อภินิหารยุคทหาร แก้กฎหมายง่ายๆ สไตล์ คสช.

ล่วงเลยมากกว่า 4 ปีที่ คสช. เข้ามาเป็นรัฐบาล พร้อมแต่งตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำหน้าที่เห็นชอบกฎหมายออกบังคับใช้กับประชาชน ยิ่งในปัจจุบัน คสช. ไร้ฝ่ายค้านในการตรวจสอบกฎหมายต่างๆ ยิ่งทำให้กระบวนการทางกฎหมายที่ดูผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้มีกฎหมายจำนวนหนึ่งผ่านไปแล้วต้องมีการกลับมาแก้ไขใหม่ โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือการส่งต่อให้ สนช. แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมามีอย่างน้อย 6 ครั้งที่ คสช. และ สนช. พยายามแก้ไขกฎหมายที่ตัวเองออก ซึ่งแต่ละฉบับยังไม่ทันได้บังคับใช้อย่างจริงจังก็ถูกแก้ซะก่อน
ใช้ ม.44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง
ปลายปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เพื่อแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หลังจากบังคับใช้ได้ไม่กี่เดือน โดยเพิ่มเงื่อนไขให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่าต้อง (1) แจ้งแสดงตัวเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค (2) ขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินงานธุรการโดยการต้องขออนุญาต คสช. ก่อน และ (3) กำหนดเงื่อนไขปลดล็อคพรรคการเมือง เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้        
ผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผลคือพรรคการเมืองแทบทุกพรรคสมาชิกหายไปเกินครึ่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่สมาชิกหายไปกว่า 90% ขณะที่การตั้งพรรคการเมือง การประชุมพรรคการเมืองต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน
ต่อมา คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2561 แก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินงานธุรกิจ เช่น การหาทุนประเดิมพรรคหนึ่งล้านบาท และการขยายเวลาให้สมาชิกพรรค 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรค นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกระบบไพรมารีโหวตด้วย
แก้รัฐธรรมนูญ เปิดทาง ส.ว.ร่วมเลือกนายก
ย้อนกลับไปวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 กับการลงประชามติในคำถามพ่วงที่เปิดทางให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกฯ ผลปรากฏว่าคำถามพ่วงมีประชาชนเห็นชอบ 58.07 เปอร์เซ็นต์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยปรับให้ ส.ว. มีสิทธิร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกฯ และกำหนดให้ (1) ส.ส.ยังคงมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ เท่านั้น (2) ให้ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส. ตัดสินใจเปิดทางนายกฯ คนนอก และ (3) เลือกนายกฯ คนนอกไม่จำกัดภายในวาระแรก
แก้รัฐธรรมนูญหลังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรียนฟรี 15 ปี – อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ
       
อีกประเด็น 2 ประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังปรากฎในรัฐธรรมนูญแต่ถูกล็อกไว้ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. คือ เรื่องการศึกษาและศาสนา 2 เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากก่อนมีประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องการศึกษา ปรากฎในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่วัยก่อนเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" ซึ่งระยะเวลา 12 ปี ขัดแย้งกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่ผ่านมาที่กำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี ด้วยเหตุนี้ หัวหน้า คสช. จึงประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 25/2559 ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของ คสช. และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล
เรื่องศาสนา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย มีสาระสำคัญคือให้รัฐขยายความคุ้มครองศาสนาและอุปถัมภ์ทุกศาสนา และสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของแต่ละศาสนา ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการแก้ไขความความผิดพลาดที่ปรากฎในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ที่เน้นให้รัฐอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ สนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่หลักธรรมของพุทธศาสนานิการเถรวาท
แก้รัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ช่วงต้นเดือนพฤจิกายน 2559 กระทั่งวันที่ 9 มกราคม 2560 สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องถึงรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชกระแสรับสั่งว่ามี 3-4 เรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ จนนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 11 คน เพื่อยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ซึ่งเป็นผลให้ สนช. ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้สามารถแก้ร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตพระราชทาน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง