ผลงานสภาปฏิรูป? เสนอร่างพ.ร.บ. 105 ฉบับ สี่ปีผ่านเป็นกฎหมายได้จริง 6 ฉบับ

สภาปฏิรูปทั้งสองแห่ง ใช้งบประมาณไปกว่าพันเจ็ดร้อยล้านบาท ผลิตข้อเสนอมากว่าพันข้อ โดยเป็นการเสนอร่างพ.ร.บ. อย่างน้อย 105 ฉบับ แต่ตลอดสี่ปีในการออกกฎหมายอย่างรวดเร็วของ สนช. ก็หยิบข้อเสนอเหล่านี้มาผ่านเป็นกฎหมายไปแล้วเพียง 6 ฉบับเท่านั้น

 

 

สรุปผลงานการทำงานสี่ปีเต็มของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหาร พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติไปแล้ว 298 ฉบับ เฉลี่ยปีละ 74.5 ฉบับ หรือสัปดาห์ละ 1.5 ฉบับ ซึ่งถือว่า เป็นสภาที่ออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็วมาก และหลายฉบับได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ แทบไม่มีเสียงคัดค้านเลย
เมื่อพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแห่งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เสนอขึ้นมาโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า เป็นร่างกฎหมายที่มาจากหน่วยราชการต่างๆ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย 252 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 21 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 10 ฉบับ เสนอโดยสมาชิก สนช. เข้าชื่อกัน 8 ฉบับ เสนอโดย ป.ป.ช. 1 ฉบับ และเป็นกฎหมายที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรวมกัน 6 ฉบับ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิก 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 รวมทำงานอยู่ 9 เดือน ผลิตรายงานวาระปฏิรูป 37 ด้าน มีข้อเสนออย่างน้อย 505 ข้อ เป็นการเสนอให้ออกกฎหมายมากมาย จากการพิจารณารายงานของ สปช. ทั้งหมด พบว่า สภาแห่งนี้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมาเสนออย่างน้อย 43 ฉบับ
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีสมาชิก 200 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม 2560 รวมทำงานอยู่ 22 เดือน ผลิตรายงาน 131 ฉบับ มีข้อเสนออย่างน้อย 1,342 ข้อ เป็นการเสนอให้ออกกฎหมายมากมาย จากการพิจารณารายงานของ สปท. ทั้งหมด พบว่า สภาแห่งนี้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมาเสนออย่างน้อย 62 ฉบับ
ร่างพ.ร.บ.ที่ สปช. และ สปท. เสนอไว้ รวมกันได้อย่างน้อย 105 ฉบับ
อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปทั้งสองที่กำหนดไว้ มีลักษณะเป็นเพียง "สภาวิชาการ" ที่มีหน้าที่ "ศึกษาและเสนอแนะ" เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายหรือเสนอกฎหมายด้วยตัวเอง รายงานข้อเสนอทั้งหมดจากสภาทั้งสองนั้นถูกส่งมอบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และร่างกฎหมายที่สภาทั้งสองเสนอไว้จะเป็นกฎหมายได้ต้องอาศัยการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี คสช. ส่งให้ สนช. พิจารณาต่อไป
จะเห็นว่า สี่ปีที่ผ่านมา สนช. พิจารณากฎหมายได้รวดเร็วมาก และกฎหมายส่วนใหญ่ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีทั้งนั้น หากคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบและผลักดันร่างกฎหมายจากสภาปฏิรูปทั้งสองเพื่อสานต่อข้อเสนอแนะต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริง ก็สามารถทำผ่าน สนช. ได้โดยไม่ยากเย็นและไม่ใช้เวลามาก
แต่ก็มีกฎหมายที่เสนอจากสภาปฏิรูปทั้งสองแห่งนี้ที่ผ่านออกมาใช้ได้จริงเพียง 6 จาก 105 ฉบับเท่านั้น คิดเป็น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ของร่างพ.ร.บ.ที่เสนอไว้ ยังไม่นับร่างกฎหมายอื่นๆ และข้อเสนออีกกว่าพันข้อ ที่ยังไม่ปรากฏรูปธรรมว่า ถูกนำไปปฏิบัติเพียงใด
ต้องไม่ลืมว่า ผลงานของสภาปฏิรูปทั้งสองแห่งนี้มีราคาค่าใช้จ่ายไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของสมาชิก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 
เงินเดือนของสมาชิก สปช. ที่ปรึกษา เลขานุการ คณะทํางานทางการเมืองของ สปช. รวมเป็นเงิน 534,074,700 บาท นอกจากนี้ ในกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน ยังมีวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สปช. อีก 182,400,000 บาท ดังนั้น รวมงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการดำเนินงานของ สปช. ใช้เม็ดเงินไปอย่างน้อย 716,474,700 ล้านบาท 
เงินเดือนของสมาชิก สปท. คนละ 113,560 บาท เมื่อรวมเงินเดือนของสมาชิก ที่ปรึกษา เลขานุการ คณะทำงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ สปท. คิดเป็นอย่างน้อย 770,413,600 บาท เมื่อรวมกับเงินงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการสนับสนุนการทำงาน เช่น ค่ารับรองตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาอีก 260,860,300 และ 41,565,100 จะเท่ากับ สปท. ใช้เม็ดเงินไปอย่างน้อย 1,072,845,000 บาท (อ่านว่า หนึ่งพันล้านบาท)