศัตรู เป็นเรื่องพวกเรากับพวกเขา ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องสงคราม ที่ทุกคนต้องการเอาชนะ และมีแต่แพ้ทั้งหมดกับชนะทั้งหมด ใครมีอำนาจก็จะใช้อำนาจกดทับฝ่ายตรงข้าม โดยไม่เหลือพื้นที่ตรงกลาง คนที่จะอยู่ตรงกลางก็จะถูกบีบให้เลือกข้าง
ในภาวะความเห็นแตกต่างกันตามปกติ เราอาจจะเห็นด้วยกันในบางเรื่องและเห็นแตกต่างกันในบางเรื่องได้ แต่ในภาวะความแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างร้าวลึก คนที่เห็นด้วยกันจะกลายเป็นพวกเดียวกันในทุกเรื่อง ส่วนคนที่เห็นต่างกันไม่ว่าพูดอะไรก็จะผิดไปหมด และสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ จินตนาการต่ออนาคตว่า อะไรคือสังคมการเมืองที่ดี ก็จะมองไม่ตรงกันอีกต่อไป
นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบภาวะเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ กรีซ ฮังการี โปแลนด์ ตุรกี เวเนซุเอลา บราซิล บังคลาเทศ ซิมบับเว แอฟริกาใต้ ฯลฯ ในสังคมแบบนี้ การเลือกตั้งจะมีเดิมพันสูงและมีความขัดแย้งรุนแรง ระบบตุลาการจะถูกทำให้เป็นการเมือง ระบบการตรวจสอบจะถูกใช้เฉพาะกับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
วัฒนธรรมที่หายไปในสังคมสภาวะแตกขั้ว คือ ความไว้ใจกัน หรือเคารพซึ่งกันและกัน เพราะสังคมขาดกฎกติกาและคุณค่าพื้นที่ยอมรับร่วมกัน ทำให้ประเทศขาดทิศทางที่ชัดเจน เหมือนถูกชักเย่อไปมาขึ้นอยู่กับว่า ใครได้อำนาจไป จึงมีแนวโน้มที่เผด็จการแบบอำนาจนิยมจะถูกสถาปนาเข้ามา 
ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดี ความขัดแย้งอาจนำไปสู่การขับเคลื่อนให้ทุกฝ่ายมาหาทางออกร่วมกันบนกติกาได้ และนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ แต่จากการศึกษายังไม่ค่อยพบว่า ประเทศไหนจะไปถึงจุดนั้นได้
 
 
สังคมที่เกิดปัญหาความแตกแยกรุนแรงมีสาเหตุที่มาคล้ายกัน ในทุกสังคมมีที่มาของปัญหาถึงสามชั้น คือ มีความไม่เท่าเทียมกันทางการเมือง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และมีอคติหรือการกดทับทางวัฒนธรรมด้วย ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าด้อยกว่าคนบางกลุ่ม หากมีทั้งสามระดับเช่นนี้จะแก้ไขได้ยาก ยิ่งนานวันจะยิ่งออกจากกับดักแบบนี้ได้ยาก และพบแนวโน้มที่จะใช้วิถีทางเผด็จการอำนาจนิยมซ้ำเติมปัญหา กดทับปัญหาไว้ชั่วคราว ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐาน
ข้อสรุปที่ถอดบทเรียนได้จากประเทศที่หลีกเลี่ยงสภาวะความแตกแยกร้าวลึกได้สำเร็จ หรือเมื่อเข้าสู่สภาวะนี้แล้วยังสามารถรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ คือ ชนชั้นนำทุกฝ่ายยังแข่งขันกันภายใต้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ใช้การเลือกตั้งต่อสู้กันโดยสงบสันติเป็นกลไกตัดสินใจการขึ้นสู่อำนาจ หากการเลือกตั้งมีข้อกังขาแม้แต่นิดเดียว ก็เป็นการสร้างระเบิดเวลาเอาไว้สำหรับอนาคต และการเลือกตั้งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง
นอกจากนี้ ยังต้องปฏิรูปพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง ซึ่งระบบเลือกตั้งของไทยในปี 2562 เดินไปในทางตรงกันข้าม ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และจะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปทั้งกองทัพ ตำรวจ และสถาบันยุติธรรม ซึ่งเป็นกลไกที่เข้ามาทำให้ประชาธิปไตยถดถอย หากยังตอบโจทย์ไม่ครบก็แก้ปัญหาไม่ได้
สุดท้ายก็คือ สำหรับประเทศที่ติดกับดักความขัดแย้ง มีทางออกเดียวเท่านั้น คือต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรอำนาจและทรัพยากร โดยสามารถต่อรองกันได้อย่างสันติ ประชาชนต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลไม่ว่า ใครจะขึ้นมาสู่อำนาจก็ตาม ภายใต้กติกาประชาธิปไตย และใช้โอกาสนี้พัฒนาให้เรากลับคืนสู่ประชาธิปไตย
ทำนายอนาคตการเมืองไทย หลังเลือกตั้ง 2562 เห็นพ้องใครชนะก็อยู่แบบอ่อนแอ
สำหรับคำถามว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ยังเป็นความหวังให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ วิทยากรนักวิชาการทั้งสามท่าน ให้ความเห็นดังนี้
 
 
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นับคะแนนแบบ MMA เป็นระบบที่ประยุกต์มาจากเยอรมัน เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้ง จึงต้องออกแบบระบบไม่ให้มีพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก แต่ต้องเป็นรัฐบาลผสม และเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดมาก ส่วนระบบที่เราจะใช้ในครั้งนี้ กำหนดให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้งคนทั้งพรรค ซึ่งเยอรมันก็เคยใช้ แต่ใช้ครั้งเดียวแล้วเลิก เพราะระบบนี้ตัดโอกาสไม่ให้พรรคเล็กเกิดได้
ระบบเลือกตั้งใหม่ออกแบบให้ประเทศไทยต้องมีรัฐบาลผสม ซึ่งหลายประเทศก็อยู่ได้ด้วยระบบแบบนี้ แต่สำหรับประเทศไทย ภายใต้การเมืองที่ด้อยพัฒนาเมื่อมีรัฐบาลผสมแล้วจะเป็นรัฐบาลแบบอ่อนแอ แต่ละพรรคการเมืองจะควบคุมกันเอง นายกรัฐมนตรีควบคุมไม่ได้
"ใครก็ตามที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากได้คะแนนสนับสนุนในสภามากพอ แต่ไม่ได้ ส.ส. ข้างมาก ก็เป็นได้แต่ไม่นาน แต่หากได้ ส.ส. ข้างมากโดยผสมหลายพรรคก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ และเป็นปัญหาในอนาคต นี่เป็นความเศร้าในใจของผมมากๆ"
"จากพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในประเทศไทย วันนี้ยิ่งประกาศวันเลือกตั้งช้าเท่าไร และให้พรรคการเมืองหน้าใหม่เริ่มลงพื้นที่ได้ช้าเท่าไร โอกาสที่จะได้การเลือกตั้งก็เป็นของนักการเมืองหน้าเก่า หรือคนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่" สมบัติ กล่าว
 
 
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ระบบของเยอรมันที่แท้จริง แตกต่างจากระบบปัจจุบันของไทยเพราะระบบของเยอรมันจะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อเอาคะแนนของบัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้งว่า แต่ละพรรคการเมืองควรจะได้ ส.ส. กี่คน แล้วลองดูว่า แต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตไปแล้วกี่คน ก็เอา ส.ส. บัญชีรายชื่อเติมให้เต็ม
แต่ระบบพิเศษของไทย ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบไว้ ไม่ต้องเลือกแบบบัญชีรายชื่อแล้ว เลือกแบบแบ่งเขตอย่างเดียวแล้วเอาคะแนน ส.ส. เขตไปคิดรวมเป็นคะแนนทั้งประเทศว่า พรรคการเมืองนั้นๆ ควรจะได้ ส.ส. กี่คน ซึ่งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ๆ จะได้คะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตน้อยกว่าคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อ ระบบนี้มีผลให้พรรคขนาดใหญ่ได้ ส.ส. น้อยลง และพรรคขนาดกลางได้ ส.ส. มากขึ้น 
ระบบนี้ทำให้ทุกพรรคการเมืองที่ต้องการได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตให้มากที่สุดในทุกเขต เราจะเห็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจำนวนมากที่สุด และผู้สมัครแต่ละเขตจะได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน สร้างความสับสนและยากขึ้นสำหรับประชาชนในการไปเลือกตั้ง 
"ระบบเลือกตั้งแบบนี้ เยอรมันไม่ได้ใช้ มีเพียงแค่รัฐเดียวใน 16 รัฐที่ใช้ ถ้าหากอยากให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริงแบบเยอรมัน ต้องให้เลือกแบบบัญชีรายชื่อด้วย แล้วเอาคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้งของคะแนนทั้งประเทศ" 
"สิทธิของประชาชนที่จะเลือกทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีแล้วตอนนี้ มีบัตรใบเดียวที่เลือกทั้งสองอย่างและยังเลือกนายกฯ ด้วย ถ้าไม่พูดกันให้เข้าใจกันตอนนี้คนก็จะไปงงกันหน้าคูหาว่าจะเลือกกันอย่างไร" 
ผศ.ดร.ปริญญา มองอนาคตจากการเลือกตั้งในปี 2562 ว่า ในสภาจะมี ส.ว. ที่มาจากคนทำรัฐประหารถึง 250 คนที่กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่สุดที่เสียงไม่แตกทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ถ้า คสช. อยากกลับมาเป็นรัฐบาลก็มี ส.ว. 250 คนอยู่แล้วที่พร้อมจะโหวตให้ เหลือแค่หา ส.ส. อีก 126 เสียงเท่านั้น ซึ่งถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้แบบนี้ก็จะได้สภาผู้แทนราษฎรที่มี ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้าน และจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่าย ดังนั้น หาก คสช. อยากเป็นรัฐบาลต้องดึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งมาอยู่ด้วยให้ได้
"เพลงประเทศกูมีนั้นรัฐบาลไม่ชอบ และพยายามจะแบน แต่ทำให้ยอดวิวจากไม่กี่แสนกลายเป็นหลายล้านได้ แสดงให้เห็นประชาธิปไตยทางตรงแบบใหม่ผ่านทางสมาร์ทโฟนเมื่อประชาธิปไตยระบบผู้แทนไม่เป็นทางออกที่แก้ปัญหาได้ เครื่องมือตัวนี้ของประชาชนไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเรายังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้และพัฒนา" ผศ.ดร.ปริญญาทิ้งท้าย 
 
 
ผศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายการเลือกตั้งที่จะถึงว่า สิ่งที่ กกต. เคยรณรงค์ไว้ว่า "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" ไม่เป็นจริงอีกแล้ว เพราะเราเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผลก็คือ ถ้าเลือกคนที่รักอาจไม่ได้พรรคที่ชอบ หรือถ้าเลือกพรรคที่ชอบอาจได้คนที่ไม่รักก็ได้ ถ้าหาก ส.ส. ในเขตนั้นดูไม่ได้เรื่อง เราก็อาจจะจำเป็นต้องเลือกเพื่อให้พรรคที่เราชอบได้คะแนน นี่เป็นระบบคล้ายๆ การ "ขายเหล้าพ่วงเบียร์" 
ผศ.ดร.ประจักษ์ คาดการณ์ว่า ผลการเลือกตั้งเราจะได้พรรคการเมืองขนาดเล็กกระจัดกระจายที่อ่อนแอกว่าระบบก่อนหน้านี้ เราจะเห็นพรรคการเมืองสามประเภท คือ พรรคที่สนับสนุน คสช. พรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. และพรรคที่พร้อมจะอยู่ทั้งสองข้าง โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่และได้เสียง ส.ส. หลักร้อยคนเป็นไปได้ยากมาก พรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส. 25-70 ที่นั่งจะมีอำนาจต่อรองสูงในการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองภายใต้ระบบแบบนี้จะอ่อนแอแน่นอนอยู่แล้ว ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็จะบริหารประเทศลำบากภายใต้การเมืองแบบหลายพรรค และยังมีกลไกอื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปีอีก ที่จะทำให้รัฐบาลทำงานได้ลำบาก 
"เราอย่าไปคาดเดาล่วงหน้าว่า ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดสรรของ คสช. จะออกเสียงไปทางเดียวกันทั้งหมด เพราะการเมืองไทยมีปัจจัยเยอะ ต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อนด้วย" ผศ.ดร.ประจักษ์ คาดการณ์
ถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์ เราจะเห็นความเป็นไปได้สามทางสำหรับการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบของทหาร โมเดลที่หนึ่ง คือ การเลือกตั้งหลังยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งจอมพลถนอมลงเลือกตั้งแล้วชนะ แต่ควบคุมรัฐสภาไม่ได้ จึงต้องรัฐประหารอีกครั้ง โมเดลที่สอง คือ การเลือกตั้งหลังยุคพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่สร้างพรรคการเมืองนอมินีขึ้นมาลงเลือกตั้งแทน สโมเดลที่สาม คือ การเลือกตั้งหลังยุค พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ที่พรรคของหัวหน้าคณะรัฐประหารกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก ไม่ชนะการเลือกตั้ง แล้วผลการเลือกตั้งกลับสู่ระบบปกติ